25 เมษายน 2564
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมราชอยุติธรรม ยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ศาลเคารพหลักการที่ว่าผู้ต้องหาคดีอาญาต้องได้รับการสันนิจฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
29 เมษายน 2564
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งว่ามีประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวรวม 7736 รายชื่อ บนภาพประชาสัมพันธ์ดังกล่าวยังประกาศเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมในเวลาตั้งแต่ 12.30 น. ที่ศาลอาญาด้วย
จากนั้นในเวลาประมาณ 13.45 น. เบนจาจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนำจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองพร้อมทั้งรายชื่อแนบท้าย 11,035 รายชื่อ มายื่นต่อศาล ระหว่างนั้นมีการชูป้ายผ้าเขียนข้อความ "รัฐโจรถ่อยปล่อยเพื่อนเรา" ที่ด้านหน้าศาลด้วย เบนจาเรียกร้องให้ตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกมารับจดหมายและรายชื่อ กระทั่งเวลา 14.09 น. ยังไม่มีบุคคลใดออกมารับหนังสือและมีตำรวจออกมาอ่านประกาศกทม.เรื่องโรคติดต่ออีกครั้ง ผู้ชุมนุมจึงตะโกนว่า "ขี้ข้าเผด็จการ"
ในเวลาประมาณ 14.59 น. เมื่อไม่มีบุคคลใดออกมารับหนังสือ เบนจาจึงอ่านท่อนสุดท้ายของบทกวีถึงมหาตุลาการ ที่อานนท์ นำภา เป็นผู้ประพันธ์ "หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย!" และเดินฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ขึ้นบันไดศาลอาญาและโปรยกระดาษรายชื่อกับจดหมายที่เตรียมมายื่น ขระที่ผู้ชุมนุมตะโกนรับว่า "ปล่อยเพื่อนเรา" หลังจากนั้นตำรวจพยายามควบคุมสถานการณ์จนกระทั่งสถานการณ์สงบลง
การชุมนุมที่หน้าศาลดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 18.47 จึงยุติโดยในวันเกิดเหตุยังไม่มีการจับกุมบุคคลใดและไม่มีการสลายการชุมนุม
19 พฤษภาคม 2564
ศาลอาญานัดชินวัตรเข้าไต่สวนละเมิดอำนาจศาล แต่ในวันดังกล่าวชินวัตรยังไม่เดินทางไปศาลตามนัดเนื่องจากเขามีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ covid19 และอยู่ระหว่างการกักตัว ศาลจึงให้เลื่อนนัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาลออกไปก่อนโดยนัดใหม่วันที่ 8 มิถุนายน 2564
8 มิถุนายน 2564
นัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาล
ชินวัตรพร้อมภรรยาและลูกวัยเจ็ดเดือนมาถึงศาลในเวลาประมาณ 10.00 น. ตั้งแต่ก่อนเวลานัดศาลมีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยและตั้งจุดคัดกรองที่ลานจอดรถใกล้ธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญา โดยมีเจ้าหน้าที่คอยสอบถามว่าผู้ที่มาศาลมาติดต่อราชการเรื่องใด
เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลเริ่มการไต่สวนชินวัตร โดยถามชินวัตรก่อนว่าได้ดูคลิปวิดีโอวันเกิดเหตุแล้วหรือยัง ชินวัตรรับว่าดูแล้ว ศาลถามว่าคนที่ปรากฎในคลิป และข้อความที่ปรากฎตามคลิปคือชินวัตรใช่หรือไม่ ชินวัตรรับว่าใช่และพยายามขยายความต่อว่าเหตุการณ์ที่คลิปตัดมาเป็นเพียงเหตุการณ์ช่วงเดียวซึ่งอาจไม่ครบถ้วนจึงขอให้ศาลหาคลิปวิดีโอฉบับเต็มมาเป็นหลักฐาน แต่ศาลตอบปฏิเสธโดยกล่าวทำนองว่า ศาลไม่ได้มีหน้าที่หาหลักฐานดังกล่าว เป็นหน้าที่ของชินวัตร และก่อนนัดไต่สวนวันนี้ศาลก็ได้ให้เวลาฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในการหาพยานหลักฐานพอสมควรแล้วและการไต่สวนจะดำเนินการในวันนี้โดยไม่มีการเลื่อน
