- คดีสำคัญ
- คดีอื่นๆ, ฐานข้อมูลคดี
วอยซ์ ทีวีฟ้องกสทช. กรณีระงับการออกอากาศ 15 วัน
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
หลังรัฐประหาร คสช.ใช้มาตรการจำนวนมากควบคุมเสรีภาพ โดยออกประกาศคสช.จำนวนสองฉบับคือ ประกาศฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และแต่งตั้งกสทช.ให้เป็นเจ้าหน้าที่ของคสช.ในการควบคุมสื่อโดยปราศจากภาระการรับผิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ สื่อจำนวนมากต้องเผชิญกับการกำกับควบคุมการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการเมืองและข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์คสช. วอยซ์ ทีวี เป็นอีกช่องหนึ่งที่เผชิญกับการควบคุมอย่างหนัก โดยวอยซ์ ทีวีถูกตัดสินว่า มีความผิดและลงโทษจาก กสทช.ไม่ต่ำกว่า 24 ครั้ง
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
พฤติการณ์การจับกุม
ไม่มีการจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
วอยซ์ ทีวีรายงานว่า คดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 49/2 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 นับเป็นคดีแรกที่ศาลปกครองได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามระเบียบดังกล่าว ที่กำหนดให้อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนได้ หากมีกฎหมายกำหนดเวลาการพิจารณาพิพากษาหรือเหตุอื่นใดที่การดำเนินกระบวนพิจารณาตามขั้นตอนปกติอาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรืออาจเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ
นัดไต่สวนฉุกเฉิน
เวลา 10.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉิน กรณีสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ยื่นฟ้องกสทช. ต่อศาลปกครองและขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทุเลาการบังคับตามคำสั่งของกสทช. ให้สามารถออกอากาศได้ก่อนมีคำพิพากษาเพื่อทุเลาผลกระทบต่อธุรกิจของสถานีฯและผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน
เวลา 10.00 น. ตุลาการศาลปกครองเริ่มทำการไต่สวนโดยสอบถามรายละเอียดว่า วอยซ์ ทีวี ในฐานะผู้ฟ้อง และกสทช. ในฐานะผู้ถูกฟ้องมีผู้ใดในสองฝ่ายนี้จะให้การบ้าง วอยซ์ ทีวีระบุว่า มีเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการ, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ และทนายความผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ชี้แจง ขณะที่ฝ่ายกสทช. มีสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. และผู้รับมอบอำนาจอีกสองคนร่วมเป็นผู้ชี้แจงด้วย
ตุลาการฯ อธิบายว่า วันนี้จะไต่สวนในสามประเด็นคือ หนึ่ง คำสั่งกสทช.ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร? สอง สืบเนื่องจากวอยซ์ ทีวี มีคำขอให้ศาลทุเลาคำสั่งของกสทช. อันเป็นการเยียวยาก่อนมีคำพิพากษา ตามปกติแล้วคำพิพากษาจะเป็นการเยียวยา แต่เยียวยาไม่ทันต่อเวลา ดังนั้นศาลอยากทราบความยากของการเยียวยาในกรณีนี้ และสาม กสทช. ใช้อำนาจปกครองในการออกคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี ถ้าศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง กสทช.จะเผชิญอุปสรรคต่อการบริหารราชการอย่างไร?
พร้อมกับชี้แจงว่า ตามขั้นตอนปกติของศาลปกครองอาจมีระยะเวลาสองปีถึงจะสามารถมีคำพิพากษาได้ แต่เห็นว่า เป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วนในการพิจารณาคดี เข้าข่ายข้อกำหนดตามที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดให้สามารถใช้วิธีการเร่งด่วนได้ เนื่องจากคำสั่งมีผลในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 และจะสิ้นสุดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 หากคำพิพากษาออกมาช้ากว่านั้นก็จะไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตามตุลาการฯจำเป็นจะต้องเสนออธิบดีศาลปกครองก่อน หากสามารถทำตามข้อกำหนดการพิจารณาเร่งด่วนได้ ศาลจะนัดไต่สวนคดีในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะมีคำพิพากษาในวันเดียวกันเลย
ตุลาการฯ ขอให้กสทช. อธิบายขั้นตอนกฎหมายในการออกคำสั่ง สมบัติ ลีลาพตะ ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. ระบุว่า การอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงเป็นกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 (พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ) , พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) โดยให้กรอบอำนาจกสทช.ในการออกใบอนุญาตและให้กำกับดูแล, ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555
นอกจากนี้มีประกาศคสช.ที่ 97/2557 แก้ไขเป็นประกาศคสช.ที่ 103/2557 มีสถานะเป็นกฎหมาย โดยในข้อ 3(5) ระบุว่า ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิด ความแตกแยกในราชอาณาจักร และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ระบุให้การเผยแพร่เนื้อหาต้องห้ามตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นความผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
และกล่าวต่อว่า กสทช. กำหนดเงื่อนไขในวันที่ 25 เมษายน 2557 เงื่อนไขข้อ 18 ระบุว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการตามที่กำหนดและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รวมถึงคำสั่งของกสทช.ที่มีขึ้นในภายหลัง ขณะที่ประกาศคสช.ที่ 15/2557 มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม รวมถึงวอยซ์ ทีวีที่เป็นดิจิทัลทีวี ในการพิจารณาให้กลับมาออกอากาศมีการทำเป็นบันทึกข้อตกลง กำหนดไว้ว่า ให้ถือเป็นเงื่อนไขในการอนุญาต เห็นได้ว่า วอยซ์ ทีวียอมรับว่า เป็นเงื่อนไข
ตุลาการฯ ถามว่า กฎหมายให้ถือคำสั่งเป็นหลัก ทำไมต้องทำในรูปแบบบันทึกข้อตกลง?
