31 ธันวาคม 2563
ในช่วงเวลากลางตำรวจ สน.หนองแขมทำการ ล่อซื้อปฏิทินจาก "ต้นไม้" เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามสมควรและสามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของที่พักอาศัยของ "ต้นไม้" ได้ เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ศาลอาญาตลิ่งชันอนุมัติหมายค้นเพื่อทำการตรวจค้นที่พักของ "ต้นไม้" เพื่อขยายพลการสืบสวน
ในเวลาประมาณ 17.30 น. ตำรวจ สน.หนองแขม นำหมายค้นเลขที่ 295/2563 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เข้าค้นที่พักของ "ต้นไม้" และนำตัว “ต้นไม้” พร้อมยึดปฏิทินจำนวน 174 ชุด ไปที่ สน.หนองแขม โดย "ต้นไม้" ถูกควบคุมตัวที่ สน.หนองแขมจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2564
2 มกราคม 2564
พนักงานสอบสวนนำตัว "ต้นไม้" ไปที่ศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขัง “ต้นไม้” ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แต่ก็อนุญาตให้ "ต้นไม้" ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นหลักประกัน "ต้นไม้" ได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน
9 กุมภาพันธ์ 2564
พิชญ์ ได้รับหมายเรียกจาก สน.หนองแขม ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่าคดีมี ร.ต.อ.สุระเดช ก้านสัญชัญ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา หมายเรียกกำหนดให้พิชญ์ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
15 กุมภาพันธ์ 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พิชญ์ เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สน.หนองแขม ตามนัด หลังการสอบสวนเขาได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ยื่นคำร้องฝากขังพิชญ์ต่อศาล
26 มีนาคม 2564
นัดฟังคำสั่งอัยการ
เวลาประมาณ 10.00 น. "ต้นไม้" และพิชญ์ เดินทางไปที่สำนักงานอัยการพร้อมกับทนายความ โดยนัดนี้เป็นนัดแรกที่ทั้งสองมาพบอัยการหลังพนักงานสอบสวนสน.หนองแขมมีความเห็นให้ส่งตัวทั้งสองให้อัยการดำเนินคดี อย่างไรก็ตามอัยการเจ้าของสำนวนแจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งคดีเนื่องจากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ และสำนวนคดีอยู่ระหว่างส่งไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา จึงนัดให้ผู้ต้องหาทั้งสองมาพบเพื่อฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 27 เมษายน 2564
27 เมษายน 2564
นัดฟังคำสั่งอัยการ
เวลาประมาณ 09.00 น. พิชญ์และ "ต้นไม้" เดินทางมาถึงที่สำนักงานอัยการ โดยนัดนี้เป็นนัดที่สองที่ทั้งสองคนมาพบอัยการหลังพนักงานสอบสวนสน.หนองแขมมีความเห็นให้ส่งตัวทั้งสองฟ้องต่ออัยการ อย่างไรก็ตามอัยการเจ้าของสำนวนแจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งในคดี เนื่องจากยังทำสำนวนไม่แล้วเสร็จ กำลังดำเนินการสอบสวนตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เพิ่มเติม จึงนัดให้ผู้ต้องหาทั้งสองมาพบเพื่อฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2564
2 มิถุนายน 2564
นัดฟังคำสั่งอัยการ
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีเป็นวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่มีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด19 "ต้นไม้" และพิชญ์จึงไม่ได้พบอัยการในวันนี้ ทั้งสองเพียงแต่เซ็นชื่อรับทราบคำสั่งอัยการนอกอาคารและเดินทางกลับ
7 กรกฎาคม 2564
นัดฟังคำสั่งอัยการ
เวลาประมาณ 09.00 น. "ต้นไม้" และพิชญ์ เดินทางมาถึงที่สำนักงานอัยการ เนื่องจากในนัดนี้ผู้ต้องหาทั้งสองเพียงแต่ต้องเซ็นชื่อรับทราบคำสั่งเลื่อนนัด เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการจึงให้ทั้งสองเซ็นชื่อรับทราบนัดที่โต๊ะซึ่งนำมาตั้งด้านนอกอาคารโดยไม่ต้องเข้าไปในสำนักงานตามมาตรการป้องกันโควิด19
