ปลดล็อกความกลัว ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กว่า 8 ปีมาแล้วที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตกอยู่ภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แม้จะมีข้อท้วงติงจากนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชน แม้จะมีเสียงก่นด่าและเสียงโอดครวญจากผู้ได้รับผลกระทบ แต่บรรยากาศความกลัวก็กดทับให้การส่งเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่เป็นฐานอำนาจอันล้นฟ้าของทหาร ยังคงแผ่วเบา

ปลายปี 2554 หน้าเพจเฟซบุ๊ค SAY NO : EMERGENCY DECREE ǀ เครือข่ายคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จัดทำโดยคนหนุ่มสาวในพื้นที่ปรากฏตัวขึ้นโลดแล่นในสังคมออนไลน์ นี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าเมฆดำแห่งความหวาดกลัวเริ่มจางลงบ้างแล้ว หรือไม่ก็มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้คนต้องกล้าพอที่จะลุกขึ้นคัดง้างกับมัน คำตอบนั้นวางรอเราอยู่แล้วหน้าทาวน์เฮ้าส์เล็กๆ หลังหนึ่งกลางเมืองปัตตานี
เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนต่ำลงในยามเย็น เป็นเวลาที่นัดหมายกันไว้ เด็กหนุ่มชาวใต้สองคนนั่งรออยู่ก่อนแล้วด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสดใส “จิ”  มะยากี สามะ จากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นพี่นักกิจกรรมของน้องๆ นั่งอยู่พร้อมกับ “กี”  อับดุลเลาะ ดอเลาะ สมาชิกกลุ่มอินเซาธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีชั้นปีที่ 4 
 “กี”  อับดุลเลาะ ดอเลาะ  และ “จิ”  มะยากี สามะ
 
รับไม้ต่อ ส่งเสียงไม่เอา พ.ร.ก.
จากกลุ่มนักศึกษาที่เน้นทำกิจกรรมกับเยาวชนในพื้นที่ อาทิ การส่งเสริมศึกษา การผลิตสื่อมัลติมีเดีย ฯลฯ แต่ปัจจุบัน อินเซาธ์ออกมาทำกิจกรรมในประเด็นที่หนักและเสี่ยงมากขึ้น ด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) อย่างเต็มตัวเต็มกำลัง ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของคนจากพื้นที่ที่ถูกกดทับอยู่ใต้ความกลัวตลอดมา
จุดประกายสำคัญที่ทำให้พวกเขาออกมาเรียกร้อง มาจากเหตุการณ์หนึ่งในปี 2544 ที่ชาวบ้านคนหนึ่งถูกจับกุมตัว แล้วเขาได้เขียนจดหมายเป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ส่งให้กับทนายความ 
จิ เล่าเสริมว่า ความรู้สึกที่ไม่เอาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีมานานตั้งแต่เริ่มประกาศใช้แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าในฐานะนักศึกษาจะต้องทำอย่างไร  พอจดหมายนี้ออกมาพวกเราก็เลยรู้สึกว่ามันได้เวลาแล้วนะ ถึงมันจะช้าไปก็ตาม 
กีเล่าว่า หากเป็นก่อนหน้านี้ ถ้าจะออกไปเดินขบวนเองเรียกร้องว่าไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่ตัวเองก็ยังไม่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลยก็ยังพูดได้ไม่เต็มปาก แต่เมื่อมีชาวบ้านกล้าออกมาเรียกร้อง พวกเขาจึงมาร่วมกันคิดว่าจะทำอะไรกันได้บ้างในบ้านของตัวเอง 
“พอดีมีไม้หนึ่งมา ไม้สองก็เลยวิ่งไป” จิกล่าวเปรียบเทียบ
ชาวบ้านคนที่จิและกีพูดถึงนั้น คือ นิเซะ นิฮะ ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกควบคุมตัวและถูกเจ้าหน้าที่ถามด้วยคำถามเดิมซ้ำๆ และยังขออนุญาตศาลขยายระยะเวลาควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 เขาจึงเขียนจดหมายในกระดาษแผ่นเล็กๆ ส่งออกมาให้ทนายความคล้ายเป็นการสั่งเสียกับญาติ มีใจความเพียงว่า 
 

“ข้าพเจ้านายนิเซ๊ะ นิฮะ ยังมีสติสมัญชญะดี ร่ายกายแข็งแรง หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนการซักถามในชั้น พ.ร.ก. ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากจะยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิต หรือกรณีใดก็ตาม ข้าฯ ขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป”
                                             
ลงชื่อ  
ขอคัดค้าน พ.ร.ก.
1 ตุลาคม 2554
 
 
ทำอะไรกันมาแล้วบ้าง
 
กิจกรรมรณรงค์ ”ไม่เอาพ.ร.ก.” เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคม 19 องค์กรและนักศึกษาในพื้นที่ อินเซาธ์รับหน้าที่ในส่วนของงานรณรงค์ กิจกรรมที่พวกเขาเคยจัดขึ้น เช่น “เตะ พ.ร.ก.” เป็นการแข่งขันเตะฟุตบอล แต่ที่ลูกฟุตบอลจะเขียนไว้ว่า “พ.ร.ก.” หรือ “การซ้อมทรมาน” เพราะนักศึกษาในพื้นที่บางคนก็ยังไม่รู้เลยว่ามีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องกับเขาบ้าง กิจกรรมต่อมาก็มี “คาราวานรถโบราณ” เป็นการขี่รถมอเตอร์ไซค์โบราณเป็นขบวนเพื่อแจกใบปลิว ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะจากที่ตั้งเป้าว่าจะให้มีขบวนมอเตอร์ไซค์เพียง 25 คัน แต่พอถึงวันจริงๆ มากันถึง 120 คัน 
“เรารู้ว่าคนไม่ค่อยชอบเรื่องพวกนี้ แต่เราพยายามหาจุดร่วม คุณมีรถก็ขับรถไป แต่ในการขับรถครั้งนี้เราจะไปแจกเอกสารกันด้วย อย่างการเตะบอล เรารู้ว่าถ้าชวนนักศึกษามาเตะบอลคนจะมาเยอะ แต่ถ้าชวนมาฟังเสวนาก็จะมีแต่คนเดิมๆ” จิกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนาโดยให้ชาวบ้านที่เคยตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้กฎหมายมาพูดที่หอประชุม มอ.ปัตตานี ซึ่งมีคนมาเข้าร่วมราว 1,500 คน เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยนี้ และต่อด้วยกิจกรรม “Post Peace” หรือ โปสการ์ดเพื่อสันติภาพ โดยทำโปสการ์ดขึ้นมาแล้วก็ไปตามมัสยิด ไปตามที่สาธารณะ ให้คนจ่ายเงิน 10 บาทซื้อโปสการ์ดแล้วมาเขียนความรู้สึกจากการถูกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งไปที่สหประชาชาติ (UN) 
            
                                กิจกรรม เตะ พ.ร.ก.                                       กิจกรรม Post Peace
เริ่มต้น “โป้งคว่ำ” SAY NO EMERGENCY DECREE
 
