ฟรีสปีช VS เฮทสปีช พื้นที่ของสังคมไทยในการแสดงความคิดเห็น

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีอภิปรายสาธารณะในหัวข้อ “ความท้าทายของสื่อใหม่กับการเมืองไทยช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง”ณ อาคารมหิตลาธิเบศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และประชาชนเข้าร่วมอภิปรายและรับฟังเป็นจำนวนมาก

ช่วงแรกเป็นการอภิปรายในเรื่อง “พรมแดนของ free speech และ hate speechในการแสดงความเห็นทางการเมือง”

ที่มาภาพ : ประชาไท

free speech(ฟรีสปีช) คือ เสรีภาพของบุคคลที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นใด ๆ ของตนโดยไม่ถูกตรวจพิจารณาก่อน(censorship) ถูกปิดกั้น (bar) และ/หรือถูกจำกัด (restriction) ด้วยวิธีการอื่นใด  [1]

hate speech (เฮทสปีช) คือ การพูดซึ่งมีเจตนาทางเกลียดชังให้เกิดการเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง [2]

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า คำว่าฟรีสปีช และเฮทสปีชยังไม่มีการให้ความหมายในภาษาไทยที่เหมาะสม และไม่ทราบว่าบัญญัติความหมายทั้งสองคำนี้ว่าอย่างไรดี ซึ่งการกำหนดเส้นแบ่งของสองคำนี้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกประเทศ ขึ้นอยู่กับสังคมแต่ละที่

โสรัจจ์ กล่าวด้วยว่า ฟรีสปีชนั้น คือ เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นนามธรรมมากกว่าสิ่งอื่นๆ ในสังคมประชาธิปไตย แม้ว่าเสรีภาพในการพูดไม่ได้เป็นรูปธรรม แต่การที่เราจะมีประชาธิปไตยที่ใช้การได้จะต้องมีเสรีภาพ ถ้าไม่มีก็จะเหมือนกับเราบังคับขู่เข็ญให้ทุกคนคิด และเชื่อแบบเดียวกันหมด เปรียบเทียบกับมนุษย์ต่างดาวที่เป็นหุ่นยนตร์และมีนางพญาเป็นผู้คิดคิดให้ตลอดเวลา หุ่นยนตร์ก็คิดตาม ซึ่งไม่สามารถคิดอะไรเองได้ เห็นว่าเป็นการขัดแย้งต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

โสรัจจ์ ให้ความเห็นคำว่า เฮทสปีช คือ คำพูดดูถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ หรือเป็นคำพูดที่เป็นการขู่ฆ่า ในโลกตะวันตกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ตัวอย่างเช่น การดูถูกคนสีผิวในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการตีขลุมคนทั้งกลุ่มว่าเป็นคนที่ไม่เหมือนคนผิวขาว หรือคำว่า Kill all faggots ซึ่งหมายความว่าให้ฆ่าคนที่รักเพศเดียวกันทั้งหมด ถือเป็นเฮทสปีช

โสรัจจ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การดูถูกเหยียดศาสนา เชื้อชาติ เพศ สีผิว ก็เป็นเฮทสปีชเช่นกัน โดยได้ยกตัวอย่าง เช่น 

                            “ฆ่าผู้ก่อการร้าย”

                           “ระเบิดบ้านของพวกมัน”

                           “ฆ่าบุช วางระเบิดบ้านของบุช”

ซึ่งคำเหล่านี้เป็นคำที่แสดงความโกรธ เกลียด อาฆาตมาตร้ายทั้งสิ้น

โสรัจจ์ ได้ชี้ว่า หากมีการแสดงคำอย่างใดๆออกมาที่ยังไม่มีการแสดงออกถึงการขู่ฆ่า ก็ยังไม่ถือเป็น เฮทสปีช ตัวอย่างเช่น

ที่มาภาพ : manager online

                            คำที่กลุ่มพันธมิตรใช้เป็นสโลแกนในการรณรงค์ให้โหวตโน คือ “อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา”เพราะยังไม่มีการขู่อาฆาตมาดร้าย

                            การแสดงรูปภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีใบหน้าเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้เป็นรูปภาพ แต่ก็ยังเป็นฟรีสปีชอยู่ เพราะไม่มีมิติขู่อาฆาตมาดร้าย แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

โสรัจจ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ความเห็นอะไรที่ต่างไปจากกระแสคนส่วนใหญ่มากๆ จะตายไปเองโดยธรรมชาติ การที่ไปควบคุมโดยเฉพาะการออกกฎหมายที่เป็นโทษมากเกินไปอาจจะมีกระแสโต้กลับมากขึ้น คนจะท้าทายในเรื่องนั้น และทำให้วัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายนั้นๆเป็นไปในทางตรงข้าม

