ตั้งไข่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทดแทนการจดทะเบียนสมรส

วันที่ 9 สิงหาคม 2555 นายนที ธีระโรจนพงษ์ และนายอรรถพล จันทวี เดินทางไปที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอจะทะเบียนสมรส แต่นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าคุณสมบัติของผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายชายทั้งคู่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ที่กำหนดว่า การจดทะเบียนสมรสจะทำได้ต่อเมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นชาย ฝ่ายหนึ่งเป็นหญิง

คู่รักคู่นี้เห็นว่า คำสั่งปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเพราะความแตกต่างทางเพศ จึงร้องเรียนยังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง

คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วพบอุปสรรคทางกฎหมายหลายประการที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรส คณะทำงานจึงเสนอแนวคิดว่า น่าจะมี “ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน แล้วจะเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง ผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตอยู่ในระหว่างการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันของคณะทำงาน โดคณะทำงาน มีกำหนดประชุมครั้งสุดท้ายในวันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2556 และนำร่างฉบับที่ได้จากการประชุมเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต มีดังนี้

  • คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนที่จดทะเบียนกันตามพระราชบัญญัตินี้
  • การจดทะเบียนจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว (ตามกฎหมายปัจจุบัน การบรรลุนิติภาวะคืออายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจดทะเบียนสมรสกัน)
  • บุคคลใดที่จดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว มาจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้ว ไปจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนครั้งหลังถือเป็นโมฆะ
  • คู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเสมือนอยู่ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • คู่ชีวิตอาจเลือกใช้นามสกุลของอีกฝ่ายได้
  • ในเรื่องทรัพย์สิน ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยามาใช้บังคับ (สิทธิในการจัดการทรัพย์สินเหมือนกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน)
  • ในเรื่องมรดก ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาใช้บังคับ (คู่ชีวิตมีสิทธิรับมรดกเช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน)
  • คู่ชีวิตมีสิทธิต่างๆ ในฐานะคนในครอบครัว เช่น เป็นผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาแทนเจ้าตัวได้ เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นบุคคลในครอบครัวตามกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว เป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์หากคู่ชีวิตถูกสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ ฯลฯ

 

ที่มาภาพ jcoterhals

ขณะนี้ การประชุมแก้ไขร่างแรกของคณะทำงานยังดำเนินไป สามารถดาวน์โหลดร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตได้ตามไฟล์แนบ (ฉบับไม่อัพเดทล่าสุด) ขั้นตอนต่อจากนี้คณะทำงานจะต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 20 คนลงชื่อกันเพื่อเสนอ เมื่อเสนอแล้วร่างกฎหมายจะถูกตรวจสอบการใช้ภาษาทางเทคนิคอีกครั้งโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และกลับมาให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกไม่น้อย แต่เนื่องจากกฎหมายนี้อาจเกี่ยวข้องกับสิทธิของคนจำนวนไม่น้อย คณะทำงานจึงตั้งใจจะผลักดันให้ได้ภายในสมัยประชุมสภานิติบัญญัตินี้

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นคำถามต่อกฎหมายลักษณะนี้ให้ถกเถียงกันอีกมาก เช่น การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะให้สิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสได้จริงหรือ การแบ่งการจดทะเบียนเป็นสองระบบจะเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อหลักความเท่าเทียมหรือไม่ คู่ชีวิตที่ไม่ใช่ชายหญิงตามแบบฉบับควรมีสถานะและสิทธิต่างจากคู่สามีภรรยาที่สมรสกันตามกฎหมายเดิมหรือไม่ สิทธิและหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรจะเป็นอย่างไร ฯลฯ

สำหรับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มอัญจารี และอีกหลายกลุ่มแล้ว ยังพบประเด็นที่อาจเป็นข้อปัญหาในร่างฉบับนี้อยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ยังไม่แน่ว่าการผลักดันร่างนี้จะไปถึงปลายทางจนได้ประกาศใช้หรือไม่ แต่สิ่งที่สังคมทำร่วมกันได้ คือ ช่วยกันท้วงติง เสนอความเห็น และร่วมหาทางออก เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้คนทุกคนมีทางเลือกในชีวิตคู่ตามกฎหมายได้