ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ…. (ฉบับ ภาคประชาชน)

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) อยู่ระหว่างการผลักดันให้มีร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยปัจจุบันได้ระดมรายชื่อประชาชนจำนวน 12,500 รายชื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาแล้ว

กองทุนนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า เด็กและเยาวชนใช้เวลาอยู่กับสื่อมากกว่าอยู่ในห้องเรียน แต่สื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนและครอบครัวมีน้อยมาก ทำให้เด็กและเยาวชนขาดทักษะการเท่าทันสื่อและขาดพื้นที่สร้างสรรค์ อันอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ  สสย.จึงเห็นว่า กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ จะช่วยสร้างการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนและครอบครัว และคนในชุมชน ได้

ทั้งนี้ นิยามของคำว่าสื่อ ตามร่างกฎหมายนี้ ใช้ความหมายในมุมที่กว้าง รวมถึงสื่อที่ผลิตโดยเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน ไม่ใช่สื่อที่ผลิตโดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น

เช่นเดียวกัน ความหมายของคำว่า "กองทุน" ก็เป็นความหมายกว้างที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น แต่คำนึงถึงทุนทางสังคม ทั้งด้านความคิด จินตนาการ ทรัพยากรอื่นๆ ที่จะสามารถนำมาร่วมสนับสนุนการใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนแก่เด็กเยาวชนและครอบครัว 

กองทุนจะให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม การดึงให้ทุนทางสังคมแปรรูปเป็นสื่อสร้างสรรค์ แต่ไม่เน้นภารกิจตรวจสอบและปราบปรามสื่อร้าย เพราะมีกลไกอื่นกำกับดูแลอยู่แล้ว

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีกรรมการของกองทุนที่มีตัวแทนมาจากการสรรหา โดยสัดส่วนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งมาจากตัวแทนภาคประชาชนที่ทำงานด้านสื่อ ด้านเด็กเยาวชน ด้านการเรียนรู้การศึกษาฯ นอกจากนี้ ยังให้มี "สภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" และ "สมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" เป็นช่องทางที่ให้คนทั่วไปตรวจสอบการบริหารงานของกองทุน

สำหรับผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ…. (ฉบับ ภาคประชาชน) ได้ที่นี่

ขณะเดียวกันยังมีร่างกฎหมายเดียวกันนี้ที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 และได้รับการจัดเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. …. (ฉบับกระทรวงวัฒนธรรม) มีดังนี้

1. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุน (ร่างมาตรา 5)

2. กำหนดให้กองทุนส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินที่ได้รับจากการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ที่ตกเป็นของกองทุน และเงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ (ร่างมาตรา 6)

3. กำหนดให้กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (ร่างมาตรา 10)

4. กำหนดให้กองทุนมีอำนาจจ่ายเงินจากกองทุนเป็นค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการฯ ที่กำหนด (ร่างมาตรา 13)

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และองค์ประชุมคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 14 ถึงร่างมาตรา 19)

6. กำหนดให้มีผู้จัดการกองทุน คุณสมบัติของผู้จัดการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 23 ถึงร่างมาตรา 26)

7. กำหนดให้กองทุนจัดทำการบัญชีตามมาตรฐานการจัดทำบัญชีสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีรอบปีบัญชีตามปีงบประมาณ และจัดให้มีการตรวจสอบภายในและรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการฯ ทราบอย่างน้อยปีละครั้ง (ร่างมาตรา 27 และร่างมาตรา 28)

8. กำหนดให้กองทุนจัดทำงบการเงินและทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 29 และร่างมาตรา 30)

9. กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน กำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 31 และร่างมาตรา 32)

10. กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร (ร่างมาตรา 33)

อ้างอิง:

 

ไฟล์แนบ