วันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นวันครบรอบ 15 ปีการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลินเป็นหัวหน้า วันนี้มีการชุมนุมและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องรวม 28 ครั้งใน 22 จังหวัด การชุมนุมหลักในกรุงเทพมหานครเป็นการเคลื่อนไหวของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ซึ่งนัดรวมตัวที่แยกอโศกในเวลา 14.00 น. จากนั้นจะเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยไฮไลท์ของการชุมนุมคือการขับรถแท็กซี่ชนรถถังจำลองทำด้วยกระดาษเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ ขับรถแท็กซี่ของเขาไปชนรถถังเพื่อประท้วงการรัฐประหาร 2549 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
หลังขบวนคาร์ม้อบเคลื่อนไปถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยุติ หลังกิจกรรมหลักยุติมีผู้ชุมนุมอิสระบางส่วนแยกตัวไปชุมนุมต่อที่แยกดินแดง แต่ตำรวจทำการตรึงพื้นที่ไว้ก่อนแล้ว ผู้ชุมนุมอิสระจึงไปรวมตัวกันที่แยกนางเลิ้งฝั่งมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาลแทน ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามเข้าไปที่แยกพาณิชยการ แต่ไม่สามารถผ่านแนวของเจ้าหน้าที่เข้าไปได้ ในเวลา 18.55 ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ต่อมาเวลาประมาณ 19.20-19.30 น. เกิดเพลิงลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยโรงเรียนราชวินิตมัธยมและเวลาประมาณ 20.00 น. มีการวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกนางเลิ้ง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า “บัง” นักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้าและกลุ่มโมกหลวงริมน้ำได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยหมายเรียกกำหนดให้ "บัง" ไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งในวันที่ 8 ตุลาคม 2564
“บัง” พร้อมทนายความเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนและถูกแจ้งข้อหารวม 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 10
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังแยกนางเลิ้ง ซึ่งเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการขว้างปาสิ่งของ ประทัด ยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บริเวณแนวสะพานชมัยมรุเชษฐ
พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี ผู้กล่าวหาอ้างว่า ระหว่างนั้นได้พบ “บัง” ซึ่งได้ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง ต่อมาเวลาประมาณ 19.14 น. ได้มีชายคนหนึ่งใช้วัตถุขว้างขึ้นไปบนสะพานลอยคนข้าม ไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ “บัง” หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ
พรชัยเดินทางไปยังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อไปขอถอนหมายจับที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2558 ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ของศาลทหารแจ้งว่าคดีนี้จบไปแล้ว แต่หมายจับยังคงค้างอยู่ พรชัยต้องไปขอยกเลิกหมายจับที่ต้นทางที่เป็นผู้ขอออกหมาย คือ สน.สำราญราษฎร์ พรชัยจึงเดินทางไปที่สน.สำราญราษฎร์ เพื่อขอให้ยกเลิกหมายจับที่ค้างอยู่ และรออยู่ 1-2 ชั่วโมงตำรวจก็นำหมายจับฉบับใหม่มาให้ดู พร้อมแจ้งว่า พรชัยมีหมายจับอีกหมายหนึ่ง ในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นหมายจับของสน.นางเลิ้ง
พรชัยรับว่า ตัวเองเป็นบุคคลตามหมายจับ และถูกจับกุมพาตัวไปที่สน.นางเลิ้ง เมื่อไปถึงสน.นางเลิ้งในเวลาประมาณ 13.00 ตำรวจที่สน.นางเลิ้งก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า พรชัยถูกตั้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 โดยตำรวจกล่าวหาว่า พรชัยปาระเบิดเพลิงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตแต่ไม่ลุกไหม้ เพราะก่อนเกิดเหตุมีฝนตกหนักทำให้ซุ้มเปียกชื้น จึงวางแผนใหม่อีกครั้ง พรชัยให้การปฏิเสธ
หลังจากนั้นเวลา 15.00 น. ตำรวจส่งตัวพรชัยไปฝากขังที่ศาล ต่อมาเวลา 16.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก
18 กรกฎาคม 2565
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่สองระหว่างวันที่ 19-30 กรกฎาคม 2565
19 กรกฎาคม 2565
ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจิตรินในคดีสาดสีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเหตุเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จิตรินถูกคุมตัวนับจากนั้นเป็นต้นมา แต่ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่เขาเป็นผู้ต้องหาร่วม จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้กับจิตรินอย่างเป็นทางการ
27 กรกฎาคม 2565
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่สามระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2565 ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่สามพร้อมกันกับคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่สี่
