ซีป้าเผยสื่ออาเซียน ยังถูกคุกคาม ไม่มีเสรีภาพ รัฐพยายามแทรกแซง

วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 เครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีป้า (SEAPA) ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “แถลงรายงานประจำปีสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรอบปี พ.ศ.2555”

กายาทรีย์ เวนกิตสวารัน ผู้อำนวยการบริหารซีป้า แถลงรายงานสถานการณ์เสรีภาพสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยกล่าวถึงสถานการณ์ของสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ ว่า ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีการสังหารสื่อมากที่สุดในภูมิภาค มีจำนวนถึง 58 คน นับตั้งแต่ปี 1986 ในปีที่ผ่านมาก็ยังมีการสังหารสื่ออย่างต่อเนื่อง มีสื่อถูกสังหารสองครั้ง สื่อรู้สึกผิดหวังกับประธานาธิบดีที่รับจะแก้ปัญหาความรุนแรงต่อสื่อไว้

ขณะที่อินโดนีเซีย ปัญหาใหญ่คือการละเว้นการลงโทษผู้กระทำผิดในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ลงมือ เช่นกรณีในปี 1996 ที่นักข่าวคนหนึ่งรายงานข่าวฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐแล้วโดนสังหาร จนวันนี้คดีจะหมดอายุความแล้วแต่ก็ยังไม่มีการนำคนผิดมาลงโทษ เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่สนใจกรณีนี้ ไม่พยายามหาคนผิดมาลงโทษ ถือเป็นกรณีที่ชาวอินโดนีเซีย ค่อนข้างวิตก ทั้งที่กฎหมายในอินโดนีเซียค่อนข้างดีพอสมควร

สถานการณ์ในอินโดนีเซียภายหลังจากรัฐบาลซูฮาโตนั้น สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก อำนาจทหารลดลง ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ตรวจสอบผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ทหารกลัวแล้วออกกฎหมายมาปกป้องตัวเอง รัฐบาลและรัฐสภาพยายามผ่านกฎหมายให้อำนาจความมั่นคงของทหารกลับมา โดยกำหนดนิยามว่าอะไรเป็นความลับความมั่นคง โดยใช้นิยามอย่างกว้าง

ในประเทศไทย จากการจัดอันดับเสรีภาพสื่อของฟรีด้อมเฮ้าส์ ได้ลดอันดับประเทศไทยลงมาเป็น “ไม่เสรี” โดยมองกรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เป็นสำคัญ เนื่องจากกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ถูกใช้กับนักข่าวและบรรณาธิการ จึงทำให้ถูกลดอันดับลง นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีเรื่องอิทธิพลของธุรกิจ ความเป็นอิสระจากรัฐ และความเป็นเจ้าของสื่อ

จากกรณีคำตัดสินของศาล เกี่ยวกับความรับผิดของตัวกลางในกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทถูกลงโทษนั้น ผลการตัดสินมีความสำคัญต่อความรับผิดของตัวกลาง ทำให้ต่างประเทศสนใจมากและตั้งคำถามว่าตัวกลางควรรับผิดหรือไม่

ในปีที่ผ่านมา การกำกับดูแลตัวเองเป็นเรื่องน่าสนใจในบริบทไทย หลังจากมีกสทช. ก็มีการออกใบอนุญาตให้กับวิทยุชุมชน และการเซ็นเซอร์ตัวเองของสถานีโทรทัศน์บางช่อง ซึ่งเป็นความท้าทายของกสทช.ที่ต้องทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ กสทช.อาจไม่คาดคิดว่าต้องมาตัดสินในกรณีที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 ที่แบนละครเหนือเมฆ 2 แต่ในทางกลับกัน การที่สาธารณะได้รับรู้เรื่องนี้เป็นเรื่องดี ซึ่งกรณีกสทช.สามารถเทียบเคียงได้กับประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีองค์กรแบบกสทช.เช่นเดียวกัน และยังมีสื่อสาธารณะเหมือนกันด้วย

ในติมอร์ตะวันออก สื่อยังถูกควบคุมโดยภาครัฐผ่านทางการเงิน ขณะนี้กำลังมีการออกกฎหมายสื่อฯ เพื่อกำหนดว่าสื่อจะคุ้มครองสื่อได้มากแค่ไหน และรัฐจะมีบทบาทมากแค่ไหน

ประเทศลาว มีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อแต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ รัฐบาลลาวออกกกฎหมายสื่อมานั้นเป็นเพราะถูกกดดัน ในกระบวนการร่างกฎหมายก็มีปัญหาติดขัด และสื่อมวลชนลาวต้องการกฎหมายที่ทำให้สามารถทำงานได้และให้เสรีภาพการแสดงออก กล่าวคือ แม้จะมีกฎหมายด้านสื่อแล้วแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาของสื่อได้ทั้งหมด

 

ภาพประกอบจาก  Channels Television

ประเทศกัมพูชา แม้รัฐบาลจะยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกับนักข่าวแล้วเปลี่ยนมาใช้กฎหมายการให้ข้อมูลเท็จมากำกับสื่อฯ แต่การบังคับใช้ก็ยังมีปัญหา และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ความรุนแรงกับสื่อ เช่น มีนักข่าวรายหนึ่งพยายามเข้าไปทำข่าวตัดไม้ผิดกฎหมายแล้วถูกสังหาร สื่อถูกคุกคามโดยเฉพาะสื่อที่ทำข่าวในชนบท เรื่องที่ดิน เรื่องชาวบ้านถูกไล่ที่ นอกจากนี้ มีการจับเจ้าของสถานีวิทยุที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในข้อหาสร้างความแตกแยก แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยออกมา เพราะถูกกดดันจากสังคม