หลังจากที่ส่งโปสการ์ดสันติภาพออกไปแล้ว พวกเขาได้เห็นการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ในประเด็นคดี “อากง” และมาตรา 112 ที่หลายคนจะเขียนคำว่า “อากง” ลงบนฝ่ามือและถ่ายรูปตัวเองขึ้นเฟซบุ๊ค พวกเขาจึงผุดไอเดีย ให้ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายรูปตัวเองยกนิ้วหัวแม่มือคว่ำลงพร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า “ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ณ ชายแดนใต้ SAY NO EMERGENCY DECREE” และโพสต์ขึ้นบนเฟซบุ๊คเช่นเดียวกัน โดยรณรงค์ผ่านทางเฟซบุ๊คเป็นหลัก สาเหตุที่ทำเป็นสัญลักษณ์นิ้วโป้งคว่ำ คือการแสดงความไม่เห็นด้วย หรือ ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “Unlike” 
การณรงค์โดยใช้สัญลักษณ์นิ้วโป้งคว่ำ นี้ไม่ได้อาศัยช่องทางSocial Media เท่านั้น หลายครั้งพวกเขาก็จะตระเวนไปในพื้นที่เมื่อเจอชาวบ้านก็จะเข้าไปพูดคุยเล่าถึงกิจกรรมรณรงค์ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถ้าหากใครเห็นด้วยก็จะขอถ่ายรูป ซึ่งมีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนที่ยอม เพราะส่วนใหญ่แม้จะเห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่กล้าถือป้ายให้ถ่ายรูป
“เราช่วยกันคิดกิจกรรมของนักศึกษาขึ้นมา เรียกว่า “ทัวร์ พ.ร.ก.” คือ รวมตัวกัน 4-5 คันรถ แล้วออกไปตามชนบท ละแวกไหนที่ผ่านไปเจอชาวบ้านที่ดำนาก็ลงไปคุยกับคนที่ดำนา เจอคนที่เลี้ยงวัวก็ลงไปคุยกับคนที่เลี้ยงวัว ต้องการให้ชาวบ้านได้ข่าวสารเพื่อความเข้าถึงจริงๆ” กี เล่าให้ฟังและบอกว่าช่วงที่พวกเขาทำกิจกรรมนี้ก็จะทำกันอย่างนี้เป็นกิจวัตรเกือบทุกวัน แต่ละวันก็เปลี่ยนสถานที่ที่ไปเรื่อยๆ 
 
ผลตอบรับจากแคมเปญ “โป้งคว่ำ”
 
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับผลตอบรับที่ได้จากการทำแคมเปญนี้ กี ตอบทันทีว่า “ส่วนตัวก็ยังไม่แฮปปี้เท่าไรกับที่ทำมา..ตอนที่เราสร้างแคมเปญ เราอยากจะให้เยาวชนทุกคนของเราที่ไปเรียนต่อต่างประเทศส่งภาพเข้ามา แต่เราก็ไม่ได้มา” จิกล่าว
เมื่อถามถึงผลตอบรับในเชิงปริมาณ ชายหนุ่มทั้งสอง เห็นตรงกันว่ายังไม่พอใจ คือ ได้รูปถ่ายส่งเข้ามาร่วมกิจกรรมไม่มากเท่าที่ตั้งใจไว้ แต่เมื่อถามในเชิงการเรียนรู้ที่สังคมจะได้จากสิ่งที่ทำลงไปนั้น กีมองว่าอย่างน้อยคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้จะต้องรู้จักเรื่องพื้นฐานที่กำหนดไว้ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น ขั้นตอนการควบคุมตัว ระยะเวลาการควบคุมตัว 30 วัน 
จิเชื่อเช่นเดียวกันว่า คนที่จะเข้าร่วมได้อย่างน้อยต้องรู้ในระดับหนึ่งว่านี่คือการยกเลิกพ.ร.ก. และพ.ร.ก.คืออะไร คิดว่าเป็นการอบรมทางลัดซึ่งก็น่าจะได้ผลตรงนี้  
เมื่อถามว่า สำหรับตัวคนทำแคมเปญเองที่ต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ทุกวันรู้สึกเบื่อบ้างหรือไม่ จิ ตอบว่า “รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ พร้อมกับความรับผิดชอบ ผมเห็นว่าถ้าเกิดคนที่เป็นนักศึกษาและคนที่เป็นปัญญาชนไม่อยู่แนวหน้าในเรื่องนี้ ก็คงจะไม่มีใคร ในส่วนของนักศึกษาเองก็ยังมีคนที่ได้รับผลกระทบจากพ.ร.ก. ถูกจับ ถูกซ้อมทรมานก็มี นี่ขนาดนักศึกษาก็ยังโดน ไม่มีใครมารับประกันได้ว่า คุณจะโดนหรือจะไม่โดนนะ นี่เลยจึงทำให้ยังไงก็ต้องไหว ต้องไม่เบื่อ” 
กีเสริมว่า ฉะนั้นพวกเขาก็จึงต้องคิดกิจกรรมที่ใหม่ สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายที่จะลงไปทำกิจกรรมด้วย กิจกรรมต่อไปของพวกเขา คือ ”Peace Wall” เป็นการลงไปทำกิจกรรมในชุมชนโดยเอาสิ่งที่อยู่ในเฟซบุ๊ค ทั้งภาพถ่ายนิ้วหัวแม่มือคว่ำ และวีดีโอต่างๆ ไปให้ชาวบ้านรับรู้ อัดรูปถ่ายกิจกรรมต่างๆ ไปจัดนิทรรศการ และมีกระดานให้ชาวบ้านได้มาเขียนแสดงความรู้สึกต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสื่อสารเรื่องการไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปให้ถึงชาวบ้าน โดยจะดำเนินกิจกรรมนี้เป็นเวลาสามเดือน และหลังจากนั้นก็จะต้องคิดกิจกรรมอื่นออกมาอีกเรื่อยๆ หากเป็นไปได้อาจเอากิจกรรม Peace Wall ไปเดินสายรณรงค์ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วย
สำหรับงบประมาณในการทำกิจกรรมทั้งหมดนั้น ทีมงานกลุ่มอินเซาธ์ใช้วิธีการ “แชร์” กันเอง บางครั้งก็ทำเสื้อหรือของที่ระลึกขายเพื่อหาเงินกันเอง แต่ไม่ได้ขอทุนหรือขอการสนับสนุนจากองค์กรใด พวกเขาเห็นว่าเมื่อทำงานกับแหล่งทุนมักจะมีกรอบบางอย่างเข้ามากำหนด จึงอยากทำงานที่เป็นงานของตัวเองจริงๆ และง่ายสำหรับการขับเคลื่อนมากกว่า 
            
