17 พฤษภาคม 2560
เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 50 นาย นำโดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ผู้บังคับการกองร้อยรักษาความสงบ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจค้นบ้านของปรีชา และโรงงานผลิตยาสมุนไพรของปรีชา โดยอ้าง ม.44 แต่ไม่ได้แจ้งสาเหตุที่เข้าตรวจค้น ขณะนั้นมีเพียงภรรยา และลูกชายของปรีชาอยู่ที่บ้าน หลังการตรวจค้นราว 3 ชั่วโมง ทหารได้ยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง และเอกสารจำนวนหนึ่งไป พร้อมทั้งควบคุมตัวภรรยาของปรีชา แจ้งว่า จะพาตัวไปสอบ 2-3 วัน โดยไม่แจ้งสถานที่ ทราบภายหลังว่าเป็นมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) จากนั้นก็ถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพมาอยู่ที่ มทบ.11
22 พฤษภาคม 2560
ภรรยาของปรีชาถูกส่งตัวกลับมาที่สถานีตำรวจภูธรชนบท แต่หลังลงชื่อในบันทึกข้อตกลงเงื่อนไขในการปล่อยตัวของทหาร ก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน โดยตำรวจไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
21 ธันวาคม 2560
ปรีชาและสาโรจน์ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่นำตัวทั้งสองไปควบคุมตัวที่ มทบ.11 กรุงเทพฯ ก่อนส่งมาดำเนินคดีที่ สภ.ชนบท จ.ขอนแก่น
ปรีชาและสาโรจน์ให้ข้อมูลในขณะถูกควบคุมตัวที่ มทบ.11 ว่า ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย แต่ถูกขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย และในห้องควบคุมตัวเจ้าหน้าที่เปิดแอร์ใส่พวกเขาเย็นมาก โดยมีทหารมาสอบปากคำพวกเขาทุกวันและบอกให้พวกเขารับสารภาพ
14 มีนาคม 2561
อัยการยื่นฟ้องปรีชาและสาโรจน์ รวม 3 คดี ในข้อหาความผิดฐานเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยทั้งสองให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวน และชั้นศาล และถูกขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอพล โดยไม่ได้ยื่นประกันตัว
18 มิถุนายน 2561
ศาลจังหวัดพลนัดฟังคำพิพากษาคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่น รวม 3 คดี ได้แก่ คดีเผาซุ้มฯ ในอำเภอบ้านไผ่, คดีเผาซุ้มฯ ในอำเภอชนบท และคดีตระเตรียมเผาซุ้มฯ ในอำเภอเปือยน้อย
ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้ให้จำเลยทั้งสองอ่านรายงานการสืบเสาะ ซึ่งพนักงานคุมประพฤติจัดทำมาตามคำสั่งของศาล จำเลยทั้งสองอ่านแล้วไม่คัดค้าน ศาลอ่านทบทวนคำฟ้องและถามคำให้การในคดีทั้งสามอีกครั้ง จำเลยทั้งสองยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลจึงอ่านคำพิพากษา
ในคดีหมายเลขดำที่ อ.364/2561 ซึ่งโจทก์ฟ้องปรีชาและสาโรจน์ว่า ร่วมกับจำเลยอีก 6 คน ที่ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ใน อ.บ้านไผ่ จนซุ้มได้รับความเสียหายบางส่วน เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา ม.209), เป็นซ่องโจร (ม.210), ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น (ม.217), ทำให้เสียทรัพย์ (ม.238), และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ (ม.112) ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง, 217, 358 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี, ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกคนละ 2 ปี, ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ และทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานวางเพลิงฯ จำคุกคนละ 7 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
ส่วนคดีหมายเลขดำที่ อ.365/2561 ซึ่งโจทก์ฟ้องปรีชาและสาโรจน์ว่า ร่วมกับจำเลยอีก 4 คน ที่ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ซุ้ม ใน อ.ชนบท เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง, 217 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี, ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกคนละ 2 ปี, ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ จำคุกคนละ 7 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกับจำเลยอีก 4 คน ที่ศาลพิพากษาไปแล้ว ชำระค่าเสียหายจำนวน 958,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2560 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เทศบาลตำบลชนบท
และในคดีหมายเลขดำที่ 366/2561 ซึ่งโจทก์ฟ้องปรีชาและสาโรจน์ว่า ร่วมกับจำเลยอีก 2 คน ที่ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว ตระเตรียมวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10, รัชกาลที่ 9 และพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ใน อ.เปือยน้อย เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่, ร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น (ม.217, 219) และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.209 วรรคแรก, 217, 219 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 1 ปี, ฐานร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงฯ จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกันในทั้งสามคดี ซึ่งศาลให้นับโทษต่อกันตามที่โจทก์ขอ ทำให้ปรีชาและสาโรจน์ ต้องโทษจำคุกรวมคนละ 12 ปี 6 เดือน