สมบัติ ตอบว่า เป็นขั้นตอนในการพิจารณา ทำบันทึกข้อตกลงให้รับทราบทั้งสองฝ่ายว่า จะต้องไม่มีเนื้อหาอะไรบ้าง ซี่งก็เป็นเนื้อหาเดียวกันกับประกาศ คสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557
ตุลาการฯถามว่า กสทช.มีอำนาจในการแก้ไขอยู่แล้ว ที่มีข้อสงสัยคือทางวอยซ์ ทีวี ไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ มีรายละเอียดว่า ให้ถือเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงข้อ 2 (ห้ามออกอากาศเนื้อหาต้องห้ามตามระบุ) เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้ความถี่ ประเด็นนี้ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจของวอยซ์ ทีวีกล่าวว่า กรณีข้อ 4 ของบันทึกข้อตกลง การแก้ไขเพิ่มเติมกสทช.จะต้องออกฝ่ายเดียว ไม่อาจออกเป็นสัญญาในการแก้ไข ลักษณะดังกล่าวผิดรูปแบบตามหลักวิธีการปฏิบัติตามปกครอง
ตุลาการฯ ขอให้สมบัติ อธิบายเรื่องเนื้อหาที่เข้าข่ายต้องห้ามตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ สมบัติอธิบายว่า มีเนื้อหาจากรายการ Tonight Thailand และ Wake up news เข้าข่ายขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ 4 ครั้ง เป็นการก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุปลุกปั่นตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 ดังนั้นจึงเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่า เจตนารมณ์ในการออกประกาศคสช.ทั้งสองฉบับคือ เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในกิจการกระจายเสียง ดังนั้นการออกอากาศเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรา 97/2557 และ 103/2557 จึงเท่ากับขัดมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ยังกำหนดสำทับอีกทีว่า การออกอากาศเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรา 97/2557 และ 103/2557 เป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิด การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบ ต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
ตุลาการฯ สรุปว่า จากที่สมบัติกล่าวว่า กสทช.มองว่า รายการ Tonight Thailand และ Wake up news เข้าข่ายขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
ทนายความผู้รับมอบอำนาจของวอยซ์ ทีวีขอโต้แย้งในประเด็นนี้ว่า ประกาศคสช.ที่ 97/2557 กำหนดบทลงโทษโดยเฉพาะ คือหากเนื้อหาขัดต่อประกาศดังกล่าวให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเพิกถอนใบอนุญาต แต่ประกาศคสช.ที่ 103/2557 ได้ยกเลิกบทลงโทษ โดยหากเนื้อหาขัดต่อข้อต้องห้าม ให้เสนอสภาวิชาชีพดำเนินการต่อไป กฎหมายไม่ได้มีจุดประสงค์ให้เพิกถอนหรือระงับใบอนุญาตจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตุลาการฯ ถามว่า ในคำฟ้องของวอยซ์ ทีวี มีการระบุว่า เป็นการใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตย แล้วเนื้อหารายการสร้างความสับสนอย่างไร
ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. ตอบว่า การพิจารณาเนื้อหารายการมีทั้งหมด 5 เทปคือ รายการ Tonight Thailand 1 เทป คือเทปออกอากาศวันที่ 16 ธันวาคม 2561 และรายการ Wake up news 4 เทปคือ เทปออกอากาศวันที่ 21, 28 และ 29 มกราคม และ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ยกตัวอย่างในกรณีของรายการ Wake up news วันที่ 21 มกราคม 2562 ผู้ดำเนินรายการคือ วิโรจน์ อาลี, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ให้ความเห็นเรื่องผลสำรวจของประชาชน ข้อกังวลในการเลือกตั้งและเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินรายการมีความเห็นในทางเดียวกันว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่สับสน รายการมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง มีลักษณะแบ่ง ‘เขา’ และ ‘เรา’ มีสองฟากฝั่งคือ เผด็จการและประชาธิปไตย ผู้ดำเนินรายการมีลักษณะผูกตัวเองเข้ากับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งคือ การวิพากษ์ว่า ซีพีได้สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงโดยไม่ต้องประมูล ทั้งที่ความจริงจะต้องมีกระบวนการก่อนหน้าการได้สัมปทาน
ผู้ที่มีความพร้อมที่จะลงทุนกับวอยซ์ ทีวีตกอยู่ในสภาวะที่เชื่อว่า วอยซ์ ทีวี สามารถถูกเลือกปฏิบัติเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้อาจสายเกินไปที่จะเยียวยาในภายหลัง สื่อมีเหตุผลที่อยู่ได้คือ มีสปอนเซอร์มาลงทุน เมื่อหมดความเชื่อมั่นจะส่งผลต่อธุรกิจ ถ้าผ่านจุดนี้ไปตามอำเภอใจ ความเสียหายมันเกินการเยียวยา
ตุลาการฯถามว่า ที่ผ่านมาสปอนเซอร์ลดลงไหม เมฆินทร์ตอบว่า ทุกครั้งที่มีการระงับรายการหรือระงับการออกอากาศ สปอนเซอร์จะมีการยกเลิกสัญญาและแผนการโฆษณากับช่อง ถ้าปิดทั้งสถานีในช่วงที่มีการเติบโตจะเกิดผลอย่างชัดเจน ในช่วงปลายปี 2560 รายได้ตกลงเหลือ 47 ล้านบาทจากปีก่อนหน้าที่ได้ 147 ล้านบาท ทำให้วอยซ์ ทีวีต้องปรับตัวและดีลอย่างมาก กรณีของบริษัทไทยคม ที่เป็นสปอนเซอร์หลัก มีการวางแผนลงโฆษณาทั้งปี ถ้ามีเกิดสถานการณ์การลงโทษจากกสทช.จะยกเลิกทันที การที่สปอนเซอร์รายใหญ่มาซื้อโฆษณากับช่องจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้ารายอื่นๆ ถ้าสปอนเซอร์ใหญ่เช่นไทยคมยกเลิกจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อลูกค้ารายอื่นๆ
ประทีป กล่าวเสริมว่า ในเดือนมีนาคม 2560 กำลังจะเซ็นสัญญากับสสส. ในสัญญาวงเงิน 5 ล้านบาท พอมีเหตุการณ์การลงโทษจากกสทช. ทำให้สัญญานี้ยกเลิกไปเลย
อธึกกิตกล่าวว่า กสทช.กล่าวว่า ถ้าผิดก็ปิดอีก หมายถึงว่า กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ อย่างที่เราได้เคยตั้งข้อสังเกตกันไว้ว่า เป็นเรื่องปกติที่มีการเสนอข่าวและวิจารณ์ การระงับการออกอากาศครั้งนี้เป็นการนำเทปออกอากาศมารัวเป็นชุดและปิดตอนที่กำลังเลือกตั้งพอดี มันไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะผู้ชม ถ้าผู้ชมดูออนไลน์ได้ก็คงไม่ต้องดูโทรทัศน์กันแล้ว