3 สิงหาคม 2565
ขอประกันตัวครั้งที่สาม
ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่สาม วางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมระบุคำร้องว่า การคุมขังผู้ต้องหาเป็นการขังที่เกินความจำเป็นของพฤติการณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดให้การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และผู้ต้องหารายนี้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง พนักงานสอบสวนสามารถติดตามตัวมาพบได้ อีกทั้งผู้ต้องหามีความยินยอมจะไปพบพนักงานสอบสวนตามที่เรียกโดยไม่มีเจตนาที่จะหลบหนีตลอดจนพนักงานสอบสวนยังสามารถสอบพยานเพิ่มเติมในคดีนี้ รวมถึงรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติต้องโทษของผู้ต้องหามาประกอบได้โดยที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหารายนี้เอาไว้ นอกจากนี้ผู้ต้องหายังมีภรรยาและลูกสาวหนึ่งคน ซึ่งต้องได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ต้องหา ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
8 สิงหาคม 2565
เวลา 10.00 น. สินบุรี แสนกล้าพร้อมทนายความเดินทางเข้า "แสดงตัว" ที่สน.นางเลิ้งเนื่องจากทราบว่า มีหมายจับในข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ จากการชุมนุมครบรอบรัฐประหาร 2549 เมื่อ 19 กันยายน 2564 ที่บริเวณแยกนางเลิ้ง ถนนพิษณุโลก โดยหมายจับดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องในหมายจับเดียวกันเดียวกับพรชัย, จิตรินและบัง ทะลุฟ้า สินบุรีระบุว่าเขาไม่เคยได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาก่อน แต่กลับพบว่าตนเองมีชื่อในหมายจับออนไลน์และขึ้นสถานะการจับกุมว่า “หลบหนี” อย่างไรก็ตาม สินบุรียังยืนยันเดินทางมาแสดงตัวกับตำรวจด้วยความสมัครใจเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา
ภายหลัง "แสดงตัว" ที่ สน.นางเลิ้ง เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่ได้พาตัวสินบุรีขึ้นรถไปที่ศาลอาญา รัชดา เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง จากนั้นทนายได้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า “กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ อันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง” โดยสินบุรีถูกส่งตัวขึ้นรถไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลา 18.14 น ท่ามกลางสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าที่ขับรถตามไปส่งถึงหน้าเรือนจำ
11 สิงหาคม 2565
ขอประกันตัวครั้งที่สี่
พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สี่ ทนายของพรชัยยื่นคำร้องคัดค้านศาลจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขออนุญาตฝากขังของพนักงานสอบสวนในวันนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สามระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2565 ทนายความของพรชัยเคยขอให้ศาลไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน แต่ศาลเพิ่งมาเรียกไต่สวนในวันนี้ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สี่
พนักงานสอบสวนระบุเหตุผลในคำร้องขอฝากขังพรชัยว่า จำเป็นต้องตรวจสอบลายนิ้วมือ ประวัติของผู้ต้องหา และพยานหลักฐานอื่นๆ จึงต้องขอฝากขังพรชัยอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ทนายความให้เหตุผลในคำร้องคัดค้านการฝากขังว่า การขังผู้ต้องหาต่อไปจะเกินความจำเป็น เพราะผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ นอกจากนั้นผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิด ส่วนที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมและรอผลการตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ จริงๆแล้วพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขังผู้ต้องหา จึงขอให้ศาลยกคำร้องฝากขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
ศาลเริ่มการไต่สวนในเวลา 10.00 น. มีพยานเข้าเบิกความเพียงปากเดียวคือพนักงานสอบสวน ทนายความถามว่าที่พยานอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือทำให้ต้องขอให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อ เป็นกระบวนการภายในของตำรวจใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทนายถามต่อว่ากระบวนการนั้นไม่ว่าผู้ต้องหาจะถูกคุมขังหรือไม่ก็สามารถดำเนินการได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าสามารถดำเนินการได้ พยานยังตอบทนายความด้วยว่าพยานอีกสองคนที่พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำเพิ่มเติมมีทั้งบุคคลทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวนก็สามารถสอบสวนได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจำเลยจะถูกคุมขังหรือไม่ และยอมรับว่าการจับกุมเกิดจากการที่ผู้ต้องหาเดินทางมารายงานตัวที่ สน.สำราญราษฎร์เอง
เมื่อถูกถามว่าพนักงานสอบสวนจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ พยานเบิกความว่าให้อยู่ในดุลพินิจของศาล และพนักงานสอบสวนยอมรับด้วยว่าแม้จะปล่อยตัวผู้ต้องหาไปก็จะไม่กระทบต่อการสอบสวนแต่อย่างใด
เวลา 11.45 น. ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังพรชัยต่อเป็นครั้งที่สี่ โดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องรอสอบปากคำพยานเพิ่มและรอตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหา ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำในการรวบรวมหลักฐานในคดีอาญา กรณีมีเหตุจำเป็นจึงอนุญาตให้ฝากขัง
หลังจากอ่านคำสั่งเสร็จศาลถามพนักงานสอบสวนว่า ขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จภายในเวลา 7 วันได้หรือไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนมีท่าทีอ้ำอึ้ง ศาลได้พูดขึ้นว่าขอให้ทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทนายความของพรชัยพูดขึ้นว่าพนักงานสอบสวนอยู่ในเรือนจำแต่เป็นลูกความของเขาที่อยู่ในเรือนจำ ศาลพูดขึ้นว่าศาลเห็นใจและเคารพความแตกต่างทางความคิด แต่ยุคนี้มีการใช้เทคโนโลยีบ่อนทำลายมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่นำไปโพสต์กันในโลกออนไลน์มีทั้งจริงและไม่จริง ซึ่งสามารถตามตัวได้ว่าผู้กระทำเป็นใคร แต่ที่ศาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว พร้อมกล่าวกับทนายความด้วยว่าควรจะเตือนลูกความของตัวเองว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุเช่นนี้ ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินเดือนของศาล ในความเป็นจริงแล้วศาลเป็นหน่วยงานที่ทำงานหนักมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ศาลในต่างประเทศยังได้รับเงินเดือนมากกว่าศาลไทยและมีปริมาณงานน้อยกว่า
หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขังพรชัยต่อ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่ในเวลา 17.00 น. ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัย โดยให้เหตุผลว่าศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาก่อนและได้ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง
23 สิงหาคม 2565
ขอประกันตัวครั้งที่ห้า
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่ห้า ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 4 กันยายน 2565 ระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ยังต้องสอบปากคำพยานอีกหนึ่งปาก ทนายความยื่นคัดค้านคำร้องขอฝากขัง ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ระบุว่า พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานบุคคลทั่วไปดังกล่าว และต้องทำสำนวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา จึงเห็นชอบให้มีการฝากขังต่ออีก 12 วัน กำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งทำสำนวนให้เสร็จโดยเร็ว ฝากขังระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม-4 กันยายน 2565 ต่อมาทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่ห้า แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
2 กันยายน 2565
ขอประกันตัวครั้งที่หก
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่หก ระหว่างวันที่ 5-14 กันยายน 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านขอฝากขังพรชัยครั้งที่หก ภายหลังพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยครั้งที่ หก โดยระบุเหตุผลว่า อยู่ระหว่างเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ศาลไต่สวนคำร้องและอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไป ด้านทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่หก แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
8 กันยายน 2565
พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้อัยการ
12 กันยายน 2565
อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นครั้งที่หนึ่ง
ทนายความยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัยของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำสั่งในวันที่ 14 กันยายน 2565
14 กันยายน 2565
ศาลอุทธรณ์แจ้งว่า อยู่ระหว่างขอดูเอกสารคำเบิกความในส่วนของพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม จึงเลื่อนฟังคำสั่งไปในวันที่ 15 กันยายน 2565 แทน ด้านพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยต่อเป็นผลัดที่เจ็ดระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังพรชัยต่อไปเป็นครั้งที่เจ็ดตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานอัยการ เนื่องจากพนักงานอัยการตรวจสำนวนไม่เสร็จทันฟ้อง ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลนัดไต่สวนวันที่ 19 กันยายน 2565 เนื่องจากพรชัยถูกเบิกตัวไปขึ้นศาลในคดีอื่น
15 กันยายน 2565
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัยของศาลชั้นต้นระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ในชั้นนี้หากอนุญาตประกันตัว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก
19 กันยายน 2565
ครบกำหนดการฝากขังในผลัดที่เจ็ดระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2565
ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังพรชัยในผลัดที่เจ็ด แต่ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกเนื่องจากพรชัยต้องไปศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีชุมนุมของนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ศาลเลื่อนนัดไต่สวนคัดค้านขอฝากขังในวันที่ 20 กันยายน 2565 ขณะที่อัยการจึงยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยในผลัดที่แปด ทนายความยื่นคัดค้านการฝากขัง
20 กันยายน 2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 14.00 น. ศาลอาญาไต่สวนคัดค้านขอฝากขังพรชัยครั้งที่เจ็ดและแปด ก่อนศาลออกนั่งพิจารณาคดี ทนายความถามอัยการว่า จะมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ได้เมื่อไหร่ อัยการระบุว่าภายในวันที่ 23 กันยายน 2565 ก็จะสามารถทำการสั่งฟ้องได้แล้ว อัยการระบุว่า ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในระหว่างวันที่ 20 – 28 กันยายน 2565 เนื่องจากขณะนี้สำนวนคดีได้อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว การพิจารณาในคดีนี้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจากเป็นคดีที่มีความสำคัญ โทษร้ายแรงและผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคดีสั่งฟ้องอย่างถี่ถ้วน ถ้าคณะทำงานมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ก็จะสามารถทำได้ภายในหนึ่งวัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายถามต่ออัยการผู้ร้องว่า ในคดีนี้หากปล่อยผู้ต้องหาไปก็ไม่ได้มีเหตุให้การพิจารณาคดีของคณะกรรมการดังกล่าวติดขัด หรือในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่นี้ ก็ไม่ได้มีใครใช้อิทธิพลไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบว่าใช่ แต่ก็เกรงว่าถ้าได้รับการปล่อยตัว ผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลได้ถามต่อว่าในคดีนี้ อัยการจะสามารถสั่งฟ้องได้ในวันไหน ซึ่งพยานผู้ร้องได้มีท่าทีไม่แน่ใจ แต่ก็ตอบว่าภายในวันศุกร์นี้ (23 กันยายน 2565) น่าจะได้
ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังระบุว่า “กรณีมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหาไว้จนกว่ากระบวนการพิจารณาของผู้ร้องจะเสร็จสิ้นลง จึงอนุญาตให้ฝากขังต่อได้อีก 8 วัน ถึงวันที่ 28 กันยายน 2565 ตามที่ผู้ร้องขอ แต่ให้อัยการแถลงผลการดำเนินกระบวนการพิจารณาของคณะทำงานคดีภายในวันที่ 23 ก.ย. 2565 ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป กำชับให้ผู้ร้องเร่งรัดให้การดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่ตัดสิทธิของผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว”
23 กันยายน 2565
ขอประกันตัวครั้งที่เจ็ด
พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องพรชัยร่วมกับสินบุรี แสนกล้า เป็นจำเลยที่หนึ่งและสองตามลำดับ พรชัยถูกกล่าวหาตามตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสินบุรี ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ขณะที่บัง-ทะลุฟ้า ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งในคดีนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องในคดีนี้เช่นเดียวกับผู้ต้องหาทั้งสองคน แต่บังติดภารกิจอื่น จึงขอเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีออกไปก่อน
ต่อมาทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่เจ็ด วางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และสินบุรีวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นการขอประกันตัวครั้งแรกในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น แต่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนสินบุรีให้รอฟังคำสั่งในวันต่อไป
26 กันยายน 2565
ขอประกันตัวครั้งที่เก้า
ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวสินบุรีเช่นเดียวกับพรชัย ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยอีกครั้งเป็นครั้งที่เก้า แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
27 กันยายน 2565
อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นครั้งที่สอง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวพรชัยของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ครั้งที่สอง โดยระบุคำร้องว่า ในคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่คัดค้านการประกันตัวของจำเลย โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล อันเป็นการชี้ให้เห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปอันตรายประการอื่น ประกอบจำเลยได้เดินทางไปถึง สน.นางเลิ้ง ตามหมายจับค้างเก่าด้วยตนเอง นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นหัวหน้าครอบครัว ประกอบอาชีพรับจ้าง มีภรรยาและลูกสาว อายุเพียง 8 ปีที่ต้องเลี้ยงดู หากจำเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างพิจารณาคดีต่อไป จะกระทบต่อการประกอบอาชีพและส่งผลกระทบต่อครอบครัวของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง การขังจำเลยไว้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม หากศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวใดๆ เช่น การติดกำไล EM หรือกำหนดเวลาให้อยู่ในเคหะสถานหรือในพื้นที่ที่ศาลกำหนด จำเลยสามารถยอมรับเงื่อนไขและพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัดทุกประการ ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 3 ตุลาคม 2565
3 ตุลาคม 2565
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัยเป็นครั้งที่สอง ระบุว่าข้อหาของจำเลยมีอัตราโทษสูง ลักษณะอุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ถือเป็นเรื่องร้ายแรง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก
4 ตุลาคม 2565
บัง-ทะลุฟ้า เข้าฟังคำสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการที่ศาลอาญา ในข้อหาตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและยืนยันว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวางเพลิงตามที่ถูกกล่าวหา
ต่อมาทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุเหตุผลว่าข้อหาของจำเลยร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ อันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวไป จำเลยอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันตรายประการอื่น เจ้าหน้าที่คุมตัวบัง-ทะลุฟ้าไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
31 ตุลาคม 2565
นัดตรวจพยานหลักฐาน
ศาลนัดสืบพยานเป็นวันที่ 19-22 มีนาคม 2567 พร้อมนัดไต่สวนประกันทั้งสามคนอีกครั้ง 10 พฤศจิกายน 2565
10 พฤศจิกายน 2565
ที่ห้องพิจารณาคดี 619 มีพ่อแม่ และญาติของผู้ต้องหากับสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้ามาร่วมให้กำลังใจราว 20 คน จำเลยทั้งสามถูกตัดผมสั้นเกรียน เดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีด้วยเท้าเปล่าและถูกใส่กุญแจเท้า และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดตามมาด้วยอย่างน้อยสี่คน บังนำหน้ากากอนามัยมาผูกไว้ที่ข้อเท้าข้างละชิ้นเพื่อลดการเสียดสีของกุญแจเท้าด้วย นอกจากนั้น ในขณะที่จำเลยทั้งสามกำลังจะเดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็แจ้งกับคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่าห้ามถ่ายรูปจำเลย มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล อย่างไรก็ตามตลอดการไต่สวนไม่มีตำรวจศาลประจำอยู่ทั้งในและนอกห้องพิจารณาคดี
ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลถามทนายว่า อัยการทราบนัดไต่สวนในครั้งนี้หรือไม่เพราะไม่ได้เดินทางมาร่วมฟังด้วย ทนายจึงแจ้งให้ผู้ช่วยทนายเร่งติดต่อกองอัยการและออกหนังสือรับรอง โดยศาลแจ้งว่า หากอัยการรับทราบและไม่ได้คัดค้าน ก็สามารถไต่สวนได้เลย ต่อมา อัยการออกหนังสือรับรองมาว่าไม่คัดค้าน ศาลจึงดำเนินการไต่สวน เนื่องจากห้องที่ใช้พิจารณาคดีมีขนาดเล็ก และมีผู้สนใจร่วมฟังการพิจารณาคดีราว 15 คน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงขอความร่วมมือเฉพาะพ่อและแม่ของจำเลยที่สามารถอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้
การไต่สวนในวันนี้ มีพยานเบิกความรวมหกปาก ได้แก่ ตัวจำเลยสามปาก และผู้กำกับดูแลของจำเลยแต่ละคนอีกสามปาก ทนายจำเลยยังวางหลักประกันต่อศาลมูลค่า 100,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
จำเลยที่หนึ่ง: พรชัย ยวนยี (แซม)
เวลา 10.33 น. ศาลเริ่มการไต่สวน จำเลยที่หนึ่ง ตลอดการไต่สวน ภรรยาและน้องพีช ลูกสาวของพรชัยนั่งฟังอยู่ข้างๆ พรชัยเบิกความว่า บ้านที่อยู่อาศัยก่อนถูกจับกุมตัวเป็นบ้านที่เขาอยู่กับภรรยาและลูกมาตั้งแต่ปี 2556 เขาจึงมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและสามารถตามตัวได้ นอกจากนั้น ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำ เขาก็เป็นคนเดินทางไปมอบตัวกับ สน.นางเลิ้งด้วยตัวเองและให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนเป็นอย่างดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด สำหรับข้อต่อสู้ เขาให้การปฏิเสธมาตลอดทั้งในชั้นตำรวจและชั้นศาล และที่ผ่านมาถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือนแล้ว สำหรับคดีนี้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 และนัดวันสืบพยานเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2567
.
