สิทธิตามกฎหมายที่คู่รักเกย์ เลสเบี้ยนเข้าไม่ถึง

รอบตัวเรามีคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคู่รักหญิงชาย คู่รักหญิงหญิง คู่รักชายชาย ฯลฯ ความแตกต่างอยู่ที่คู่รักหญิงชายมีทางเลือกว่าจะใช้ชีวิตแบบ “จด” ทะเบียนสมรส หรือ “ไม่จด” ทะเบียนสมรส ขณะที่คนรักเพศเดียวกันยังไม่มีโอกาสเลือก ซึ่งส่งผลให้คนรักเพศเดียวกันขาดสิทธิหลายอย่างที่พึงมีในฐานะคนครอบครัวเดียวกัน
เวลานี้ เป็นช่วงของการขับเคลื่อน “ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ….” ที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้คนรักเพศเดียวกันที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายเดิม สามารถจดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” อันนำไปสู่สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เรื่องนี้อาจสร้างคำถามขึ้นในใจหลายคนว่า คู่รักจำนวนไม่น้อยพึงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส แล้วมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องมีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียน
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเอาเข้าจริงสังคมไทยก็ยังมีอคติต่อคนรักเพศเดียวกันอยู่ลึกๆ เปรียบเทียบกันแล้ว หากคู่ชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันไปติดต่อหน่วยราชการหรือเอกชน บางครั้งเพียงแจ้งว่ามีสถานะเป็นสามีภรรยาของกันและกัน ก็อาจสามารถติดต่อทำกิจธุระต่างๆ ได้ หรือมีอุปสรรคแต่ก็ไม่มากนัก แต่สำหรับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน หากบอกว่าเป็นคู่ชีวิตเพื่อจะมาติดต่อธุระอาจถูกปฏิเสธเพราะอคติที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน ดังนั้น การจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงอาจเป็นทางออกหนึ่งเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานแสดงตัวสำหรับการทำกิจธุระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้
ลองมาดูตัวอย่างกันว่า มีความสัมพันธ์ทางกฎหมายเรื่องใดบ้าง ที่คู่ชีวิตทุกเพศควรมีสิทธิในฐานะคนรักที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน แต่คู่ชีวิตเพศเดียวกันกลับไม่สามารถทำได้ เพราะมีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือกติกาใดๆ ขวางทางอยู่ อันเป็นทำให้ต้องเรียกร้องหาการจดทะเบียนเพื่อแสดงตน
ด้านกฎหมาย
1.สิทธิในเรื่องการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
  • การลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ที่มีรายได้และต้องเสียภาษี หากมีคู่สมรสแล้ว กฎหมายถือเป็นเหตุให้ลดหย่อนภาษีได้ เพราะถือว่ามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต้องดูแลคนอีกหนึ่งคน แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนแม้จะมีภาระต้องเลี้ยงดูกันก็ไม่สามารถขอลดหย่อนภาษีได้
  • สินสมรส คู่สมรสที่ได้ทรัพย์สินมาหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วจากการทำมาหากิน เรียกว่า “สินสมรส” ผลทางกฎหมายคือ สินสมรสทุกอย่างทั้งสองคนเป็นเจ้าของคนละครึ่ง เพราะถือว่าสองคน “ทำมาหาได้ร่วมกัน” หากภายหลังหย่ากัน ทรัพย์สินเหล่านั้นต้องแบ่งครึ่ง หากใครแอบเอาไว้คนเดียวสามารถฟ้องให้แบ่งครึ่งกันได้ แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถอ้างเรื่องสินสมรสเรียกให้แบ่งครึ่งได้
  • สัญญาก่อนสมรส หากคู่สมรสไม่ต้องการแบ่งทรัพย์สินกันคนละครึ่งตามระบบสินสมรส แต่ต้องการให้เป็นของใครของมัน หรือแบ่งกันคนละกี่ส่วนก็สามารถตกลงกันได้ โดยการทำสัญญาก่อนสมรสเป็นหนังสือแล้วถือไปตอนจดทะเบียนสมรสด้วย แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนจึงไม่มีกฎหมายใดมารองรับสัญญารูปแบบนี้
  • สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เนื่องจากทรัพย์สินที่หามานั้นเป็นเจ้าของกันคนละครึ่ง การจัดการทรัพย์สินที่สำคัญ เช่น การซื้อขายที่ดิน การปล่อยเงินกู้ กฎหมายจึงกำหนดว่าต้องได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่าย เพื่อคุ้มครองไม่ให้ฝ่ายหนึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์กับตัวเองฝ่ายเดียว แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนฝ่ายหนึ่งอาจแอบทำได้โดยลำพัง
  • สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู คู่สมรสมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน หากฝ่ายใดไม่เลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งจนได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถฟ้องหย่าได้ และฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่มีสิทธินี้
  • การรับมรดก คู่สมรสถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับแรก หากฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในกองมรดกของอีกฝ่ายเลย ทรัพย์สินต้องเป็นของญาติของผู้ตายทั้งหมด คู่ชีวิตจะไม่ได้ส่วนแบ่งเลย
  • การเป็นผู้อนุบาล หรือ ผู้พิทักษ์ กรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งวิกลจริต หรือมีความบกพร่องบางอย่างทำให้จัดการทรัพย์สินไม่ได้ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์เพื่อจัดการทรัพย์สินแทนได้ และหากศาลเห็นความจำเป็นก็ต้องแต่งตั้งคู่สมรสนั้นให้เป็นผู้มีอำนาจ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนกันไม่มีสิทธินี้ และหากญาติคนอื่นเป็นคนร้องขอให้ ศาลก็อาจไม่เชื่อในความเป็นคู่ชีวิตและไม่แต่งตั้งให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทนก็ได้
  • การทำสัญญาประกันชีวิต ค้ำประกัน กู้เงินร่วมกัน ฯลฯ จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้เขียนไว้โดยตรงว่าการทำสัญญาเหล่านี้ต้องเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย แต่ทางปฏิบัติ บริษัทประกันชีวิตจะไม่ยอมให้ทำประกันโดยยกทรัพย์สินให้คนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ธนาคารก็เชื่อถือการค้ำประกันการกู้เงิน หรือการกู้เงินร่วมกันของคนที่เป็นญาติกันมากกว่าคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ตามกฎหมาย คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนจึงทำสัญญาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะคู่สัญญาอีกฝ่ายจะไม่ยอมรับ
2. สิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ
  • ค่ารักษาพยาบาล ราชการและเอกชนบางแห่งมีสวัสดิการรักษาพยาบาลให้คู่สมรส รวมถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ก็สามารถเบิกให้คู่สมรสของตัวเองได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เลย
  • สวัสดิการอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัยหรือค่าเช่าบ้านของครอบครัวของลูกจ้าง เงินทุนเพื่อการศึกษา สิทธิการลาติดตามคู่สมรส สิทธิการติดตามคู่สมรสไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ สิทธิเหล่านี้คู่ชีวิตที่ไม่จดทะเบียนไม่สามารถเข้าถึงได้
  • สิทธิในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล กรณีคู่รักฝ่ายหนึ่งป่วยหนักไม่ได้สติ แพทย์ย่อมต้องขอความเห็นจากญาติสนิท ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้ยา หรือการหยุดรักษา ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่อาจมีสิทธิตัดสินใจแทนได้ แพทย์ต้องฟังความเห็นจากญาติคนอื่นซึ่งอาจสนิทน้อยกว่า รวมถึงในกรณีเร่งด่วนที่บางครั้งการตัดสินใจอย่างรวดเร็วอาจมีผลกับความเป็นความตาย แพทย์ก็ไม่อาจฟังความเห็นจากคู่ชีวิตที่ไม่มีทะเบียนหลักฐานอะไรได้
  • สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา แพทย์ย่อมต้องปรึกษาหารือให้ญาติสนิทร่วมตัดสินใจ แต่หากเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนแพทย์อาจจะมองว่าเป็นเพื่อนและไม่ให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย หรือคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนอาจไม่สามารถขอทราบข้อมูลในรายละเอียดของอาการผู้ป่วยจากสถานพยาบาลได้

 

 

3. สิทธิในกรณีคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย
  • สิทธิในการจัดการศพ คู่สมรสตามกฎหมายย่อมมีสิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณะบัตร เป็นต้น ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียน มีฐานะเป็นแค่ “เพื่อน” จึงไม่มีสิทธินี้ คงต้องให้ญาติที่อาจสนิทน้อยกว่าเป็นผู้จัดการแทน
  • สิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับศพ คู่สมรสสามารถแสดงเจตนาแทนคู่สมรสที่ตาย ในเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลอื่น หรือบริจาคศพให้โรงพยาบาลนำไปศึกษาได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ แม้จะเป็นความตั้งใจที่คู่ชีวิตเคยตกลงร่วมกันไว้ก่อนตายก็ตาม
4. สิทธิในการดำเนินคดีอาญา
  • สิทธิเป็นผู้เสียหายไปแจ้งความแทน ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดว่า กรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถมาแจ้งความเองได้ ให้คู่สมรสแจ้งความแทนได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนย่อมไม่สามารถไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับคนที่มาทำร้ายคู่ของตนได้ หากคนตายไม่มีญาติสนิทอื่นก็จะไม่มีใครมีอำนาจแจ้งความแทนเลย กรณีนี้ยังรวมถึงการแจ้งความว่าคนหายไปครบ 48 ชั่วโมงด้วย
  • สิทธิดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทคนตาย หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายไปแล้ว แต่ถูกคนเอาไปว่ากล่าวจนเสียหาย คู่สมรสที่ยังอยู่ย่อมเป็นผู้เสียหายดำเนินคดีได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 327 แต่หากเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนแม้จะเสียหายต่อชื่อเสียงเพียงใด ก็ไม่อาจดำเนินคดีได้
  • สิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คู่สมรสมีสิทธิต่างๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ดำเนินคดีแทนให้จบในกรณีที่ผู้เสียหายดำเนินคดีค้างไว้แล้วตายก่อนคดีจบ ได้รับแจ้งและเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพ ร้องขอให้ศาลทุเลาการจำคุกเพื่อสุขภาพของจำเลย ฯลฯ ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่อาจใช้สิทธิเหล่านี้ได้
  • สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย กรณีนักโทษอยู่ในเรือนจำแล้วเจ็บป่วย ระเบียบของกรมราชทัณฑ์กำหนดให้คนที่เข้าเยี่ยมได้มีเฉพาะญาติสนิท และคู่สมรสเท่านั้น คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่อาจเข้าเยี่ยมได้
5. สิทธิตามกฎหมาย และกติกาอื่นๆ
  • สิทธิในการได้สัญชาติ และการเข้าเมือง ถ้าคนต่างชาติจดทะเบียนสมรสกับคนไทย สามารถขอแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทยได้ และสามารถขออยู่ในประเทศไทยกับคู่ของตนได้ เหตุที่กฎหมายอนุญาตเพราะมองเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวและการอยู่ร่วมกัน แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่อาจได้สิทธิแปลงสัญชาติและสิทธิอยู่ในประเทศไทย
  • สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง การขอวีซ่าเดินทางไปในบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชีด้วย ซึ่งคู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียน แม้อีกฝ่ายจะมีเงินในบัญชีสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถใช้ในการขอวีซ่าได้
  • สิทธิในการเปลี่ยนนามสกุลตามคู่ชีวิต แม้คู่สมรสหลายคู่จะเรียกร้องว่าหญิงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามี แต่อีกหลายคู่ก็ยังต้องการเปลี่ยนเพื่อแสดงออกถึงความเป็นครอบครัว แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่มีทางเลือกเหล่านี้
  • สิทธิในการขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว หากคนในครอบครัวมีเรื่องบาดหมางกันทั้งทางทรัพย์สินและทางอาญา ต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งจะมีวิธีการพิจารณาคดีที่เน้นการไกล่เกลี่ย สร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อให้ครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้ ไม่ใช่การหักหาญเอาชนะกันเหมือนศาลทั่วไป แต่เรื่องบาดหมางของคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถขึ้นศาลพิเศษนี้ได้
  • สิทธิได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้ความหมายของครอบครัวไว้ว่า คู่สมรส คู่ที่อยู่กินฉันท์สามีภรรยา รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ยังมีปัญหาการตีความอยู่ว่าคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้หรือไม่
  • สิทธิประโยชน์ต่างตามห้างร้านต่างๆ หลายครั้งบริษัทเอกชนห้างร้านต่างๆ ทำโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับคนในครอบครัว เช่น ส่วนลดค่าห้องพักโรงแรม การะสะสมไมล์ของสายการบิน ส่วนลดโปรแกรมเสริมความงาม ฯลฯ ซึ่งคู่สมรสแทบไม่ต้องแสดงหลักฐานอะไรด้วยซ้ำ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนมักถูกปฏิเสธสิทธิประโยชน์เหล่านี้

 

ด้านสังคม
  1. สร้างการยอมรับจากสังคมได้ ปัจจุบันสังคมบางส่วนยังไม่ยอมรับการอยู่กินเป็นคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน หรือ คนที่ไม่ได้เป็นชายหญิงตามขนบเดิม บางครอบครัวไม่ยอมรับพฤติกรรมของลูก การจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายของบ้านเมืองสามารถรองรับสถานภาพของคู่ชีวิตทุกแบบได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทำให้คู่ชีวิตทุกรูปแบบมีพื้นที่ของตัวเอง และสามารถเปิดเผยสถานภาพของตัวเองต่อสังคมได้มากขึ้น
  2. ไม่อาจจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตซ้อนกันได้ คู่ชีวิตที่จดทะเบียนแล้วจะไม่สามารถจดทะเบียนกับคนอื่นได้อีกไม่ว่าเป็นเพศใด ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงไปอยู่กินกับคนอื่นทั้งที่ตัวเองมีคู่อยู่แล้วได้ เพราะเมื่อจดทะเบียนแล้วก็สามารถตรวจสอบสถานะทางทะเบียนได้ นอกจากนี้สำหรับคู่ที่จดทะเบียนแล้วแม้ครอบครัวไม่ยอมรับ ครอบครัวก็ไม่สามารถบังคับให้จดทะเบียนสมรสกับคนเพศตรงข้ามที่ครอบครัวต้องการได้อีก
  3. สังคมสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ การจดทะเบียนนอกจากให้สิทธิกับคู่ชีวิตแล้ว ยังทำให้อยู่ในกรอบที่สังคมสามารถตรวจสอบได้ เพราะในปัจจุบันกฎหมายที่มุ่งตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นกำหนดให้คู่สมรสต้องเปิดเผยทรัพย์สินด้วย และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางอย่างได้ เช่น คู่สมรสของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน ป้องการการเอื้อผลประโยชน์กัน ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ย่อมหลบเลี่ยงการตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายเหล่านี้ได้
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและทางสังคมที่คู่สมรสตามกฎหมายย่อมได้รับ แต่คนเพศเดียวกันที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมี ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอีนมาจากความแตกต่างทางเพศ ซึ่งทำให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันไม่มีสถานะใดๆ และไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงเป็นกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาข้อบกพร่องในกฎหมายเดิมที่กระทบต่อสิทธิของคนกล่าหนึ่ง ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็น
สิ่งสำคัญหนึ่งที่น่าจะเห็นได้จากร่างนี้ คือ การทำลายอุปสรรคที่กฎหมายเดิมๆ ขัดขวางวัฒนธรรมของสังคมที่ออกแบบมาให้คนที่เป็นคู่ชีวิตกันต้องช่วยเหลือดูแลแบ่งปันทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ถ้ายังไม่มีกฎหมายใดมารับรองสถานะ ให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันทำกิจการต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคู่ชีวิตเพศตรงข้าม ก็เท่ากับกฎหมายที่มีอยู่นั้นขัดแย้งกันเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิและเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกซึ่งความเอื้ออารีที่คู่ชีวิตจำนวนมากพึงจะมีให้กัน