ปฏิเสธรับการรักษา : อัยการบอกไม่ผิดกฎหมาย นักจริยศาสตร์บอกไม่ผิดจริยธรรม

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติมาตรา 12 กำหนดให้คนไข้มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตของตนได้ และแพทย์ต้องปฏิบัติตามนั้น โดยต่อมามีกฎกระทรวงสาธารณสุขและประกาศสำนักงานสุขภาพแห่งชาติออกมากำหนดรายละเอียดวิธีการทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว

ต่อมามีกลุ่มแพทย์ โดยการนำของแพทยสภาออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน อ้างว่ากฎกระทรวงดังกล่าวอาจออกเกินอำนาจมาตรา 12 และขู่จะฟ้องศาลปกครอง แต่สุดท้ายเห็นว่ายังไม่ควรดำเนินการจึงยับยั้งไว้ก่อน (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) ทั้งนี้แพทย์หลายท่านยังเห็นว่า การปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเพราะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขัดต่อจริยธรรมแพทย์และหลักมนุษยธรรมได้
เมื่อวันที่ 11สิงหาคม 2554 ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ จึงจัดงานเสวนาขึ้นภายใต้หัวข้อ “การปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ขัดกฎหมายหรือหลักจริยธรรมหรือไม่?” โดยมีทั้งนักกฎหมาย นักจริยศาสตร์ และแพทย์ มาร่วมแสดงความคิดเห็น 
ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เล่าว่า สมัยที่เป็นอัยการ ต้องดูแลคุณพ่อที่ป่วยอยู่ประมาณ 20 ปี ด้วยประสบการณ์ตรง ชาญเชาวน์บอกว่า ไม่อยากเรียกว่า สิทธิการตาย แต่อยากเรียกว่า “วิธีการเลือกในการรักษา” มากกว่า เพราะมาตรา 12 ต้องเชื่อมโยงกับมาตรา 8 ที่จะต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพชัดเจนเพียงพอให้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับบริการสาธารณสุขอะไรก็ได้ 
ชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้เน้นย้ำเรื่องสิทธิในการเลือก การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับบริการ และเมื่อมองลึกๆ เป็นการตอกย้ำจริยธรรมการแพทย์ที่มีอยู่แล้ว ตัวกฎหมายให้องค์ประกอบมาครบซึ่ง 20 ปีที่แล้วไม่มี มาทำให้กระบวนการที่เคยต้องพูดกับคุณหมออยู่สองคนกลายมาเป็นกระบวนการอยู่ในกฎกระทรวง
ชาญเชาวน์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องแพทย์จะโดนข้อหาฆ่าคนตายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ในการรักษาแบบประคับประคองจนลมหายใจสุดท้ายด้วย แม้จะทำตามหนังสือสัญญาแต่ก็ยังมีหน้าที่ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ใครจะมาฟ้องหมอได้ก็ต้องเข้าใจการปฏิบติตามวิชาชีพของแพทย์ด้วย แต่ยังมีย่อหน้าที่สาม ที่เขียนไว้เพื่อเป็นแรงจูงใจและปกป้องให้หมอที่ทำตามมาตรา 12 ไม่มีความผิด คนที่ไม่เข้าใจกฎหมายอ่านแล้วอาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่หากหมอไม่ทำตามแปลว่าหมอผิด ทำให้กังวลว่าต้องมาพิสูจน์กันอีกว่าหนังสือชอบหรือไม่ชอบ 
“เรื่องการแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณะสุขนั้นเป็นการแสดงเจตนาทั่วไป และเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว จึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความชอบด้วยกฎหมายของหนังสือนั้นเลย เพราะไม่ใช่เรื่องแบบพิธีการ เป็นเพียงหลักฐานเท่านั้น” อดีตอัยการกล่าวในแง่มุมของกฎหมาย  
ในภาพรวมของสิทธิปฏิเสธการรักษาตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาตินั้น ชาญเชาวน์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ก้าวหน้ามาก มาตรา 12 นี้ส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนเชิงปัจเจกชนสูงมาก จึงต้องมาดูวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ว่า เราเคารพคุณพ่อคุณแม่ของเราแค่ไหน เรายอมรับได้ไหมกับความรู้สึกเดิมๆ ที่ต้องเต็มที่เพื่อท่าน เมื่อท่านมีโอกาสตัดสินใจอย่างนี้แล้วเราจะยอมรับกันอย่างไรในครอบครัวของเรา ซึ่งวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนเชิงปัจเจกไม่ค่อยมีกฎหมายฉบับไหนพูดกัน และเมื่อเป็นเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่เข้ามาในครอบครัว เป็นเรื่องวิชาชีพจึงมีประเด็นมาก คงจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไม่ได้ 
ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ กล่าวว่า คุณหมอคุณพยาบาลอ่านแล้วจริงๆ ก็เข้าใจ แต่เนื่องจากไม่ใช่นักกฎหมายพอมีคนไปตั้งประเด็นว่าน่ากลัวก็จะยิ่งกลัวไปกันใหญ่ เท่าที่เคยสุ่มถามเวลาไปงานสัมมนาร่วมกับผู้พิพากษาว่า ถ้าหมอทำตามหนังสือแสดงเจตนานี้เป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า ไม่ใช่ เป็นการทอดทิ้งผู้ป่วยหรือเปล่า ไม่ใช่ เป็นการุณยฆาตหรือเปล่า ไม่ใช่ จึงค่อนข้างจะเชื่อมั่น จึงขอให้ยึดหลักธรรมและหลักวิชาไว้กฎหมายนี้ออกมาช่วยเสริมเท่านั้น 
สำหรับคำถามที่ว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป ศ.แสวงตอบว่า ถ้าให้หมอแนะนำคนไข้ในโรงพยาบาลของรัฐผู้ป่วยอาจจะกลัวว่าถ้าเซ็นต์แล้วโรงพยาบาลจะทิ้งเลย จึงคิดว่าไม่อยากให้แพทย์เป็นคนเปิดเกมส์เรื่องนี้ เพียงแค่ขอเอกสารจากสำนักงานสุขภาพแห่งชาติไปให้ผู้ป่วยดูเองก็พอ ในภาคประชาชนเป็นหน้าที่ของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติที่มีสมัชชาเป็นประจำต้องให้สื่อเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าใจ สำหรับแง่กฎหมายเป็นหน้าที่ของผม และศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ต้องไปทำความเข้าใจกับนักกฎหมาย สำหรับเฉพาะหน้านั้นเพียงแค่ถ่ายเอกสารตัวอย่างที่แจกไป (ตามไฟล์แนบ) ก็ใช้ได้แล้ว ให้คนที่ทำหนังสือแสดงเจตนาเอาสำเนาไปเหน็บไว้ในเวชระเบียนเท่านั้น คงเดินหน้าไปได้
รองศาสตราจารย์สิวลี ศิริไล นักวิชาการด้านจริยศาสตร์ กล่าวว่า มีคำถามเชิงจริยศาสตร์คือ เราพร้อมที่จะเคารพความเป็นบุคคลของผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน ถึงแม้จะเป็นบุคคลที่รัก ไม่อยากให้จากไป แต่การไปตัดสินใจไปคิดแทนว่าสิ่งที่ดีสำหรับตัวเขาด้วยสิ่งที่เราคิดนั้นควรทำแค่ไหน เราพร้อมจะเคารพตัวตนของคนนั้นมากน้อยแค่ไหน
