14 เมษายน 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หลังการอดอาหารของมงคลเข้าสู่วันที่สามที่บริเวณหน้าศาลอาญา ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน เข้าจับกุมตัวมงคล โดยมีการแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย เลขที่ 42/2564 ลงวันที่ 14 เมษายน 2564 มี พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ร้องขอออกหมาย โดยอ้างเหตุในการขอออกหมายจับว่ามงคลได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษสูงเกินสามปี
ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปยัง สน.พหลโยธิน เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม จนเวลาประมาณ 14.00 น. เศษ ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถตู้ของ สน.พหลโยธิน เพื่อเดินทางไปส่งตัวยังจังหวัดเชียงราย
ต่อมามีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย นำรถมารับตัวมงคลต่อที่บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนนำตัวไปถึง สภ.เมืองเชียงรายในช่วงเวลาประมาณ 00.45 น. เมื่อไปถึงพนักงานสอบสวนระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคลในช่วงบ่ายวันถัดไป
15 เมษายน 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลาประมาณ 9.20 น. ตำรวจนำตัวมงคลกลับมาควบคุมตัวในห้องขังของสภ.เมืองเชียงราย พร้อมระบุว่าก่อนหน้านั้นได้นำตัวมงคลไปตรวจค้นบ้านพักในจังหวัดเชียงราย โดยได้แสดงหมายค้นต่อญาติของมงคลแล้ว แต่มงคลระบุว่าตนไม่ได้เห็นหมายค้นดังกล่าว และไม่ได้ถูกนำตัวลงจากรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมในการตรวจค้น ทำให้ไม่ทราบว่าได้มีการตรวจยึดทรัพย์สินหรือสิ่งของใดหรือไม่
เวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย นำตัวมงคลออกมาแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ก่อนการสอบปากคำ ตำรวจได้จัดทำบันทึกการตรวจยึด โดยมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของมงคลจำนวน 1 เครื่อง ตั้งแต่การจับกุมตัวที่กรุงเทพฯ แล้ว มงคลยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจยึด แต่ปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร โดยได้ลงชื่อในบันทึกตรวจยึดว่า “ไม่ยอมรับมาตรา 112 ที่ป่าเถื่อน”
พ.ต.ท.ภาสกร ได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อมงคล ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
ตำรวจระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่ามาจากการโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอ แชร์ข้อความและคลิปวิดีโอ พร้อมเขียนข้อความประกอบ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มีนาคม 2564 จำนวนรวมทั้งหมด 25 โพสต์ อาทิเช่น การโพสต์ภาพและข้อความที่แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์, การแชร์คลิปสารคดีและรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย, การแชร์โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul พร้อมเขียนข้อความประกอบ
1 พฤษภาคม 2564
เวลาประมาณ 13.30 น.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า มงคลถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมจากบ้านพักในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตามหมายจับในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนถูกนำตัวมายัง สภ.เมืองเชียงราย
การจับกุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่แสดงหมายจับออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 มี พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ขอศาลออกหมายจับ นอกจากนั้นยังได้นำหมายค้นออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เข้าตรวจค้นบ้านพักของมงคลด้วย
2 พฤษภาคม 2564
เวลาประมาณ 10.00 น. พ.ต.ท.สันติ ศิริสำราญ และ พ.ต.ท.หญิง ชลธิชา ธรรมสอน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย แจ้งข้อกล่าวหาต่อมงคล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีแรก
ก่อนหน้านั้น ตำรวจระบุว่าเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ทำการสืบสวนเฟซบุ๊กดังกล่าวเพิ่มเติม และพบโพสต์ข้อความที่อาจผิดต่อกฎหมายเพิ่มเติมจำนวน 14 โพสต์ จึงได้รายงานไปยังคณะกรรมการคดีความมั่นคงของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
มงคลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาลต่อไป
ระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนยังแจ้งขอรหัสเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา ซึ่งตำรวจได้ตรวจยึดไปตั้งแต่การจับกุมในคดีแรกแล้ว แต่มงคลปฏิเสธการให้รหัสเข้าถึงข้อมูล และได้ขอให้บันทึกข้อโต้แย้งเรื่องการที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในคดีเดิมได้ ไม่จำเป็นต้องออกขอศาลออกหมายจับในคดีใหม่ ไว้ในบันทึกคำให้การด้วย
หลังการสอบปากคำ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวน โดยอ้างถึงคดีเดิมที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเสนอเงินประกันเท่ากับที่ศาลกำหนด คือ 150,000 บาท แต่ตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัว มงคลจึงต้องถูกคุมขังที่สถานีตำรวจต่อก่อนจะถูกส่งตัวไปศาลในวันรุ่งขึ้น
3 พฤษภาคม 2564
ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมงคลในวงเงิน 150,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาก่ออันตรายประการอื่น พร้อมนัดให้มารายงานตัวที่ศาลต่อไปในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564
25 สิงหาคม 2564
มงคลเข้ารายงานตัวต่อศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อรับฟังคำฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 2 คดี หลังพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่มีตัวจำเลยไปก่อนแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ศาลได้อ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายที่ยื่นฟ้องต่อศาลทั้งสองคดี ให้มงคลฟังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในคดีแรกมงคลได้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 25 โพสต์ และคดีที่สองจำนวน 2 โพสต์ ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มงคลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด
ต่อมา บิดาของมงคลยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคดีต่อศาล ด้วยเงินสดจำนวน 1.5 แสนต่อคดี รวมทั้งหมดเป็นเงิน 3 แสนบาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
ในเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตามคำร้อง โดยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้จำเลยกระทำใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศและให้มาศาลตามนัดหมาย
8 ตุลาคม 2564
นัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองคดี
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 19-20 เมษายน 2565 และเนื่องจากการสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้น จึงเลื่อนไปสืบพยานต่อในวันที่ 27-30 กันยายน 2565 โดยศาลมีคำสั่งให้คดีนี้พิจารณาเป็นการลับ ทำให้นอกจากจำเลย ทนายความ อัยการโจทก์แล้ว ครอบครัวของจำเลยหรือบุคคลภายนอกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดีได้
ในคดีนี้จำเลยรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องมาจริง แต่จำเลยต่อสู้คดีโดยเชื่อว่าการกระทำของตนเองเป็นการแสดงออกที่สามารถกระทำได้ อีกทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าในหลวงรัชกาลที่สิบไม่ให้นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชนยิ่งสร้างความมั่นใจให้จำเลย
นอกจากนั้นการกระทำของจำเลยไม่ได้สร้างผลกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้ใด เพียงแต่อาจสร้างความระคายเคืองต่อจิตใจของผู้ที่ไม่เห็นด้วยบ้าง อีกทั้งโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหาหลายโพสต์เป็นการโพสต์ถึงอดีตพระมหากษัตริย์ บางโพสต์เป็นเพียงบางช่วงของสารคดีที่มีการเผยแพร่สาธารณะอยู่ก่อนแล้ว บางส่วนเป็นเพียงเนื้อหาข่าวจากต่างประเทศเท่านั้น
โดยฝ่ายจำเลยมี กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นเบิกความโดยให้ความเห็นต่อโพสต์ของจำเลย โดยเห็นว่าหลายโพสไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 เป็นเพียงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจไม่คุ้นเคยในสังคมไทยแต่ตามหลักสากลแล้วไม่เป็นความผิด
1 ธันวาคม 2565
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษา แต่ได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 23 ธันวาคม 2565 เนื่องจากสำนวนคดียังไม่กลับมาจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5