ภาพถ่ายส่วนหนึ่งในการรณรงค์
คนในพื้นที่ ต้องก้าวให้พ้นความกลัว
 
จากประสบการณ์ที่ทำกิจกรรมมานั้น เยาวชนกลุ่มอินเซาธ์สังเกตเห็น “ความกลัว” ได้อย่างชัดเจน เช่น เมื่อตั้งกระดานPeace Wall ไว้ในพื้นที่จัดกิจกรรม หากไม่มีกล้องถ่ายรูป จะมีคนหมั่นเข้ามาเขียนกัน แต่ถ้าตั้งกล้องจะถ่ายภาพ ชาวบ้านจะไม่กล้าเดินเข้ามาเพราะกลัวมีหลักฐานว่าเป็นคนเขียน
“ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่นี่ ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายพิเศษ แต่คนที่นี่กำลังติดกับ คือ ความกลัว เพราะว่าพวกเขาอยู่ในพื้นที่แต่ละวันมีเจ้าหน้าที่มาเพ่นพ่าน โจทย์ของเราตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ก้าวข้ามความกลัวตรงนั้นได้.. เราต้องพยายามทำอะไรเพื่อให้พ้นความกลัว จากการทำกิจกรรมที่ผ่านมา ถ้าเราไม่สามารถทำอะไรให้ชาวบ้านพ้นเรื่องนี้ได้ มันยากมากที่จะได้ยินเสียงชาวบ้านจริงๆ ต้องพยายามทำให้เป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดา” จิกล่าว
คนนอกพื้นที่ ต้องช่วยเสริมพลังใจ
 