สิ่งที่ต้องจับตาสถานการณ์สื่อในกัมพูชาช่วงนี้คือ จะมีการเลือกตั้งในกรกฎาคมนี้ สื่ออาจจะถูกควบคุมอีกครั้ง โดยเฉพาะวิทยุ ที่มีทั้งของภาครัฐและเอกชน

ในมาเลเซีย การพัฒนาที่สำคัญคือการรวมตัวเพื่อเรียกร้องกฎหมายเลือกตั้งและการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเป็นการเคลื่อนไหวที่แยกออกจากสื่อกระแสหลัก กล่าวคือ แม้รัฐจะพยายามควบคุมสื่อ และมีโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อกระแสหลัก แต่สถานการณ์นี้ชี้วัดว่าความเชื่อมั่นในสื่อตกต่ำลง และรัฐไม่สามารถปิดบังสังคมจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ในบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ ดูเหมือนไม่มีความรุนแรงกับสื่อเพราะมีรูปแบบควบคุมอื่นๆ เช่น ในสิงคโปร์เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการฟ้องหมิ่นประมาทนักข่าว นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลฟ้องร้องนักข่าวเป็นจำนวนเงินหลายล้าน  และสื่อในสิงคโปร์ก็มักเชื่อฟังรัฐบาลเช่นเดียวกับเวียดนาม

ประเทศพม่าในช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นทางการเมือง เช่น มีการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อย มีความขัดแย้งทางศาสนา ทำให้เกิดความสับสนในกลุ่มสื่อพม่า ซึ่งบางครั้งสื่อไม่รู้ว่าจะปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกัน ความพร้อมในการมีเสรีภาพก็ต้องใช้เสรีภาพให้ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกฎระเบียบต่างๆ ถ้าสื่อล้มเหลว รัฐบาลก็จะกลับเข้ามาควบคุมสื่ออีก เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ในเวียดนาม เว็บบล็อกดูจะเป็นพื้นที่เดียวที่สามารถนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นได้ บล็อกเกอร์จึงถูกรัฐบาลโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะการวิจารณ์รัฐบาลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น เหมือง หรือเขื่อน

กายาทรีย์กล่าวถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า รับรองเสรีภาพการแสดงออกยกเว้นเสรีภาพการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ต ทำให้เห็นว่า ผู้นำกลัวการส่งผ่านข้อมูลข้ามพรหมแดนผ่านเทคโนโลยีที่สอดส่องได้ยาก

หลังจากการแถลงรายงานสถานการณ์ กวี จงกิจถาวร ประธานสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีป้า กล่าวถึงปัญหาสื่อมวลชนในอาเซียนและการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในกรอบอาเซียนว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนนั้นไม่ได้กล่าวถึงสื่อมวลชนเลย ประเทศไทยเองก็ใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่พูดถึงการรวมตัวสื่อมวลชนในระดับภูมิภาค อีกทั้งนักข่าวอาเซียนก็มีความจำกัดมาก ไม่สนใจเข้าไปทำในประเด็นที่ไม่คุ้นเคย เช่น นักข่าวในอาเซียนไม่เคยร่วมมือกันในการทำข่าว ขณะที่นักข่าวต่างชาติสามารถมองเข้ามาในอาเซียน และทำข่าวได้ เนื่องจากนักข่าวในอาเซียนมีนโยบายไม่แทรกแซงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอื่นๆ  ขณะนี้เราไม่มีองค์กรวิชาชีพสื่อระดับภูมิภาคที่จะรวบรวมสื่อแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน แต่ก็มีความพยายามที่จะก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์อาเซียน โดยหวังว่าจะเป็นการนำองค์กรสื่อในอาเซียนมาทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้สื่อมวลชนอาเซียนก็มีปัญหาเพราะไม่สามารถเข้าไปจัดการกับสื่อใหม่ได้ องค์กรสื่อแบบเดิมๆ ก็ไม่มีประสิทธิภาพทำหน้าที่ เนื่องจากยังต้องพึ่งพาโฆษณา หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่

ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาและความท้าทายของสื่อมวลชนในประเทศไทยว่า ปัจจุบันนี้ สื่อหลักของประเทศไม่ได้มีแค่สื่อเดียว มีสื่อเกิดใหม่จำนวนมาก เช่น เคเบิ้ลทีวี หรือสื่อออนไลน์และใครก็สามารถเป็นเจ้าของสื่อได้ ทุกฝ่ายก็ใช้เสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร จนบางครั้งก็ใช้เสรีภาพไปละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดความรุนแรง ความแตกแยก หรือบิดเบือนข้อมูลที่แท้จริงจนกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อสื่อ  ซึ่งตรงนี้เป็นความท้าทายของสังคมไทยว่าจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร  ซึ่งตนก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยการปิดกั้นสื่อ และไม่ได้ปฏิเสธการใช้เสรีภาพ แต่ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้การใช้เสรีภาพอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและไม่กระทบกระทั่งคนอื่น

ขณะนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ได้รณรงค์เรื่องเสรีภาพที่ไม่คุกคาม กล่าวคือเรียกร้องไม่ให้มีการคุกคามสื่อฯ และเสรีภาพการแสดงออก และสื่อฯ เองก็ต้องไม่ไปคุกคามหรือละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย