“เด็ก” อยู่อย่างไร ภายใต้กฎหมายความมั่นคง?

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อยู่ภายใต้การประกาศบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปีแล้ว กฎหมายดังกล่าวได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีบทบัญญัติเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำการอันอาจกระทบสิทธิของประชาชนได้

แต่ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบและกฎหมายพิเศษเหล่านี้ไม่เพียงมีแต่ประชากรวัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่อยู่ในวัยแห่งการเรียนรู้ ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมากกว่าผู้ใหญ่ด้วย
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดนิทรรศการ “สิทธิในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน กับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง” ขึ้นที่ ลานหน้าห้อง500 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และจัดเสวนาเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน กับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง” มีวิทยากรทั้งจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน หน่วยงานภาครัฐ และนักศึกษาเข้าร่วมพูดคุย
ปรีดา ทองชุมนุม เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าให้ฟังถึงผลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน ว่า ในช่วงที่ใช้มาตรการปิดล้อม ตรวจค้น พบว่า มีเด็กอายุไม่ถึง 18 ปีมากกว่า 30 คน ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เริ่มตั้งแต่การจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และการควบคุมตัวโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล สถานที่ควบคุมตัวก็ขังรวมกับผู้ใหญ่ ขั้นตอนการซักถามก็ไม่มีนักจิตวิทยา หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมการซักถาม ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสำหรับเด็ก และหลักสากล
ปรีดา กล่าวต่อว่า มีกรณีศึกษาที่เยาวชนเป็นผู้เสียหายและยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ต่อศาลทหาร มีปัญหาว่ามีข้อจำกัดในการจะเข้าเป็นโจทก์ร่วม หรือการสืบพยานที่เป็นเด็กก็ไม่มีกระบวนการขั้นตอนสำหรับเด็ก เหมือนกับที่จัดไว้ที่ศาลเด็กและเยาวชน
 
