เมื่อเสรีภาพ มาเคาะประตูบ้านศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว อีกวิธีที่ประชาชนอาจใช้เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ในกรณีที่เห็นว่ากฎหมายที่บังคับใช้นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ 

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริง ก็จะมีผลให้มาตรานั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้หรือถูกยกเลิกไปทันที โดยไม่มีใครสามารถประกาศใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้ได้อีก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรง
ทั้งนี้ โดยทั่วไป ประชาชนไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองโดยตรง แต่หากพบว่า สิทธิของตนจะถูกกระทบโดยกฎหมายใดเพราะมีการบังคับใช้ผ่านการฟ้องคดีในชั้นศาล ประชาชนจึงสามารถขอให้ศาลที่พิจารณาคดีของตนอยู่นั้นส่งเรื่องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่า กฎหมายมาตรานั้นๆ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
หลังปี 2550 ประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อขึ้นใหม่ทั้งระบบ ทั้งกฎหมายวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ และสื่ออินเทอร์เน็ต สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกของไทยเคลื่อนที่ออกจากการปิดกั้นสื่อมวลชนกระแสหลักมาเป็นการควบคุมการแสดงความคิดเห็นในระดับบุคคล สื่อใหม่ของพลเมือง เช่น อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออิสระที่นำเสนอประเด็นทางสังคมแตกต่างไปจากข้อมูลที่รัฐต้องการได้ยิน ถูกดำเนินคดีด้วยอำนาจตามกฎหมาย 
แต่สภาวการณ์ที่รัฐไทยต้องการรักษาประเด็นบางอย่างให้เป็นเรื่องถูกห้ามพูดถึงอยู่ตลอดเวลานั้น ไม่อาจทำให้ประชาชนพึงพอใจได้ เมื่อรู้สึกว่าสิทธิในการแสดงออกที่พวกเขาควรจะมีถูกลิดรอนโดยกฎหมาย พวกเขาจึงส่งเรื่องไปทวงถามให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ชี้ว่า กฎหมายที่รัฐนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออกของพวกเขานั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ 
ในปี 2555 มีกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพที่ประชาชนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 4 เรื่อง เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ โดยยื่นผ่านศาลชั้นต้นในระหว่างการพิจารณาคดี
คดี นายคธา ป. ยื่นให้ตีความ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2)
คดีนี้ จำเลยคือนาย คธา ป. ถูกฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554 เป็นคดีดำหมายเลข อ.2337/2554 ว่าเป็นผู้โพสข่าวลือลงในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น [อ่านรายละเอียดคดี คลิกที่นี่]
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 40(3) เพราะเป็นบทบัญญัติที่กำกวม เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจดุลพินิจได้อย่างไร้ขอบเขต ประชาชนอ่านแล้วไม่สามารถทราบได้ว่าการกระทำเช่นใดจึงผิดต่อกฎหมายโดยเฉพาะถ้อยคำว่า “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นมุ่งคุ้มครองความมั่นคงประเทศ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม และการกำหนดความผิดทางอาญาแก่บุคคลตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) แล้ว จึงไม่รับคำร้องของจำเลยไว้วินิจฉัย [อ่านข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คลิกที่นี่]
พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 : 
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 :
มาตรา 40 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

 

คดี นายเอกชัย ห. ยื่นให้ตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีนี้จำเลยคือ นายเอกชัย ห. ถูกฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 เป็นคดีดำหมายเลข อ.2072/2554 ว่าเป็นผู้จำหน่ายแผ่นซีดี และเอกสารบันทึกบทสนทนา ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น [อ่านรายละเอียดคดี คลิกที่นี่]
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 เพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษสูงเกินไปไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 เพราะรัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ผู้เดียว ไม่รวมถึงราชินีและรัชทายาทด้วย และขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่มาตรา 112 กลับลงโทษแม้กระทั่งผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

วันที่ 10 ตุลาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า มาตรา 112 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการวินิจฉัยรวมกับคำร้องของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข (อ่านรายละเอียดผลคำวินิจฉัยได้ในหัวข้อ คดีนายสมยศ หรืออ่านได้ที่นี่)

 

ประมวลกฎหมายอาญา :
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 :
มาตรา 8  องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
มาตรา 29  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

 

คดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นให้ตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีนี้จำเลยคือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 เป็นคดีดำหมายเลข อ.2962/2555 ว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งมีบทความตีพิมพ์ลงในนิตยสารสองฉบับเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น [อ่านรายละเอียดคดี คลิกที่นี่]
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 29 เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดอัตราโทษไว้สูงเกินไป ทั้งที่มีลักษณะความผิดคล้ายการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกเพียงหนึ่งปี และอัตราโทษยังสูงกว่าโทษของความผิดฐานดูหมิ่นกฎหมายบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย
วันที่ 10 ตุลาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า มาตรา 112 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการวินิจฉัยรวมกับคำร้องของนายเอกชัย หงส์กังวาน รายละเอียดคำวินิจฉัย มีดังนี้
ประเด็นมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ : ศาลวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีที่จะอ้างว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้

ประเด็นมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ: ศาลวินิจฉัยว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม อันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมายแล้ว 

ประเด็นมาตรา 29 และ 45 แห่งรัฐธรรมนูญ :  ศาลวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นมาตรการของรัฐที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ  ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตา 45 วรรคหนึ่ง

ประเด็นอัตราโทษ ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่รับรองสถานะของพระมหากษัตริย์มีผลใช้ได้อย่างสมบูรณ์ในทางปฏิบัติ และเป็นการจำแนกการกระทำความผิดที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับสถานะของบุคคลที่ ประมวลกฎหมายอาญากำหนดไว้ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้

โดยสรุป ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

ประมวลกฎหมายอาญา :
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 :
มาตรา 3  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
มาตรา 29  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

 

คดี Insects in the Backyard ยื่นให้ตีความ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มาตรา 26(7), 29
ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติถูกสั่งห้ามฉาย โดยอ้างเหตุผลว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นคดีหมายเลข 671/2554 ขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ดังกล่าว ขณะนี้คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง [อ่านรายละเอียดคดี คลิกที่นี่]
ในวันเดียวกับที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 26 (7) และมาตรา 29 ที่ให้อำนาจสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และมาตรา 29 เพราะเป็นการให้อำนาจฝ่ายปกครองจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งที่มีมาตรการอื่นที่กระทบสิทธิน้อยกว่าที่สามารถทำได้ เช่น การกำหนดอายุผู้ชม และเงื่อนไขที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิเช่น คำว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี กระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิของประเทศ เป็นเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าสิทธิของตนจะถูกจำกัดเมื่อใด 
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 
มาตรา 26  ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้
(7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
มาตรา 29  ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 :
มาตรา 29  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
มาตรา 45  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

 

นอกจากนี้ คดีของนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่ถูกฟ้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ฐานเป็นผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความผิดกฎหมายอยู่บนเว็บไซต์ที่ตนดูแล และศาลชั้นต้นตัดสินให้ผู้ให้บริการซึ่งเป็นตัวกลางนั้น มีโทษจำคุกหนึ่งปี รอลงอาญาหนึ่งปี ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ โดยฝ่ายจำเลยมีความประสงค์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความความชอบด้วยกฎหมายของการมุ่งเอาผิดกับตัวกลางที่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำความผิดเองด้วยด้วย
อย่างไรก็ดี การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ย่อมทำให้กระบวนการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นยืดเวลาออกไป เพราะต้องรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งในบางกรณี การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงอาจส่งผลเสียต่อผู้ถูกละเมิดเสรีภาพมากกว่า เช่น กรณีคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและยังถูกคุมขังอยู่ตลอดเวลาการพิจารณาคดี และทำให้จำเลยต้องอยู่ในเรือนจำตลอดระยะเวลานั้น หรือกรณีคดี Insects in the Backyard ที่ถูกสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้น ในระหว่างรอคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองต้องชะลอการวินิจฉัยไว้ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาให้สามารถออกฉายได้
แต่อย่างไรก็ดี การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ได้มีผลเฉพาะต่อคดีเพียงคดีเดียวหรือผู้เสียหายเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่เสรีภาพ คำวินิจฉัยครั้งหนึ่งย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายส่งผลต่อคดีทุกคดี และคนทุกคนที่อาจถูกจำกัดสิทธิจากกฎหมายนั้นๆ ในอนาคต หรือที่ต้องรับโทษอยู่ในปัจจุบันด้วย นี่จึงเป็นการต่อสู้ระยะยาวที่ผู้เสียหายบางคนยอมเอาคดีของตนเข้าเป็นเดิมพัน
แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความโดยยึดกรอบว่า เสรีภาพต้องถูกจำกัดได้ตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองหลักการอย่างอื่นในสังคม หากศาลรัฐธรรมนูญยืนยันปฏิเสธหลักการเสรีภาพโดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันทั้งหมด เราคงได้เห็นสัญญาณอะไรบางอย่างจากบัลลังก์ศาล ที่ปิดประตูใส่หน้าเสรีภาพการแสดงออกอย่างสิ้นเชิง