7 ข้อเสนอคอป. ประกันตัวผู้ชุมนุม ผู้ต้องหาหมิ่น

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป) ต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย ตามที่นายคณิต ณ นคร ในฐานะประธาน กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป) เสนอ รวม 7 ประการ ดังนี้

ประการแรก คอป. เห็นว่า ในระหว่างที่สังคมไทยยังมีความขัดแย้งอยู่ รัฐบาลต้องดำเนินการมาตรการเพื่อลดความขัดแย้ง โดยตรวจสอบว่าเจ้าพนักงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและผู้ต้องขังที่ต้องการความช่วยเหลือ ตรวจสอบและผลักดันให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อได้รับการพิจารณาวินิจฉัยอย่างเท่าเทียมกัน

ประการที่สอง คอป. ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการกระทำใดๆ ซึ่งอาจเป็นการกระทบกระเทือนถึงบรรยากาศในการปรองดอง โดยเฉพาะรัฐบาลต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ดำเนินใดๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

ประการที่สาม คอป. เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. 2548 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่องซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งหลายทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.. 2550 ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลสมควรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้

เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่า การแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่า มีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควร หรือดำเนินคดีที่พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่

ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาและจำเลยว่า มีเหตุที่จะหลบหนี เหตุที่จะทำลายพยานหลักฐาน หรือเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมหากได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ หากไม่มีสาเหตุดังกล่าวให้ยืนยันหลักกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว และในการปล่อยชั่วคราวนั้น แม้ตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะไม่เรียกร้องหลักประกันก็ตาม และในกรณีที่ศาลอนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวแต่กำหนดให้มีหลักประกันด้วยนั้น ก็ชอบแล้วที่รัฐบาลจะจัดหาหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้ตามทางปฏิบัติที่ผ่านมา

เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุ

เป้าหมายในทางการเมือง หากผู้ต้องหาและจำเลยนั้นไม่ได้รับการการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติ

เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่มีการศึกษาถึงแนวทางในการนำมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยมาใช้ สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู้ศาล โดยรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ให้อัยการมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการประเมินความเหมาะสมทางด้านประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งมาตรการทางอาญาที่เหมาะสมก่อนสั่งคดี

ประการที่สี่ คอป. เห็นว่า การชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่ายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ ควรดำเนินการอย่างน้อยตามแนวทาง ดังนี้

เนื่องจากการเยียวยาในกรณีนี้แตกต่างจากการเยียวยาในกรณีปกติ การเยียวยาในกรณีนี้จึงไม่อาจใช้หลักการและมาตรการตามปกติดังเช่นที่รัฐใช้กับผู้ประสบภัยพิบัติ หรือหลักการในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในคดีอาญา ฯลฯ แต่จะต้องใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ติดยึดอยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กร ที่ดำเนินการในกรณีปกติ

รัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายในการเยียวยาไม่ควรจำกัดเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 เท่านั้น แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา

รัฐบาลควรกำหนดกรอบในการเยียวยาให้กว้างขวาง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ และครอบคลุมถึงความสูญเสียในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ครอบคลุมถึงความสูญเสียในทางเศรษฐกิจและโอกาสของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีองค์กรเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการเยียวยาอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และต่อเนื่อง

ประการที่ห้า คอป. เห็นว่า การเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมก็เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เป็นเงื่อนไขในการสร้างความปรองดองในชาติ จึงเห็นควรดำเนินการเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดี โดยไม่เป็นธรรมเนื่องจากการชุมนุม ดังนี้

ควรเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของผู้เข้าร่วมชุมนุมและ ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินสมควร

จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

สำหรับจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษถึงที่สุดแล้ว หรือไม่ให้ประกันตัว ควรให้ ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของจำเลยเหล่านั้นในด้านมนุษยธรรม และหากพ้นโทษแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการ ให้ความช่วยเหลือแนะนำในการประกอบอาชีพ เพื่อลดความคับแค้น และฟื้นฟูให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ

ประการที่หก คอป. มีความกังวลต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.. 2550 คอป. เห็นควรให้มีการดำเนินการ ดังนี้

ในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ คอป. เห็นว่ารัฐบาลต้องดำเนินการการทุกวิถีทาง โดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้าย คือการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยควรดำเนินการอย่างเด็ดขาดและเคร่งครัดต่อผู้ที่จาบจ้วงล่วงละเมิดที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะและหวงแหนของปวงชนชาวไทย แต่ไม่ควรนำเอามาตรการในทางอาญามาใช้มากจนเกินสมควรโดยขาดทิศทางและไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง และต้องยุติการกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