เกาซัร อาลีมามะ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา หนึ่งในผู้ร่วมเก็บข้อมูล เล่าว่า มีกรณีศึกษาล่าสุดในปี 2554 เยาวชนอายุ 16 ปีคนหนึ่งถูกเรียกไปสอบสวนโดยไม่ให้พ่อแม่ไปด้วย ทั้งที่เยาวชนมีสิทธิที่จะให้ผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนได้ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ไม่จำเป็นต้องมีคนที่เด็กไว้วางใจ หรือนักจิตวิทยาเข้าฟังการสอบสวนด้วย เราเจออย่างนี้เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจมากเกินไปแต่ก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทุกคน
เกาซัร เล่าต่อว่า มีอีกกรณีหนึ่ง เด็กอายุแค่ 13 ปี เรียนอยู่ชั้น ป.6 ถูกจับกุมตัวจากการเหวี่ยงแห ด้วยยุทธการปิดล้อมที่อำเภอบันนังสตา พร้อมผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ตอนควบคุมตัวก็ให้อยู่รวมกับผู้ใหญ่ และถูกทำร้ายร่างกายระหว่างสอบสวนด้วย เกาซัรบอกว่าความรู้สึกเจ็บที่โดนตบบ้องหูตอนนี้ยังเจ็บไม่หาย ความรู้สึกนี้จำมาตลอด และเด็กคนนี้เรียนไม่จบป.6 เพราะเมื่อไปโรงเรียนถูกเพื่อนบอกว่าเป็นโจร พี่ชายก็เป็นโจร จึงไม่อยากจะไปเรียนอีก ตอนนี้เขาเชื่อว่าการใช้ชีวิตแบบคนไม่มีความรู้จะปลอดภัยกว่า เจ้าหน้าที่จะได้ไม่มองว่าเป็นภัย
ด้านณัฐกร ยกชูธนชัย ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปัตตานี และอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เริ่มแรกของพัฒนาการเรื่องการลงโทษเชื่อว่า หากคุณทำเช่นไร ต้องได้รับผลเช่นนั้น หรือ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ต่อมาสังคมพัฒนาขึ้นก็เริ่มมีคำถามว่า การแก้แค้นตอบแทนอย่างเดียวเหมาะสมหรือไม่ และเมื่อสังคมเดินหน้าไปมากเข้าจึงมีแนวคิดขึ้นมาว่า เด็กยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขฟื้นฟูได้ ถ้าจะลงโทษแบบผู้ใหญ่คงจะไม่เหมาะสม หรือเรียกได้ว่า เด็กยังไม่เลวเป็นนิสัย จึงต้องมีกระบวนการฟื้นฟูแยกออกไปต่างหาก
กับคำถามที่ว่า กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงจะยกเว้นข้อกำหนดเรื่องสิทธิของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ ณัฐกรเห็นว่า ไม่สามารถนำกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงมายกเว้นได้
ณัฐกรเปิดเผยด้วยว่า จากสถิติที่ตรวจสอบได้ คดีความที่ฟ้องเด็กและเยาวชนด้วยข้อหาด้านความมั่นคงในจังหวัดปัตตานี ในรอบห้าปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 6 คดี ส่วนกระบวนการที่ใช้กับเด็กและเยาวชนภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกก็ไม่มีการจำแนกระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และหลักเกณฑ์ในพ.ร.บ.กฎอัยการศึกก็ไม่ได้มีการจำแนกสิทธิของเด็กไว้เป็นพิเศษด้วยเช่นกัน
ดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษาเอกตะวันออกกลางศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นว่า เด็กและเยาวชนคือกลุ่มบุคคลที่ละเอียดอ่อนในเรื่องการสร้างพื้นฐานทางความคิดมากกว่าผู้ใหญ่ อยู่ที่สภาพแวดล้อมรอบข้างว่าจะทำให้เขาเป็นอย่างไร เด็กที่ถูกซ้อมหรือถูกขู่บังคับโดยเจ้าหน้าที่รัฐอาจเกิดปมอะไรบางอย่างในใจ และจุดนี้อาจสร้างให้มีคนรุ่นใหม่ที่จะมาต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้น
“ผมมีเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกันถูกบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจากที่ถูกปล่อยจากการควบคุมตัว เค้าบอกว่าถ้าเค้าอยู่ในกระบวนการนานกว่านี้เมื่อออกมาเค้าจะจับปืนสู้กับอำนาจรัฐ” เยาวชนที่เกิดและโตในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเล่าให้ฟัง
ด้านอุสมาน มะสง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ในสงครามหรือการใช้ความรุนแรงทุกครั้ง มีเด็กได้รับผลกระทบอยู่ด้วย จากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กได้รับผลกระทบมากกว่า 5,000 คน บางครอบครัวสูญเสียพ่อ ซึ่งจะเป็นแผลฝังใจเด็กไปตลอด หลังความสูญเสียเด็กมักจะถูกโดดเดี่ยวจากสังคมเพราะต้องถูกมองว่าเป็นลูกโจร ทำให้เด็กต้องตายทั้งเป็น
อุสมานย้ำว่าทุกคนจะต้องได้รับการเยียวยาอย่างมีศักดิ์ศรี แต่การปฏิบัติเรื่องนี้ยังมีลักษณะสองมาตรฐาน เพราะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้ว เวลาประชาชนเสียหายกับเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐเสียหาย ระดับการเยียวยาไม่เท่าเทียมกัน
“การเยียวยาโดยการให้เงินอย่างเดียว เป็นการสร้างความรู้สึกว่าไม่เคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา การกระทำเช่นนี้จะเป็นการส่งทัศนคติที่คิดว่าราคาชีวิตเรามันแค่เงินไม่กี่แสนบาทเท่านั้นเอง เขามีราคาเหมือนผักเหมือนปลาเท่านั้นเอง” เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กกล่าว และเขาเสนอว่า เมื่อมีการไต่สวนการตาย หรือพิสูจน์ชัดว่าผู้ต้องสงสัยแต่ละคนเป็นโจรจริงหรือไม่นั้น หากพิสูจน์ได้แล้วว่าไม่ใช่โจรก็ต้องประกาศให้คนอื่นๆ ในสังคมได้รู้ด้วย
นอกจากกิจกรรมเวทีเสวนาแล้ว ในวันดังกล่าว ยังมีการเปิดตัวหนังสือ “รอยแผลบนดวงจันทร์” สารคดีที่นำเสนองานวิจัย กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deepsouth Watch) ด้วย