23 มีนาคม 2561
มติชนออนไลน์รายงานว่า รังสิมันต์นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome ถึงการนัดรวมพลคนอยากเลือกตั้ง “เดินหน้าถอนราก คสช.” ในวันที่ 24 มีนาคม 2561 ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินเท้าไปที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก โดยมีข้อความว่า
“การเดินขบวนไปกองทัพบกในวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) จะเป็นวันหนึ่งที่สำคัญมากๆของการต่อสู้เพื่อให้มีการเลือกตั้ง หลายคนอาจจะรู้สึกว่า บรรยากาศการเมืองชวนพาให้ฝันว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อพิจารณาจากการเปิดตัวของบรรดาพรรคต่างๆ และการถกเถียงที่เริ่มมีให้เห็น
ภายใต้ภาพอันชวนฝันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่าการเลือกตั้งจะมีในต้นปีหน้า โดยเลี่ยงที่จะพูดว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งสะท้อนว่าเห็นทีการเลือกตั้งจะคงเลื่อนออกไปอีกครา
ส่วนตัวผมเองนั้นไม่เชื่ออีกแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ เป็นคนมีสัจจะเชื่อถือได้ ผมไม่เชื่ออีกแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหากเราไม่ต้องสู้แย่งคืนมา จึงอยากขอเรียกร้องอีกครั้งให้ประชาชนคนไทยเป็นหนึ่ง ช่วยกันแสดงพลังแสดงจุดยืน โดยการเดินขบวนร่วมไปกลับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปสู่กองทัพบก แล้วเจอกัน ”
24 มีนาคม 2561
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าในเวลา 16.00 น. ที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จัดกิจกรรม เดินไปที่กองทัพบก เพื่อทวงถามถึงกำหนดวันเลือกตั้ง โดยทางกลุ่มประกาศว่า ต้องเกิดขึ้นปีนี้เท่านั้น โดยผู้จัดได้ทำการปราศัยและมีการอ่านแถลงการณ์ต่อหน้าสื่อมวลชล
ในเวลา 17.15 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เริ่มเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระหว่างที่กำลังเคลื่อนขบวนเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวปิดหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ให้รถหกล้อที่ใช้เป็นเวทีปราศรัยออกจากมหาวิทยาลัยโดยยึดกุญแจรถไว้
หลังจากนั้น แกนนำผู้ชุมนุมลงจากรถหกล้อ ไปรวมกับประชาชนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เพื่อขึ้นรถกระบะสี่ล้ออีกคันหนึ่ง ที่จอดรออยู่บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ และเคลื่อนขบวนเข้าสู่ถนนราชดำเนิน โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ตามขบวนและควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้ลงสู่พื้นผิวจราจรโดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเกรงว่าจะส่งผลให้การจราจรติดขัด
ประชาไทรายงานต่อว่าในเวลา 19.30 น. ที่หน้ากองทัพบก ตำรวจเตือนให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปภายในเวลา 19.45 น. มิฉะนั้นจะเปิดเครื่องขยายเสียงเพื่อให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ขณะที่ผู้ชุมนุมยืนยันจะชุมนุมตามกำหนดการที่วางไว้คือจนถึงเวลา 20.00 น. จึงจะเลิกชุมนุม โดยผู้ชุมนุมยังขอชุมนุมต่อจนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้เหตุผลที่ยังไม่ยุติการชุมนุมว่ายังเหลือผู้ปราศรัยอีก 2 คน การปราศรัยดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 20.30 น. จึงยุติกิจกรรมและสลายตัวไป
30 มีนาคม 2561
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเดินทางไปที่สน.ชนะสงครามเพื่อร้องทุกกล่าวโทษผู้ชุมนุม รวม 57 คน แยกเป็นแกนนำสิบคนและผู้เข้าร่วมชุมนุม 47 คน
1 เมษายน 2561
18 เมษายน 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้ต้องหากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 41 คน ได้แก่ เนติวิทย์, ศศวัชร์, รัฐพล, สุวรรณา , หนึ่ง, มัทนา, สุรศักดิ์, นิตยา, นภัสสร, ยุภา, ประนอม, อภิสิทธิ์, อนุรักษ์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง), สมบัติ, กิตติธัช, อ๊อด, ฉัตรมงคล, กมลวรรณ, นฤมล, โชคดี, พรวลัย, วาสนา, วลี, ยุพา, บริบูรณ์, พรนิภา, กองมาศ, เทวินทร์, สุชาดา, กุลวดี, เนาวรัตน์, มนัส, กลวัชร, กิ่งกนก, โกวิทย์, ส.ต.อ.บุญสม, สมพิณ, รักษิณี, ทรงชัย, สุเทพ และพยงค์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองที่ สน.นางเลิ้ง ตามหมายเรียก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาที่มารายงานตัวไปขอผัดฟ้องและฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต
หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนเพราะว่าผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จึงไม่มีเหตุที่จะต้องควบคุมตัว โดยอภิสิทธิ์หนึ่งในผู้มารายงานตัวไม่ได้เดินทางมาที่ศาลแขวงดุสิตด้วยเนื่องจากเขาเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำการเกินกว่าเหตุที่มีการขออำนาจศาลฝากขังในคดีนี้
หลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขัง พนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหาเพื่อส่งตัวให้อัยการวันที่ 30 เมษายน 2561
21 เมษายน 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลไปที่สน.ชนะสงครามซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้พบว่า ศาลแขวงดุสิตอนุมัติหมายจับผู้ร่วมชุมนุมรวมเจ็ดคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 เมษายน 2561 ผู้ที่ถูกออกหมายจับทั้งเจ็ดคนได้แก่ ชลธิชา, กรกช, ภัทรพล, วิศรุต, ยุกติ, มัญจา และอภิสิทธิ์
ทั้งนี้อภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในผู้ต้องหา 41 คน ที่เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาแล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 แต่ปฏิเสธไม่เดินทางไปศาลแขวงดุสิต เพื่อผัดฟ้องและฝากขัง อภิสิทธิ์ไม่เดินทางไปศาลในวันนั้นเนื่องจากเขาเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำการเกินกว่าเหตุที่มีการขออำนาจศาลฝากขังในคดีนี้
23 เมษายน 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าผู้ต้องหาสามคนได้แก่ ภัทรพล, วิศรุต และยุกติ เข้าพบพนักงานสอบสวนสวนที่สน.ชนะสงคราม หลังทั้งสามถูกออกหมายจับร่วมกับผู้ต้องหาในคดีอีกสี่คนเพราะไม่ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในนัดที่แล้ว
เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนแสดงหมายจับให้ทั้งสามดู ผู้ต้องหาทั้งสามรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับและชี้แจงว่าที่ไม่มาพบในนัดก่อนไม่ได้มีเจตนาหลบหนีแต่ติดภารกิจและได้ทำหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนขอเลื่อนนัดแล้วแต่กลับถูกออกหมายจับ หลังจากมีการชี้แจงกันเรื่องหมายจับพนักงานสอบสวนก็แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้งสามซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธ
หลังเสร็จขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสามไปขอฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต ทนายของผู้ต้องหายื่นคัดค้านการฝากขัง ในเวลาต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสาม เพราะเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาทั้งสามคน จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
30 เมษายน 2561
เวลาประมาณ 9.00 น. ที่สำนักงานอัยการแขวงดุสิต ผู้ต้องหาคดีชุมนุมที่บริเวณหน้าศูนย์บัญชาการกองทัพบก หรือในอีกชื่อว่า #ARMY57 จำนวน 41 คน มาฟังคำสั่งอัยการว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ในความผิดฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ข้อหาร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมฯ นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่าผิด พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯมาตรา 16 (1) (8) และ มาตรา 18 และผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก ในคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 47 คน
เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าไปรายงานตัวและลงลายมือชื่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมาอัยการได้แจ้งการเลื่อนฟังคำสั่งอัยการอีกครั้งในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่ศาลแขวงดุสิต
เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ สน.ชนะสงคราม ชลธิชา และ กรกช เดินทางมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามนัดที่ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนไว้ก่อนหน้านี้และมีหมายจับจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ข้อหาร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมฯ นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่า ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1), (8) และ มาตรา 18 และฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก โดยผู้ต้องหาทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
เวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาทั้งหมดจึงนัดหมายให้ทั้งสองคนไปที่ศาลแขวงดุสิต เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและผู้ต้องหาจะเข้าร่วมชุมนุมวันที่ 5 พฤษภาคม 2561
ที่ศาลแขวงดุสิตศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนผู้ต้องหาจึงไม่อาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้และยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าผู้ต้องหาจะเข้าร่วมชุมนุมวันที่ 5 พฤษภาคมหรือไม่
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าอภิสิทธิ์ หนึ่งใน 41 ผู้ต้องหา หลังจากที่ไปตามนัดส่งสำนวนของตำรวจที่สำนักงานอัยการแขวงดุสิตและรับทราบนัดฟังคำสั่งอัยการแล้ว ได้มามอบตัวที่ สน.ชนะสงคราม ตามที่ถูกออกหมายจับ กรณีที่ไม่ได้เดินทางไปศาลตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อไปขอฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่ข้อหานี้เป็นความผิดลหุโทษ พนักงานสอบสวนจึงได้ปล่อยตัวกลับและไม่ได้พาไปขอฝากขังที่ศาล
17 พฤษภาคม 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาศาลขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี นัดพนักงานฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเนติวิทย์ และพวกรวม 44 คน ในคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง เดินทางไปหน้ากองบัญชาการกองทัพบก หรือ #Army57 ในฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ข้อหาร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม หรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00-06.00 น.ของวันรุ่งขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต, ไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 16 (1) (2) และ มาตรา 18, ข้อหาเดินเป็นขบวนในลักษณะการกีดขวางการจราจร หรือกระทําการด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108, 114 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
เฉพาะผู้ต้องหาอีก 2 ราย คือชลธิชา และฉัตรมงคล ถูกเพิ่มฐานความผิดเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่ควบคุมดูแลผู้ชุมนุมและไม่แจ้งการชุมนุมด้วย และไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการดูแลรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะ
ขณะที่วิศรุต ผู้ต้องหาในคดีนี้อีก 1 ราย เดินทางมาฟังนัดส่งฟ้อง ในวันเดียวกันเมื่อ เวลา 16.00 น. โดยถูกฟ้องในฐานความผิดเดียวกันกับผู้ต้องหาอีก 42 คน (ยกเว้นกรณี ชลธิชา และฉัตรมงคล) จึงถูกนับเป็นจำเลยรายที่ 45
จนเมื่อผู้พิพากษาศาลได้ขึ้นบัลลังก์ ได้แจ้งสิทธิให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับทราบ ก่อนศาลได้นัดตรวจความพร้อมของคู่ความและตรวจพยานหลักฐานต่อไป ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 นี้ โดยให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไปโดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว โดยระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี มีเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย คอยดูแลสังเกตการณ์อยู่บริเวณศาลแขวงดุสิตตลอดกระบวนการ
31 พฤษภาคม 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อัยการศาลแขวงดุสิตยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 จากการไม่ไปรายงานตัวตามนัดขอฝากขังของพนักงานสอบสวน คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก
คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 จําเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาของสถานีตํารวจนครบาลชนะสงคราม ระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา กับผู้ต้องหารวม 57 คน ฐานร่วมกันชุมนุมทางการเมืองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย (คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก #ARMY57) ได้รับทราบข้อกล่าวหา และคําสั่งของ พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา พนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาลชนะสงคราม ซึ่งสั่งการตามอํานาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้จําเลยไปรายงานตัวและพบ พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา ที่ศาลแขวงดุสิต ในวันเดียวกันเวลา 14.00 น. เนื่องจากคดีที่ต้องทําการสอบสวนต่อไป มีเหตุออกหมายขังผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71
จําเลยทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนั้น โดยไม่ยอมไปรายงานตัวต่อ พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา เพื่อขอศาลแขวงดุสิตผัดฟ้องฝากขังจําเลยตามวันเวลาที่ผู้กล่าวหามีคําสั่ง จนกระทั่งศาลปิดทําการ โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต อภิสิทธิ์ให้การปฏิเสธ ศาลอนุญาตปล่อยตัวโดยให้สาบานตน และนัดพร้อมต่อไปวันที่ 9 กรกฎาคม 2561
12 กุมภาพันธ์ 2562
นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน
วันนี้มีจำเลยมาฟังการพิจารณาคดีเพียงสองคนเนื่องจากคดีนี้ศาลอนุญาตให้สืบพยานจำเลยทั้งหมดลับหลัง โจทก์แถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวม 53 ปาก สำหรับพยานเอกสารบา่งส่วนโจทก์ได้ส่งมอบให้ทนายจำเลยแล้ว แต่วัตถุพยานที่เป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ แผนผังการชุมนุม และข่าวที่ทางเจ้าหน้าที่หามาจากสื่อสังคมออนไลน์ยังไม่สามารถส่งมอบให้ทนายจำเลยได้เนื่องจากเป็นความลับของทางราชการ แต่อัยการจะนำพยานหลักฐานดังกล่าวเข้ามาสู่สำนวนในขั้นตอนของการสืบพยาน
