29 กรกฎาคม 2563
เฟซบุ๊กเพจมอกะเสดเผยแพร่โปสเตอร์กิจกรรม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย โดยตอนหนึ่งของข้อความประชาสัมพันธ์ระบุว่า ประเทศไทยถูกครอบงำด้วยอำนาจมืดมาอย่างยาวนานจึงขอเชิญชวนเหล่าพ่อมดแม่มดมารวมพลังกันปกป้องประชาธิปไตยและทวงคืนอำนาจของประชาชน โดยนัดชุมนุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เวลา 18.00 – 19.30 น.
3 สิงหาคม 2563
กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด ร่วมกันจัดการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย ที่ถนนราชดำเนินโดยตั้งเวทีบริเวณร้านแม็คโดนัลด์ราชดำเนิน ตรงข้ามอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ไฮไลท์ของการชุมนุมอยู่ที่การปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งมิติด้านงบประมาณ พระราชอำนาจ และบทบาททางการเมือง รวมถึงวิจารณ์บทบาทของ คสช. และองคาพยพ ที่มีส่วนทำให้สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เกินขอบเขตการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การชุมนุมจบลงโดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆ และไม่มีการจับกุมบุคคลใด
19 สิงหาคม 2563
ประชาไทรายงานว่า อานนท์ ถูกจับกุมตัวเป็นคนแรกหลังเสร็จจากการว่าความที่ศาลอาญา รัชดา พนักงานสอบสวนพาตัวอานนท์ไปสอบปากคำที่ สน.ชนะสงคราม เขาถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อานนท์ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ชนะสงครามหนึ่งคืน
20 สิงหาคม 2563
บีบีซีไทยรายงานว่า อานนท์ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาเพื่อฝากขัง ในช่วงค่ำวันเดียวกันอานนท์ได้รับการประกันโดยศาลตีราคาประกันหนึ่งแสนบาทและปล่อยตัวอานนท์โดยยังไม่ต้องวางเงินประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดซ้า หากฝ่าฝืนจะริบเงินประกันและอาจถอนประกัน
1 กันยายน 2563
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้ต้องหาหกคนที่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 116 เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว
ก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ผู้ต้องหาทั้งหมดแต่งตัวด้วยชุดคลุมคล้ายตัวละครในเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นธีมของการชุมนุมในวันเกิดเหตุคดี ทั้งหมดร่วมกันอ่านคำปราศรัยที่อานนท์ ปราศรัยในวันเกิดเหตุผ่านเครื่องขยายเสียง โดยระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยบันทึกเหตุการณ์ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวโดยตลอด นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 40 นายที่ยืนตั้งแถวรักษาการณ์อยู่ด้านหน้าสน.ชนะสงคราม
หลังเสร็จกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ผู้ต้องหาทั้งหกเข้ารายงานตัว ในทางคดีผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและแจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะให้การเป็นเอกสารตามมาในภายหลัง พนักงานสอบสวนนัดทั้งหมดในวันที่ 21 กันยายน 2563 เพื่อส่งตัวฟ้องต่ออัยการ
21 กันยายน 2563
โพสต์ทูเดย์ออนไลน์รายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งหกคนในคดีนี้เข้าพบอัยการตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวฟ้อง โดยอัยการนัดผู้ต้องหาทั้งหกเข้าพบวันที่ 24 กันยายน 2563 เพื่อฟังคำสั่งคดี
28 กันยายน 2563
มติชนออนไลน์รายงานว่า อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีจากวันที่ ออกไปเป็นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
ทั้งนี้ในชั้นพิจารณา อัยการจะแยกคดีนี้เป็นสองสำนวน สำนวนของอานนท์ซึ่งมีข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จะถูกฟ้องต่อศาลอาญาเนื่องจากเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเกินสามปี ส่วนสำนวนของผู้ต้องหาที่เหลืออีกหกคน อัยการจะฟ้องคดีต่อศาลแขวงเนื่องจากทั้งหกถูกกล่าวหาในความผิดที่มีอัตราโทษสูงสุดไม่ถึงจำคุกสามปี
24 กุมภาพันธ์ 2564
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับอานนท์ในเรือนจำ
3 มีนาคม 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่คำให้การของอานนท์ ที่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอานนท์แบ่งประเด็นโต้แย้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเป็น 19 ประเด็น
อานนท์ยังขอให้พนักงานสอบสวน ออกหมายเรียกพยานบุคคลและเอกสารอีกจำนวนหนึ่งเพื่อมาประกอบการสู้คดีด้วย โดยคำให้การของอานนท์มีประเด็นที่สำคัญ เช่น
1. “เพื่อการอภิปรายที่กระชับมากขึ้น แนะนําให้ผู้ร่วมชุมนุมเย็นนี้อ่านบทความในหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับส่งเสด็จ ก่อนฟังอภิปราย เพราะวันนี้อาจไม่ได้เท้าความไปไกลมากนัก อยากอภิปรายในเรื่องปัจจุบันมากกว่า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการยื่นฟ้องก็พระมหากษัตริย์และพระราชินี ในความผิดข้อหาโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาศาลได้มีคําสั่งคําพิพากษาให้ฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องถูกอายัดทรัพย์สินรวมทั้งยึดวังสุโขทัยไว้ด้วย”
ข้อความข้างต้นเป็นสถานะที่อานนท์โพสต์บนเฟซบุ๊กก่อนขึ้นปราศรัย ในประเด็นนี้ ผู้ต้องหาอธิบายว่า ถ้อยคําปราศรัยดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง กล่าวโดยสุจริต และเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
จึงขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานเอกสาร ได้แก่ 1) เอกสารสํานวนคดีระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ กับ ในหลวงรัชกาลที่ 7 จําเลย ฉบับรับรองสําเนาถูกต้อง 2) ขอให้ออกหมายเรียกสําเนาโฉนดที่ดินและสารบบที่ดินทั้งหมดของวังสุโขทัยฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดี และขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคล ได้แก่ 1) ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2) ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ 3) ณัฐพล ใจจริง มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเนื้อหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
เหตุที่ต้องพูดและหยิบประเด็นในนี้ขึ้นมาอภิปราย เนื่องจากมีการออกกฎหมายถ่ายโอนทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ตามคําพิพากษาที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ หรือการโอนหุ้นในบริษัทปูนซีเมนต์ไทย และบริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเดิมหุ้นถูกถือในนามของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
2. “เราต้องยอมรับความจริงว่าที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุม เรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการจะตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ในเวทีชุมนุมมีการชูป้ายกล่าวอ้างถึงบุคคลที่อยู่ในเยอรมัน (โฮร้อง) มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เป็นนักบิน บินไปบินมา คํากล่าวอ้างเหล่านี้จะหมายถึงใครไปไม่ได้นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราครับพี่น้อง (ปรบมือ)”
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของคำปราศรัย ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การขยายความว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัชสมัย ประชาชนได้ตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถูกกดทับและปิดกั้นไม่ให้มีการพูดในที่สาธารณะ จนสิ่งที่ถูกกดทับไว้ได้ระเบิดออกมาภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้แสดงความกล้าหาญลุกขึ้นหยัดยืนขึ้นมาพูดถึงต้นตอของปัญหาสังคมไทย การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทําให้คนรุ่นใหม่หมดความอดทนต่อสังคมอันโสมม
การชุมนุมต่อเนื่องในหลายมหาวิทยาลัยสะท้อนความกล้าหาญของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและมุ่งเน้นในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันโดยการใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบ ไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ แต่นั่นไม่อาจทําให้ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา คนรุ่นใหม่ที่แสดงออกเหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ได้เลย หากไม่ถูกพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือที่มาของการปราศรัย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในนามของ “แฮรี่ พอตเตอร์” ซึ่งเป็นการพูดอย่างเคารพต่อตัวเอง ผู้ฟัง และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ผู้ต้องหาเชื่อว่า การพูดอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้สถาบันกษัตริย์เองใจกว้างและสังคมจใจกว้าง เปิดใจรับฟังปัญหาอย่างมีวุฒิภาวะ อันจะนําไปสู่การแก้ไขปัญหาในสังคมด้วยวิธีการสันติวิธีและจะทําให้แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน และ
3. “การตั้งหน่วยงานในพระองค์ขึ้นมาและบริหารไปตามพระราชอัธยาศัย การที่บอกว่าบริหารไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น แปลเป็นภาษาบ้านเราคือบริหารไปตามใจของพระมหากษัตริย์ เหล่านี้เป็นการออกแบบกฎหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น”
ข้อความข้างต้นเป็นตอนหนึ่งของการปราศรัย ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การว่า ข้อความข้างต้นเป็นที่มาของคําว่าการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ห่างจากระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กล่าวคือ เมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็เนื่องจากว่า ระบอบเดิมไม่ได้ส่งเสริมให้ราษฎรได้มีสิทธิเสรีภาพ ประชาชนถูกปิดกั้นกดขี่อย่างไม่ชอบธรรม และการปกครองนั้นไม่ได้ถูกตรวจสอบ รายละเอียดปรากฏตามแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งทางผู้ต้องหาได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลที่ครอบครองเอกสารดังกล่าวฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดีด้วย
อานนท์ยังกล่าวอีกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น หมายถึง การปกครองที่อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถกําหนดผู้แทนเข้าไปใช้อํานาจในการบริหารประเทศ ในการตรากฎหมาย และมีศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งอํานวยความยุติธรรมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ องค์พระมหากษัตริย์ต้องดํารงตนเป็นหลักชัยแห่งสิทธิเสรีภาพและร่วมปกป้องระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งทําหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด เป็นประมุขของรัฐที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง
7 กันยายน 2564
นัดสอบคำให้การ