พิรงรอง รามสูต รณนันท์

พิรงรอง รามสูต รณนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงความหมายของ ฟรีสปีช และ เฮทสปีช ว่า ฟรีสปีช คือการสื่อสารที่ไม่มีการปิดกั้นโดยการเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดสังคมนิยม ส่วน เฮทสปีช คือวาจาซึ่งมุ่งสร้างความเกลียดชัง หากมองในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองก็อาจเป็นการแบ่งแยกระหว่างขาวกับดำ หรือการพูดเสียดสี เช่น การแบ่งเชื้อชาติ  การแบ่งเขาแบ่งเรา การเสียดสี ยุยงปลุกปั่น

พิรงรอง กล่าวว่า ความน่ากลัวของเฮทสปีช คือ การนำไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน ซึ่งเสมือนเป็นการปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน เช่น ไล่ออกไป หรือต้องฆ่าให้ตาย  อาทิ การต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศโดยบอกว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกที่พระเยชูไม่ต้องการให้ไปลงนรกซะ เช่นนี้เป็นเฮทสปีช

“สิ่งที่สำคัญของเฮทสปีช คือคนที่จะออกกฎหมายหรือสร้างนโยบาย ถ้าด่ากันไปแล้วจบก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าด่าแล้วฆ่ากันตายนี่แหละเป็นปัญหาสังคม” พิรงรองกล่าว

พิรงรอง กล่าวว่า อินเทอร์เน็ต เอาชนะข้อจำกัดสื่อเดิมๆ ไปทั้งหมด การที่อินเทอร์เน็ตสามารถกระจายข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็ว และขอบเขตในการบังคับใช้กฎหมายไม่ชัดเจน จึงทำให้กลุ่มที่ใช้เฮทสปีช ใช้ช่องทางนี้ เช่น การส่งอีเมลล์ต่อต้านฝ่ายตรงข้าม

พิรงรอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนการเลือกตั้ง ในโลกออนไลน์ยังไม่เจอเฮทสปีชโดยตรง แต่มีงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท ว่าเฮทสปีชนั้นเป็นการสร้างความแตกแยกทางการเมือง อย่างเช่น เฟซบุ๊ค หรือ ฟอร์เวิร์ดเมล์ ที่กล่าวหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าเขาไม่ใช่คนไทย หรือ กล่าวหาว่าระหว่างพวกเผาบ้านเผาเมืองกับดีแต่พูดคุณจะเลือกใคร ซึ่งคำพูดเหล่านี้มีการอาฆาตมาดร้ายทางภาษา ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี แต่เราก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าคำเหล่านี้เป็นเฮทสปีชหรือไม่

พิรงรอง ทิ้งท้ายว่า ถ้าจะมีนโยบายต่อต้านเฮทสปีชในสังคม เราควรจะมาคิดกันว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้นโยบายที่จะออกมานั้นเป็นการเลือกข้าง

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกล่าวว่า โดยปกติรัฐไม่สามารถเข้ามาจำกัดเสรีภาพได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นการจำกัดเสรีภาพ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และความมั่นคงของรัฐ โดยต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยจำกัดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

พรสันต์ กล่าวถึง คำพูดที่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย และคำพูดที่ไม่ได้รับคำรับรองทางกฎหมาย คำพูดที่ได้รับการรับรอง กฎหมายมองว่าเป็นคำพูดที่สร้างสรรค์มีคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย แต่คำพูดที่ไม่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญ คือคำพูดที่กระทบความมั่นคง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึง คำพูดปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องให้ไม่ต้องทำตามกฎหมายแผ่นดิน คำพูดที่ก่อให้เกิดการทำร้าย คำพูดที่กระทบชื่อเสียง ดูถูก เกลียดชัง หมิ่นประมาท ซึ่งในทางกฎหมายไม่ได้มองให้คุณค่าเลย

คำพูดที่ไม่ได้รับการรับรองเหล่านี้ ผลคือถูกจำกัดไม่ให้พูด และมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งการจะต้องรับผิดหรือไม่ต้องดูในเรื่องเจตนาว่าก่อให้เกิดความรุนแรง เสียหายอย่างไร

พรสันต์ กล่าวให้เห็นถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในช่วงปกติ และในช่วงพิเศษ ว่า ในช่วงปกติ จะมีกฎหมายอาญา กับ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่ง พรสันต์ ชี้ว่ากฎหมายเลือกตั้งมาตรา 53(กรณีใดบ้างที่เป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร) [3] มีขอบเขตกว้างมาก และคลุมเครือ ไม่ได้มีการวางมาตรฐานแต่อย่างใด

แต่ถ้าอยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษ จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และกฎหมายความมั่นคง ซึ่งพรสันต์ ชี้เฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า หากรัฐประกาศใช้กฎหมายนี้ ทำให้รัฐสามารถเข้ามาควบคุมและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นได้ เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีองค์กรในการตรวจสอบถ่วงดุล

พรสันต์ ทิ้งท้ายข้อความไว้ว่า "Ii is the duty of citizens to criticize the government" การแสดงออก เป็นหน้าที่ของพลเมือง

 

_______

[1]วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[2]เพิ่งอ้าง

[3]พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53

                  "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

                   (1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใด

                   (2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

                   (3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ

                   (4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

                   (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

                    ความผิดตาม (1) หรือ (2) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้"