งานวิจัยเผย พ.ร.บ.คอมฯไทย มุ่งเอาผิดเนื้อหามากเกินไป เสนอแก้กฎหมาย ตั้งศาลคอมพิวเตอร์

(Please click here for executive summary in English)

 

 

7 พ.ย.55 – ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยแพร่งานวิจัยหัวข้อ “ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ซึ่งมีคณะวิจัยประกอบด้วย นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หัวหน้าคณะวิจัย) พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการกลุ่มงานกฎหมาย กองกฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนางสาวอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 1.สถิติการปิดกั้นเว็บไซต์ 2.สถิติคดี 3.ปัญหาของเนื้อหากฎหมาย 4.เปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ 5.ข้อเสนอแนะของทีมวิจัย โดยข้อมูลเชิงสถิติ พบว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2554 หรือในช่วง 4 ปี 6 เดือน ที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มีผลใช้บังคับ มีสถิติการระงับการเผยแพร่เนื้อหาหรือการปิดเว็บไซต์โดยอาศัยมาตรา 20 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ผ่านคำสั่งศาลจำนวน 156 ฉบับ จำนวนทั้งสิ้น 81,213 ยูอาร์แอล

 

เนื้อหาที่ถูกปิดกั้นเป็นอันดับหนึ่ง คือ เนื้อหาและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ซึ่งมีคำสั่งศาลจำนวน 90 ฉบับให้ระงับการเข้าถึง 60,790 ยูอาร์แอล หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นทั้งหมด อันดับสอง คือ เนื้อหาและภาพลามกอนาจาร มีคำสั่งศาล 52 ฉบับ ให้ระงับการเข้าถึง 19,395 ยูอาร์แอล หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นทั้งหมด ที่เหลืออีกร้อยละ 1 เป็นเนื้อหาอื่นๆ

ปี 2552 เป็นปีที่มี “จำนวนคำสั่งศาล” ให้ปิดกั้นเว็บไซต์ตามคำขอของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) สูงที่สุด คือ 64 ฉบับ ให้ปิดกั้น 28,705 ยูอาร์แอล ในขณะที่ปี 2553 เป็นปีที่มี “จำนวนเว็บไซต์” ถูกปิดกั้นสูงที่สุด คือ 45,357 ยูอาร์แอล โดยคำสั่งศาล 45 ฉบับ

นอกจากนี้แม้กฎหมายกำหนดให้ศาลเป็นองค์กรผู้กลั่นกรองคำร้องให้ปิดกั้นเว็บไซต์ แต่พบว่าจากคำสั่งศาลทั้งสิ้น 156 ฉบับ มีถึง 142 ฉบับที่ศาลออกคำสั่งในวันเดียวกันกับที่กระทรวงไอทีซียื่นคำร้อง โดยในปี 2552 และ2553 ศาลมีคำสั่งปิดกั้นโดยเฉลี่ยถึง 326 ยูอาร์แอลต่อวัน และ 986 ยูอาร์แอลต่อวัน ตามลำดับ

ด้านสถิติคดีความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พบว่า มีคดีความทั้งสิ้น 325 คดี ซึ่งพบว่าคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาร้อยละ 66.15 ขณะที่คดีที่กระทำต่อตัวระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ คิดเป็นร้อยละ 19 เท่านั้น

ทั้งนี้ คดีความทั้งหมดสามารถจำแนกประเภทความผิดได้ดังนี้ อันดับหนึ่ง หมิ่นประมาทบุคคลอื่น จำนวน 100 คดี อันดับสอง อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ 47 คดี อันดับสาม ดูหมิ่นกษัตริย์ฯ 40 คดี อันดับสี่ ความผิดฐานฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต 31 คดี อันดับห้า เผยแพร่ภาพลามก 31 คดี อันดับหก เผยแพร่โปรแกรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย 12 คดี อันดับเจ็ด เนื้อหากระทบความมั่นคง 6 คดี และไม่สามารถระบุได้อีก 58 คดี งานวิจัยพบว่า ในบรรดาคดีทั้งหมด มีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นตัวกลางผู้ให้บริการทั้งสิ้น 26 คดี

สำหรับประเด็นในเนื้อหาของกฎหมาย คณะวิจัยเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มีปัญหาการนิยามศัพท์ เช่น คำว่า “ผู้ให้บริการ” ที่กำหนดนิยามและแยกประเภทไว้ไม่ชัดเจน ทั้งยังกำหนดให้ผู้ให้บริการทุกประเภทมีหน้าที่ทั้งเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ และมีความรับผิดต่อการเผยแพร่เนื้อหาของผู้อื่นโดยไม่แยกแยะ โดยกำหนดโทษแก่ผู้ให้บริการไว้เท่ากับผู้กระทำความผิด ซึ่งไม่สมเหตุสมผล

