กฎหมายพลังงานทางเลือก : ปฏิวัติพลังงาน ด้วยพลังของภาคประชาชน

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(แผน PDP) ของปี 2555 – 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ยังวางแผนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถึง 4,400 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 2,000 เมกะวัตต์

แม้ตามแผนพัฒนาดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกแล้ว แต่เมื่อวันที่ 16-20 สิงหาคม ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กลับพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งกล่าวสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และชี้ถึงข้อจำกัดต่างๆ ในการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ทั้งที่กระแสของโลกในปัจจุบันกำลังหมุนกลับไปสู่การพึ่งพาพลังงานทางเลือกตามธรรมชาติ เช่น สายน้ำ สายลม และแสงแดดแล้ว นี่จึงเป็นตัวบ่งชี้ทัศนคติการพัฒนาพลังงานภายในประเทศของหน่วยงานรัฐได้เป็นอย่างดี
ด้านกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (GreenPeace Southeast Asia) องค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่พยายามผลักดันให้เกิดการปฏิวัติพลังงานโดยการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาอย่างยาวนาน ในวันนี้ ใช้เครื่องมือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในรูปแบบใหม่ คือ การรณรงค์ให้คนไทย อย่างน้อย 55,555 คน ลงชื่อสนับสนุนหลักกฎหมายพลังงานทางเลือก
กฎหมายพลังงานทางเลือกที่กรีนพีซอยากเห็น น่าจะมีหลักการที่สำคัญ ได้แก่
  1. ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้และขายสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน
  2. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ
  3. การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม
  4. จัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน
  5. ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพื่อสร้างจิตสาธารณะ ร่วมกันลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การรณรงค์ครั้งนี้ กรีนพีซเปิดตัวด้วยงานมหกรรมปฏิวัติพลังงาน เมื่อวันที่ 2-18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในงานมีทั้งการแสดงดนตรีจากศิลปินชื่อดัง ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศต่างๆ รวมทั้งการให้ข้อมูลเรื่องกฎหมายพลังงานหมุนเวียน โดยในขณะนี้ มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 7 พันคนแล้ว (ข้อมูลวันที่ 3 กันยายน 2555)
ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าถึงที่มาที่ไป และ แนวทางการขับเคลื่อนของกรีนพีซ เพื่อบรรลุสู่การปฏิวัติพลังงานในประเทศไทย
ถึงเวลาต้องชู พลังงานทางเลือก
ณัฐวิภา เล่าที่มาของการรณรงค์ในประเด็นนี้ ว่า งานรณรงค์ที่ผ่านมา กรีนพีซคัดค้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานฟอซซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เมื่อกล่าวถึงปัญหาแล้ว ต่อมาจึงพัฒนาไปสู่การเสนอวิธีการแก้ปัญหา
“เราไม่เอาถ่านหิน ไม่เอานิวเคลียร์ เพราะไม่ยั่งยืน แต่เราเอาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก่อนที่เราจะพูดถึงพลังงานหมุนเวียน เราได้ศึกษาและเห็นรูปแบบของหลายประเทศแล้ว มันมีประสิทธิภาพ มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริง” ณัฐวิภากล่าว
ณัฐวิภากล่าวว่า ประเทศไทยวิจัยเรื่องกังหันลมมากว่า 20 ปีแล้ว แม้จะไม่ก้าวหน้า แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กรีนพีซมองทางเลือกอื่นที่จะมาใช้แทนถ่านหิน และนอกจากนี้ เมื่อประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติพลังงาน ที่เริ่มร่อยหรอลงทุกวัน ราคาน้ำมันก็สูงขึ้น ประกอบกับกระทรวงพลังงานกำลังยกร่างกฎหมายพลังงานทางเลือกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่กรีนพีซจะผลักดันประเด็นนี้อย่างจริงจัง
กฎหมาย คือ เครื่องมือ
ณัฐวิภากล่าวว่า แม้การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานกระแสหลักอย่างถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ไปสู่พลังงานกระแสรอง จะมีหลากหลายวิธีการ แต่กรีนพีซเล็งเห็นว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น เยอรมัน ซึ่งช่วงแรกของการผลักดันพลังงานทางเลือกก็ยังมีปัญหาติดขัดอยู่ แต่เมื่อตรากฎหมายออกมา ก็ทำให้การผลักดันนั้นเกิดผลสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้ การรณรงค์ให้มีการลงชื่อสนับสนุนหลักการทางกฎหมายนี้ ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
“การเกิดกฎหมายฉบับใดก็ควรต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เรี่มต้น เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องของการเป็นเจ้าของกฎหมายร่วมกัน และเข้ามากำหนดทิศทางร่วมกัน นี่คือจุดที่ทำให้เราสนใจ” คุณณัฐวิภา กล่าว
      
ผลักดันไปสู่คนชั้นกลาง
สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์ ณัฐวิภามองว่าคือ คนไทยทุกคน แต่กรีนพีซจะเจาะจงไปที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานแบบเก่า หรือกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเข้าใจปัญหาด้านพลังงานมาก อีกทั้งหลักการ 5 ข้อนี้จะเป็นเครื่องมือของชาวบ้านในการเจรจากับรัฐบาล เมื่อไม่ต้องการให้โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ย่างกรายเข้ามาในพื้นที่ของตน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนชั้นกลางซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยตรงนั้น ณัฐวิภา ยอมรับว่า แม้จะพยายามดึงเข้ามามีส่วนร่วม อย่างที่กรีนพีซจัดกิจกรรมมหกรรมปฏิวัติพลังงานที่ผ่านมา ซึ่งใช้การแสดง ใช้ดนตรี หรือนักดนตรีสื่อสารให้คนกรุงเทพฯ เห็นว่าไฟที่ใช้ในงานมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จ โดยอุปสรรคสำคัญคือ คนชนชั้นกลางมองเห็นแต่ประเด็นเศรษฐกิจ การเมือง แต่ไม่เห็นประเด็นทางสิ่งแวดล้อม
“คนกรุงเทพฯเปิดไฟใช้อย่างเดียวโดยไม่รู้ว่า หนึ่งคลิกที่เขาเปิดสวิตช์ไฟมันกระทบกับชุมชนไหนบ้าง” ณัฐวิภากล่าว
เชื่อมั่นในพลังของประชาชน
สำหรับแผนการรณรงค์ของกรีนพีซ ณัฐวิภาเล่าว่า งานของกรีนพีซจะมี 2 ส่วน ส่วนแรก คือทำงานกับมวลชน โดยหลังจากจัดมหกรรมในเมืองหลวงแล้ว กรีนพีซจะเริ่มเข้าหาชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือผู้มีส่วนได้เสียกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยกันผลักดัน ซึ่งกรีนพีซจะทำหน้าที่เสริมด้านข้อมูล ส่วนกิจกรรมอื่นๆ จะมีการจัดแสดงดนตรีริมถนน ซึ่งใช้ไฟจากแสงอาทิตย์
ส่วนที่สอง กรีนพีซจะทำงานในเชิงนโยบาย โดยการยกร่างกฎหมายพลังงานทางเลือกของภาคประชาชนคู่ขนานกับร่างของกระทรวงพลังงาน โดยมุ่งที่จะเสนอหลักการทั้ง 5 ข้อ เพื่อเป็นกรอบในการยกร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงาน และเมื่อร่างกฎหมายของภาครัฐเผยแพร่ออกมาแล้ว กรีนพีซจะติดตามตรวจสอบว่า เนื้อหายอมรับได้หรือไม่
“กรีนพีซพยายามดึงมวลชนเข้ามาสนับสนุน และอยากให้เห็นเรื่องพลังงานเป็นวาระของชาติที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม และอยากเห็นกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเป็นกฎหมายของประชาชนที่เราเข้ามาร่วมกันทำ” ณัฐวิภากล่าว
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นในพลังของการลงชื่อเสนอกฎหมายในครั้งนี้ ณัฐวิภา กล่าวว่า มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อในการลงชื่อครั้งนี้ คนที่เชื่อก็เพราะเห็นประโยชน์และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดพลังงานทางเลือกในประเทศไทย จึงมาร่วมลงชื่อ แต่คนที่ไม่เชื่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ต้องการพลังงานหมุนเวียน เพียงแต่มีทัศนคติว่า คนคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ซึ่งสำหรับกรีนพีซแล้ว เชื่อในพลังของภาคประชาชนอย่างเต็มเปี่ยม
“ที่ผ่านมาเราทำงานกับมวลชน ไม่มีครั้งไหนเลยที่เราทำงานแล้วไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน และด้วยแรงของมวลชนนี่เองที่ทำให้กรีนพีซอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ และเราเชื่อว่า จะมีคนอีกมากที่จะมาสนับสนุนเรา” ณัฐวิภา กล่าวทิ้งท้าย