โลกใหม่ในพายุดิจิทัล กฎหมายไม่ใช่ทางออก

บก.ลายจุดชี้ เทคโนโลยีใหม่ช่วยเร่งให้เปิดมิติการเรียนรู้ใหม่ๆ ลดการผูกขาดสื่อ ส่งผลให้เปลี่ยนโครงสร้างทั้งเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และความใหม่นี้ต้องถูกควบคุมโดยวัฒนธรรม ไม่ใช่กฎหมาย


สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด (คนซ้าย)
ภาพประกอบจาก The Reading Room

 

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานมูลนิธิกระจกเงา หรือที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ในชื่อ 'บก.ลายจุด' นำบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับโรงเรียนพ(ล)บค่ำครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อเรื่อง "โลกคู่ขนาน Online-Offline กับอัตราเร่งดิจิทัล พายุ Social Network” จัดโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต ที่เดอะรีดดิ้งรูม (The Reading Room) ถนนสีลม

สมบัติกล่าวว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่มีอัตราเร่งสูงมาก เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิม อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเปลี่ยนไปรวดเร็ว จากเครื่องฉายสไลด์ ฟิล์ม พิมพ์ดีด โทรเลข ถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ดิจิตอล เมื่อสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าถูกคิดค้นขึ้นด้วยราคาถูก คนเข้าถึงได้ ทำให้คนยอมรับ เมื่อคนยอมรับถึงปริมาณหนึ่งก็จะกลายเป็นจุดต่อเข้าสู่ความเปลี่ยนผ่าน เป็นยุคที่คนส่วนใหญ่เปลี่ยนมาเชื่อและนับถือสิ่งใหม่ๆ และต่อให้มีกฎกติกาอะไรไปจำกัดไว้ก็จะถูกพลังทางสังคมทำลายลง โดยที่คนในสังคมไม่ต่อต้าน สิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อระบบและวิธีการเรียนรู้ของคนในสังคม ทำให้เกิดโอกาสที่จะเข้าถึงประวัติการศึกษาที่ไม่เคยบันทึกการต่อสู้ของประชาชนได้ผ่านอินเทอร์เน็ต นำไปสู่การวิจารณ์สื่อที่เดิมเคยผูกขาดการเสนอข่าว และทำให้คนมีทางเลือกที่จะเชื่อได้มากขึ้น

เขากล่าวถึงความยุ่งเหยิงของข้อมูลข่าวสารอันไร้ระเบียบในโลกออนไลน์ โดยเห็นว่า เป็นภาวะความยุ่งเหยิงที่ยอมรับได้และถือเป็นเรื่องธรรมชาติ การเข้าไปจัดระบบโดยเขียนกฏหมายขึ้นมาครอบไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง เพราะคนเล่นอินเทอร์เน็ตต้องการเสรีภาพ ดังนั้น สิ่งที่โลกออนไลน์ต้องการนั้น ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นวัฒนธรรมที่เหมาะสม

บก.ลายจุดกล่าวถึงข้อความที่แสดงความรุนแรงหรือเฮทสปีช (Hate speech) ในโลกออนไลน์ ที่พบว่าก็มักได้รับแรงต้านจากคนในสังคมเอง และแรงต้านนี้น่าจะเป็นแรงกดดันให้แก่ชุดความคิดที่ไม่เหมาะสมให้หายไปจากโลกออนไลน์ได้โดยอัตโนมัติ

สมบัติกล่าวถึงเรื่อง 'เศรษฐศาสตร์ดิจิตอล' ซึ่งหลักการคำนวนต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรได้เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สำนักพิมพ์มีต้นทุนคงที่ คือ ค่านักเขียน ค่าเช่าออฟฟิศ ต้นทุนผันแปรคือจำนวนกระดาษ เมื่อเป็นออนไลน์ ต้นทุนเหลือเพียงต้นทุนคงที่ เข้าสู่ระบบการผลิตแบบดิจิตอลเกิด 'ต้นทุนเฉียดศูนย์' และด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเช่นนี้ทำให้ทิศทางการผลิตแบบเดิมๆ ล่มสลาย เช่นเดียวกับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมก็จะได้รับผลกระทบและเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่า ด้วยอัตราเร่งทางเทคโนโลยีที่ต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างคนในแต่ละอัตราเร่ง แม้จะมีปลายทางเดียวกันก็ตาม และเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าใครกันแน่ที่ถูกต้อง

มีคำถามจากผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับปรากฏการณ์คลิกทิวิสซึม (Clicktivism) ซึ่งตั้งคำถามกับสังคมออนไลน์ว่า จะสามารถสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกออฟไลน์ได้จริงหรือไม่ สมบัติเห็นว่า การทำแคมเปญออนไลน์มีอิทธิพลกับสังคมได้จริง เพราะมีความเชื่อมโยงระหว่างโลกออนไลน์และการดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนที่สนใจ ตัวอย่างเช่น การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อประกาศรับบริจาคชุดนักเรียนโดยมูลนิธิกระจกเงา ก็สามารถรวมชุดนักเรียนและสิ่งของอื่นๆ ไปแจกจ่ายได้มากมาย