เอฟทีเอวอทช์ห่วง แก้รธน.มาตรา 190 กฎหมายลูกต้องชัดเจน

สืบเนื่องจากที่ขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 กำลังพิจารณาเพื่อแก้ไขเนื้อหาว่าด้วยการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ การพิจารณาอยู่ในขั้นตอนสำคัญที่ต้องเร่งพิจารณาหาข้อสรุปให้เสร็จในเวลาอันใกล้

เมื่อวันที่ 13 .. 56 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw จัดการเสวนาสาธารณะ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา190 อย่างไรเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก กรรมาธิการวิสามัญ สังกัดพรรคเพื่อไทย ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมาธิการวิสามัญ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และนายจักรชัย โฉมทองดีรองประธานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท 

นายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานกลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่า การทำหนังสือสัญญาเป็นเรื่องที่มีผลกระทบวงกว้าง แต่กระบวนการจัดทำจำกัดอยู่แค่ฝ่ายบริหาร การทำข้อตกลงทางการค้า เช่น เอฟทีเอไม่เคยเข้าสู่สภา และสาธารณชนไม่เคยรับรู้ เช่น กรณีเอฟทีเอไทยกับออสเตรเลียเมื่อปี 2547 ที่ลงนามและผูกพันไปโดยประชาชนไม่เคยรับรู้ จึงเห็นว่าควรมีกฎหมายกำหนดให้รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมาตรา190 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้รัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูลในหนังสือสัญญาที่สำคัญ แต่ในทางปฏิบัติก็มีปัญหาหลายอย่าง รวมทั้งกฎหมายลูกที่กำหนดรายละเอียดก็ยังไม่เกิด

นายจักรชัย กล่าวว่า มาตรา 190 ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ปัญหาก็มี เช่น มีความคลุมเครือ ทำให้เป็นภาระกับฝ่ายสภามากเกินไป เพราะต้องส่งทุกเรื่องที่ไม่แน่ใจเข้าสภาหมด และมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและความไม่สะดวกของการเจรจา แต่ส่วนตัวเห็นว่า เป็นความไม่สะดวกของฝ่ายรัฐที่ไม่คุ้นชิน เป็นวิธีคิดแบบบนลงล่างว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ฝ่ายอื่นไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว

นายจักรชัยกล่าวว่า กรรมาธิการวิสามัญฯ อยู่ระหว่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า หากเป็นข้อตกลงที่นำไปสู่การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน เช่น การเจรจาการค้าแบบทวภาคีต้องผ่านรัฐสภา แต่การเจรจาพหุภาคีไม่ต้องผ่านสภา ส่วนนี้เห็นว่าอันตรายมาก และการเขียนรัฐธรรมนูญไว้เช่นนี้จะไม่มีความหมายอะไร เพราะประเทศไทยได้เจรจาการค้าแบบทวิภาคีไปกับประเทศต่างๆ เกือบหมดแล้ว การเจรจาที่เหลืออยู่ ล้วนเป็นแบบพหุภาคี เช่น การเปิดเสรีอาเซียน

นายจักรชัยกล่าวถึงวรรคท้ายในมาตรา 190 ที่ระบุว่าต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นประเด็นสำคัญที่หวั่นว่าจะถูกแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งกฎหมายลูกมีความสำคัญที่จะทำให้รายละเอียดว่าเรื่องใดต้องเข้าสภาหรือไม่นั้นมีความชัดเจนมากขึ้น

นายจักรชัยกล่าวว่า ในวรรคสามซึ่งกำหนดหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามในหนังสือสัญญา มีคำที่สำคัญมากหายไปหนึ่งคำ คือ คำว่า “ให้ข้อมูล” ซึ่งในรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีคำนี้อยู่ แต่ในร่างของกรรมาธิการคำนี้หายไป หากมีการรับฟังความคิดเห็นแต่ไม่มีการให้ข้อมูลจะมีปัญหา และเป็นการรับฟังความเห็นที่เสียเวลามาก

ทั้งนี้ ในการแก้ไขมาตรา 190 นี้ มีข้อเสนอให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยว่าเรื่องใดต้องให้ผ่านสภาก่อน ซึ่งมีข้อดีคือ อาจทำให้ความเป็นการเมืองลดลง ไม่ต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไปศาล ศาลมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยว่าผิดหรือถูก ซึ่งทำให้ต้องมีคนผิด แต่คณะกรรมการวินิจฉัยอาจชี้ได้ว่าต้องไปอย่างไร เพราะมิติของสนธิสัญญามีมากกว่าเรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่ไม่ใช่ผิดหรือถูกเสียทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องมีกฎหมายลูกมากำหนดกระบวนการและองค์ประกอบของกรรมการให้ชัดเจน ให้พื้นที่ใช้ดุลพินิจน้อยลง

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมาธิการวิสามัญ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า คนที่เสนอให้แก้มาตรา 190 มักมีเหตุผล เพราะทำให้ฝ่ายบริหารดำเนินงานไม่สะดวก กลัวความลับถูกเปิดเผย ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะก็สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้นได้โดยที่ไม่ต้องแก้ไขมาตรา 190 ผศ.ดร.รัชดา กล่าวถึงการพูดคุยในกรรมาธิการว่า ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังด้วย

ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก กล่าวว่า มาตรา 190 มีปัญหาทำให้กระทรวงต่างประเทศไม่กล้าส่งนักเจรจาไปเจรจา เพราะกลัวว่าสิ่งที่เจรจาอาจไม่มีอำนาจ และเป็นการเจรจาที่ขัดรัฐธรรมนูญซึ่งทำให้เสียประโยชน์ เนื่องจากต้องนำทุกเรื่องที่ไม่แน่ใจว่าเข้ามาตรา 190หรือไม่เข้าสภาหมด และฝ่ายสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศก็ไม่กล้าออกกฎหมายลูก เพราะกลัวกฎหมายลูกจะขัดรัฐธรรมนูญอีก

ผศ.ดร.จารุพรรณยังกล่าวถึง การมีคณะกรรมการวินิจฉัยกรณีที่เข้ามาตรา 190 หรือไม่ว่า กรรมาธิการกำลังคุยกันว่า ส่วนของผู้ที่จะวินิจฉัยก่อนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาดว่ากรณีใดถึงจะเข้ามาตรา190 บ้าง ซึ่งอาจจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

[ภาพ และบรรยากาศงานเสวนาดูได้ที่ เฟซบุ๊ค ilaw คลิกที่นี่]