เมื่อวันที่ 8 ก.ย.54 เวลา 13.30 น. ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายประชาชนผู้ผลักดันกฎหมายด้วยวิธีเข้าชื่อหนึ่งหมื่นชื่อกว่า 100 คน ได้แก่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยจิตเวช ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เครือข่ายผู้เสนอกฎหมายป่าชุมชน เครือข่ายประชาชนผู้เสนอกฎหมาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกันเข้าพบประธานรัฐสภาและยื่นหนังสือเพื่อขอให้สมาชิกรัฐสภาช่วยสนับสนุนและมีมติเห็นชอบให้เดินหน้านำร่างกฎหมายประชาชนที่ค้างอยู่ในสภาที่แล้วมาพิจารณาต่อในการประชุมของรัฐสภานี้
ทั้งนี้ ประเด็นต่างๆ ที่เครือข่ายร่วมผลักดันออกมาเป็นกฎหมายหมื่นชื่อ และอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาแล้ว ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …. , 2. ร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. …. , 3. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการ สาธารณสุข พ.ศ. …. , 4. ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) , 5. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุข, 6. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ…..
นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายหมื่นชื่อของภาคประชาชนอีกสองฉบับที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน แต่นายกรัฐมนตรีคนก่อน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ลงนามรับรอง ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ. บำนาญประชาชน พ.ศ. …. , 2. ร่าง พ.ร.บ. กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. …. และร่างกฎหมายประชาชนอีกหนึ่งฉบับที่ประธานรัฐสภาคนก่อนคือ นายชัย ชิดชอบมีคำสั่งไม่รับเพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญหมวด 3 และหมวด 5 ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ….
สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การมายื่นหนังสือในวันนี้เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งเก้าฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่มาจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นชื่อ ซึ่งมีทั้งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและรอการพิจารณาแต่เมื่อมีการยุบสภาไปก่อน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง กำหนดว่า เมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ หากจะพิจารณากฎหมายดังกล่าวต่อไปได้ต้องให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ร้องขอภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ออกมารับหนังสือและพูดคุยกับตัวแทนภาคประชาชนที่เคยเสนอร่างกฎหมายฉบับต่างๆ หลังจากรับเรื่องแล้วได้สั่งการให้นายอภิชาติ คำทอง ผู้อำนวยการสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบดูว่าร่างกฎหมายทั้ง 9 ฉบับนี้อยู่ในรายชื่อร่างกฎหมายที่จะรับรองเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาใหม่หรือไม่ หากไม่อยู่ให้นำร่างเหล่านี้ใส่เข้าไปรวมกับรายชื่อร่างกฎหมายทั้งหมดด้วย
ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 13 กันยายนนี้ เวลา 9.30 น. เครือข่ายภาคประชาชนจะนัดรวมตัวกันอีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอฟังผลการประชุมของคณะรัฐมนตรีว่ามีร่างกฎหมายฉบับใดบ้างที่คณะรัฐมนตรีร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
ไฟล์แนบ
- 8-09-11-จดหมายถึงประธานรัฐสภา (25 kB)