พรชัยชี้แจงว่า การถูกคุมขังส่งผลต่อครอบครัว เนื่องจากปัจจุบันเขาประกอบอาชีพอิสระ รับทำโครงการวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับการเมือง นอกจากนั้นเขาก็มีภาระต้องส่งเงินเลี้ยงดูครอบครัวและแม่ซึ่งอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวก็สามารถปฏิบัติตามได้ และยินดีเชื่อฟังผู้กำกับดูแล
.
เมื่อพรชัยหมดคำแถลง ทนายจำเลยถามศาลว่า สามารถเพิ่มเติมข้อมูลเรื่องภาระการดูแลลูกสาวด้วยได้หรือไม่ ศาลตอบว่าข้อมูลข้างต้นเพียงพอแล้ว พร้อมกล่าวว่า พูดตามตรง อำนาจพิจารณาเป็นอำนาจตัดสินใจของผู้บริหารศาล แต่ศาลที่เป็นผู้ไต่สวนจะช่วยเหลือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จำเลยที่สอง: สินบุรี แสนกล้า (แม็ก)
สินบุรีเบิกความว่าเขาประกอบอาชีพรับจ้างเป็นหัวหน้างานควบคุมการก่อสร้างและเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้าน ก่อนถูกจับอาศัยอยู่กับพ่อ แม่ และพี่สาว คดีนี้เขาเป็นคนเดินทางไปที่ สน.นางเลิ้งเพื่อรายงานตัวตามนัด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่กลับถูกควบคุมตัวไปเรือนจำในเย็นวันเดียวกัน จนถึงตอนนี้เขาถูกคุมขังเป็นเวลามากกว่า 90 วันแล้ว สำหรับการต่อสู้คดีเขาให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวน คดีนี้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เขาและคู่ความได้นัดวันสืบพยานแล้วเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2567
สินบุรีกล่าวว่าการถูกคุมขังส่งผลกระทบกับครอบครัว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาพี่สาวเพิ่งซื้อรถใหม่ และเขาไม่ได้ส่งเงินไปช่วยเหลือทำให้ที่บ้านขาดรายได้ เขายอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาล ยินดีมารายงานตัวตามนัด และให้ศาลแต่งตั้งพี่สาวเป็นผู้กำกับดูแล เมื่อทนายซักถามพี่สาวของสินบุรีว่าน้องชายเป็นคนอย่างไร พี่สาวตอบว่า เป็นคนสุภาพ เรียบร้อย นิ่งๆ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ไม่มีพฤติกรรมทะเลาะต่อยตีหรือก้าวร้าว และที่บ้านสามารถตักเตือนได้มาตั้งแต่เล็กจนโตเนื่องจากเป็นคนเชื่อฟัง อีกทั้งตัวเธอและน้องชายยังเรียนที่เดียวกัน เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันก็ยังพบเจอกันทุกวัน จึงสามารถตักเตือนให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้อย่างแน่นอน
โดยปกติสินบุรีจะไว้ผมยาว แต่ในวันนี้ถูกตัดผมจนสั้นเกรียนทำให้ใบหน้าไม่เหลือเค้าเดิม
จำเลยที่สาม: บัง