ทนายจำเลยแถลงคัดค้านว่าพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นความลับของทางราชการแล้ว หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่จะเกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยในคดีนี้ นอกจากนี้พยานหลักฐานดังกล่าวก็มีจำนวนมากหากโจทก์นำส่งในวันสืบพยานทนายจำเลยเกรงว่าจะไม่สามารถตรวจสอบพยานหลักฐานได้อย่างถ้วนถี่ อัยการแถลงยืนยันต่อศาลว่าไม่อาจส่งมอบเอกสารหลักฐานดังกล่าวให้ได้ ศาลจึงบันทึกคำแถลงของทั้งสองฝ่ายไว้ในสำนวน
เนื่องจากโจทก์ระบุบัญชีพยานบุคคลมา 53 คน ศาลจึงถามว่าฝ่ายจำเลยจะพอรับข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพยานบางปากได้หรือไม่เพราะหากรับได้การพิจารณาคดีก็จะกระชับเพราะสามารถตัดพยานบุคคลบางส่วนไปได้ ทนายจำเลยแถลงว่าในส่วนของพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ถอดเทปการปราศรัย หากอัยการส่งมอบดีวีดีบันทึกการปราศรัยมาให้ตรวจสอบว่าข้อความตรงกับการถอดเทปก็อาจยอมรับข้อเท็จจริงและตัดพยานบางส่วนได้แต่ในภายหลัง ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์รวมแปดนัด
ทนายจำเลยแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานรวม 59 ปาก โดยนอกจากตัวจำเลยทั้งหมดเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองแล้วก็จะมีนักวิชาการอย่างวรเจตน์ ภาคีรัตน์และพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาร่วมเบิกความเป็นพยานจำเลยด้วย ศาลให้เวลาฝ่ายจำเลยสืบพยานแปดนัดเช่นเดียวกับฝ่ายโจทก์
ในวันนี้ศาลยังสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 22 ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ออกจากสารบบด้วย เนื่องจากคดีนี้มีทนายจำเลยหลายคนและมาจากต่างสำนักงาน การกำหนดวันนัดสืบพยานจึงไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องเพราะบางนัดจำเลยว่าไม่ตรงกันส่วนบางนัดที่ทนายจำเลยว่างตรงกันผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนก็ติดเป็นผู้พิพากษาเวร
คู่ความกำหนดวันนัดสืบพยานได้ในวันที่ 3 และ 30 พฤษภาคม 3 – 5 กรกฎาคม 10 – 12 กรกฎาคม 31 กรกฎาคม 21 – 23 สิงหาคม 4 – 6 กันยายน และ 18 กันยายน
26 ธันวาคม 2562
ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เวลาประมาณ 09.00 น. จำเลย และทนายความทยอยมาที่ศาลโดยรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณโรงอาหารของศาลแขวงดุสิต พร้อมกับผู้มาร่วมให้กำลังใจ จำเลยทุกคนท่าทางแจ่มใส และมีกำลังใจดีเยี่ยม
เวลาประมาณ 09.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 407 จำเลย และทนายความทยอยเข้าห้องพิจารณาคดี ในวันนี้ศาลแขวงดุสิตได้เปลี่ยนห้องพิจารณาคดีจากปกติคดีนี้จะพิจารณาคดีที่ห้อง 510 แต่ได้ย้ายห้องเป็นห้อง 407 อีกทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยยังแจ้งให้ใครที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาคดีต้องฝากโทรศัพท์มือถือไว้ข้างนอก ห้ามพกโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ซึ่งถือว่าเป็นวันที่เคร่งครัดเป็นพิเศษ จำเลยที่มาถึงห้องพิจารณาคดีเริ่มเช็คชื่อกับเจ้าหน้าที่ศาล และเจ้าหน้าที่ศาลขอเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยทุกคนไว้โดยแจ้งว่า ขอเก็บบัตรประชาชนไว้เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนต่อศาล ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ศาลได้สอบถามคนในห้องพิจารณาคดีว่ามีใครเป็นสื่อมวลชน หรือไม่เกี่ยวข้องในคดีหรือไม่ ขอให้ออกจากห้องพิจารณาคดี ให้อยู่เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น
จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.15 น. จำเลยมาที่ห้องพิจารณาคดีครบแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้เข้ามาในห้องพิจารณาคดี แต่ในคดีนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ได้สวมกุญแจมือกับจำเลยทุกคนก่อนฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 10.20 น. โดยผู้พิพากษาเริ่มขานชื่อจำเลยทีละคนแล้วให้แสดงตัวต่อศาล เมื่อแสดงตัวครบแล้วศาลจึงเริ่มอ่านคำฟ้องโจทก์ ข้อต่อสู้ของจำเลย เนื้อหาในการสืบพยาน และอ่านคำพิพากษาทันที
ศาลพิพากษาว่า ในคดีนี้แบ่งเป็นสี่ประเด็นด้วยกัน คือ
ประเด็นแรก ประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หรือไม่
ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามความสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เนื่องจาก แม้จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่องให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ในข้อที่ 1 ที่ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองฯ แต่ในข้อที่ ข้อที่ 8 ระบุให้ "การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติอและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามคำสั่งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ได้กระทำ หรือปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวก่อนวันที่ประกาศ หรือคำสั่งนั้น ๆ สิ้นผลใช้บังคับ…."