ม.ล. ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า ขอกล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้องค์กรวิชาชีพไม่ได้มีปัญหา ในรอบนี้ก็มีการประนามการกระทำของกสทช.ว่า ลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน ในจังหวะเวลาที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ผู้ร่วมดำเนินรายการได้เป็นแขกรับเชิญและแสดงความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน ที่กล่าวถึงคือ กรณีของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ไปร่วมเป็นแขกรับเชิญที่ไทยรัฐทีวีจัดและแสดงความคิดเห็นเช่นกัน วอยซ์ ทีวีถูกเลือกปฏิบัติจากผู้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงอย่างกสทช. ถือเป็นการบ่อนทำลายสถานีจะผู้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงโดยตรง ในที่สุดลูกค้าที่ซื้อโฆษณาก็จะเปลี่ยนไปลงโฆษณาที่อื่น
ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า รายการที่กสทช.กล่าวอ้างมาใช้ลงโทษทั้งหมดระบุว่า สร้างความสับสนในหมู่ประชาชน เป็นความพยายามผูกข้อเท็จจริงของกสทช. หากดูรายละเอียดเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 ที่ตรงตัวคือ ข้อ 7 (3) เรื่องห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช. และการปล่อยให้ความผิดตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 ไปผูกกับมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เท่ากับว่า การวิพากษ์วิจารณ์คสช.ในช่วงเลือกตั้งนี้จะนำไปสู่การปิดสถานีเสมอ ซึ่งมองว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 35
เมฆินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่วอยซ์ ทีวีร้องขอเป็นเพียงการขอความคุ้มครองฉุกเฉิน ตอนนี้เสียหายหนักจริงๆ ช่วงเวลานี้สาธารณะติดตามข่าวการเลือกตั้งประมาณร้อยละ 70 และวอยซ์ ทีวีเองก็มีจุดยืนในฝ่ายประชาธิปไตย นอกจากนี้กสทช.ยังได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและทางอาญา เกรงว่า การกำหนดโทษโดยไม่รอบคอบและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จะทำให้สถานะองค์กรหลุดออกจาก(หลักนิติรัฐ)
เวลา 12.00 น. เสร็จสิ้นการไต่สวนฉุกเฉิน ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ทุเลาคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีของกสทช.
นัดไต่สวนข้อเท็จจริงคดีวอยซ์ทีวีฟ้องกสทช.
เวลา 10.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนข้อเท็จจริง คดีที่วอยซ์ ทีวีฟ้องกสทช. จากการสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 กุมภาพันธ์ 2562 ก่อนหน้านี้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำบังคับของกสทช. โดยศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองให้วอยซ์ ทีวีออกอากาศได้ระหว่างการพิจารณาคดี
เวลา 10.10 น. คู่ความทั้งสองฝ่ายพร้อมกันที่ห้องไต่สวนที่ 3 วอยซ์ ทีวี ในฐานะผู้ฟ้องคดี มีเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการ, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ, ผู้แทนเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีป้า (Southeast Asian Press Alliance: SEAPA) และทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีร่วมเป็นผู้ชี้แจงข้อมูล ฝ่ายคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดี มีสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. และผู้รับมอบอำนาจสองคนร่วมเป็นผู้ชี้แจง
เวลา 10.30 น. ตุลาการผู้ดำเนินการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง(ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ) และตุลาการผู้แถลงคดี เริ่มทำการไต่สวน ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า คดีนี้มีกรอบเวลาตามคำสั่งการระงับการออกอากาศของกสทช. 15 วัน หากใช้ระบบปกติเกรงว่า การพิจารณาคดีจะล่าช้า ศาลจึงใช้ระเบียบใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้เคยชี้แจงไปเบื้องต้นแล้ว ตอนนี้จะดูเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง และวันนี้จะต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ จนเพียงพอที่ศาลจะสามารถวินิจฉัยได้แล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจะทำการแถลงในวันนั่งพิจารณา ซึ่งกำหนดไว้แล้วว่า เป็นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งในช่วงบ่ายของวันดังกล่าวศาลจะมีคำพิพากษา
สมบัติตอบว่า จัดทำเป็นเอกสารมาแล้ว ขอชี้แจงตามเอกสารใน 2-3 เรื่อง คือ
(1) สื่อต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะชนตามหลักวัตถุวิสัย ด้วยความถูกต้องเที่ยงตรง แม่นยำ และครบถ้วน ด้วยความเป็นธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวง
(4) ต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะชนตามหลักวัตถุวิสัย ด้วยความถูกต้องเที่ยงตรง แม่นยำ และครบถ้วน ด้วยความเป็นธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวง
(6) การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงประโยชน์แห่งสาธารณะ
(8) ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
(10) ต้องระมัดระวังไม่นำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ตนเองหรือพวกพ้องมีผลประโยชน์ทับซ้อน หากผู้ประกอบวิชาชีพข่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต้องแจ้งหรือรายงานพร้อมกับการนำเสนอหรือเผยแพร่ดังกล่าวทันที
เห็นว่า การนำเสนอข่าวของวอยซ์ ทีวีมีลักษณะบิดเบือนไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ยกตัวอย่างเช่น รายการ Wake up news วันที่ 21 มกราคม 2562 ผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำว่า พวกเรา ฝั่งนู้น ฝั่งนี้ เราต้องมีการเตรียมความพร้อม มีการวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามของบุคคลที่ถูกกล่าวถึง ผู้ดำเนินรายการไม่ได้ให้ข้อมูลในฐานะสื่อ แต่เสนอเนื้อหาเสมือนกับเป็นผู้ดำเนินรายการเป็นหนึ่งในบุคคลที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐ ขัดต่อหลักปฏิบัติอันเป็นกลาง อีกเทปหนึ่งคือ รายการ Wake up news วันที่ 29 มกราคม 2562 เนื้อหาข่าวเป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคเพื่อไทย ภาพข่าวของแกนนำพรรคการเมือง วิเคราะห์และให้ความเห็นต่อนโยบาย พานทองแท้ ชินวัตรเป็นกรรมการของวอยซ์ ทีวีและเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย การนำเสนอในประเด็นนโยบายยุทธศาสตร์ของพรรค มีลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อน หากไม่สามารถงดเว้นได้ จะต้องแจ้งให้ผู้ชมทราบถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ดังกล่าวมากสทช.เห็นว่า เนื้อหาของวอยซ์ ทีวีขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เนื่องจากทำให้ประชาชนสับสน คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตระงับการออกอากาศชอบด้วยเหตุผลและเป็นธรรมแก่วอยซ์ ทีวีแล้ว
เรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้น กสทช.มองว่า ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะความสงบเรียบร้อย แต่เป็นความเสียหายในด้านการกำกับดูแลการประกิจการวิทยุและโทรทัศน์ วอยซ์ ทีวี ทำความผิดซ้ำซาก กสทช. ขอชี้แจงว่า ก่อนหน้าการระงับการออกอากาศ กสทช.ได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหลายครั้ง ตักเตือนวอยซ์ ทีวีด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่ผ่านมา กสทช.เคยระงับการออกอากาศเฉพาะรายการเช่น Wake up news และ Tonight Thailand แต่ไม่อาจยับยั้งไม่ให้วอยซ์ ทีวี กระทำความผิดซ้ำซากได้
ในส่วนบันทึกข้อตกลงระหว่างกสทช.และวอยซ์ ทีวี ที่ทางวอยซ์ ทีวีระบุว่า ไม่มีผลผูกพัน กสทช.ขอชี้แจงว่า วอยซ์ ทีวีเป็นผู้ติดต่อแจ้งความประสงค์ที่จะทำบันทึกข้อตกลงเอง และยินยอมกระทำตามบันทึกข้อตกลงมาโดยตลอด
ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวี กล่าวว่า ตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯที่กสทช.อาศัยเป็นเหตุว่า วอยซ์ทีวีกระทำการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 64(2) ให้อำนาจกสทช.ในการพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ หากผู้รับใบอนุญาตออกอากาศเนื้อหาฝ่าฝืนมาตรา 37 และเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายร้ายแรง องค์ประกอบความผิดจะต้องครบถ้วนทุกองค์ประกอบคือ หนึ่ง เนื้อหาผิดตามมาตรา 37 และสอง เกิดความเสียหายร้ายแรง โดยบทบัญญัตินี้ถือเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของเอกชน ไม่สามารถขยายความเกินตัวบทได้
ตามที่กสทช.ระบุว่า การออกคำสั่งทางปกครองอาศัยอำนาจตาม ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 ข้อ 20 วรรคหนึ่งระบุว่า “ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งได้รับคําสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ 19 ไม่พอใจ ในคําสั่งดังกล่าว ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว คําวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด” ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อ 19 ประกอบด้วยระบุว่า “ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ในการอนุญาตตามประกาศนี้ หรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจ ตักเตือน เป็นลายลักษณ์อักษร หรือสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทําที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กําหนดก็ได้ ซึ่งให้รวมถึงอํานาจการสั่งให้ชี้แจง หรือส่งเอกสารหรือพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณา”
ขอโต้แย้งว่า เมื่อดูเฉพาะคำสั่งที่ออกระหว่างเดือนธันวาคม 2561-มกราคม 2562 คำสั่งทางปกครองของกสทช. ไม่เป็นไปตามมาตรา 19 เนื่องจากคณะกรรมการ กสทช. เป็นผู้ออกคำสั่งและไม่ถือเป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามนิยามของประกาศฉบับนี้ ข้อ 20 วรรคสองระบุว่า “ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือกรณีที่มีความเสียหายร้ายแรง ต่อประโยชน์สาธารณะ ให้คณะกรรมการมีอํานาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ทั้งนี้ การพักใช้ ใบอนุญาตให้กระทําได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน” ขอชี้แจงเรื่อง การกระทำซ้ำและความร้ายแรงของถ้อยคำ ในระดับความร้ายแรงของถ้อยคำแต่ละครั้งจะต้องอยู่ในระนาบเดียวกัน การกล่าวว่า วอยซ์ ทีวี ไม่ปฏิบัติตามกสทช. ไม่อาจหมายความว่า วอยซ์ ทีวีไม่ปฏิบัติตามในทุกระดับของความรุนแรง นอกจากนี้ระนาบความเสียหายนั้นจำเป็นจะต้องเทียบเคียงกับความเสียหายของเอกชนด้วย
ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ สรุปว่า มีอำนาจทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักคือ มาตรา 64(2),(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ โดย มาตรา 64(2) จะมีสององค์ประกอบหลักคือ เนื้อหาผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และก่อความเสียหายร้ายแรง และมาตรา 64(3) ที่จะพิจารณาการกระทำความผิดซ้ำเป็นส่วนๆไป
สมบัติกล่าวว่า กสทช.ออกคำสั่งทางปกครองระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี โดยใช้มาตรา 64(2),(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ โดยตามมาตรา 37 วรรคท้ายนั้นผูกอยู่กับมาตรา 64(2) และหากมีการกระทำผิดซ้ำซากจะพิจารณาตาม 64(3)
สมบัติตอบว่า ขอกล่าวย้อนไปถึงเรื่อง “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 เหตุที่ไม่ได้มีการแต่งตั้ง “พนักงานเจ้าหน้าที่” เนื่องจากคณะกรรมการกสทช.ทำหน้าที่อยู่ ส่วนกรณีการตักเตือนมีมาหลายครั้ง ครั้งล่าสตุดคือ มติที่ประชุมกสทช.ครั้งที่ 23/2561 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2561 โดยมีการแจ้งในตักเตือนในวันที่ 8 มกราคม 2562 เรื่องเนื้อหารายการ Wake up news และ The Daily dose และมติที่ประชุมกสทช.ครั้งที่ 1/2562 ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 มีมติให้ปรับปรุงแก้ไขรายการ Tonight Thailand ส่งคำสั่งเตือนไปยังวอยซ์ ทีวีในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 กรณีนี้ได้เรียกวอยซ์ ทีวีเข้าไปชี้แจงในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 โดยคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหา กสทช. เห็นว่า เป็นการเสนอข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แต่วอยซ์ ทีวี แจงว่า หากดูรายการตลอดทั้งรายการจะเห็นว่าวิพากษ์ทุกฝ่าย
ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวี กล่าวว่า การที่กสทช.อ้างฐานอำนาจตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯเป็นการเลี่ยง เนื่องจากเห็นว่า มีบทบัญญัติเฉพาะอยู่แล้วในมาตรา 64(2) ในกรณีที่เกิดความเสียหายเล็กน้อยและกระทำซ้ำอีกเช่น การกระทำซ้ำในกรณีที่กสทช.กล่าวหาว่า การปล่อยคลิปเสียงของพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเป็นการให้ข้อเท็จจริงที่สับสน เห็นว่า เนื้อหาดังกล่าวนอกจากจะไม่เข้าองค์ประกอบและความร้ายแรงไม่มี การที่กสทช.นำความผิดลหุโทษมากกว่า 1 ครั้งมาเป็นฐานการระงับการออกอากาศเช่นนี้แล้วเป็นการตีความให้เกิดผลประหลาดอันก่อความไม่ยุติธรรมอย่างร้ายแรง
ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ถามว่า ตามข้อ 20 ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 จะต้องเป็นการทำผิด “เงื่อนไข” แต่ทางวอยซ์ ทีวีถือว่า เป็น “ข้อตกลง” ให้กสทช.ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า วอยซ์ ทีวีผิดเงื่อนไขอย่างไร
สมบัติกล่าวว่า กสทช.มีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงเนื้อหาที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ส่วนบันทึกข้อตกลงระหว่างกสทช. และวอยซ์ ทีวี เป็นข้อตกลงเพื่อยอมรับให้มีการดำเนินการออกอากาศได้ หลังจากถูกระงับการออกอากาศตามประกาศคสช.ที่ 15/2557 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต
ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกสทช.กล่าวว่า เงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงไม่ได้ออกเป็นคำสั่ง ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตได้
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่ กสทช. ลงโทษวอยซ์ ทีวี กสทช.ได้ละเว้นขั้นตอนที่สามารถส่งเรื่องไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อ ประกาศคสช.ที่ 103/2557 เปิดทางให้ส่งเรื่องไปยังองค์กรวิชาชีพพิจารณาได้ การทำเช่นนี้น่าจะมีความเป็นธรรมมากกว่า ขอชี้แจงว่า แต่ละครั้งที่ถูกเชิญไปชี้แจงเนื้อหารายการ ต้องนั่งฟังเหมือนกับเป็นการอบรมวิธีการจัดรายการและการวิพากษ์วิจารณ์มุมมองของผู้ดำเนินรายการ ทั้งยังไม่เคยที่จะพูดตรงว่า เนื้อหาส่วนใดยั่วยุปลุกปั่น ขัดต่อศีลธรรม
การที่กสทช.ใช้ดุลพินิจในทางใดทางหนึ่ง เมื่อใดก็ได้ โดยไม่มีการพิสูจน์ต่อสังคมว่า เนื้อหาผิดอย่างไร คำสั่งของกสทช.จึงอาจขัดแย้งกับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ 2560
ประทีป กล่าวว่า ปัญหาที่เราเกรงใจดุลพินิจของกสทช. คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ได้ยกเว้นโทษทางอาญา ทางแพ่งและทางวินัยให้แก่กสทช. ทำให้เรากังวลว่า การได้รับยกเว้นโทษในทุกทางจะทำให้การใช้ดุลพินิจขาดความละเอียดรอบคอบ
สมบัติตอบว่า บันทึกข้อตกลงลักษณะนี้เคยทำกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่น ทีวี 24 พีซ ทีวี บลูสกาย ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ตามประกาศคสช.ที่ 15/2557 ซึ่งมีวอยซ์ ทีวีเป็นดิจิทัลทีวีเพียงช่องเดียว ส่วนการบังคับใช้ตามประกาศคสช.ที่ 97 และ 103/2557 นั้น กสทช.บังคับใช้กับทุกช่อง เช่น ในวันที่ 4 ตุลาคม 2559 มีคำสั่งทางปกครอง ปรับเนชั่น ทีวี 50,000 บาท และวันที่ 20 กรกฎาคม 2559 มีคำสั่งทางปกครองระงับการออกอากาศรายการทางช่องสปริงนิวส์
เมฆินทร์ กล่าวว่า ในเมื่อจะถือว่า บันทึกข้อตกลงเป็นคำสั่งทางปกครองก็ควรจะบังคับใช้กับทุกสถานี อีกประเด็นคือคุณสมบัติของกสทช. ทางเราทราบว่า คสช.มีคำสั่งให้ระงับการสรรหาคณะกรรมการกสทช.จนกว่าคำสั่งจะเปลี่ยนแปลง และผู้มีคุณสมบัติในการวิเคราะห์เนื้อหามีการลาออกเป็นระยะ
อธึกกิต กล่าวว่า เดิมทีคณะกรรมการกสทช.มีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพคือ สุภิญญา กลางณรงค์ แต่มีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไปและไม่มีการสรรหาใหม่ ทำให้ในตอนนี้ไม่มีผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพอยู่ในกสทช.เลย ส่งผลให้เกิดการขาดความเข้าใจในวิชาชีพสื่อ การพิจารณาเนื้อหาที่ผ่านมาวอยซ์ ทีวีไม่เคยยกขึ้นสู่ศาลแล้วจะมากล่าวได้อย่างไรว่า วอยซ์ ทีวีทำความผิดซ้ำซาก
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า บรรยากาศการชี้แจงในช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างเป็นไปอย่างเร่งรีบ อนุกรรมการด้านเนื้อหาฯไม่ได้เปิดโอกาสให้ชี้แจงเลย ขอสรุปว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการเร่งทำการบ้านเพื่อรวบรวมข้อมูลว่า มีการตักเตือนแล้วและมีการออกคำสั่งบางอย่างตามมา
ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า ขอให้กสทช.ตอบในประเด็นความเร่งด่วนของการชี้แจงว่า ทำครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ และกรณีเรื่ององค์กรวิชาชีพตามประกาศ คสช.ที่ 103/2557
สมบัติตอบว่า เรื่องการส่งเนื้อหาให้องค์กรวิชาชีพพิจารณานั้น เป็นกรณีเกี่ยวกับความผิดทางจริยธรรม แต่เรื่องนี้ขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ก็ระบุว่า หากเนื้อหาขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 ให้ถือว่า ขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ซึ่งพ.ร.บ.นี้อยู่ภายใต้อำนาจของกสทช. จึงพิจารณาว่า ไม่จำเป็นต้องส่งต่อให้องค์กรวิชาชีพ
ส่วนการชี้แจงเป็นไปด้วยความเร่งรีบหรือไม่ ต้องเรียนว่า เป็นไปตามขั้นตอน ที่ให้ประทีปเป็นผู้ชี้แจงผู้เดียวเนื่องจากเห็นว่า ประทีปเป็นผู้รับมอบอำนาจ และคำถามที่ว่า เร่งรีบกระบวนการเพื่อเตรียมการหรือไม่นั้น เวลาที่กสทช.มีการเตือน วอยซ์ ทีวีก็รับในการปรับปรุง กสทช. ไม่ได้คิดมาก่อนว่า วอยซ์ ทีวีจะกระทำการในลักษณะนี้อีก
ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีกล่าวว่า ตามที่กสทช.กล่าวว่า เหตุที่ไม่ส่งเรื่องเนื้อหาของวอยซ์ ทีวีไปให้องค์กรวิชาชีพพิจารณาเนื่องจากว่า ไม่ใช่ปัญหาทางด้านจริยธรรม ขอโต้แย้งว่า ไม่เป็นความจริง ในเรื่องความเป็นกลาง องค์กรวิชาชีพมีอำนาจในการวินิจฉัย
ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ถามกสทช.ว่า จะตอบในประเด็นนี้หรือไม่ สมบัติปฏิเสธที่จะตอบในประเด็นนี้ ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ จึงสอบถามเรื่องเนื้อหารายการที่พิพาทคือ Wake up news เทปออกอากาศวันที่ 21-22 มกราคม 2562
1. เรื่องผลการสำรวจความเห็นเรื่องการเลือกตั้งและเศรษฐกิจ มีการกล่าวว่า “คนคิดคล้ายๆกันว่า การเลื่อนเลือกตั้งคือ การเลิกเลือกตั้งแล้วเขามองกันว่า ผู้มีอำนาจท่าทีเหมือนกับไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ถ้าพูดตรงๆ คนส่วนใหญ่คิดแบบนี้ ผู้มีอำนาจจะคิดยังไงเราไม่รู้ แต่คนจำนวนมากเขามองว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีเลือกตั้งเลย” ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีสถานการณ์ของประเทศที่ต้องกำหนดใหม่ให้เหมาะสม นั่นคือเรื่องหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่อมาวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมาชี้แจงแล้ว ซึ่งขอไม่ขยายความต่อในที่นี้
2. ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า มีต้นทุนที่มองไม่เห็นอีกเยอะ การเลือกตั้งไม่มีเสรีภาพเต็มที่ คนเบื่อมากขึ้น อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พรรคพลังประชารัฐมีข้อได้เปรียบจากการที่มีสมาชิกพรรคเป็นผู้แทนในรัฐบาล มีบางพรรคการเมืองได้รับผลประโยชน์
3. ซีพีได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าความเร็วสูงเฟส 2 ผู้ดำเนินรายการกล่าวในทำนองว่า ควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา ทำให้เข้าใจว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยกระทำการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบ
หากพิจารณาเนื้อหาตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 จะเห็นว่า เนื้อหา Wake up news เทปออกอากาศวันที่ 21 มกราคม 2562 นั้นส่อให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะสับสนหรือไม่ เพราะประกาศคสช.ใช้คำว่า “ส่อ” และเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นได้
ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช.กล่าวย้ำอีกครั้งว่า ในรายการศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการกล่าวในทำนองที่ว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ทั้งที่ในโพลไม่มีประเด็นนี้
การเสนอข่าวในรายการคือ หนังสือพิมพ์เสนออะไร ผู้ชมทางบ้านสนใจอะไร ผู้ดำเนินรายการไม่ได้มีเจตนาไปในทางที่จะสรุปแบบนั้น และที่ผ่านมาพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกสทช. แสดงทัศนคติเหมือนอยากจัดรายการแทน
การวิเคราะห์ที่หลากหลายมีความสำคัญมากต่อสังคม พหุนิยมในสื่อ (Media pluralism) เป็นหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมประชาชนในการเคารพเสียงที่หลากหลาย
จากนั้นจึงมีการปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของสุดารัตน์ ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวในเสียงสัมภาษณ์เลย เช่น การมีทหารไปข่มขู่เกิดความสับสนต่อองค์กรทหารว่า มีการใช้อำนาจข่มขู่ประชาชน หมู่บ้านไหนไม่ได้รับงบประมาณก็อาจทำให้เข้าใจได้ว่า มาจากสาเหตุที่ไปพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย โดยในการชี้แจงมีประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี โดยกสทช.เข้าใจว่า ในการออกอากาศนั้นไม่สามารถปล่อยเสียงสัมภาษณ์ได้ทั้งหมด หากมีหลักฐานให้นำมาแจ้งต่อ กสทช. แต่ประทีปไม่ได้แจ้งข้อมูลว่า สรุปแล้วในเสียงสัมภาษณ์ฉบับเต็ม สุดารัตน์ได้พูดตามที่พิธีกรกล่าวหรือไม่
ประทีปกล่าวว่า ก่อนที่จะไปถึงการสรุปข้อเท็จจริง นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาฯที่ไม่ได้มีความรอบรู้ คำกล่าวที่ว่า ผู้ดำเนินรายการพูดเกินกว่าที่สุดารัตน์พูดนั้น ในแง่ของการทำสคริปต์รายการ ข้อความที่สุดารัตน์พูด ทีวีไม่จำเป็นต้องปล่อยเสียงทั้งหมด ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ที่ลงไปทำข่าวไม่ได้มีการยื่นไมค์สัมภาษณ์ตลอด ในข้อเท็จจริงยืนยันได้ว่า ไม่ใช่เรื่องของผู้ดำเนินรายการพูดเกินกว่าแหล่งข่าว หรือบิดเบือนสร้างความสับสน สื่ออื่นๆก็มีประเด็นที่คล้ายกันว่า สุดารัตน์ถูกทหารตามประกบ มีอำนาจรัฐไม่สามารถให้ลงพื้นที่หาเสียงได้เหมือนพรรคอื่น
2. เรามองว่า ไม่เป็นประโยชน์ การจัดแบ่งเวลา 10 นาทีให้ออกอากาศทางช่องของเรา จริงๆปัจจุบันคนอาจจะไม่ดูแล้วเพราะแฟนคลับจะไปดูทางเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้คัดค้านแนวคิดนี้
3. เราโต้แย้งในเชิงหลักการว่า ความเป็นกลางคืออะไร ในอเมริกา สื่ออย่างซีเอ็นเอ็นโจมตีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ฟอกซ์ นิวส์เชียร์ทรัมป์ ถ้าหากเราใช้หลักการความเป็นกลางอย่างจำกัดจะกลายเป็นวิธีคิดที่เป็นปัญหา
4. อีกส่วนหนึ่งคือ การควบคุมของกกต.ที่มากเกินไป สุดท้ายจะไม่เกิดการแข่งขัน เช่น การคัดเลือกส.ว. 250 คน ที่สุดท้ายคัดเลือกไปอย่างเงียบๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาคิดว่า กสทช.ไม่เข้าใจและจับประเด็นในลักษณะที่จะทำให้เกิดความสับสวน ไม่เข้าใจวิชาชีพสื่อ ความเป็นกลาง ความสับสนคืออะไร ถ้าตีความทุกอย่างสับสนไปหมด มันจะแสดงความคิดเห็นไม่ได้และเกร็งกันไปหมด
ตุลาการผู้รวบรวมข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาให้ทั้งสองฝ่ายเขียนคำอธิบายอย่างเจาะจงในรายการที่ยังไม่ได้มีการชี้แจง ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 16.30 น. โดยศาลจะสรุปข้อเท็จจริงส่งให้ตุลาการผู้แถลงคดี จากนั้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลจะนำส่งรายงานสรุปข้อเท็จจริงผ่านทางอีเมล์ให้คู่ความทั้งสอง และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. ตุลาการผู้แถลงคดีออกนั่งพิจารณาแถลงข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีคำพิพากษาในวันเดียวกันเลย
25 กุมภาพันธ์ 2562
นัดฟังคำพิพากษา
27 กุมภาพันธ์ 2562
นัดฟังคำพิพากษา
