25 มกราคม 2561
เฟซบุ๊กเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมทำกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์ที่บริเวณสกายวอล์กสถานีรภไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ หน้าหอศิลปกรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 และประท้วงการสืบทอดอำนาจของคสช.
26 มกราคม 2561
เฟซบุ๊กเพจ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ภาพแสดงจุดนัดพบในการทำกิจกรรม พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม
27 มกราคม 2561
เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำกิจกรรมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยว่าเจ้าหน้าที่จะเฝ้าติดตามการทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด โดยจะเน้นทำความเข้าใจและขอความร่วมมือไม่ให้มีการกระทำที่เกินกรอบของกฎหมาย
ในเวลาประมาณ 17.20 น. ประชาชนเริ่มมารวมตัวกันที่จุดนัดพบบนสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่น การสวมใส่ผ้าปิดปากสีแดงที่เขียนคำว่า “NO COUP” และการยกโทรศัพท์มือถือที่เขียนคำว่า “หมดเวลา” บนหน้าจอแสดงต่อผู้ที่เดินผ่านไปมาบริเวณนั้น
ในที่ชุมนุมยังมีผู้สื่อข่าวมารอทำข่าวอยู่เป็นจำนวนมากและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาเฝ้าสังเกตการณ์ด้วย ระหว่างการจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเข้ามาพูดคุยกับณัฏฐา หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานว่า ให้ย้ายไปทำกิจกรรมบริเวณจุดกึ่งกลางสกายวอล์คที่ตั้งอยู่พอดีกับเกาะกลางถนนแยกปทุมวัน
ตัวอย่างปฏิทินและใบปลิวที่มีการแจกระหว่างกิจกรรม
ระหว่างการทำกิจกรรมณัฏฐาให้ข้อมูลว่าในวันนี้ผู้จัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมและไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียง ในเวลา 17.30 น. ผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณที่เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าบีทีเอสจัดไว้ ผู้ชุมนุมมีการนำป้ายไวนิลภาพข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาแสดงและมีการแจกปฏิทินนาฬิกาให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมด้วย ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปสมบัติและวีระซึ่งเป็นนักกิจกรรมอาวุโสได้มาในบริเวณที่จัดงานด้วยโดยทั้งสองระบุว่ามาร่วมสังเกตการณ์ก่อนจะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆ
ในเวลา 17.55 น. ณัฏฐา อ่านแถลงการณ์ประณามคสช.เรื่องการตั้งข้อหาเพื่อปิดปากและละเมิดสิทธิพลเมือง โดยพูดถึงการตั้งข้อหากับประชาชนแปดคนที่ร่วมกิจกรรมวีวอล์กและการตั้งข้อกล่าวหากับชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการอาวุโสและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คสช.ยุติการดำเนินคดี
ในเวลา 18.30 น. พ.ต.อ.ภพธร จิตหมั่น ผู้กำกับสน.ปทุมวันพร้อมตำรวจในเครื่องแบบประมาณห้านายเดินทางมายังพื้นที่ชุมนุมและสอบถามว่า การชุมนุมจะสิ้นสุดเมื่อใด สิรวิชญ์ในฐานะตัวแทนของผู้จัดกิจกรรมได้แจ้งว่า ขอจัดกิจกรรมจนถึงเวลา 19.00 น. หลังจากนั้นพ.ต.อ.ภพธร กล่าวว่าขอให้ยุติกิจกรรมในเวลาที่ตกลงกันและเตือนเรื่องการใช้เครื่องกระจายเสียง เนื่องจากไม่ได้มีการขออนุญาต
รังสิมันต์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมประกาศในที่ชุมนุมด้วยว่าถ้าคสช.ไม่ถอนการแจ้งข้อหากับแปดแกนนำ People GO และชาญวิทย์ รวมทั้งไม่ดำเนินการใดกับพล.อ.ประวิตร ทางกลุ่มจะไปรวมตัวกันที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 กุมภาพันธ์
การทำกิจกรรมในวันนี้ยุติลงในเวลา 19.00 น. โดยไม่มีการจับกุมหรือตั้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมกิจกรรม
ภาพบรรยากาศกิจกรรมในวันที่ 27 มกราคม 2561
29 มกราคม 2561
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าได้มอบหมายให้รองผบ.ตร.ด้านความมั่นคงตรวจสอบเรื่องการชุมนุมในวันที่ 27 มกราคมแล้วว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายใดหรือไม่
30 มกราคม 2561
บีบีซีไทยรายงานว่า ในวันที่ 29 มกราคม 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเจ็๋ดนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งในวันที่ 27 มกราคม 2561 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง
นักกิจกรรมหเจ็ดคนที่ถูกเรียกตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้แก่ รังสิมันต์ สิรวิชญ์ ณัฎฐา อานนท์ เอกชัย สุกฤษฎ์ และเนติวิทย์ โดยทางสน.ปทุมวันจะออกหมายเรียกให้บุคคลทั้งเจ็ดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น.