บังเบิกความว่า เขากำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สาขาพัฒนาชุมชนเมือง ก่อนถูกจับอาศัยอยู่กับแม่บุญธรรมอายุ 65 ปี มาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่โดยสายเลือดและเคยพบกันเพียงหนึ่งครั้งตอนทำบัตรประชาชนเมื่ออายุ 7 ปี ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เขาเป็นผู้ไปแสดงตัวที่ สน.นางเลิ้งตามหมายเรียก และนับจนถึงวันที่ไต่สวนถูกคุมขังมากว่าหนึ่งเดือน ในทางคดีเขาให้การปฏิเสธมาตลอด คดีนี้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ซึ่งเขาและคู่ความก็ได้นัดวันสืบพยานแล้วเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2567
ต่อมา แม่บุญธรรมของบังขึ้นเบิกความ ระหว่างทางเข้ามาที่ห้องพิจารณาคดี ทนายต้องช่วยประคองเนื่องจากเธอมีอายุมากและเจ็บขา แม่บุญธรรมของบังเบิกความว่า ดูแลบังมาตั้งแต่อายุสองเดือนและอาศัยอยู่ด้วยกันเพียงสองคน ขณะที่เบิกความสุขภาพของเธอย่ำแย่ มีโรคประจำตัวคือความดัน ไขมันในเส้นเลือด ขาไม่ดี และมีอาการเกร็งต้นคอเนื่องจากเลือดหนืด เวลาทำงานหนักหรือพักผ่อนน้อยอาจถึงขั้นช็อคได้ ที่ผ่านมาการที่ลูกชายถูกคุมขังส่งผลให้ไม่มีคนขับรถให้ จะออกไปหาซื้ออะไรก็ลำบาก
เมื่อทนายถามซักว่าลูกชายมีนิสัยอย่างไร เธอตอบด้วยน้ำเสียงที่สดใสขึ้นว่า บังเป็นเด็กนิสัยดี ไม่เคยมีปัญหากับใคร ไม่เคยทำให้ผิดหวัง ไม่เคยก้าวร้าวหรือไปมีเรื่อง-ทะเลาะกับใคร คนรอบตัวแถวบ้านต่างก็ชอบเขา บอกว่าเป็นเด็กดี ไม่เคยว่าร้ายผู้ใหญ่ และเธอสามารถตักเตือนได้หากศาลจะปล่อยตัว สามารถดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขของศาลได้ ยินยอมเป็นผู้กำกับดูแล-กำชับให้มาศาลได้ทุกนัด ไม่ให้หลบหนี
เวลาประมาณ 13.10 น. ภายหลังการไต่สวน ศาลแจ้งกับจำเลยและญาติของจำเลยว่าจะทำการรวบรวมข้อมูลไปให้ผู้บริหารของศาลอาญา รัชดา ลงความเห็นอีกครั้ง และให้นัดฟังคำสั่ง 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประกัน โดยไม่มีการเบิกตัวจำเลยมาฟังคำสั่ง เมื่อทนายถามว่าเหตุใดจึงเว้นระยะเวลานาน เป็นเพราะติดช่วงวันหยุดของการประชุมเอเปค (การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) ใช่หรือไม่ ศาลตอบว่าใช่
ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทั้งสามคนเดินเท้าเวลาออกมาหน้าประตูเรือนจำในเวลา 18.59 น. โดยมีมวลชน กลุ่มทะลุฟ้า และครอบครัวของแซมรอต้อนรับ พร้อมมอบดอกกุหลาบให้ทั้งสามคน โดยแซมกล่าวว่าเขาได้นำกวีที่เขียนในเรือนจำออกมาด้วย แต่ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำฉีกเนื่องจากต้องการเซนเซอร์เนื้อหา
คำสั่งให้ประกันตัวในวันนี้กำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 100,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขของทั้งสามคน ดังนี้
2.ห้ามมิให้ออกนอกเคหสถานหลังเวลา 20.00-06.00 น. หากผิดสัญญาให้ปรับ 100,000 บาท