เจ้าหน้าที่แจ้งกับผู้ต้องหาทั้งสองว่าอัยการเจ้าของสำนวนคดีให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เนื่องจากอัยการยังทำสำนวนคดีนี้ไม่แล้วเสร็จ หลังลงชื่อรับทราบคำสั่งผู้ต้องหาทั้งสองคนแยกย้ายกันกลับทันทีเนื่องจากต้องไปทำงานต่อ
การเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีครั้งนี้นับเป็นการเลื่อนครั้งที่สี่แล้ว
นัดสืบพยานโจกท์
18 – 21 ตุลาคม 2565
จากบันทึกการสืบพยานฉบับเต็มของ
ศูนย์ทนายฯ ศาลได้นัดสืบพยานคดีรวมทั้งหมดหกนัด แบ่งเป็นการสืบพยานโจทก์ 18 – 21 ตุลาคม 2565 รวมสิบปาก และสืบพยานจำเลย 2 – 3 พฤศจิกายน 2565 รวมสามปาก โดยมีเนื้อหาบางช่วงของพยานฝ่ายโจทก์ จากบันทึกสืบพยานที่น่าสนใจ ดังนี้
กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในหน้าเดือนพฤษภาคมตอนหนึ่งว่า
“ข้อความภาษาอังกฤษ ‘Army’ ที่หมายถึงทหาร และข้อความว่า ‘IO’ พยานเชื่อว่ามีความหมายมาจาก Information Operation ซึ่งมีความหมายว่าการใช้ข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความนิยม โดยส่วนตัวมองว่า ภาพดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ใช้ทหารในการเผยแพร่ข่าวสารสร้างความนิยมให้แก่ประชาชน และยังมีข้อความปรากฏว่า ‘ไอโอนะ ยูโอไหม’ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายถึงประชาชนยอมรับได้ไหมเกี่ยวกับการที่มีการสร้างค่านิยมปลูกฝังให้ทำความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์”
ไชยันต์ ไชยพร อาตารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในเดือนมีนาคมตอนหนึ่งว่า
“การที่เป็ดซึ่งหมายถึงรัชกาลที่10 มีถุงยางอนามัยอยู่บนศีรษะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ที่หมกมุ่นในกาม หรือมองว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้รณรงค์ในการใช้ถุงยางอนามัยก็ได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานและติดตามข่าวและสื่อต่างๆ ของพยาน ไม่พบว่ารัชกาลที่ 10 มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย จึงเหลือความหมายเดียวของปฏิทินเดือนมีนาคมว่า เป็นผู้หมกมุ่นในกาม ถือเป็นการล้อเลียนและดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 อันเป็นความผิดตามมาตรา 112”
ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษสาขาศิลปกรรมการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นว่า
“หากดูภาพอื่นที่ไม่ได้ฟ้องมา อย่างเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน จะมีการเสียดสีคำสอนของรัชกาลที่ 9 ว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้ปฏิบัติตนตามคำสอนของพ่อ และจะให้ประชาชนเชื่อฟังคำสอนดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งเมื่อดูโดยรวมจะได้ความหมายว่า รัชกาลที่ 10 เป็นลูกอกตัญญู ผู้ผลิตมีเจตนาสร้างความเชื่อที่ผิดๆ และความเกลียดชังให้กษัตริย์”
นัดสืบพยานจำเลย
2 – 3 พฤศจิกายน 2565
“ต้นไม้” ขึ้นเบิกความฐานะพยานจำเลย ระบุยืนยันว่า เป็ดเหลืองในปฏิทินเป็นเพียงบทบาทสมมติ และมีชื่อว่า “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” อีกทั้งยังไม่ได้เป็นผู้จำหน่าย เป็นเพียงผู้ส่งของเท่านั้น
ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น
ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทนายความของ “ต้นไม้” ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่”
จากนั้น ศาลได้รับคำร้องไว้ ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาและคำวินิจฉัยอีกครั้งในวันที่ 30 มกราคม 2566 ก่อนจะเลื่อนไปวันที่ 7 มีนาคม 2566 เนื่องจากยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นัดฟังคำพิพากษา
7 มีนาคม 2566
ศาลอาญาตลิ่งชัน พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมกับยกคำร้องที่ทนายได้ขอให้ศาลส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย
ภายหลังอ่านคำพิพากษา “ต้นไม้” ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี