“ไม่มีเหตุผลสิ้นดี”: มาตรา 112กับสิทธิการประกันตัว

1 เมษายน 2556 ทนายความของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์แต่ถูกปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 14 โดยศาลให้เหตุผลว่า
"ข้อหาตามฟ้องเป็นความผิดอาญาร้ายแรงตามข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกถึง 10 ปีหากปล่อยชั่วคราวไปไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง"
14 กรกฎาคม 2556 เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา112 จึงจัดงานเพื่อถกเถียงกันในประเด็นนี้ ณ โรงแรมกานต์มณีพาเลซ โดยงานแบ่งเป็นสองช่วง คืองานแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีมาตรา112 ต่อสมยศ โดยมีวสันต์ พาณิช ทนายความชั้นอุทธรณ์ และสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศมาสรุปประเด็นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ และเหตุผลต่างๆในการขอประกันตัว และเวทีเสวนาหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมาตรา112 กับสิทธิการประกันตัวโดยมี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์และอดีตนักโทษทางการเมือง คุณวสันต์ พาณิช และคุณธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อดีตนักโทษทางการเมืองร่วมอภิปราย
แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีต่อ สมยศ พฤษาเกษมสุข
วสันต์ พานิช ทนายความของสมยศในชั้นอุทธรณ์ กล่าวว่า ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษสมยศในข้อหา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่ นิตยสารเสียงทักษิณ ทั่วราชอาณาจักรสองฉบับ ศาลตัดสินลงโทษจำคุกฉบับละ 5 ปี รวมเป็น 10 ปี
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 วสันต์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้น โดยมีข้อต่อสู้หลัก 2 ประการด้วยกัน คือ
1. ไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับคุณสมยศ ได้
รัฐธรรมนูญมาตรา 39 กล่าวไว้ชัดเจนว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้…" วสันต์ อธิบายว่า พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ที่บัญญัติให้บรรณาธิการต้องรับผิดในเนื้อหาที่ตีพิมพ์นั้นถูกยกเลิกไปแล้ว ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 นั้นไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของบรรณาธิการไว้ เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้สมยศในฐานะบรรณาธิการจึงไม่ต้องรับผิดในเนื้อหาที่ไม่ได้เขียนเอง เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นความผิด
2. สมยศไม่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงข้อความที่ลงในนิตยสาร
เพราะความผิดที่สมยศถูกพิพากษาคือการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย ประกอบกับ คำนิยามของ "บรรณาธิการ" ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 หมายความว่า "บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจ แก้ คัด เลือกหรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์" ดังนั้นถ้าสมยศถ้าต้องรับผิดในฐานะบรรณาธิการ สมยศก็ควรทราบถึงเนื้อหาของบทความที่จัดพิมพ์ไป ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏในทางนำสืบว่า คุณสมยศไม่มีโอกาสได้ตรวจดู หรืออ่านก่อน เมื่อไม่ได้รู้ถึงเนื้อหาในบทความนั้น จึงไม่จำเป็นต้องรับผิด
วสันต์ กล่าวด้วยว่า ตนยื่นอุทธรณ์ไปพร้อมกับคำร้องขอประกันตัวอาศัยเหตุผลว่า 1.การกระทำของคุณสมยศไม่มีกฎหมายรองรับว่าเป็นความผิด และ 2.คุณสมยศไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีไปต่างประเทศ