รัฐบาลต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีความเป็นเอกภาพและดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

ในการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรให้ความสำคัญกับแนวทางการสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจ (Opportunity Principle) ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการอันเป็นสากล ในกรณีนี้ ประเด็นที่อัยการต้องพิจารณาคือแนวทางใดระหว่างการสั่งฟ้องคดีหรือการสั่งไม่ฟ้องคดี จะเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการปกป้องและถวายพระเกียรติยศที่เหมาะสมแด่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยชั่วคราว

รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการดำเนินคดีที่นำเอาประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีต่อไปจะต้องมีการพิจารณาโดยมีพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเฉพาะบุคคลที่ชัดเจน ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม

ประการที่เจ็ด คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สั่งสมจนทำให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกในสังคมไทยจนเกินกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ปัญหาได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนทุกคนจึงล้วนมีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศชาติไปสู่การปรองดองด้วยกันทั้งสิ้น รัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ในการนี้รัฐบาลควรสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อความเข้าใจร่วมกันของสังคมในการก้าวข้ามความขัดแย้ง ในสื่อต่าง ๆ อย่างเต็มที่ การทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาและการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันของสังคมไทยอย่างถูกวิธีเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนสืบไป

ทั้งนี้ ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ดูแลเรื่องเยียวยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กรณีกรือเซะและสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติมด้วย

จากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 179 / 2554 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ดังนี้

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.. 2553 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงและข้อเท็จจริงที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ถึงสาเหตุของปัญหา โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดความเข้าใจร่วมกันและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันจะนำไปสู่การป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต และส่งเสริมความปรองดองของประเทศชาติในระยะยาวต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 คอป. ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบให้รัฐบาลรับไปพิจารณาให้เป็นรูปธรรม รวม 7 ประการ เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองของประเทศให้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลเห็นว่าการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม 2554 เนื่องจากเป็นที่ตระหนักแล้วว่าการบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ การรักษาความมั่นคงแห่งรัฐและการพัฒนาประเทศ ไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะของ คอป. รวม 7 ประการดังกล่าว และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) รับข้อเสนอแนะของ คอป. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรมและความเสมอภาค เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและความสมานฉันท์ของคนในชาติต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.. 2534 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติเรียกโดยย่อว่า "ปคอป." ประกอบด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงการกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยกรรมการ

2. ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

2.1 พิจารณารายละเอียดข้อเสนอแนะของ คอป. เพื่อมอบหมายการดำเนินการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปโดยเร็ว

2.2 เสนอแนะมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้เป็นกลไกเสริมกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ซึ่งมีข้อจำกัดในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งที่มีสาเหตุและลักษณะที่ซับซ้อน เพื่อแก้ไขปัญหาและประคับประคองสังคมในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งของคนในสังคมไปสู่สันติภาพและความมั่นคง

2.3 เสนอแนะมาตรการ กลไก และวิธีการเพื่อส่งเสริมให้การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดความปรองดองในระยะยาว

2.4 ขอความร่วมมือหรือประสานงานกับ คอป. หน่วยงานของรัฐ เอกชน ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป.

2.5 ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ตามข้อเสนอแนะของ คอป. เป็นระยะพร้อมทั้งเสนอปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข

2.6 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคล เพื่อดำเนินการใดหรือตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย

2.7 เรียกให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ หรือเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐมาให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน

2.8 ดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่บรรลุผลสำเร็จ

3. ในการเสนอแนะการดำเนินการ มาตรการ วิธีการ หรือข้อแนะนำ ตลอดจนมีปัญหาขัดข้องในการดำเนินการเรื่องใด ให้ประธานกรรมการรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการหรือสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

4. ให้คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ในคราวที่มีการประชุมในอัตรา ประธานกรรมการ 10,000 บาท รองประธานกรรมการ 9,000 บาท และกรรมการ 8,000 บาท และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ หรือตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย ให้เบิกจ่ายตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 4 ตุลาคม พ.. 2554 เป็นต้นไป

 

ที่มา :

มติครม. วันที่ 20 กันยายน 2554

มติครม. วันที่ 4 .. 54