แม้การทำกิจกรรมของพวกเขาจะทำให้ได้รูปถ่ายมาจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มาจากคนในพื้นที่ และจากนักศึกษาในเครือข่ายที่ออกไปเรียนที่อื่น จุดนี้ กีมองว่าการทำงานของพวกเขายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในแง่การสร้างเครือข่ายกับคนนอกพื้นที่ หรือที่กีเรียกว่า “คนที่ต่างกับเรา” ซึ่งกีเล่าด้วยภาษาไทยสำเนียงปัตตานี ว่า “อาจจะเป็นเพราะเรื่องของการสื่อสาร เพราะคนที่นี่การสื่อสารไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร เลยทำให้บางทีการร่วมประเด็นของเพื่อนยังไม่ค่อยเกิดขึ้น”
การทำแคมเปญครั้งนี้ พวกเขาซึ่งเป็นคนในพื้นที่จึงต้องเน้นทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่เป็นหลักตามความถนัด แต่แคมเปญนี้ก็ไม่ได้หวังผลเพียงแค่การมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่เท่านั้น เสียงจากคนนอกพื้นที่ก็สำคัญไม่แพ้กันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับความรู้สึกของคนทำงานเอง 
“การที่เราได้เห็นคนที่ทำนิ้วโป้งคว่ำ ที่ไม่ใช่มาจากคนสามจังหวัด เรารู้สึกภูมิใจนะ เพราะมีคนนอกพื้นที่เห็นด้วยกับการรณรงค์ของเรานะ  ไม่ต้องอะไรมาก แค่การที่ยกนิ้วโป้งให้นี้ก็มากแล้ว” จิบอก
“มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เดียวดายนะ เรายังมีเพื่อนที่อยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดยังมองเราอยู่นะ มันเป็นพลังใจเราทำกิจกรรมต่อ” กี พูดเสริม
จิ เล่าเปรียบเทียบว่า แต่ถ้าไม่ค่อยมีการร่วมมือจากคนนอกพื้นที่ พวกเขาก็เข้าใจและไม่ได้รู้สึกน้อยใจอะไร เหมือนกับกรณีที่คนอื่นรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 พวกเขาก็ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมมากเท่าไร จึงไม่แปลกที่คนนอกพื้นที่จะไม่รู้สึกร่วมกับปัญหาของพวกเขาด้วย 
แรงต้าน?!?
 
ในการรณรงค์ประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวนี้ จิบอกว่าจนถึงวันนี้ยังไม่เจอคนคัดค้านที่เป็นชาวบ้าน ซึ่งอาจจะมี แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมายังไม่เจอ จะมีก็ในเฟซบุ๊ค แต่ก็ไม่มีตัวตน ไม่รู้ว่าเป็นใคร มีช่วงหนึ่งมีใบปลิวออกมาแจกใน มอ.ปัตตานี ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน เป็นใบปลิวโจมตีการรณรงค์ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 
“การที่มีใบปลิวออกมา วันนั้นผมบอกกับทุกคนว่า รู้สึกหายเหนื่อย ผมคิดว่านี่เป็นปฏิกิริยาจากการที่เราลงไปทำก็เลยมีใบปลิวนี้ออกมา ถ้าเกิดไม่มีเราก็อาจจะไม่มีใบปลิวนี้นะ ถึงแม้จะเป็นการเตะเล็กๆ แต่มันก็รู้สึก มันเป็นตัวที่ชี้วัดได้ว่ามันส่งผล” จิ เล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอย่างภาคภูมิใจ
“เหมือนได้ลงไปทำแล้ว มีคนรับรู้แล้ว มีคนได้ยินแล้วนะ เขาอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว” กี เสริม
   