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ กล่าวถึง การยื่นคำร้องขอประตัวทั้ง 14 ครั้งที่ผ่านมาว่าได้ยื่นขอประกันตัวไปด้วยเหตุผลอะไรบ้าง และศาลให้เหตุผลอะไรบ้าง โดยเน้นว่า ในคำร้องขอประกันตัวครั้งที่6 ได้ขอให้ศาลไต่สวนขอ้เท็จจริงประกอบว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีจริงหรือไม่ เนื่องจากศาลมักยกคำร้องโดยอ้างว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมทั้งที่จำเลยมิได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด และในครั้งที่ 8 ได้ยื่นคำร้องประกอบกับความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรของหน่วยงาน Article19 และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ แต่ศาลยังคงคำสั่งเช่นเดิม (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามไฟล์แนบ)
อย่างไรก็ดี สุกัญญายืนยันว่าจะทำการยื่นคำร้องขอประกันตัวอีก โดยในครั้งหน้าจะเพิ่มที่ดินอีกหนึ่งแปลงเป็นหลักทรัพย์รวมมูลค่าหลักทรัพย์ทั้งหมดแล้ว ประมาณสี่ล้านบาท เพื่อเป็นการยืนยันว่าสมยศเพียงต้องการออกมาสู้คดีอย่างเต็มที่ในประเทศไทย ไม่ได้ต้องการจะหลบหนี อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับคดีร้ายแรงทั่วไปที่มีโทษจำคุกประมาณ 10 ปีปกติใช้หลักทรัพย์เพียง 1 ล้านบาทก็พอแล้ว
สุกัญญาเสริมว่าในส่วนคดีต่างประเทศ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์อดัม ร่วมกับ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ Article 19 และสมาคนนักข่าวต่างประเทศ (FCCT) ตกลงที่จะให้ความร่วมมือเพื่อยืนยันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีอยู่ในประเทศไทยเพื่อปกป้องบรรณาธิการ นอกจากนี้ สุกัญญายังร้องขอให้ผู้ที่มางานร่วมลงนามในแถลงการณ์เพื่อแสดงว่า ประชาชนในประเทศไทย เห็นด้วยว่าควรปล่อยตัวสมยศและทุกท่านในที่นี้ยืนยันว่าคุณสมยศจะไม่หลบหนี
เวทีเสวนา “อดีตปัจจุบัน และอนาคตของมาตรา 112 กับสิทธิการประกันตัว”
ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์และอดีตนักโทษทางการเมือง กล่าวว่า ตนพยายามที่จะหาคำอธิบายว่าศาลไม่ให้ประกันด้วยเหตุผลใด ซึ่งท้ายสุดแล้วคำตอบสั้นๆ ก็คือ “ไม่มีเหตุผลสิ้นดี” ศ.ดร.ธงชัย อธิบายว่า ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ มีมานานมาก แต่ก่อนข้อหาหมิ่นถูกใช้ในกรณีที่มีการหมิ่นประมาทโดยตรงคือเพียงการดูหมิ่นที่ทำเกิดการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง เพราะถ้าเป็นการดูหมิ่นจนถึงขนาดทำลายสถาบันก็จะถูกตั้งข้อหากบฏไปเลย กรณีหมิ่นฯในสมัยก่อนจึงมีการใช้น้อยและใช้อย่างจำกัด
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำมาใช้สำหรับความผิดที่ใหญ่โตตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็น(สงครามเย็น คือสงครามที่ฝ่ายโลกเสรีเชื่อว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะมาทำลายหรือคุกคาม) แต่ในสังคมไทยไม่ได้มองคอมมิวนิสต์ซับซ้อนขนาดนั้นเพียงแต่มองว่าเป็นลัทธิที่จะมาทำลาย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เมื่อความเข้าใจเป็นเช่นนี้ มาตรา 112 จึงถูกผนวกกับความเข้าใจผิด ว่าการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์จะมีผลร้ายแรงดุจเดียวกับที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำ
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบัน เป็น 112 ที่อยู่ภายใต้บริบทใหม่และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดกบฏของชาติ มาตรา 112 มักจะถูกใช้ควบคู่กับสถานการณ์ที่มีลักษณะเป็นภัยต่อสถาบันและเป็นภัยต่อชาติ จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกัน เพราะ 112 ดูเหมือนเป็นความผิดรุนแรง คือเป็นการทำลายชาติ อย่างไรก็ดี การตีความลักษณะนี้จะอยู่ไม่กี่ช่วงเวลาเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่ตลอด
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวด้วยว่า ชาวโลกกำลังมองอยู่ว่าคนไทย over sensitive กับเรื่องนี้ ไร้เหตุผลสิ้นดี และเอาแน่เอานอนไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการไม่ให้ประกันตัวนั้นไม่มีที่ไหนเขาเข้าใจได้ อยากให้ศาลอธิบายให้คนอื่นเข้าใจว่าการกระทำเหล่านี้ จะมีผลถึงขนาดทำให้สถาบันกษัตริย์ล้มเชียว หรือการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ใครฟ้องก็ได้ ก็เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลมากเช่นกัน
วสันต์ พาณิชย์ ทนายความ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีมาตรฐานสำหรับการให้ประกันตัวเลย เมื่อดูจากคำสั่งในคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าหลักเกณฑ์การให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัวมันอยู่ตรงไหน มีหลายคดีที่มีข้อหารุนแรงและมีความเสี่ยงว่าจำเลยจะหลบหนี และในบางกรณีจำเลยก็หลบหนีจริงๆ แต่ก็กลับได้ประกันตัว
ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่ม เรดนนท์ อดีตผู้ต้องขังมาตรา 112 เล่าถึงปัญหาของการประกันตัว และสถานการณ์ของนักโทษคดี 112 รวบรวมได้ 3 ประเด็น ดังนี้
1. เรื่องการประกันตัว ธันฐวุฒิ กล่าวว่า ในคดีของตนหลังจากถูกฟ้องมีการยื่นขอประกันทั้งหมด 8 ครั้ง ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอคติต่อศาล แต่หลังจากกรณีอากง (อากงหรือนายอำพล ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปีตามมาตรา112) ทำให้ตนตัดสินใจว่าจะไม่ขอสู้แล้ว ตอนที่อยู่ในคุก ก็เจอกับตาสีตาสา ที่ไม่ได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกันและคิดว่าไม่สามารถหามาตรฐานใดๆ ได้ในระบบยุติธรรมของประเทศ
2. การปฏิบัติต่อนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ธันย์ฐวุฒิเล่าว่า เรื่องที่ตนถูกทำร้ายระหว่างตอนอยู่ในเรือนจำเป็นเรื่องจริง เนื่องจากคนที่ถูกขังจะเชื่อว่า ในหลวงเป็นผู้มีพระคุณ เพราะเป็นคนที่ให้อภัยโทษ เมื่อตนถูกย้ายไปที่แดน 8 ซึ่งเป็นแดนสำหรับคดีร้ายแรงและอยู่ลึกที่สุด วันแรกที่ไปถึงก็โดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายซึ่งเปรียบเสมือนเป็น "ไฟเขียว" ให้กับนักโทษคนอื่นๆ ให้ทำร้ายร่างกายตนได้ ต่อมาภายหลังจากที่อากงเสียชีวิต ผู้ต้องหาคดี 112 ก็ถูกย้ายไปแดน 1 ทั้งหมดและได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น
3. ความพร้อมของนปช.ที่นำในการต่อสู้ด้านประชาธิปไตย ธันย์ฐวุฒิกล่าวว่า รู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นแกนนำออกโทรทัศน์ว่าจะระดมคนออกมาชุมนุม เพราะถ้า นปช. ไม่มีความพร้อมก็อย่าระดมคนออกมา หากคนเหล่านั้นติดคุกแล้วแกนนำไม่สามารถดูแลหรือคุ้มครองได้ เช่น กรณีของตนทนายความที่พรรคส่งมาให้ก็ไม่ใส่ใจในเรื่องของคดีเลย ตนมีข้อมูลทั้งหมดนับตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำว่าใครบ้างที่เคยไปเยี่ยม หรือเคยช่วยในการประสานงาน และวันนี้ตนจะทำทุกทางเพื่อป้องกันไม่ให้คนที่มีอำนาจ หรือแกนนำ เอาประชาชนไปเป็นเหยื่ออีก
ภาพThumbnail จาก facebook Free Somyot