กรีนพีซชี้ 14 ปีสถานการณ์ห้วยคลิตี้ผ่านไปยังเสื่อมหนัก จี้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟู

ตะกอนดินในห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรียังคงปนเปื้อนสารตะกั่วอย่างรุนแรง พบแนวโน้มว่าสารตะกั่วจะลงมาตามสายน้ำมากขึ้นจากเดิม ขณะภาครัฐยังคงล่าช้าในการแก้ไขฟื้นฟู

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและตัวแทนชุมชนหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ร่วมออกแถลงการณ์กรณีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ จี้กรมควบคุมมลพิษต้องรับผิดชอบฟื้นฟูด่วน ระบุถือเป็นกรณีศึกษาอย่าปล่อยให้ประชาชนต้องแบกรับภาระแทนผู้ก่อมลพิษอีก

ผลศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้และดิน ที่เก็บเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 โดยหน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบสารตะกั่วปนเปื้อนในตะกอนดินบริเวณพื้นผิวมากทุกตัวอย่าง คือประมาณ 3,384 มก./กก.-4,363 มก./กก. ซึ่งมากกว่าค่าพื้นฐานที่พบได้ตามธรรมชาติ[1] [2] ประมาณ 113 -145 เท่า และมากกว่าปริมาณที่ส่งผลรุนแรงต่อระบบนิเวศตามที่บางประเทศได้กำหนดมาตรฐานไว้ [3] ประมาณ 6-8 เท่า นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในดินบริเวณที่เคยเป็นที่ถูกน้ำท่วมจากลำห้วยในปริมาณสูงถึง 3,906 มก./กก.หรือมากกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพดินของประเทศไทย[4] ที่กำหนดไว้สูงสุดประมาณ 5 เท่า โดยที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาใดตรวจพบสารตะกั่วในดินบริเวณหมู่บ้านสูงถึงขนาดนี้มาก่อน
“การปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ส่งผลรุนแรงต่อระบบนิเวศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากภาครัฐที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม กรณีนี้เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่มลพิษอุตสาหกรรมถูกผลักมาให้ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระทั้งผลกระทบด้านสุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไปและเงินภาษีในการแก้ไขปัญหา[5] ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมต้องตระหนักว่าการป้องกันมลพิษเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมและชีวิตประชาชนปลอดภัย”พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
"หลังการต่อสู้ของชุมชนคลิตี้ล่างผ่านไป 14 ปี ขณะนี้ยังไม่มีการขุดลอกตะกอนตะกั่วหรือฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม ชุมชนยังคงไม่ได้รับความปลอดภัยจากสารพิษ และไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในลำห้วยได้ดังเดิม พวกเราทุกคนอยากให้ลำห้วยคลิตี้กลับมาเป็นดังเดิม" กำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนชุมชนคลิตี้ล่าง กล่าว
ทั้งนี้ การฟ้องคดีปกครองในปีพ.ศ. 2547 ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในปีพ.ศ. 2551 ว่า กรมควบคุมมลพิษปฎิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่ว ในห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินสมควร ทางกรมควบคุมมลพิษจึงทบทวนแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยจากเดิมที่จะปล่อยให้ลำห้วยฟื้นฟูเองโดยธรรมชาติ แต่แล้วภายหลังเมื่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษาในคดีแพ่งว่าบริษัทเอกชนมีหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยกรมควบคุมมลพิษจึงยกเลิกแผนการทบทวนแนวทางดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เกรงจะขัดคำพิพากษาของศาล จึงนำไปสู่การไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ
แม้ในเวลาต่อมาจะมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีเดียวกันว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บริษัทเอกชนฟื้นฟูลำห้วย เนื่องจากตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ แต่จนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากการทำฝายหินดักตะกอนสองแห่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เพื่อดักตะกอนและชะลอไม่ให้มีการกระจายตัวแล้ว กรมควบคุมมลพิษก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ต่ออีกเลย ซึ่งการศึกษาติดตามการปนเปื้อนล่าสุดระบุว่าฝายหินดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขป้องกันปัญหาได้
สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรณีคลิตี้ เป็นตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจนของประเทศไทย แม้ว่าคำพิพากษาศาลจะยืนยันสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องมาตลอด คือ บริษัทเป็นผู้ปล่อยมลพิษ และกรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยล่าช้าเกินสมควรแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษเองก็ยังไม่ทำหน้าที่ ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นกรณีปัญหาในพื้นที่เล็ก ๆ โรงงานเดียว และชัดเจนว่าปล่อยมลพิษจริง ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แล้วกรณีที่ใหญ่ขึ้น อย่างเช่นมาบตาพุด ประชาชนคงไม่สามารถหวังอะไรจากหน่วยงานรัฐได้เลย”
ด้านสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ก็เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่ของตนเอง โดยการกำจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ และแม่น้ำแม่กลองให้หมด เพราะมลพิษเหล่านี้ได้ทยอยไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลองและอ่าวไทย “เคยมีรายงานการศึกษาในอดีตที่พบว่าน้ำในแม่น้ำแม่กลองที่ออกจากเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณตะกั่วเกินค่ามาตรฐานถึง 4 เท่า และน้ำเหล่านี้ได้ผันไปเป็นน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีใช้ ดังนั้นรัฐจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านคลิตี้และชาวไทย ต้องเจ็บป่วย และตายอย่างผ่อนส่งอีก”
ข้อมูลเพิ่มเติม

[1] Toxicological profile, United States Public Health Service, Agency for Toxic Substances and Disease Registry (ATSDR 2007), (2004), published in the Royal Government Gazette, Vol. 121 special part 119D, dated
[2] ตะกั่ว (Lead; Pb) เป็นโลหะที่สามารถพบได้ในธรรมชาติในปริมาณต่ำโดยเฉพาะบริเวณที่ไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ ตะกอนก้นน้ำจากแหล่งน้ำจืดที่ไม่ปนเปื้อนมีปริมาณตะกั่วต่ำกว่า 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ATSDR 2007) ตะกั่วเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงต่อมนุษย์ และไม่พบว่ามีประโยชน์ในแง่ของโภชนาการของทั้งพืชและสัตว์ (ATSDR 2007, Adams & Chapman 2006, WHO 1989) หากได้รับตะกั่วสู่ร่างกายซ้ำๆ แม้ปริมาณต่ำก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบประสาท โดยเฉพาะการเจริญของระบบประสาทในเด็ก ระบบเลือด ไต และระบบสืบพันธุ์ได้ (ATSDR 2004, Jusko et al. 2008, Sanders et al. 2009) มีบางรายงานระบุว่าอาจไม่มีระดับความเข้มข้นของตะกั่วที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผลที่จะเกิดกับระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์  (Canfield et al. 2003)
[3] Netherlands standard- Threshold levels for seriously contaminated sediments in the Netherlands (NMHSPE, 2000)
[4] ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพดิน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์
  • มาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม
  • มาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นนอกเหนือจาก การอยู่อาศัยและเกษตรกรรม
[5] จากรายงาน “ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น: ความเสียหายจากมลพิษทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมต่อประชากร โลก และผลประโยชน์” กรีนพีซสากล 2554
หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ผลศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้และดิน (2555).