หมอบรรลุผุดไอเดีย ออกกฎหมายหนุนชมรมคนแก่ ช่วยแก้ปัญหาคนสูงวัย

 

คปก.เปิดเวทีรับฟังความคิดเพื่อหาแนวทางพัฒนากฎหมายสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ นพ.บรรลุ ศิริพานิช เสนอว่า หากรัฐมีกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดชมรมผู้สูงอายุ จะช่วยแบ่งเบาปัญหาได้ เพราะชมรมจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลช่วยเหลือกัน อีกทั้งยังช่วยคลายเหงาคนแก่ได้ด้วย
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “แนวทางการพัฒนากฎหมายสวัสดิการสังคมเพื่อผู้สูงอายุ” ณ โรงแรมทีเคพาเลส ถนนแจ้งวัฒนะ ดำเนินการอภิปรายโดย นางสุนี ไชยรส ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม 
นพ.บรรลุ ศิริพาณิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงภาพรวมและปัญหาของผู้สูงอายุไทยว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยมี 8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด อาศัยอยู่นอกเมืองร้อยละ 65 และอาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 35 ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุอาจมีถึงร้อยละ 20-25 ของประชากรทั้งหมด 
นพ.บรรลุกล่าวว่า เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ฉะนั้นต้องทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานเรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าจะพัฒนากฎหมายสวัสดิการผู้สูงอายุต้องให้ท้องถิ่นมีเครื่องมือนี้ ปัจจุบันผู้สูงอายุมีการรวมตัวกันเป็นชมรมผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีถึง 23,000 กว่าชมรมอยู่ภายใต้สภาผู้สูงอายุ ควรจะมีชมรมแบบนี้อยู่ทุกหมู่บ้าน เพื่อผู้สูงอายุจะได้มาพบปะพูดคุยกัน น่าจะแก้ปัญหาความเหงาของผู้สูงอายุได้
“ชมรมผู้สูงอายุ น่าจะเป็นกุญแจสำคัญไขเข้าสู่การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ จึงน่าจะมีกฎหมายหรือพัฒนากฎหมายเพื่อหาเงินมาใช้ในกิจกรรมชมรม อย่างเช่นคนพิการที่กำลังผลักดันเงินที่ได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มาใช้ในกิจกรรมคนพิการ” นพ.บรรลุกล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาผู้สูงอายุที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพ ซึ่งนอกจากผู้สูงอายุจะมักมีสุขภาพไม่ดีแล้วยังอาจไม่มีผู้ดูแล ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งผู้สูงอายุอาจมีเงินไม่พอใช้จ่าย ปัญหาการศึกษา ซึ่งพบว่า มีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 14.4 ที่ไม่ได้เข้าเรียนเลย ร้อยละ 70 จบชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 3 จบชั้นมัธยมศึกษา และอีกราวร้อยละ3เรียนจบชั้นอุดมศึกษา และปัญหาด้านสังคม ซึ่งผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องความเหงา
นพ.บรรลุกล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุมีอยู่สองฉบับ คือ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553) และพ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งโดยรวมแล้ว ประเทศไทยนับเป็นประเทศทันสมัยในประเด็นผู้สูงอายุ เพราะมีทั้งกฎหมายและแผนระยะยาวเกี่ยวกับผู้สูงอายุ 
นพ.บรรลุกล่าวถึงพ.ร.บ.ผู้สูงอายุว่า กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และต้องประชุมไม่น้อยกว่าสองครั้งต่อปี แต่ปัญหาคือนายกรัฐมนตรีมักไม่ว่างและให้รองนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องผู้สูงอายุนักมาแทน และประชุมในระยะเวลา 6 เดือนครั้งหนึ่งก็เป็นระยะเวลาที่นานเกินไป ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ 13 ข้อ ซึ่งเขียนไว้กว้างๆ แต่ก็ไม่กำหนดบทลงโทษในกรณีที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ทำตาม ซึ่งจากที่ประเมินมาก็ทำตามไปได้เพียงร้อยละ 58 เท่านั้น
สำหรับพ.ร.บ.การออมแห่งชาตินั้น อาจจะไม่ใช่กฎหมายเพื่อผู้สูงอายุโดยตรง แต่เนื่องจากปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุคือ ไม่มีเงิน ค่าใช้จ่ายไม่พอ ซึ่งหากวัยทำงานเริ่มทำงานหรือออมเงิน โดยรัฐจะช่วยสนับสนุนเงินออมด้วย และเมื่อออมไปได้ระยะหนึ่ง เมื่อถึงอายุตามที่กำหนดก็จะได้เงินบำนาญ ตามกฎหมายแล้วมาตรการนี้ต้องเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2555 ที่รัฐบาลจะต้องมาลงเงิน 1,000 ล้านบาทเพื่อเริ่มต้น แต่ตอนนี้รัฐบาลก็ยังไม่ทำ
ภาพประกอบจาก มูลนิธิพรสว่าง
 

รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าการพัฒนาสวัสดิการผู้สูงอายุ ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องมีการช่วยเหลือกันระหว่างผู้สูงอายุเอง และงานสังคมสงเคราะห์ด้วย

รศ.ณรงค์กล่าวว่า ปัจจุบัน ตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการผู้สูงอายุ เช่น สร้างช่องทางพิเศษในโรงพยาบาล จัดเก้าอี้สำรองสำหรับผู้สูงอายุในรถโดยสารหรือในโรงพยาบาล แต่ในอนาคต ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น บริการเหล่านี้อาจต้องเพิ่มให้เพียงพอ ทั้งนี้ กฎหมายนี้ไม่ได้เข้าไปแตะในพื้นที่เอกชน ทั้งที่การอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุควรจะมีทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่หน่วยงานราชการ

รศ.ณรงค์กล่าวต่อไปว่า สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น น่าจะเขียนเป็นกฎหมายหรือเป็นโมเดลให้ท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ ปัจจุบัน ท้องถิ่นมีสวัสดิการเพียงแค่การจ่ายเบี้ยยังชีพเท่านั้น แต่ยังไม่มีการดำเนินงานอื่นๆ ให้เป็นรูปธรรม เช่นการจัดตั้งชมรม หรือที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหลานดูแลผู้สูงวัย การสร้างอาชีพ

รศ.ณรงค์กล่าวว่า ผู้สูงอายุยังเผชิญปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการการช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงที่ไม่รู้กฎหมายมักถูกชักชวนไปทำสัญญา บริจาค จึงควรมีองค์กรที่ดูแลผู้สูงอายุในเชิงป้องกันตั้งแต่ต้น เท่าที่สำรวจ ผู้สูงอายุมักไม่ทราบสิทธิของตนเอง จึงน่าจะมีหน่วยงานทางกฎหมายมาดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สิน จึงควรมีระบบจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุถึงวัยที่ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินได้ด้วยตัวเอง ก็สามารถนำทรัพย์สินไปฝากไว้ให้ดูแลได้ แล้วเก็บดอกผลที่ได้มาใช้ยังชีพจนเสียชีวิต แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีกฎหมายเรื่องนี้

 

นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในมุมมองของกระทรวงการคลัง เน้นเรื่องการออม เนื่องจากงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นขั้นบันได เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยหวัดข้าราชการ ซึ่งในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านและใน 20 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะมีถึง 1 ใน 4 ของประเทศ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

หลักคิดในการออม คือทำให้ประชาชนมีรายได้ มีเงินออมให้ใช้หลังเกษียณอย่างแน่นอน ความยั่งยืนของกองทุนการออมที่จัดตั้ง และการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ประชาชนมีเงินเหลือพอที่จะออม