ซึ่งศาลเห็นว่า การกระทำชุมนุมในวันดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ประกาศใช้อยู่ เมื่อมีการกระทำเกิดขึ้นไปแล้ว จึงอ้างตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 22/2561 ข้อที่ 8 ไม่ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนถึงการกระทำใดที่เกิดขึ้นไปแล้วขณะที่มีกฎหมายบังคับใช้อยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามฐานความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น ตามมาตรา 17 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่สามารถอ้างตามมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องที่ว่าไม่มีกฎหมายกำหนดโทษไว้จึงไม่มีความผิดเกิดขึ้น ได้
ประเด็นที่สอง ประเด็นความผิดตามฟ้องของจำเลยทั้ง 46 คน
ศาลพิพากษา ยกฟ้องจำเลยทั้ง 46 คน เนื่องจากเห็นว่า พยานฝ่ายโจทก์ทั้ง 10 ปาก ต่างไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำเลยคนใดอยู่ในที่ชุมนุมจริงหรือไม่ หรือไม่สามารถระบุได้ว่าจำเลยคนใดเดินบนพื้นผิวถนนจริงหรือไม่ในวันเกิดเหตุ แม้ในการสืบพยานจะมีภาพถ่ายของผู้ชุมนุมมายืนยัน แต่พยานโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ถ่ายภาพด้วยตัวเอง ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังมีข้อสงสัย จึงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย พิพากษายกฟ้องในคดีนี้
ประเด็นที่สาม ประเด็นผู้จัดการชุมนุม และผู้ดูแลการชุมนุมไม่ดูแลการชุมนุมตามหนังสือแจ้งการชุมนุม
ศาลพิพากษาว่า จากการสืบพยานพบว่า ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการชุมนุม ตามกฎหมายจริง และไม่สามารถควบคุมการชุมนุมตามที่แจ้งในหนังสือแจ้งการชุมนุมได้ จึงตัดสินให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 15 (2) (4) มาตรา 30 และ มาตรา 31 โดยให้ลงโทษตามมาตรา 31 ปรับ 1,000 บาท เนื่องจากศาลเห็นว่า ชลธิชา ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจร ไม่สามารถควบคุมให้ผู้ชุมนุมไม่เคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 18.00 น. และไม่สามารถเลิกการชุมนุมตามเวลาที่แจ้งไว้ในหนังสือแจ้งการชุมนุมฯ จึงตัดสินให้ ชลธิชา มีความผิดในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ประเด็นที่สี่ ประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 20 และ 46 ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไปชุมนุม ถือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมด้วยหรือไม่
ประเด็นนี้ศาลตัดสินให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้ว่าจำเลยทั้ง 2 คน เป็นผู้จัดการชุมนุมฯ ร่วมกับชลธิชาได้ โดยให้เหตุผลว่า แม้โจทก์จะอ้างว่า จำเลยทั้ง 2 คน เป็นผู้มอบอำนาจให้ ชลธิชา จำเลยที่ 2 ไปแจ้งการชุมนุมฯ แต่พยานฝ่ายโจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการมอบอำนาจให้ชลธิชาจริงหรือไม่ และแม้ทั้ง 2 คนจะโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะไปร่วมชุมนุม พยานฝ่ายโจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นการโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อเป็นการเชิญชวนคนไปชุมนุม หรือเป็นการโพสต์เพื่อแจ้งคนอื่นว่าจะไปเข้าร่วมชุมนุม เมื่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังมีข้อสงสัย จึงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย พิพากษายกฟ้องในประเด็นนี้ด้วย
หลังจากอ่านคำพิพากษาเสร็จ จำเลยทุกคนได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี และลงมาถ่ายรูปร่วมกันบริเวณหน้าศาลแขวงดุสิต