ศาลชี้แจงด้วยว่า คดีละเมิดอำนาจศาล ศาลจะสนใจเพียงข้อเท็จจจริงว่ามีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในศาลจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการที่ชินวัตรกับพวกถูกดำเนินคดีดูหมิ่นศาลซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากในขณะนั้นผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญายังไม่มาที่ห้องพิจารณษคดีเนื่องจากติดภารกิจ ศาลจึงขอลงจากบัลลังก์ไปก่อนเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหากับญาติๆได้นั่งกันอย่างผ่อนคลาย
เวลาประมาณ 11.15 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์ ก่อนทำการไต่สวน ศาลระบุกับชินวัตรว่าในการไต่สวนศาลจะสนใจเฉพาะประเด็นว่าเกิดเหตุวุ่นวายในบริเวณศาลหรือไม่เท่านั้น พร้อมชี้แจงว่าผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการที่มาเบิกความเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยโดยทั่วไปในศาลและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น การตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นดุลพินิจและอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งเป็นเสมือน "ผู้ดูแลบ้าน" และในการไต่สวนนี้องค์คณะที่ทำการไต่สวนก็จะต้องเสนอสำนวนต่อผู้บริหารและผู้บริหารศาลก็จะมีความสำคัญในการร่วมออกคำสั่งคดีด้วย จากนั้นศาลจึงให้ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญาเข้าสาบานตนและเริ่มกระบวนการไต่สวน
ไต่สวนชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญา
ชวัลนาถเบิกความว่าเมื่อได้รับรายงานการสืบสวนจากทางสน.พหลโยธิน พร้อมทั้งแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เธอก็ทำรายงานสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเสนอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีจึงให้ตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาลและให้มีการไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ชวัลนาถเบิกความต่อศาลว่า ที่เธอเป็นผู้จัดทำรายงานเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นเพราะเธอในฐานะผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญามีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลความเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ศาลถามว่าเท่าที่จำได้มีการตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาลจากกรณีวันที่ 29 เมษายน กี่คน ชวัลนาถเบิกความว่าประมาณหกถึงเจ็ดคน ศาลถามว่ามีสำนวนใดที่ศาลมีคำสั่งออกมาบ้างแล้วหรือยัง ชวัลนาถบอกว่ายังไม่มี
ศาลอนุญาตให้ทนายของผู้ถูกกล่าวหาถามค้าน
ทนายถามว่าในวันเกิดเหตุชินวัตรยืนอยู่จุดใดและมีความพยายามที่จะฝ่าแนวของเจ้าหน้าที่เข้ามาหรือไม่ ชวัลนาถตอบว่าชินวัตรยืนอยู่ด้านหน้าแนวรั้วที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้ แต่ไม่ได้เข้าหรือมีความพยายามที่จะเข้ามาหลังแนวของเจ้าหน้าที่
ทนายถามว่าในวันเกิดเหตุไม่ได้มีการไต่สวนใดๆในคดีของพริษฐ์กับพวก เป็นเพียงการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและการดำเนินคดีอื่นๆของศาลก็เป็นไปโดยปกติใช่หรือไม่ ชวัลนาถรับว่าใช่
ทนายถามว่าที่ผู้ถูกกล่าวหากับพวกมาชุมนุม ชวัลนาถทราบใช่หรือไม่ว่าก่อนหน้านั้นมีกรณีที่พริษฐ์และผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ เคยยื่นประกันตัวหลายครั้งแล้วไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนั้นก็มีข่าวว่าพริษฐ์ที่อดอาหารมีอาการกะเพาะอาหารย่อยเนื้อเยื่อภายในจนมีชิ้นเนื้อออกมาตอนถ่าย ชวัลนาถตอบว่าทราบเรื่องที่พริษฐ์กับพวกไม่ได้รับการประกันตัวหลายครั้ง ทราบเรื่องการอดอาหาร ส่วนเรื่องอาการป่วยของพริษฐ์จากการอดอาหารทราบว่ามีการรายงานข่าวแต่พริษฐ์จะมีอาการเช่นนั้นจริงหรือไม่ ไม่ทราบ
ทนายถามว่าได้เห็นหนังสือหรือรายชื่อที่เบนจานำมาโปรยหรือไม่ ชวัลนาถตอบว่าทราบว่ามีการโปรยกระดาษ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บกระดาษที่ถูกโปรยมาให้ดู จึงไม่ทราบเนื้อความว่ากระดาษที่โปรยคืออะไร
ทนายถามว่าชวัลนาถทราบหรือไม่ว่าวันเกิดเหตุอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแจ้งว่าหากผู้ชุมนุมไม่ยอมออกไปจากบริเวณศาล จะเลื่อนการอ่านคำสั่งประกันตัวออกไป ชวัลนาถตอบว่าไม่ทราบและวันดังกล่าวไม่ได้คุยกับอธิบดี
ทนายถามว่า ตัวของชวัลนาถเห็นด้วยตัวเองหรือไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหายืนอยู่บริเวณใดระหว่างการชุมนุม ชวัลนาถตอบว่าเธอไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเองเพราะวันเกิดเหตุเธอทำงานอยู่ที่บ้านตามมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด19 เธอมาที่ศาลในเวลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งเมื่อเธอมาถึงเหตุการณ์สงบลงแล้ว ผู้ชุมนุมออกไปจากบริเวณมุกศาล ไปรวมตัวที่ด้านนอกอาคารศาลแล้วแต่ยังใช้เครื่องเสียงปราศรัยต่อไป สำหรับเหตุการณ์ที่เบิกความทั้งหมดเป็นการเบิกความตามคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ที่เธอดูในภายหลัง โดยคลิปวิดีโอมีทั้งหมดสองชุด ชุดแรกทางศาลเป็นผู้จัดทำ อีกชุดหนึ่งทางสน.พหลโยธินเป็นผู้จัดทำและมอบให้
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
ไต่สวนชินวัตร จันทร์กระจ่าง ผู้ถูกกล่าวหา
ชินวัตรเบิกความตอบศาลว่าเหตุการณ์ตามวิดีโอหลักฐานเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตัวเขาอยู่ในวิดีโอดังกล่าวและพูดถ้อยคำตามที่ปรากฎจริง แต่คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งเหตุการณ์ที่ขาดหายไปเมื่อนำมาประกอบรวมกันจะทำให้เห็นเจตนาในการปราศรัยของเขาทั้งหมด
ชินวัตรเบิกความว่า หากในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามารับหนังสือจากผู้ชุมนุม เชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่บานปลาย เพราะผู้ชุมนุมเพียงตั้งใจมายื่นหนังสือต่อศาลเท่านั้น สำหรับถ้อยคำที่ถูกนำมากล่าวหาตัวเขาในคดีนี้ซึ่งเป็นคำหยาบและมีข้อความที่เขากล่าวหาว่าศาลไทยมีฆาตกร ชินวัตรเบิกความว่าก่อนการชุมนุมประมาณสองวันมีข่าวว่าพริษฐ์หรือเพนกวิ้นซึ่งอยู่ระหว่างอดอาหารประท้วงที่ศาลไม่ให้ประกันตัวขับถ่ายโดยมีก้อนเนื้อปนออกมาเพราะกระเพาะอาหารเริ่มย่อยเนื้อเยื่อภายใน เขาจึงปราศรัยไปเช่นนั้นเพราะเกรงว่าหากพริษฐ์ไม่ได้รับการประกันตัวอีกจะได้รับอันตรายถึงชีวิต ทั้งจากการอดอาหาร และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในเรือนจำ
ชินวัตรเบิกความว่าคำปราศรัยของเขาทั้งหมดหากฟังโดยรวมจะเข้าใจได้ว่าเขาเพียงต้องการสื่อว่าอยากให้ศาลไทยดำรงอยู่อย่างสง่างาม ไม่เป็นเครื่องมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เขายังกล่าวด้วยว่าไม่ได้ต้องการให้ศาลมาเข้าข้างผู้ชุมนุมแต่ขอให้ปฏิบัติตามหลักกฎหมายเท่านั้น ส่วนการปราศรัยในบริเวณศาลเป็นความผิด ข้อนั้นเขาไม่ทราบ เขาทราบเพียงว่าหากไปชุมนุมหรือปราศรัยในอาคารศาลจึงจะเป็นความผิด สำหรับลำโพงที่เขาใช้ปราศรัยก็เป็นเพียงลำโพงขนาดเล็ก
ชินวัตรเบิกความด้วยว่าระหว่างการชุมนุมยังมีเหตุการณ์ที่ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอาญาออกมาโต้เถียงกับผู้ชุมนุมบางคนซึ่งตัวชนาธิปเป็นคนออกคำสั่งไม่ให้ประกันพริษฐ์ เขาจึงเห็นว่าการที่ชนาธิปลงมาเป็นการยั่วยุผู้ชุมนุมและการมาของชนาธิปก็ทำให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งตัวเขาเกิดอารมณ์โกรธ
ทนายขออนุญาตาลถามคำถามผู้ถูกกล่าวหา
ทนายถามชินวัตรว่าในวันเกิดเหตุมาถึงศาลประมาณกี่โมงและมีผู้ชุมนุมประมาณกี่คน ชินวัตรตอบว่าเขามายืนที่แผงกั้นตรงมุกศาลในเวลาประมาณ 13.30 น. ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คนเศษ ในวันนั้นตอนที่มาถึงศาลไม่ได้ปิดประตูรั้วหรือมีมาตรการใดเป็นพิเศษ พวกเขาสามารถเดินเข้ามาในศาลได้เลย ส่วนเครื่องเสียงที่เบิกความตอบศาลไปตอนแรกเขาก็ไม่ทราบว่าเป็นของบุคคลใด
ชินวัตรเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์เป็นเพราะมีคนของศาลมาบอกว่าหากผู้ชุมนุมไม่ออกนอกศาลก็จะเลื่อนการอ่านคำสั่งออกไปว่าจะให้ประกันตัวพริษฐ์กับพวกหรือไม่ นอกจากนั้นการที่ไม่มีตัวแทนศาลออกมารับหนังสือกับรายชื่อที่พวกเขาระดมมาก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์เพราะเขาทราบว่าโดยทั่วไปเวลามีคนมายื่นหนังสือกับศาลหรือหน่วยราชการอ่านก็จะมีคนมารับหนังสืออยู่เสมอ
ชินวัตรเบิกความตอบทนายด้วยว่าเหตุผลหนึ่งที่เขามาร่วมชุมนุมเป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยที่ศาลสั่งให้คุมขังนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีไว้ก่อนเพราะบุคคลเหล่านั้นยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
หลังเสร็จการไต่สวนศาลนัดฟังคำสั่งในเวลา 14.00 น. และสั่งยุติการพิจารณาคดีช่วงเช้าในเวลาประมาณ12.10 น.
เวลา 14.20 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งลงโทษจำคุกชินวัตรเป็นเวลาสี่เดือนโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง และผู้ชุมนุมทราบจากประกาศของตำรวจแล้วว่ากำลังกระทำการขัดต่อข้อกำหนดศาลแต่ยังคงดำเนินการชุมนุมต่อจึงถือว่ามีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากนั้นผู้ถูกกล่าวหายังมีพฤติการณ์ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อ กฎหมาย
หลังศาลมีคำสั่งจำคุกทนายความของชินวัตรวางเงินสด 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาต
2 มิถุนายน 2565
เวลา 9.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอ่านคำสั่งใจความโดยสรุปว่า เนื่องจากชินวัตรให้การรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมและได้ร่วมปราศรัยในวันที่ 29 เมษายน 2564 จริง ตามที่ปรากฏหลักฐานในแผ่น CD บันทึกเหตุการณ์ แต่มีข้อโต้แย้งว่า ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวยังขาดข้อเท็จจริงบางส่วน ได้แก่ ช่วงการยื่นหนังสือต่อศาลขอให้มีการปล่อยตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งหากศาลลงมารับหนังสือ ความวุ่นวายของเหตุการณ์ในวันดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งชินวัตรยังได้ขอยื่นอุทธรณ์ว่า โทษจำคุก 4 เดือนของศาลชั้นต้นนั้นหนักเกินไป ซึ่งศาลมองว่าคำแถลงของชินวัตรฟังขึ้นบางส่วน จึงมีคำสั่งให้ลดโทษจากจำคุก 4 เดือน เป็นกักขัง 1 เดือน
ภายหลังอ่านคำสั่ง มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวชินวัตรเดินแยกออกไป โดยทนายความของชินวัตรได้ทำเรื่องยื่นประกันตัวและกล่าวว่าอาจมีการทำเรื่องในชั้นฎีกาต่อไปภายในหนึ่งเดือนนับจากนี้