ระบบการออมมีทั้งระบบบังคับและระบบสมัครใจ ระบบบังคับแบ่งออกเป็น รัฐจ่ายให้ผู้เกษียณเรื่อยๆ จนกว่าจะเสียชีวิต และกำหนดให้สมาชิกส่งเงินสะสมส่วนหนึ่ง และรัฐสมทบให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งพอสมาชิกพ้นจากงานหรือเกษียณก็จะได้รับเงินไป ส่วนระบบสมัครใจ สมาชิกก็สามารถเข้าระบบได้โดยสมัครใจ ต้องส่งเงินสะสมเอง อาจมีนายจ้างสมทบเงินด้วย เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ระบบบังคับที่รัฐต้องจ่ายให้ผู้เกษียณเรื่อยๆ โดยไม่มีการควบคุมอาจจะเป็นปัญหาทางการคลังในระยะยาว กระทรวงการคลังเคยคิดจะตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติสำหรับลูกจ้างเอกชน โดยให้จ่ายเข้ากองทุนและรัฐช่วยสมทบ แต่ก็ยังไม่เกิด เพราะมีกลุ่มที่น่าเป็นห่วงกว่า คือ คนที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากรัฐเลย ซึ่งมีจำนวนมากถึง 35 ล้านคน จึงต้องมีพ.ร.บ.การออมแห่งชาติขึ้นมาเพื่อตั้งกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับแรงงานนอกระบบและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้สามารถสมัครเข้ามาในกองทุนนี้ได้ โดยสมาชิกต้องส่งเงินเป็นประจำและรัฐสมทบตามสัดส่วนอายุ

การบริหารงานกองทุนการออมแห่งชาติ จะบริหารงานโดยคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เงินที่อยู่ในกองทุนจะนำไปหาผลประโยชน์และเก็บไว้ในกองทุน และรัฐจะต้องประกันดอกเบี้ยไม่ให้ต่ำกว่าธนาคาร ต้องรับสมัครสมาชิกภายใน 1 ปี แต่หลังจากกำหนดรับสมาชิกก็มีปัญหาที่ทางฝ่ายนโยบายต้องการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากอยากให้ปรับปรุงเพื่อลดความยุ่งยากให้ประชาชนเข้าถึงได้ และลดภาระของรัฐบาลที่จะต้องให้เงินตั้งต้นหนึ่งพันล้านบาท

แนวทางที่จะปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ในอนาคต คือ อาจจะไม่กำหนดอายุสูงสุดที่สมัครได้ที่ 60 ปีขึ้นไป เพราะอาจจะเป็นการจำกัด ทั้งไม่กำหนดเพดานเงินที่นำมาฝาก และรัฐจะสมทบ 100% แทนที่จะสมทบตามสัดส่วนอายุเพื่อลดความยุ่งยาก การรับสมัครสมาชิกอาจจะให้ธนาคารของรัฐประชาสัมพันธ์และดำเนินการ และจะไม่นำเงินไปลงทุนในหุ้น เพื่อความมั่นคงของกองทุน

 

หลังเสนอประเด็นจากวิทยากรทั้งสามท่าน ผู้เข้าร่วมเวทีสาธารณะซึ่งเป็นตัวแทนจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและประชาสังคม อีกทั้งตัวแทนผู้สูงอายุจากชมรมผู้สูงอายุจากภูมิภาคต่างๆ และตัวแทนจากเครือข่ายกลุ่มแรงงาน ร่วมอภิปรายในประเด็นสิทธิประโยชน์ กลไกการบริหารจัดการ และการเงินการคลัง ในการจัดสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ พอสรุปได้ว่า ปัญหาหลักสำคัญ เรื่องสิทธิประโยชน์ คือผู้อายุไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในต่างจังหวัด เนื่องจากการคมนาคมที่ไม่สะดวก และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก ปัจจุบันนี้มีชมรมผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่ไม่มีงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ทั้งอาชีพสำหรับผู้สูงอายุก็ไม่สามารถทำได้จริง ส่วนในกลไกบริหารเห็นตรงกันว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญการบริหารจัดการ เนื่องจากมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดมากกว่าในตัวเมือง แต่รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจะบูรณาการกองทุนต่างๆ เข้าด้วยกัน เนื่องจากการมีหลายกองทุนทำให้ประชาชนเสียสิทธิ เช่น ผู้ที่เป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้ ดังนั้นหากบูรณาการกองทุนต่างๆ เป็นกองทุนเดียวได้ก็จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้มากกว่า