เปิดตัว Thai Law Watch ติดตามกระบวนการนิติบัญญัติไทย

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 โครงการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) .ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงาน ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ Thailawwatch.org เว็บไซต์ระบบติดตามร่างกฎหมายไทย

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ วาระการปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลใหม่ เขากล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหามากว่า กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่สังคมได้ และกฎหมายไทยเน้นการเอาคนเข้าคุก สิ่งที่ต้องเร่งทำในเวลานี้คือลดบทบาทของกฎหมายที่ให้อำนาจแบบไม่จำกัดต่อเจ้าหน้าที่ เช่นกฎหมายด้านความมั่นคง และเพิ่มความสำคัญของกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของผู้ไร้อำนาจ เช่นกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิ ส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายรัฐสวัสดิการ

ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนยังเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ควรต้องเปิดให้มีกระบวนการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตย โดยสิ่งสำคัญที่ภาคประชาชนต้องร่วมกันจับตาคือ กระบวนการร่างและแก้ไขนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ โครงสร้างคณะกรรมการร่างเป็นอย่างไร

จอนกล่าวถึงเว็บไซต์ Thailawwatch ว่า น่าจะสามารถพัฒนาและเป็นเครื่องมือสำหรับองค์กรประชาชนเพื่อมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในกฎหมายต่างๆ ที่สภาพยายามผลักดัน ซึ่งเว็บนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา ประชาชนจะรู้สึกว่ากฎหมายเป็นเรื่องซับซ้อน ติดตามยาก และมีอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่เรื่องของข้อมูล เช่นไม่รู้ว่าจะไปตามข้อมูลที่ไหน แล้วสื่อมวลชนก็ไม่ค่อยสนใจ (อ่านปาฐกถา จอน อึ๊งภากรณ์ ที่นี่)

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวถึง Thailawwatch ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในโครงการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยงานวิจัยนี้จะศึกษาขั้นตอนของกฎหมาย เปรียบเทียบสามรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เนื้อหาใน Thai Law Watch จะมีสี่ส่วน ส่วนแรกเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติไทย เพื่อบอกความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการออกกฎหมายของไทย ส่วนที่สอง เป็นการติดตามร่างกฎหมาย (Law tracking) จะติดตามกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น และชี้ให้เห็นว่ากำลังค้างอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งการติดตามขั้นตอนกฎหมายจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างความรับผิดชอบของคนออกกฎหมาย ส่วนที่สามเป็นการวิเคราะห์สาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งคณะทำงานจะเลือกกฎหมายสำคัญๆ ขึ้นมาวิเคราะห์ และส่วนสุดท้าย เป็นบทความข่าวสารทั่วไป

กฎหมายที่ดีที่สุด?

ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมาย หรือ Legal literacy เป็นเรื่องสำคัญ การติดตามกระบวนการออกกฎหมายจะทำให้เห็นความต่อเนื่องของระบอบรัฐสภา ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลแต่การทำงานของระบอบรัฐสภาต้องทำงานต่อเนื่องไป สิ่งที่เราอาจเรียนรู้ได้คือ จากที่เราติดกับมายาคติของเรื่องเสียงข้างมาก แต่ความจริงคือระบอบรัฐสภาไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีความร่วมมือหรือสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็อยู่ได้ด้วยความร่วมมือ ยังมีประเด็นและกฎหมายที่ทุกฝ่ายยกมือด้วยกัน การติดตามลักษณะนี้จะเห็นความร่วมมือของแต่ละฝ่าย ซึ่งบางเรื่องอาจเป็นเรื่องการเมือง แต่บางเรื่องไม่ใช่ เป็นความร่วมมืออันเป็นปกติของระบอบรัฐสภา

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ชี้ว่า ยังมีความท้าทายสำหรับการติดตามกระบวนการนิติบัญญัติไทยอยู่ คือ สังคมไทยยังมีกฎหมายอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น ลักษณะของตุลาการภิวัตน์ในบางเรื่อง หรือมีคำพูดหนึ่งที่ว่า Judges make law นั่นคือศาลไม่ใช่แค่พิพากษาตามกฎหมาย แต่ตัวคำพิพากษาเองก็เป็นกฎหมายในตัวมันเองด้วย อีกทั้งเวลาเราพูดถึงกฎหมายในสังคมไทย มันไม่ได้กระทบแค่จากพระราชบัญญัติ แต่ยังมีเรื่องยิบย่อย เช่นพวกกฎกระทรวง มติคณะรัฐมนตรี ฯลฯ

ดร.พิชญ์กล่าวต่อไปว่า ในการวิเคราะห์กฎหมายหรือการมองว่ากฎหมายลักษณะใดเป็นความต้องการของประชาชน มันขึ้นอยู่กับว่าผู้วิเคราะห์จะใช้แว่นไหนในการมอง เราอาจจะเชื่อว่าจะมีร่างกฎหมายที่ดีที่สุด แต่แล้วความเชื่อแบบทุนนิยมเสรีใหม่ (Neo Liberalism) กับคนจนจะไปด้วยกันได้หรือไม่ แม้จะมีแนวคิดว่าทุนนิยมต้องอยู่ควบคู่ไปกับหลักนิติรัฐ หลักเรื่องความเป็นมนุษย์ แต่ในความเป็นจริง การออกกฎหมายนั้นมาจากแรงจูงใจทางการเมือง เช่นนักการเมืองย่อมสนใจผลักดันกฎหมายที่ทำให้เขาได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ นั่นทำให้นักการเมืองต้องเป็นประชานิยม แต่ความเป็นประชานิยมนั้นจะไปด้วยกันได้กับความหมายของตลาดในโลกทุนนิยมหรือไม่

ดร.พิชญ์ตั้งประเด็นท้าทายไว้ว่า ดังนั้น ในการวิเคราะห์กฎหมาย จะให้ความสำคัญกับความจริงหนึ่งเดียว หรือเปิดให้มีการโต้เถียงกันในสังคม ซึ่งเขาเห็นว่าการวิเคราะห์ที่ดีต้องชี้ให้เห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์เบื้องหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจว่า ความขัดแย้ง (paradox) ของระบอบประชาธิปไตยมาจากประชาชน แต่ประชาชนอาจจะถูกชักจูงก็ได้ ดังนั้น การวิเคราะห์ควรจะเปิดให้เห็นหลายมุมมากกว่ามีธงอยู่แล้ว

สังคมไทยไม่แตะต้องอัยการและศาล

ด้านประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าวว่า สังคมไทยไม่เคยมีกระบวนการตรวจสอบสถาบันอัยการและศาล ไม่เคยมีการตรวจการใช้ดุลพินิจของอัยการ เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคดีต่างๆ ที่อัยการไม่สั่งฟ้องนั้นเป็นอย่างไร และเราก็ไม่เคยมีกระบวนการเปิดเผยข้อมูลว่ามีคดีค้างอยู่ในศาลเท่าไร ซึ่งเราควรตรวจสอบความเห็นอัยการและตรวจสอบคำพิพากษาศาลได้ จะทำยังไงให้มีการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูล

เขาเสริมว่า สังคมไทยน่าจะปฏิรูปกฎหมายด้านความมั่นคง ปัจจุบันเรามีกฎหมายด้านความมั่นคงที่ใช้ทำงานอยู่สามฉบับ คือกฎอัยการศึกที่ออกมาเพื่อสงครามกับต่างประเทศ แต่เรากลับใช้ประกาศในช่วงรัฐประหาร ใช้ผิดวัตถุประสงค์ ผิดเจตนารมณ์ จากนั้นเรามีพ...ฉุกเฉิน และพ...มั่นคง ซึ่งค่อนข้างสับสนว่าเมื่อไรจะใช้ฉบับใด แตกต่างกันอย่างไร เขาเห็นว่าหากสังคมไทยเห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายด้านความมั่นคง ก็ควรเอาทั้งสามฉบับมานั่งคุยและรวมกันเป็นฉบับเดียว

กฎหมายที่ต้องสนใจ

ด้านปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวถึงร่างกฎหมายหลายฉบับที่ควรมีการผลักดัน เช่น พ...สัญชาติ กฎหมายเกี่ยวกับกองทุนยุติธรรมเพื่อสันติภาพ รวมถึงประเด็นที่ยังไม่เป็นกฎหมายเช่นเรื่องของชุมชนชาวเลและกลุ่มพื้นเมืองต่างๆ ที่ควรมีกฎหมายว่าด้วยวิถีชีวิตและที่อยู่อาศัยเพื่อปกป้องสิทธิให้ประชาชนกลุ่มนี้

นอกจากนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่ควรร่วมกันจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับฐานทรัพยากร อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยื่น (อพท.) ที่มีแนวโน้มว่าอาจเปิดโอกาสให้มีการให้สัมปทานแก่เอกชนเพื่อจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเดิมเป็นกฎหมายประชาชนที่ล่าสุดถูกกฤษฎีกาแก้ไขจนเปลี่ยนเนื้อหาสำคัญไปหมด

ทั้งนี้ ภายในวันที่ 29 กันยายนนี้ คณะรัฐมนตรีต้องเสนอต่อรัฐสภาว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างพิจารณาอยู่จากรัฐบาลที่แล้วกว่าสองร้อยฉบับหรือไม่ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะต้องจัดทำข้อเสนอไปถึงคณะรัฐมนตรีว่ามีความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างกฎหมายต่างๆ อย่างไร โดยในส่วนของกฎหมายประชาชนที่ได้เสนอเข้าสภาไปแล้วด้วยการระดมรายชื่อหนึ่งหมื่นชื่อนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีมติแล้วว่าจะทำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบพิจารณากฎหมายทั้งสิ้น 7 ฉบับ จากทั้งหมด 8 ฉบับ อันได้แก่ ร่างพ...องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค ร่างพ... วิชาชีพแพทย์แผนไทย ร่างพ...การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างพ...สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างพ...วิชาชีพการสาธารณสุข ร่างพ...คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และร่างพ...ประกันสังคม (ฉบับสมานฉันท์แรงงานไทย)

สำหรับหนึ่งฉบับที่ไม่เห็นด้วยนั้น คือ พ...จัดตั้งจังหวัดฝาง ทั้งนี้เพราะการจัดตั้งจังหวัดมีควรมีกระบวนการรับฟังความเห็นคนในพื้นที่เสียก่อน