จากคดีจินตนา…ถึงเวลาปรับกระบวนการยุติธรรม?

หลายปีมานี้นักต่อสู้เพื่อพิทักษ์ชุมชนและทรัพยากรถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนเป็นจำนวนมากทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา หลายคดีต้องรับโทษจำคุก ตัวอย่างเช่น คดีของคุณจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน จากการบุกรุกงานเลี้ยงของบริษัท ยูเนี่ยน พาวเวอร์ ดีเวลลอบเมนท์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ภายหลัง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 มีผลใช้บังคับ

วันที่ 13 ธันวาคม 2554 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีการจัดการประชุมหารือ เรื่อง กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน ขึ้น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีทั้งประชาชน นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าร่วม
กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือใหม่ของกลุ่มทุน
กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เล่าว่า เมื่อกลุ่มทุนไม่สามารถสู้กับขบวนของชาวบ้านในพื้นที่ได้ กลุ่มทุนจะเริ่มเปลี่ยนวิธีการ โดยเริ่มจากการหยิบยื่นผลประโยชน์ให้แกนนำชาวบ้าน หรือพาชาวบ้านไปเที่ยว หากยังไม่สำเร็จ ขั้นต่อไป คือ การสมคบกับผู้มีอิทธิพล หรือใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาจัดการให้ชาวบ้านอ่อนแอลง การต่อสู้ของชาวบ้าน ไม่ได้ตั้งธงไว้ก่อนว่าต้องการทำผิดกฎหมาย ชาวบ้านได้ทำตามขั้นตอนภายในกรอบแล้ว แต่กลับไม่เป็นผล
วัชรี เผ่าเหลืองทอง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวว่า การฟ้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อชาวบ้านจากกรณีการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่อ.หนองแซง จ.สระบุรี ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ามีเป้าหมายในการทำให้กลุ่มชาวบ้านอ่อนแรงลง โดยมุ่งดำเนินคดีกับแกนนำชาวบ้านเป็นหลัก
 แวววรินทร์ บัวเงิน กลุ่มประชาชนที่ต่อสู้กรณีเหมืองถ่านหินลิกไนต์ จ.ลำปาง กล่าวเสริมว่า กลุ่มคดีที่ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ถูกฟ้องจากการลุกขึ้นมาต่อสู้นั้น ล้วนเป็นชุดข้อหาเดียวกันเกือบทั้งหมด ทั้ง หมิ่นประมาท หน่วงเหนี่ยวกักขัง ข่มขืนใจ บุกรุก ฯลฯ และคดีเหล่านั้น หากตำรวจส่งมาให้ฟ้อง อัยการก็มักจะสั่งฟ้องโดยไม่มีการกลั่นกรองคดีแต่อย่างใด และเป็นปัญหามากสำหรับชาวบ้านในการหาทรัพย์สินมาประกันตัว
“จริง ๆ แล้วกลุ่มทุนต้องการสร้างคดีให้กับพวกเราทั้งหมดเพียงเพราะเราจน คือ ถ้าเรามีคดีเยอะๆ เราจะไม่สามารถประกันตัวได้ทั้งหมดหรอก อย่างน้อยก็ต้องไปติดคุกไม่คนก็สองคน ซึ่งเราก็ได้ยินเขาลั่นวาจาไว้เลยว่า เขาจะฟ้องเราทั้งหมดเพื่อที่ว่าไม่ให้เรามีหลักประกันพอในการประกันตัวพวกเราออกมา”
หาทางลดคดีกลั่นแกล้ง
แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความ เสนอว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีแนวคิดในการจัดทำระเบียบสำหรับพนักงานสอบสวนหรือแนวทางการดำเนินคดีซึ่งเกี่ยวกับการใช้สิทธิของประชาชน แล้วเกิดเป็นคดีอาญาขึ้น ซึ่งควรจะเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่กระบวนการปกติแบบสามัญทั่วไป อาจมีการรับฟังพยานหลักฐานที่มีความละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น รวมทั้งดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนที่เข้าใจปัญหาของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอาญา ประเด็นคือ ความผิดทางอาญากับการดำเนินการทางรัฐธรรมนูญจะมีการแบ่งแยกให้ชัดเจนได้อย่างไร ซึ่งในปัจจุบัน กระบวนการกลั่นกรองของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการสำหรับคดีที่ไม่มีเหตุสมควรจะส่งฟ้อง ยังไม่มีความชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น คดีที่อ.บางสะพาน ชาวบ้านเข้าไปเอาเศษขี้เหล็กของโรงงานเพื่อตรวจพิสูจน์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่กลับถูกดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์และเรียกค่าเสียหายเพียง 25 บาท ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นฎีกา รูปคดีแบบนี้ คำถาม คือ มีความจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ควรมีกระบวนการกลั่นกรองที่เป็นระบบมากกว่านี้โดยคำนึงถึงการกระทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญหรือไม่
สุรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา มีกฎหมายชื่อว่า Anti-SLAPP หรือกฎหมายต่อต้านการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนหรือองค์กรเพื่อขัดขวางการทำกิจการเคลื่อนไหว โดยเมื่อมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชน ผู้ถูกฟ้องสามารถยื่นคำร้องพิเศษ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนว่าเป็นคดีที่ฟ้องร้องเพื่อขัดขวางการเคลื่อนไหวของประชาชนหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าเหตุเป็นเช่นนั้น ก็จะสั่งยกฟ้อง หรืออาจฟ้องกลับเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการถูกดำเนินการในการขัดขวางการใช้สิทธิได้ แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายนั้นก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ
ศาลยังไม่รับฟังสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
จินตนา แก้วขาว ที่เพิ่งพ้นโทษออกจากเรือนจำมาหมาดๆ กล่าวถึงคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของตนเองว่า สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ การที่ศาลฎีกาเห็นว่า การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่สาระที่ควรได้รับการวินิจฉัย ทั้งที่ก่อนจะมีคำพิพากษา ปปช.เคยชี้มูลว่าที่ดินที่เตรียมจะสร้างโรงไฟฟ้านั้นมีการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณะจริง ทั้งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิและให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินและเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า
“อย่างคดีนักการเมือง นักการเมืองทำผิดมากเลยนะ แต่เขา(ศาล)บอกว่า เคยทำประโยชน์ให้กับสังคม ให้รอลงอาญา คดีผู้มีอิทธิพลก็ให้รอลงอาญาได้ แต่พอคดีที่จำเลยเป็นชาวบ้าน ไม่เคยเลยที่จะบอกว่า อ๋อ… จำเลยได้ทวงคืนที่ดินสาธารณะ อ๋อ… จำเลยทำให้คนไทยไม่ต้องเสียค่าโง่ อ๋อ… จำเลยทำให้สิ่งแวดล้อม แนวปะการังยังเหลืออยู่ จำเลยได้ตรวจสอบกลไกของรัฐ อย่างนี้ ไม่มีเลย ประโยชน์ให้กับชาวบ้าน” แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดกล่าว
ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาว่า การลุกขึ้นมาใช้สิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยสำหรับผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งหมายรวมตั้งแต่นักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงบุคลากรผู้ใช้กฎหมายทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มชาวบ้าน ผู้พิพากษาจึงยังไม่เห็นคุณค่าของการใช้สิทธิของชุมชนเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ
ดังนั้น ไพโรจน์จึงเห็นว่า เมื่อกรอบความคิดของผู้ใช้กฎหมายยังไม่เปลี่ยน แม้รัฐธรรมนูญ จะระบุให้ ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องคำนึงถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2540 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้ระบุเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญผูกพันต่อการออกกฎหมาย การตีความกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย หากสิทธิใดยังไม่มีการบัญญัติพระราชบัญญัติออกมารองรับ ให้ศาลนำสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นมาใช้ในการวินิจฉัยคดีได้ก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ศาลก็ยังคงไม่หยิบยกสิทธิดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาเช่นเดิม
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่จำเลยหยิบยกประเด็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญขึ้นกล่าวอ้างนั้น ถือเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถพิจารณาคดีอย่างคดีอาญาทั่วไปได้ การวินิจฉัยคดีต้องพิจารณาก่อนว่า การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อตัวบทกฎหมายอาญานั้น มีขอบเขตเพียงใด อันถือเป็นหลักในการตีความกฎหมายทั้งปวงที่จะต้องตีความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
เชื่อรัฐไว้ก่อน ชาวบ้านผิดไว้ก่อน
กรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าวว่า หลังจากกระบวนการต่อสู้เปลี่ยนผ่านจากการชุมนุม หรือยื่นหนังสือเรียกร้อง มาสู่ การต่อสู้ในชั้นศาล ทำให้พบว่า ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม สันนิษฐานไว้ก่อนว่าชาวบ้านซึ่งเป็นจำเลยเป็นฝ่ายผิด เช่น ในชั้นพนักงานอัยการ บางคดีพนักงานอัยการพยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านรับสารภาพ ในชั้นศาล การที่ชาวบ้านไปศาลพร้อมกันเป็นจำนวนมากเพราะเห็นว่าเป็นการสู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม กลับถูกมองว่า เป็นการกดดันศาล
กรณ์อุมา เล่าประสบการณ์ของเธอให้ฟังว่า ในการสืบพยานคดีอาญาคดีหนึ่ง ศาลไม่รับฟังบริบท หรือที่มาที่ไปของเหตุการณ์ เมื่อทนายจำเลยคัดค้าน ศาลกลับบอกว่า หากต้องการให้ศาลบันทึกคำเบิกความพยานส่วนไหน และศาลไม่บันทึก ให้ทนายจำเลยเขียนคำแถลงเข้ามา หรือในบางคดี ระหว่างนำสืบพยานโจทก์ ผู้พิพากษากล่าวขึ้นว่า คดีนี้ถึงศาลสูงแน่ ทั้งที่จำเลยยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองแม้แต่น้อย
“ในคดีพยายามฆ่าที่ชาวบ้านอ.บางสะพานเป็นจำเลย การที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีคำพิพากษา ว่า แม้พยานโจทก์จะให้การในชั้นศาลสับสนอยู่บ้าง คงเป็นเพราะเวลาผ่านมานาน จึงเลือกรับฟังคำเบิกความในชั้นสอบสวน ถามว่า หากศาลรับฟังพยานตั้งแต่ที่เบิกความในชั้นสอบสวนแล้ว จะต้องมีศาลทำไม มีอัยการทำไม จะมีขั้นตอนอื่น ๆ ในการคานอำนาจหรือตรวจสอบทำไม ทำไมไม่เอาความผิดชาวบ้านไปเลยในชั้นสอบสวน” ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี กล่าว
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ตั้งข้อสังเกตว่า คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีจินตนา แก้วขาวนั้น ศาลมิได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่า เหตุใดศาลจึงรับฟังพยานฝ่ายโจทก์มากกว่า ทั้งที่พยานโจทก์ที่ศาลกล่าวอ้างนั้น เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสิ้น
ไพโรจน์ พลเพชร กล่าวว่า บริบทของสังคมไทยแต่เดิมคือ การยอมรับสิทธิในการพัฒนาของรัฐซึ่งผูกขาดอำนาจในการกำหนดแนวทางการพัฒนาทั้งหมด ระบบกฎหมายก็ยอมรับอำนาจรัฐกับสิทธิของปัจเจกชน เมื่อบริบทเช่นนี้ไม่เปลี่ยน การรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงยังเชื่อพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวตั้ง โดยไม่เห็นความสำคัญของการเก็บพยานหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิชุมชน
ชาวบ้านก็วิจารณ์ศาลได้ ไม่ใช่แค่นักวิชาการ
อ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมขาดความรับผิดชอบ อย่างเช่น หากพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีที่ชาวบ้านเป็นจำเลยโดยไม่คำนึงถึงหลักการตามรัฐธรรมนูญหรือความยุติธรรม ไม่ว่าจะกี่คดีที่สั่งฟ้องศาลพิพากษายกฟ้องทั้งหมด ก็ไม่กระทบต่อหน้าที่การงานของพนักงานอัยการผู้นั้น อย่างในประเทศญี่ปุ่น คดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้อง กว่า 80% จะชนะคดี แต่ประเทศไทย แทบไม่เคยบันทึกสถิติเลยว่า คดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องกี่คดี
สำหรับสถาบันบศาล ซึ่งเป็นองค์กรหลักในกระบวนการยุติธรรมนั้น อ.สมชาย มองว่า วิธีการหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมก้าวหน้าได้ คือ การมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลและคำพิพากษา โดยเสรีภาพนั้นต้องไม่จำกัดเฉพาะในวงของนักวิชาการ ถ้าชาวบ้านรู้สึกว่าคำพิพากษาไม่มีมาตรฐาน พวกเขาต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ วิธีการนี้จะทำให้ศาลปรับตัว และรู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
อ.กิตติศักดิ์ ปรกติ เสนอว่า น่าจะมีงานประจำปีที่หยิบยกเอาสำนวนหรือคำพิพากษาในคดีของประชาชนที่ไม่ได้มาตรฐานมาแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์กัน โดยอ้างอิงจากเอกสาร สำนวนคดีหรือคำพิพากษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีนั้น และทำรายงานระบุชื่อขององค์คณะหรือพนักงานอัยการที่รับผิดชอบคดี และผลกระทบจากการทำหน้าที่ที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งต่อองค์กรสูงสุดของหน่วยงานนั้น เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด หรือศาลฎีกา ต่อไป
ที่มาภาพหน้าแรก TCIJ