ปัญหาในการบัญญัติฐานความผิด ซึ่งปรากฏความคลุมเครือของบทบัญญัติทั้งใน มาตรา 14 มาตรา15 และ มาตรา20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 เช่น มาตรา 14 (2) มักถูกใช้ตั้งข้อหาควบคู่กับคดีความมั่นคง มีปัญหาในเรื่องขอบเขตการบังคับใช้ มีถ้อยคำกำกวม ไม่ชัดเจน อย่าง “ความเสียหายต่อความมั่นคง” และ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งขัดกับหลักที่ว่ากฎหมายต้องบัญญัติให้ชัดเจนแน่นอน และคดีตามมาตรา 14 (2) และ (3) ส่วนใหญ่เป็นการบังคับใช้ร่วมกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่มาตรา 20 ว่าด้วยการระงับการเผยแพร่เนื้อหาหรือการปิดเว็บไซต์ มีถ้อยคำที่คลุมเครือว่าเนื้อหาประเภทใดที่อาจถูกปิดกั้นได้ ทั้งที่โดยหลักการแล้วการปิดกั้นเว็บไซต์ต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน และการปิดกั้นเว็บไซต์ควรเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายที่ใช้อย่างจำกัด

ไทยนิยม แถลงโชว์ผลจำนวนบล็อคเว็บ
จากการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายในต่างประเทศ คือ ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน พบว่า ทุกประเทศต่างรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่มี “ข้อยกเว้น” หรือ “ข้อจำกัดเสรีภาพ” ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เยอรมนีมีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ต่อสันติภาพของประชาชน การดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหยียดหยามเชื้อชาติอื่น รวมทั้งการเผยแพร่ชาตินิยมเยอรมัน (ลัทธินาซี) สหรัฐอเมริกามีข้อยกเว้นกรณีเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน จีนมีข้อยกเว้นในกรณีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและเสถียรภาพของรัฐบาล ส่วนมาเลเซียมีข้อยกเว้นในกรณีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคง ขัดต่อหลักความเชื่อในศาสนาอิสลาม ลามกอนาจารและหยาบคาย และเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดข้างต้นที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาไว้ในกฎหมายที่ว่าด้วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งไม่มีประเทศใดที่กำหนดความผิด และโทษสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือตัวกลางไว้ “เท่ากับ” ผู้เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นความผิดนั้นเอง

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐไทยมีมุมมองต่อการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีลักษณะเฉพาะ เพราะตัวเลขเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นถือเป็นผลงานการบริหารของกระทรวงไอซีทีและนำไปแถลงผลงานในทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมา

เสนอปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550
งานวิจัยมีข้อเสนอแนะทางกฎหมายว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ควรกำหนดความผิดและโทษสำหรับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ หรืออาชญากรรมที่กระทำต่อตัวระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยตรงเท่านั้น ไม่รวมถึงการเอาผิดกับการเผยแพร่เนื้อหา แต่หากจำเป็นต้องมีบทลงโทษเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหา บทบัญญัติดังกล่าวก็ต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ โดยอาจใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในประมวลกฎหมายอาญาก็ได้

งานวิจัยมีข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นความรับผิดของตัวกลางว่า กฎหมายควรจำแนกระดับของความรับผิดตามลักษณะและประเภทของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยคำนึงถึงความเกี่ยวข้องกับเนื้อหา เช่น ผู้ให้บริการเนื้อหาควรมีความรับผิดต่อเนื้อหา ขณะที่ผู้ให้บริการทางเทคนิคโดยแท้ไม่ควรมีความรับผิดต่อเนื้อหาใดๆ เลย เว้นแต่เข้าเงื่อนไขบางประการ เช่น พิสูจน์ได้ว่าเขาเป็นผู้คัดเลือก ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เผยแพร่นั้น

ในส่วนของมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ ต้องแก้ไขให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ และไม่ทำให้ตีความหมายได้หลายอย่าง นอกจากนี้ ควรมีองค์กรผู้มีอำนาจออกคำสั่งที่มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้แทนจากหลายฝ่าย

สำหรับข้อเสนอแนะทางนโยบาย คณะวิจัยเห็นว่า รัฐควรหามาตรการเพื่อกำกับดูแลเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ได้ดุลยภาพกับการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน แทนการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ เช่น การส่งเสริมกลไกตรวจสอบกันเองระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ต้องเร่งพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่ รัฐควรต้องส่งเสริมให้มีศาลชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ และจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน

สำหรับข้อเสนอแนะต่อประชาชน และผู้ให้บริการสื่อออนไลน์นั้น เห็นว่า ประชาชนและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านนี้ควรตื่นตัวตรวจสอบการออกกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งนโยบายของรัฐที่อาจกระทบต่อเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอาจรวมตัวกัน หรือจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอย่างเข้มแข็งเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้รัฐกำหนดภาระหน้าที่อันไม่เป็นธรรม พัฒนาแนวทางการคัดค้านโต้แย้งกฎหมายหรือนโยบายที่ไม่ชอบธรรม เช่น การนำคดีขึ้นสู่ศาล เป็นต้น

ไฟล์แนบ