หยุดกฎหมายความมั่นคง ในสหรัฐฯ : NDAA

หลังจากบารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาตัดสินใจลงนามผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า National Defense Authorization Act หรือเรียกสั้นๆ ว่า NDAA ในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางสังคมจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน นักประชาธิปไตย และสื่อมวลชนหลายสำนัก โดยมีข้อวิตกกันว่า การผ่านร่างกฎหมายครั้งนี้จะนำไปสู่วิถีทรราช และเป็นภัยต่อสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่งยวด

กฎหมาย NDAA เป็นกฎหมายเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือจะเรียกว่ากฎหมายเพื่อกองทัพก็เรียกได้ เพราะเนื้อหากล่าวถึงกองทัพล้วนๆ โดยมุ่งไปที่การจัดการกองทัพ การให้อำนาจกองทัพ การบำรุงกองทัพ การจัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์และพลังงาน นอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย (Counterterrorism) การจัดสรรหลักสูตรพัฒนากองทัพ เป็นต้น การออกกฎหมายดังกล่าวจะผ่านร่างแบบปีต่อปีตามปีงบประมาณ หลังจากที่ผ่านสภาแล้วจะต้องให้ประธานาธิบดีลงนามเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อประธานาธิบดีลงนามแล้วถือว่ามีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์  

สาระสำคัญอันเป็นปัญหาในกฎหมายดังกล่าวปรากฏบน Subtitle D section 1021 ที่นิยามถึงบุคคล (covered person) ผู้สามารถถูกกักขังโดยกองทัพไว้ ไม่เพียงแต่เป็นบุคคลที่มีส่วนในการวางแผน เป็นผู้ได้รับอำนาจ ผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่ให้การช่วยเหลือในการจู่โจมสหรัฐฯเมื่อครั้งเหตุการณ์ 9/11 เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึง บุคคลที่เป็นส่วนหนึ่ง หรือเคยได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากกลุ่มอัล-ไคด้า (al-Qaeda) กลุ่มตอลิบัน (Taliban) หรือกลุ่มกองกำลังของศัตรูที่ต่อต้านสหรัฐฯหรือพันธมิตรอื่นๆ โดยบุคคลดังกล่าวรวมถึงใครก็ตามที่มีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯหรือได้สนับสนุนกองกำลังของศัตรูโดยตรง 
นักวิจารณ์เห็นว่า มีถ้อยคำอันคลุมเครือในการนิยามดังกล่าว ได้แก่ การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ (belligerent act) การสนับสนุนอย่างจริงจัง (substantially supported) หรือ การสนับสนุนโดยตรง (directly supported) เป็นที่น่าหวั่นเกรงกันว่า จะส่งผลให้เกิดการตีความรวมไปถึงพลเมืองสหรัฐฯ คนต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในสหรัฐฯ หรือบุคคลที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกจับในสหรัฐฯ
ที่มาภาพ lazycresnorth
 
นอกจากนี้ ใน Section 1031, 1032 ยังให้อำนาจอันไม่จำกัดแก่กองทัพในการกักขังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายด้วย แม้จะมีข้อยกเว้นไม่ให้นำมาใช้กับชาวอเมริกัน แต่ก็ยังน่าหวั่นเกรงว่าจะไม่สามารถปกป้องอเมริกันชนจากการตีความกฎหมายได้ เพราะถ้อยคำมีความคลุมเครือ โดยใน section 1031 ระบุว่า “ไม่มีเนื้อหาใดในมาตรานี้ที่สามารถถูกตีความให้กระทบกระเทือนต่อกฎหมายหรืออำนาจที่มีอยู่เกี่ยวกับการกักขังพลเมืองอเมริกัน คนต่างด้าวที่ถูกกฎหมายของสหรัฐฯ หรือใครก็ตามที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกจับในสหรัฐฯ” 
แม้ข้อความที่ว่า จะไม่มีอะไรกระทบกระเทือนต่อกฎหมายหรืออำนาจที่มีอยู่… อาจดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ให้ใช้  เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายหรืออำนาจใดๆ ที่กล่าวอย่างชัดเจนว่าได้อนุญาตให้มีการกักขังพลเมืองสหรัฐฯ อย่างไม่มีข้อจำกัดโดยปราศจากการพิจารณาคดี แต่กฎหมายฉบับหนึ่งที่เคยออกมาในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ที่เรียกว่า Authorization for Use of Military Force หรือ AUMF อาจส่งผลให้ชาวอเมริกันไม่ได้รับการยกเว้นได้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อจับและกักขังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 9/11 ด้วยภาษาที่คลุมเครือ กล่าวคือ ไม่มีการกำหนดขอบเขตใดๆ ของผู้ต้องสงสัยว่าก่อการร้ายที่สมควรถูกกักขังอย่างไร้ข้อจำกัดในกฎหมายดังกล่าว นอกจากนั้น ศาลสูงสุดอเมริกันได้ชี้ขาดให้รัฐธรรมนูญรองรับการบังคับใช้อีกด้วย ดูเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้เองที่มีความเสี่ยงว่า ท้ายที่สุดแล้วพลเมืองอเมริกันก็ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เลย
จะเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงของสหรัฐฉบับนี้มีปัญหาในเรื่องของการเขียนถ้อยคำที่คลุมเครือ ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความบังคับใช้ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวอเมริกันที่ควรที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในศาล และสิทธิในการป้องกันตัวเองจากการกล่าวหาทั้งปวง กฎหมายฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า สมรภูมิสงครามหรือแนวรบสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายคือทั้งหมดทั้งมวลของแผ่นดินสหรัฐ และศัตรูที่ประธานาธิบดีกำลังมองเห็น ก็คือพลเมืองอเมริกัน
ด้าน สตีเฟ่น เลนด์แมน (Stephen Lendman) นักวิเคราะห์นโยบายภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitical affairs analyst) กล่าวถึงนัยยะของ NDAAไว้ในบทวิจารณ์ของเขาในเว็บไซต์ prisonplanet ว่า กฎหมาย NDAA ได้ให้อำนาจอันยากจะควบคุมแก่ประธานาธิบดีในการสั่งการกองทัพให้จับกุมและกักขังพลเมืองสหรัฐฯอย่างไม่มีข้อจำกัด ด้วยการกล่าวหาที่ไม่ได้รับการตรวจสอบยืนยัน ซึ่งรัฐธรรมนูญ รัฐบัญญัติ และกฎหมายระหว่างประเทศไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ โดยกองทัพสหรัฐฯจะจับกุมใครก็ได้ เหวี่ยงพวกเขาเข้าไปในคุก ทรมาน และกักขังอย่างไม่รู้ที่สิ้นสุดโดยปราศจากข้อหา และไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีใดๆ การกระทำดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ความฉงนและเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาจอมปลอม โอบามาได้ให้อำนาจกักขังใครก็ตามที่ถูกระบุว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งไปที่ผู้ถูกคุมขังในคุกกวนตานาโม (Guantanamo Bay) 
สตีเฟ่น มองว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นภัยต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอเมริกัน และได้บรรจุถ้อยคำอันหนักหน่วงไว้ในบทวิจารณ์ของเขาว่า “Tyranny arrived in America” (ทรราชย์มาเยือนอเมริกาแล้ว) 
เนื่องจากเนื้อหาในกฎหมาย NDAA มีการตีความบังคับใช้มุ่งต่อผู้ถูกคุมขังที่อ่าวกวนตานาโม การลงนามผ่านร่างกฎหมายของโอบามาในครั้งนี้ ยังเป็นถือว่าเป็นความต่อเนื่องของเผด็จการที่สืบต่อมาจากสมัยบุช และเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองของเขาเมื่อครั้งยังเป็นวุฒิสมาชิกที่เคยมีความประสงค์ว่าจะปิดคุกที่อ่าวกวนตานาโม และเมื่อครั้งที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงแรกๆ ราวสามปีก่อน
ด้วยเหตุที่ NDAA ทำให้พลเมืองอเมริกันเสี่ยงต่อการถูกคุมขังอย่างไร้ข้อจำกัด บวกกับความต่อเนื่องยาวนานของคุกกวนตานาโมที่ไม่อาจถูกปิดลง กระตุ้นให้ขบวนการยึดครองต่างๆ (ในนามของ Occupy …) เกิดขึ้นอย่างไม่ลดละ ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ครั้งที่โอบามายังไม่ได้ลงนามในขั้นสุดท้ายจนกระทั่งปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การยึดครองวอล สตรีท (Occupy Wall Street)  การยึดครองฟิลาเดลเฟีย (Occupy Philadelphia) เป็นต้น และคาดว่าจะมีการรวมตัวในนามของการยึดครอง (Occupy) ต่างๆ เพื่อต่อต้านกฎหมายดังกล่าวไปเรื่อยๆ ทั่วแผ่นดินสหรัฐอเมริกา แม้บ่อยครั้งที่ความโกลาหลของฝูงชนผู้ยึดครองพื้นที่ต่างๆ จะถูกจับกุมอย่างไร้มนุษยธรรมก็ตาม 
นอกจากนี้ ทาง Amnasty International USA ยังได้ดำเนินการล่ารายชื่อ 100,000 รายชื่อจากทั่วโลกเพื่อไปเสนอหน้าทำเนียบขาว ต่อกรณีคุกกวนตานาโม โดยเล็งเห็นว่าคุกกวนตานาโมเป็นหายนะแห่งสิทธิมนุษยชนและควรอย่างยิ่งที่จะถูกปิดลงเสียที โดยกำหนดเอาวันเกิดของคุกกวนตานาโมเป็นฤกษ์ยามในการยื่น คือวันที่ 11 มกราคม นี้ สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าชื่อ คลิก 
อ้างอิงจาก :