ตุลาการเจ้าของสำนวนกล่าวว่า คดีนี้เป็นการพิจารณาคดีอย่างเร่งด่วน ศาลได้นัดไต่สวนข้อเท็จจริงในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 และเปิดโอกาสให้คู่ความได้ชี้แจงเพิ่มเติมในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 16.00 น. ซึ่งต้องถือว่า กระบวนไต่สวนข้อเท็จจริงจบสิ้นตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อกสทช.ได้ยื่นคำชี้แจงเพิ่มในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 โต้แย้งว่า รายละเอียดที่วอยซ์ ทีวีนำส่งเป็นข้อเท็จจริงใหม่ตามที่กสทช.ได้ชี้แจงไปในข้างต้น ตามปกติแล้วหากเป็นข้อเท็จจริงใหม่ศาลจะต้องเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโต้แย้งด้วย แต่ยังไม่สิ้นสุดว่า เป็นข้อเท็จจริงใหม่หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกัน ในขั้นนี้ศาลขอให้ดูข้อเท็จจริงตามที่ศาลสรุปมาว่า ขัดแย้งตรงใดหรือไม่ โดยมีทางเลือกสองทางคือ หนึ่ง สิ่งที่คู่ความเห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงใหม่และรับกันได้ ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ด้วย สอง หากรับกันไม่ได้ ศาลจะถือข้อเท็จจริงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 และส่วนที่กสทช. ยื่นโต้แย้งมาเพิ่มในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นคำแถลง ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงใหม่ศาลจะไม่นำไปวินิจฉัย
ตุลาการผู้แถลงคดีเริ่มนำเสนอระบุว่า วอยซ์ ทีวี ผู้ฟ้องคดีได้ส่งคำแถลงในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เนื้อหาเห็นว่า เป็นประเด็นที่เป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่องค์คณะฯได้พิจารณาในเบื้องต้นแล้วและจะไม่ทำให้ข้อเท็จจริงในคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปและไม่ได้มีผลกระทบต่อแถลงการณ์ที่จะแถลงต่อองค์คณะฯ โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้ขอให้ผู้ที่เข้าร่วมรับฟังคดีงดใช้โทรศัพท์และห้ามจดบันทึก
กรณีที่วอยซ์ ทีวีขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานกสทช.และวอยซ์ ทีวี ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เห็นว่า หากวอยซ์ ทีวีเห็นว่า บันทึกข้อตกลงฯไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องใช้สิทธิทางศาลภายใน 90 วัน แต่เวลาล่วงเลยมาถึงวันที่ฟ้องในปี 2562 ศาลจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
คำพิพากษา
คำพิพากษาศาลปกครองกลาง
คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า มติกสทช.ครั้งที่ 3/2562 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่มีคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่เวลา 00.01 ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงเวลา 00.00 ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 นั้นเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า สำนักงานกสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบรายการ Tonight Thailand ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เรื่อง สุดารัตน์ ระอาทหารตำรวจยังตามประกบลงพื้นที่ และตรวจสอบพบเนื้อหารายการ Wake up news ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 เรื่อง 10 เรื่องที่คนไทยกังวลเกี่ยวกับการเมืองไทย เฉลิมเชื่อ 3 พรรคประชาธิปไตยกวาดที่นั่ง ,ออกอากาศวันที่ 22 มกราคม 2562 เนื้อหาเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเสนอพอดแคสต์เรื่องแก้ไขปัญหาฝุ่น, ออกอากาศวันที่ 28 มกราคม 2562 เรื่อง เสรีพิสุทธ์ ปลุกประชาชนเอาประชาธิปไตย และออกอากาศวันที่ 29 มกราคม 2562 เรื่อง สุดารัตน์ เปิด 5 แนวทางกระเป๋าตุง, เนื้อหาเกี่ยวกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และเนื้อหาเกี่ยวกับ กกต. ให้สื่อจัดดีเบต
โดยสำนักงาน กสทช.ได้ให้วอยซ์ ทีวีเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ก่อนที่จะรวบรวมส่งให้ที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเห็นว่า รายการ Wake up news วันที่ 21,22,28 และ 29 มกราคม และ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ส่อให้เกิดความสับสนแก่ ประชาชน
รายการ Wake up news วันที่ 21 มกราคม 2562 ผู้ดำเนินรายการมีการวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นในทำนองที่ว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง หน่วยงานของรัฐไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนที่รับชมอาจเข้าใจได้ว่า พรรคพลังประชารัฐมีข้อได้เปรียบและการเลือกตั้งอาจไม่เสรีและเป็นธรรม อีกเรื่องคือ การให้ความเห็นเรื่องการออกใบอนุญาตสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยผู้ดำเนินรายการให้ความเห็นในทำนองว่า รัฐบาลไม่ควรออกใบอนุญาตการก่อสร้างในช่วงนี้
วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการออกอดังกล่าวจริง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเสรีภาพของสื่อมวลชน ในส่วนความเป็นกลาง ผู้ชมจะตัดสินเองได้ การนำเสนอข่าวเรื่องดังกล่าวก็มีการออกอากาศที่ช่องอื่นด้วยเช่นกัน
รายการ Tonight Thailand วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีการปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ซึ่งในเนื้อหาสุดารัตน์กล่าวว่า มีทหารตำรวจติดตาม คาดหวังให้กตต.ทำงานอย่างอิสระ ปราศจากข้อมูลที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวเพิ่มเติมว่า มีการใช้อำนาจรัฐไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมพูดคุยกับตัวแทนพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนในการทำงานของทหารและตำรวจ
วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการออกอากาศเนื้อหาดังกล่าวจริง และมีการนำเสนอเนื้อหาอุปสรรคการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอื่นๆ เช่น การยกเลิกการใช้สถานที่ปราศรัยที่จังหวัดพะเยา
รายการ Wake up news วันที่ 28 มกราคม 2562 ที่มีการนำเสนอเนื้อหาในทำนองที่ว่า คำสั่งคสช. เอื้อต่อพรรคใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐและมีการออกอากาศคำสัมภาษณ์ของพล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า คสช.เอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ
รายการ Wake up news วันที่ 29 มกราคม 2562 มีการนำเสนอข่าวนโยบายพรรคเพื่อไทยและยุทธศาสตร์ของพรรค, ห้วงเวลาที่กกต.กำหนดในระเบียบการดีเบทเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสื่อ แสดงความไม่เห็นด้วยในการใช้ประโยชน์ของสื่อเอกชนที่มีต้นทุน สื่อมีสิทธิเลือกข้างพรรคการเมืองใดก็ได้ ซึ่งการนำเสนอดังกล่าวอาจส่อให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า กกต.ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ
วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการออกอากาศเนื้อหาดังกล่าวจริง ใน Wake up news วันที่ 28-29 มกราคม 2562 จริง โดยเห็นว่า ในการเลือกตั้งสื่อควรมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความเสรีเป็นธรรม ส่วนการนำเสนอข่าวพรรคเพื่อไทยในวันดังกล่าวเนื่องจากมีการประชุมใหญ่และแถลงนโยบายของพรรค โดยมีการเสนอข่าวของพรรคอื่นๆด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ข่าวของพรรคเพื่อไทยก็ปรากฏตามสื่ออื่นด้วย
รายการ Wake up news วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้ดำเนินรายการเสนอคำถามในทางชี้นำต่อแกนนำพรรคการเมืองเรื่อง การเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเวลานั้นหัวหน้าคสช.ยังไม่รับเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ วอยซ์ ทีวียอมรับว่า มีการออกอากาศเนื้อหาดังกล่าวจริง โดยการสัมภาษณ์ตัวแทนของพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับโอกาสและความสะดวก
ศาลพิจารณาข้ออ้างและข้อโต้แย้งของคู่ความ เห็นว่า วอยซ์ ทีวีมีการเสนอข่าววิเคราะห์การเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของรัฐ นโยบายพรรคการเมือง นโยบายสาธารณะ อย่างไรก็ตามมีบางส่วนที่เพิ่มเติมมาจากแหล่งข่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งหมดฟังไม่ได้ว่า การนำเสนอเนื้อหาของวอยซ์ ทีวีถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ในประเด็นจริยธรรมสื่อมวลชนนั้นเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อในการพิจารณา
โดยการเพิ่มเติมในรายการพิพาทไม่ถึงขนาดที่จะเป็นการเสนอข่าวในลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกและไม่ปรากฏว่า ที่ประชุมกสทช.ได้พิจารณาถึงความเสียหายร้ายแรงก่อนพิจารณาโทษ ดังนั้นการระงับการออกอากาศจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 64 และ 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริง 2556
กรณีที่กล่าวอ้างว่า กสทช.มีอำนาจตามมาตรา 64 (2) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ในการระงับการออกอากาศ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นก่อนนั้นเห็นว่า มาตรา 64 (2) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ จะต้องมีองคืประกอบ 2 ประการคือ เนื้อหาขัดมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และก่อความเสียหายร้ายแรง การกล่าวอ้างของกสทช.ไม่อาจรับฟังได้
ในเรื่องการกำกับสื่อเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่ที่ประชุมกสทช.จะมีมติในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ในการกำหนดโทษระงับการออกอากาศ สำนักงานกสทช.ได้มีหนังสือ 2 ฉบับให้วอยซ์ ทีวีชี้แจง โดยสำนักงานกสทช.ระบุว่า รายการ Wake up news ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 28 และ 29 มกราคม 2562 อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนประกาศคสช. ที่ 97 และ 103/2557 , บันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานกสทช.และวอยซ์ ทีวี และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เมื่อวอยซ์ ทีวีไปชี้แจง กสทช.ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 19 ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555
อีกทั้งกสทช.ยังไม่แสดงข้อเท็จจริงว่า เนื้อหารายการสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร การระงับการออกอากาศจึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ใช่กรณีที่วอยซ์ ทีวีเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติและสร้างความเสียหายร้ายแรง ดังนั้นมติที่ประชุมกสทช.ครั้งที่ 3/2562 จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯและข้อ 20 ของประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555
กรณีที่วอยซ์ ทีวีขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานกสทช.และวอยซ์ ทีวี ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เห็นว่า หากวอยซ์ ทีวีเห็นว่า บันทึกข้อตกลงฯไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องใช้สิทธิทางศาลภายใน 90 วัน แต่เวลาล่วงเลยมาถึงวันที่ฟ้องในปี 2562 ศาลจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
กรณีกสทช.กล่าวว่า การกระทำของวอยซ์ ทีวีเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงใช้อำนาจตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่วอยซ์ ทีวีกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯเรื่องเดียวกันหรือมีวิธีการเดียวกัน และต้องให้โอกาสวอยซ์ ทีวีในการโต้แย้งเสียก่อน ขณะที่หนังสือที่ให้วอยซ์ ทีวีเข้าชี้แจงต่อสำนักงานกสทช.ทั้ง 2 ฉบับไม่ได้มีประเด็นให้ชี้แจงเรื่องการกระทำรความผิดซ้ำแต่อย่างใด ในหนังสือคำสั่งของกสทช.ก็ไม่ปรากฏว่า มีการชี้แจงประเด็นความผิดซ้ำ มีเพียงข้อความว่า มีการกระทำความผิดซ้ำ เห็นว่า กสทช.ไม่ได้ประสงค์จะพิจารณาเรื่องการกระทำความผิดซ้ำ ไม่ให้โอกาสวอยซ์ ทีวีในการพิสูจน์ การอ้างตามมาตรา 64(3) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไม่อาจรับฟังได้
มติที่ประชุมกสทช.ที่ 3/2562 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดโทษทางปกครองให้ระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 64, 16 และ 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และข้อ 20 ของประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555 สั่งให้เพิกถอนมติดังกล่าว