เฟซบุคเปิดให้ชาวโลก โหวตนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล

 

โดย ปียาภัสณ์ ระเบียบ
 

1-8 มิถุนายนนี้ เฟซบุคเปิดให้ผู้ใช้ทั่วโลกโหวตนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล สร้างการลงประชามติที่กินอาณาเขตกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่การโหวตครั้งนี้อาจไม่มีความหมายเพราะหากมีผู้โหวตจำนวนไม่มากพอการโหวตนี้จะไม่มีผลผูกพันใดๆ ยังมีเสียงวิจารณ์ด้วยว่า นโยบายที่ให้เลือกโหวตระหว่างฉบับปัจจุบันและฉบับใหม่ ก็แทบหาความแตกต่างไม่ได้
 

ภาพจาก Mashable

เฟสบุ๊คในฐานะชุมชนออนไลน์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน เปิดให้ผู้ใช้บริการลงคะแนนเลือกกฏว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบ และนโยบายการใช้ข้อมูลของเฟซบุค
 
การโหวตมีระบบเหมือนกับการทำประชามติ โดยมีตัวเลือกให้ผู้ใช้บริการอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ จะเลือกกฎแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือ กฎใหม่ซึ่งเฟสบุ๊คอ้างว่าวิเคราะห์รวบรวมมาจากข้อร้องเรียนที่ผู้ใช้บริการเขียนไปยังเฟสบุ๊ค 
 
อย่างไรก็ตาม เฟสบุ๊คจะยอมรับผลโหวตและนำไปบังคับใช้ก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้เฟซบุคที่ลงทะเบียนและยังคงเล่นเฟซบุคอย่างต่อเนื่อง มาร่วมโหวตเกินร้อยละ 30 แต่หากผู้ลงคะแนนมีจำนวนน้อยกว่านั้น การโหวตครั้งนี้ก็จะกลายเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น
 
ประเมินตัวเลขคร่าวๆ นั่นอาจหมายถึง ผู้ใช้ประมาณ 270 ล้านบัญชี จากเกือบ 900 ล้านบัญชี จะต้องใช้สิทธิโหวตเพื่อให้การเลือกตั้งมีลักษณะผูกมัด หรือคือจำนวนเท่ากับประชากรทั้งสหรัฐอเมริกานั่นเอง การเลือกตั้งมีกำหนดเวลานับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน กินเวลาหนึ่งอาทิตย์ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน โดยสามารถลงคะแนนได้ที่ แอพพลิเคชั่นโหวตนโยบาย
 
ปัญหาที่นำไปสู่การโหวตครั้งนี้เกิดจากข้อวิจารณ์ต่อการเก็บข้อมูลของเฟสบุ๊ค ผลสำรวจโดย AP-CNBC เปิดเผยว่า ผู้ใช้บริการกว่าร้อยละ 59 ไม่ไว้ใจนโยบายการเก็บข้อมูลของเฟสบุ๊ค 
 
แน่นอนว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เราใส่ลงไป ไม่ว่าจะเป็นข้อความ (post) รูปภาพ การแชร์ การสะกิด (Pokes) ที่อยู่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP Address) ที่ใช้ล็อกอิน รวมไปถึงสถานที่ที่เช็คอิน แต่บริษัทยังสามารถเก็บข้อมูลที่เราคาดไม่ถึง เช่น ข้อมูลของเว็บไซต์ที่เราเข้าไปดูขณะที่เปิดเฟสบุ๊คทิ้งไว้ และเว็บไซต์ที่มีปุ่ม Like ของเฟสบุ๊คปรากฏอยู่ แม้เราจะไม่ได้ไปกดมันเลยก็ตาม 
 
แม้เฟสบุ๊คประกาศว่า ไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบธุรกิจโฆษณา แต่เมื่อเฟสบุ๊คขยายขนาดบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แรงจูงใจในการนำข้อมูลไปใช้ทางการตลาดย่อมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เฟสบุ๊คก็ได้รับการกดดันจากรัฐบาลสหรัฐอยู่มากในการปิดกั้นข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ รัฐบาลสหรัฐยังให้เฟสบุ๊คลงนามยอมรับข้อตกลงที่จะไม่ใช้ข้อมูลไปในทางที่ไม่ถูกต้องกับคณะกรรมาธิการการค้าสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission) แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยว่า ผลผูกพันนั้นสามารถบังคับใช้กับผู้ใช้บริการในประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่
 
การลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ เฟสบุ๊คออกข้อเสนอเกี่ยวกับระเบียบสองหัวข้อหลัก นั่นคือ "คำชี้แจงว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบ" หรือ Statement of Rights and Responsibilities- SRR และ "นโยบายการใช้ข้อมูล" หรือ Data Use Policy
 
กติกาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบ
สำหรับ "คำชี้แจงสิทธิและความรับผิดชอบ" มีตัวเลือกคือ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 หรือฉบับใหม่ วันที่ 20 เมษายน 2555 บทบัญญัตินี้มีขึ้นเพื่อจัดระเบียบการใช้โปรแกรม โดยระบุข้อผูกมัดที่เฟสบุ๊คมีต่อผู้ใช้บริการและที่ผู้ใช้บริการมีต่อเฟสบุ๊ค ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูล ความปลอดภัย การสมัครใช้บริการ การร่วมปกป้องสิทธิของผู้อื่นฯลฯ ตัวอย่างรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงที่เฟสบุ๊คระบุไว้ ได้แก่
 
– การแบ่งปันข้อมูล (Sharing Your Content and Information) เฟสบุ๊คถือว่า ผู้ใช้เฟซบุคเป็นผู้ตกลงเงื่อนไขการแบ่งปันข้อมูลกับกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งแอพฯ เหล่านั้นจะต้องร้องขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เฟสบุ๊คเองเรียกร้องให้แอพฯ ต่างๆ เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และเฟสบุ๊คเห็นว่า แอพฯ เหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งอาจจะต้องการข้อมูลจากผู้ใช้และเพื่อนในการสร้างแบ่งปันประสบการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้แอพเกี่ยวกับการวิจารณ์ภาพยนตร์ ก็อาจมีการเรียกข้อมูลการวิจารณ์จากเพื่อนของเราเข้ามาด้วย กรอบการทำงานของแอพฯ เหล่านี้จะถูกผูกพันโดยนโยบายพื้นที่สาธารณะของเฟสบุ๊ค ซึ่งระบุไว้ว่า สามารถดึงข้อมูลจากผู้ใช้ได้ตามที่ผู้ใช้กำหนดไว้ในการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว  (ดูข้อ 2.3 ของ Statement of Rights and Responsibilities )
 
– ความปลอดภัย (Safety) เฟสบุ๊คได้เปลี่ยนการใช้คำว่า เนื้อหาที่มีลักษณะเกลียดชังหรือ Hateful Content เป็น คำพูดแสดงความเกลียดชัง หรือ Hateful Speech โดยอธิบายว่าสามารถครอบคลุมเจตจำนงได้กว้างกว่า โดยคำพูดแสดงความเกลียดชังในความหมายของเฟสบุ๊คระบุไว้ว่าหมายถึงการดูหมิ่นผู้อื่นบนพื้นฐานของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ เพศภาวะ เพศสัมพันธ์ ความพิการ หรือเงื่อนไขทางสุขภาพ (ดูข้อ 3 ของ Statement of Rights and Responsibilities)
 
– เพิ่มเติมบทบัญญัติที่ 13 เกี่ยวกับโปรแกรมของเฟสบุ๊ค เช่น เฟสบุ๊คบนมือถือ ระบุว่าเฟสบุ๊คสามารถอัพเกรดโปรแกรมได้ตามต้องการ และผู้ใช้บริการไม่ได้รับอนุญาติให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขโปรแกรมแต่อย่างใด
 
– เพิ่มข้ออธิบายเพิ่มเติมในบทบัญญัติที่ 14 ว่าด้วยการแก้ไขคำชี้แจงสิทธิและความรับผิดชอบ โดยระบุว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการจ่ายเงิน ผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน ผู้ดูแลเวปไซต์ การโฆษณา จะแจ้งเตือนอย่างน้อย 3 วันล่วงหน้า และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆจะแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน 
 
นอกจากนี้หากมีผู้ใช้บริการมากกว่า 7,000 คนเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง เฟสบุ๊คจะเปิดให้โหวต และการโหวตนั้นจะมีผลจริงเมื่อมีผู้ลงคะแนนมากกว่าร้อยละ 30 อย่างไรก็ดี เฟสบุ๊คสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหากเป็นในเนื้อหาที่มีความเกี่ยวพันกับกฎหมายและการบริหารงานเว็บไซต์
 
นโยบายความเป็นส่วนตัว
ปัจจุบัน เฟสบุ๊คใช้ "นโยบายการใช้ข้อมูล" หรือชื่อเดิมว่า "นโยบายความเป็นส่วนตัว" ฉบับที่วันที่ 23 กรกฎาคม 2554 และเสนอนโยบายใหม่ เป็นฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ให้ผู้ใช้เลือกโหวต เนื้อหาส่วนนี้ เช่น มาตรการว่าด้วยการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเฟซบุค ระบบการแชร์ การค้นหาตัวตนของผู้ใช้บริการบนเฟสบุ๊ค เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น การโฆษณา ฯลฯ ตัวอย่างรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงที่เฟสบุ๊คระบุไว้ ได้แก่
 
– ข้อมูลที่เป็นสาธารณะตลอดเวลา มีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่เฟซบุคตั้งค่าเป็นสาธารณะตลอดเวลา เช่น ข้อมูลเรื่องเพศ เฟสบุ๊คกำหนดให้ผู้ใช้ระบุเพศ เพื่อที่แอพฯ และเฟสบุ๊คสามารถเรียกผู้ใช้งานได้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สามารถซ่อนข้อมูลนี้ไม่ให้ผู้ใช้คนอื่นเห็นได้ แต่เฟซบุคและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ 
 
นอกจากนี้รูปภาพหน้าแรกหรือ Cover Photo ซึ่งเป็นลูกเล่นใหม่ล่าสุดของเฟซบุค ก็เป็นข้อมูลสาธารณะ หากต้องการซ่อน จะต้องลบทิ้งและไม่ใช้ไปเลย (ดูคำอธิบาย  หมวดหนึ่ง ว่าด้วยข้อมูลที่ได้รับและการใช้ข้อมูลเหล่านั้น)
 
– การแชร์ข้อมูลและค้นหาบุคคลในเฟซบุค (Sharing and finding you on Facebook) เฟสบุ๊คเพิ่มคำเตือนว่า บางครั้งเราไม่อยากเปิดเผยข้อมูล แต่คนอื่นๆ ที่ใช้งานเฟซบุคด้วยกันก็อาจรู้ข้อมูลเราได้แบบอ้อมๆ เช่น แม้เราไม่เปิดเผยว่าเราเกิดวันเดือนปีใด แต่คนอื่นก็อาจรู้ได้เมื่อมีเพื่อนมาเขียนข้อความอวยพรวันเกิดบนกระดานของเรา หรือแม้ว่าเราจะตั้งค่าไม่ให้ผู้อื่นเห็นบัญชีรายชื่อเพื่อนของเรา แต่เฟสบุ๊คก็เปิดเผยให้ผู้ใช้มองเห็น “เพื่อนร่วมกัน” หรือ Mutual friends ได้ นอกจากนี้เฟสบุ๊คยังเพิ่มฟังค์ชั่นการใช้งานกลุ่ม โดยหากมีอีเมลของมหาวิทยาลัย ก็สามารถเชิญผู้ที่มีอีเมลของมหาลัยเข้าร่วมกลุ่มได้โดยไม่ต้องเป็นเพื่อนกันบนเฟสบุ๊ค 
 
ข้อกังขาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง
ในการโหวตนโยบายของเฟสบุ๊คครั้งนี้ ผู้ใช้บริการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การโหวตอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์ระเบียบการเลือกตั้งที่ว่า หากมีผู้ใช้บริการร่วมโหวตไม่ถึงร้อยละ 30 ผลการเลือกตั้งจะเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ซึ่งผู้วิจารณ์ระบุว่าการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการโหวตยังมีน้อยส่งผลให้มีผู้รับรู้เรื่องการเลือกนโยบายน้อย รวมไปถึงวิธีการโหวตที่ต้องเลือกผ่านแอพพลิเคชั่นทำให้เข้าถึงยากขึ้น ที่สำคัญคือเนื้อหายังเข้าใจยากว่าการเปลี่ยนแปลงคืออะไร บ้างวิจารณ์เนื้อหาที่เปลี่ยนไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งรัฐบาลของประเทศคอมมิวนิสต์ว่า มีการเลือกตั้งระหว่างตัวเลือก ก.และข. แต่ก.และข.ก็ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด
 
หากดูความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหา เปรียบเทียบระหว่างนโยบายฉบับเก่าและฉบับใหม่ ก็จะพบว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมีเพียงเปลี่ยนการใช้คำให้กระชับขึ้น แต่แนวนโยบายส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทั้งยังกันสิทธิพิเศษให้เฟสบุ๊คในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการออกเสียงโหวตได้ ก็เป็นการแสดงความใจกว้างของเฟสบุ๊ค และในฐานะผู้ใช้บริการของเฟสบุ๊ค ก็ควรใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายกับเฟสบุ๊ค

อ้างอิง:
Kate Freeman, It’s Facebook Election Week: How You Can Vote on Your Privacy (เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย.55)
Facebook Site Governance (เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย.55)