เครือข่ายปชช.ยื่น 10,00 ชื่อเสนอร่างพรบ.ยาแล้ว

เครือข่ายภาคประชาชน  ยื่นรายชื่อกว่า 10,500 ราย เสนอร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน หวังปรับกฎหมายป้องโฆษณาชวนเชื่อ-ยาไม่ปลอดภัย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 ม.ค ที่รัฐสภา  เครือข่ายภาคประชาชนได้แก่ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIVและชมรมเภสัชชนบท กว่า 20 คน เดินทางเข้ายื่นรายชื่อผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … จำนวน 10,565 รายชื่อ ต่อ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 142 และมาตรา 163

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา  เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคยาเป็นจำนวนมาก เช่น พบยาที่ไม่ปลอดภัยในท้องตลาด และยาราคาแพง หรือการมีโฆษณาส่งเสริมการขายยาที่เกินจริง  แต่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 เป็นกฎหมายควบคุมที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานานถึง 45 ปี ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เท่าที่ควร

ดังนั้น ภาคประชาชน จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน ซึ่งได้มาจากการรวบรวมปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาของประเทศ ความเห็นจากกลุ่มผู้ป่วย และข้อมูลทางวิชาการของประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบกฎหมายด้านยาและกลไกการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ และรองรับการเปลี่ยนแปลงของการเปิดตลาดเสรีทางการค้าทั้งในระบบพหุภาคีและทวิภาคี  โดยร่าง พรบ.ยา ฉบับประชาชน มีเจตนารมณ์  2 ประการ คือ 1) คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับ เท่าทันกับปัญหาและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ และ 2) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและในภาวะคับขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและสุขภาพ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา   กล่าวต่อไปว่า  ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจาก ร่างพ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน  ได้แก่ 1. การมีกลไกที่จะทำให้ราคายาเป็นธรรมต่อประชาชน    ป้องกันการค้ากำไรเกินควร  2. กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อสามัญทางยา ของยาที่ตนเองใช้ 3. คุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการด้านยาจากเภสัชกรอย่างแท้จริง ไม่ให้ผู้ไม่รู้มาสร้างความเสี่ยงกับประชาชนอีกต่อไป 4. กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการใช้ยาโดยรวดเร็ว 5. มีกลไกจัดหายาจำเป็น เช่น  ยากำพร้า ที่ไม่มีเอกชนสนใจทำการตลาด รวมทั้งการจัดหายาในภาวะวิกฤต ภัยพิบัติ 6. ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง 7.มีกลไกในการกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม และ 8. การใช้มาตรการทางปกครอง เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่หลากหลาย

ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1  กล่าวว่า ในเบื้องต้นตนจะรับเรื่องไว้ แต่ทั้งนี้จะต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอร่าง จำนวน 10,565 คน ว่า ยังมีชีวิตหรือไม่ และเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งหรือเปล่า เมื่อดำเนินตามขั้นตอนของการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อสภาได้  ซึ่งจะใช่ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน

 

 

ที่มาข่าว โพสต์ทูเดย์

ที่มาภาพ DraconianRain