รศสิวลี เล่าต่อว่า มีผู้ป่วยท่านหนึ่งอายุเกือบเก้าสิบแล้ว ในที่สุดคุณหมอบอกกับลูกๆ ว่าคงอยู่ได้ไม่นานแล้ว ลูกๆ บอกคุณหมอว่าเท่าไรเท่ากันเงินไม่อั้น จ่ายได้ แต่คุณหมอพูดกับลูกๆ ว่า ที่ขอหมอ ขอเพื่อคุณแม่หรือขอเพื่อตัวลูกๆ เป็นคำถามเชิงปรัชญามาก เพราะคุณยายเองขอกลับบ้าน จิตวิญญาณของคุณยายคือชีวิตครอบครัวที่บ้าน โดยการบอกหมอเองเป็นภาษาชาวบ้านโดยไม่ต้องเขียนหนังสือแสดงเจตนาอะไร
“ดูเหมือนคุณหมอจะวิตกมากเลยเกี่ยวกับกฎหมาย ขอให้มั่นใจ ทุกวิชาชีพมีจิตวิญญาณ จิตวิญญาณของการแพทย์คือ ประโยชน์สุขของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง แต่อย่าถึงกับไปกังวลกับกฎหมายมาก การให้คนไข้มาเซ็นต์ต่อหน้าที่โรงพยาบาลนี้น่าตกใจมาก ขอให้เชื่อใจ อย่ามองผู้ป่วยเป็นศัตรู เวลาเกิดอะไรขึ้นสังคมไทยเข้าข้างหมอ ถ้าไม่เหลืออดจริงๆไม่มีใครอยากเอาเรื่องหมอ ขอให้หัวใจหมอนำทางแล้วทุกอย่างก็จะไปได้ด้วยดี” รศ.สิวลีฝาก
รศ.สิวลี ทิ้งท้ายว่า การดูแลแบบประคับประคอง (Carative care) คือ การดูแลมนุษย์ให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ สำหรับคนไข้ที่แสดงเจตนาไม่รับการรักษานั้นจะมีเวลาดูแลจิตวิญญาณ ตอบสนองจิตวิญญาณของเขา ซึ่งถือเป็น Carative care มิติหนึ่ง ขอเวลาให้สังคมสักนิดแล้วทุกอย่างจะไปด้วยดี
พ.อ.ผศ.นพ.ดุสิต สถาวร วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่รับบริการสาธารณสุขว่า เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์กับหนังสือแสดงเจตนานี้ เพราะจะมีส่วนช่วยมาก สำหรับหมอที่ต้องดูแลคนไข้จะสบายใจมาก บางเรื่องปกติก็ทำกันอยู่แล้ว ถือได้ว่าเป็นการเติมชีวิตให้กับวันที่เหลือ ไม่ใช่เติมวันให้กับชีวิตที่เหลือ
นพ.ดุสิต กล่าวต่อว่า แต่กฎหมายนี้ยังมีหลุมพรางอยู่บ้าง คือ หนึ่งพอมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องทำให้หมอกังวลมากเพราะหลุดจากความเคยชิน หมอจะเกรงว่าตัวเองไม่รู้กฎหมายและอาจมีคนที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาบอกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นผิด สองคนไข้อาจแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาไว้จริง แต่ถูกคัดค้านจากคนรอบข้าง ญาติอาจจะอาศัยความไม่ชัดเจนมาขอร้องให้หมอไม่ทำตามหนังสือแสดงเจตนานั้นได้ ซึ่งเรื่องความชัดเจนของหนังสือแสดงเจตนานี้ก็มีปัญหาอยู่
นพ.ดุสิต ยังเห็นด้วยว่า เรื่องนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ต้องใช้เวลานาน ต้องให้เวลากับสังคมอย่างน้อยสิบถึงยี่สิบปีจึงจะเข้าที่ เพราะหมอเองยังไม่พร้อม ถ้าหากเป็นหมอที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้และต้องไปให้คำปรึกษากับผู้ป่วย ผมว่ายังไม่พร้อมเลย  แม้ระดับอาจารย์แพทย์ก็ยังลำบากอยู่บ้าง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ชีวิตปัจจุบันที่เขาทำอยู่ ฉะนั้นต้องเข้าถึงเขาด้วยความเข้าใจว่ามีความคิดเห็นหรือความกังวลของแพทย์บางส่วนอยู่จริงและค่อยๆ ให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น
ไฟล์แนบ