 
จะทำไปจนกว่า …
 
แคมเปญเล็กๆ ที่ทำโดยพลังคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งเดินทางมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว แม้จะมีเสียงตอบรับหลากหลายแต่รัฐบาลก็ยังคงประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่าพวกเขาจะต้องต่อสู้ไปจนถึงเมื่อไร
จิในฐานะพี่ใหญ่ของทีมพูดอย่างเปิดใจว่า “เราก็รู้สึกนะว่าบางทีกิจกรรมที่เราทำมันก็เป็นเสียงที่เล็กมากๆ เราไม่ได้หวังว่าการที่เราลงไปพื้นที่ทุกอาทิตย์มันจะส่งผลถึงการยกเลิกพ.ร.ก. เพราะเรารู้ว่ามันเป็นอะไรที่มันยาก แต่อย่างน้อยเราก็ตอบตัวเองได้ว่าเราได้ทำหน้าที่ของเรา แต่เราเชื่อว่าถ้าเราขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ สักวันมันต้องเกิดปฏิกิริยาอะไรสักอย่าง”
“คนอื่นอาจจะมองว่าเราทำไม่ถึงเป้าที่จะยกเลิกพ.ร.ก. แต่เราคิดว่าการที่เราทำ ถึงแม้จะไม่ถึงเป้า แต่อย่างน้อยเสียงที่เราตะโกนออกไปมันก็ยังดีกว่าการที่เราอยู่เฉยๆ” จิกล่าว
“มันไม่อยากอยู่เฉยๆ อย่างน้อยเวลาที่เราลงไปทำกิจกรรม ชาวบ้านก็จะได้รับรู้ว่า วันนี้บ้านของเค้ากำลังเกิดอะไรขึ้น ความกลัวที่ฝังอยู่ในจิตใจของชาวบ้านมันกินเวลามานาน กิจกรรมส่วนหนึ่งที่เราไปทำกับชาวบ้านก็เพื่อลบความกลัวที่กำลังฝังอยู่นี้ด้วย” กีกล่าวต่ออย่างหนักแน่น 
แม้ทั้งจิและกีจะยอมรับว่าพวกเขาเองก็อยู่ในความเสี่ยงที่อาจตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะเมื่อตัวเองต้องเดินทางกลับบ้านเพียงคนเดียวและนำเรื่องราวการรณรงค์ยกเลิกกฎหมายพิเศษไปขยายต่อในหมู่บ้านของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นเป้านิ่งสำหรับกลุ่มผู้ไม่หวังดีไม่ว่าฝ่ายไหน แต่เขาทั้งสองก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้ารณรงค์ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อต่อไป 
“วันนี้เราพยายามสร้างให้ประชาชนกล้าที่จะพูด กล้าที่จะนำเสนอในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกอยาก บางทีมันต้องใช้เวลา ผมเชื่อว่าถ้าสามารถจะปลดล็อกความกลัวของชาวบ้านได้ พ.ร.ก.หรือถึงแม้สิ่งที่ใหญ่กว่า พ.ร.ก. เราก็สามารถที่จะแหกมันได้ ตอนนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กกว่าพ.ร.ก. ถ้าชาวบ้านไม่สามารถปลดล็อกความกลัวได้ก็ไม่สามารถทลายมันได้” จิ ยืนยันอย่างมีความหวัง
และเมื่อถามว่าหากวันหนึ่งคนที่กล้าลุกขึ้นพูดในสิ่งที่คิดแล้วทำให้ชีวิตตกอยู่ในอันตรายจะคุ้มกันหรือไม่ กีตอบว่า “วันนี้ในพื้นที่สามจังหวัดไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าใครจะปลอดภัย ถึงจะอยู่เฉยๆ ถึงจะไม่พูด ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะปลอดภัย เพราะฉะนั้นก็เอาสิ่งที่พวกเขาไม่ได้แสดงออกมาทำกิจกรรมกันจะดีกว่าไหม และก็อยากให้ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอยู่เฉยๆ ด้วย เมื่อพวกเขาไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วก็จะมีพวกเราพร้อมที่จะเดินไปด้วยกันกับเขา”
  
ใครเลยจะรู้ว่า บ้านหลังเล็กๆ กลางเมืองปัตตานีที่นั่งคุยกันอยู่นี้ คือสถานที่ที่ผู้คนมากหน้าหลายตาเคยแวะเวียนกันมาพบปะพูดคุยจนเกิดเป็นไอเดียดีดีสำหรับแคมเปญเจ๋งๆ ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนที่ปราศจากความกลัว บทสนทนาบนโต๊ะนี้จบลงเมื่อเสียงสวดอาซาลดังลอยมาเตือนว่า ถึงเวลาสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมแล้ว ใครเลยจะรู้ว่าสิ่งที่ออกมาจากปาก จากหัวใจของเด็กหนุ่มชาวใต้ทั้งสองคนในวันนี้อาจเป็นเชื้อไฟจุดให้กับคนในหรือคนนอกพื้นที่สักคนพยายามปลดล็อกความกลัวและลุกขึ้นมาส่งเสียงในสิ่งที่ตัวเองคิดบ้างก็ได้
แม้ว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินกับกฎหมายพิเศษฉบับอื่นๆ จะยังคงถูกใช้บังคับอยู่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุนสารพัดสารพัน แต่หากผู้คนยังสามารถคงไว้ซึ่งความมีสิทธิมีเสียงโดยปราศจากความกลัวได้เช่นนี้ต่อไป 
“วันหนึ่งข้างหน้าสันติภาพก็จะต้องบังเกิดขึ้น” ทั้งจิและกี ไม่ได้พูดประโยคนี้