30 มกราคม 2561
โพสต์ทูเดย์ออนไลน์รายงานว่า พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ หัวหน้างานสอบสวนสน.ปทุมวันร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร่วมกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯรวม 39 คนในข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุม โดยมีผู้ต้องหาเจ็ดคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดีชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 (คดีรังสิมันต์: ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39) ไปก่อนหน้านี้รวมอยู่ด้วย
ในวันเดียวกันหลังมีข่าวนักกิจกรรมและประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมรวม 39 คน ณัฏฐา หนึ่งในเจ็ดผู้ต้องหาคดี รังสิมันต์: ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประกาศจะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อประณามและเรียกร้องให้ยุติการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561
1 กุมภาพันธ์ 2561
เวลาประมาณ 17.30 น. นัฎฐาและประชาชนส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีนี้ร่วมทำกิจกรรมร้องเพลงชาติแห่งความเงียบที่บริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอนท่ามกลางการจับตาโดยเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
เจ้าหน้าที่ของห้างยังได้นำรั้วเหล็กติดข้อความสถานที่ส่วนบุคคล ห้ามจัดกิจกรรมก่อนได้รับอนุญาตจำนวนหนึ่งมาวางบริเวณลานหน้าห้างด้านที่ติดกับประตูทางเข้าห้างด้วย
เมื่อณัฏฐาเริ่มแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ของห้างได้พยายามเข้ามาเจรจาเพื่อให้ยุติการทำกิจกรรมโดยชี้แจงว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลแต่ณัฏฐาก็ยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไป โดยตลอดเวลาที่มีการเจรจามีการผลักดันกันไปมาแต่ก็ไม่มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น
ในเวลาประมาณ 18.00 ณัฏฐาและผู้ร่วมกิจกรรมอีกสามคนเอาเทปกาวปิดปากและยืนเงียบที่บริเวณบันไดหน้าห้างด้านที่มีน้ำพุ การยืนเงียบดำเนินไปถึงเวลา 18.30 น.ณัฏฐาจึงแถลงข่าวปิดท้ายกับผู้สื่อข่าวสั้นๆก่อนที่จะสลายตัว ซึ่งเมื่อณัฏฐายุติกิจกรรมแล้วเดินเข้าไปในห้างมีเจ้าหน้าที่ของห้างติดตามเข้าไปเพื่อสังเกตการณ์ว่าณัฏฐาจะทำกิจกรรมในห้างต่อหรือไม่ด้วย แต่ก็ไม่มีการทำกิจกรรมหรือการควบคุมตัวบุคคลใดเกิดขึ้นหลังจากนั้น
กิจกรรมร้องเพลงชาติแห่งความเงียบ
2 กุมภาพันธ์ 2561
นัดรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา
ผู้ถูกออกหมายเรียกในคดีนี้ประมาณ 20 คนเดินทางมาที่สน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา ขณะที่ผู้ต้องหาคดี รังสิมันต์: ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์เดียวกันและพนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหามาพบในวันและเวลาเดียวกันมีณัฏฐาคนเดียวที่มารายงาน
สำหรับผู้ต้องหาที่ไม่ได้มารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ก็ให้ทนายมาขอเลื่อนนัดกับพนักงานสอบสวนโดยอ้างเหตุว่าติดภารกิจและพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกอย่างกระชั้นชิด
ตั้งแต่ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่สน.ปทุมวันมีการนำรั้วเขียนข้อความ "เขตหวงห้าม ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต" มากั้นไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปในสน.ปทุมวันด้วย โดยในวันนี้นอกจากผู้ถูกดำเนินคดีและทนายแล้วก็มีประชาชนประมาณ 30 คนมาคอยสังเกตการณ์และให้กำลังใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย
ขณะเดียวกันทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็มีพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงมาดูแลการดำเนินการงานที่สน.ปทุมวันด้วยตัวเอง
เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดที่มารายงานตัวประสงค์จะให้การเลย แต่ก็ได้รับแจ้งจากทนายว่าเจ้าหน้าที่จะส่งตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลฝากขังต่อทันที ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงตกลงกันว่าจะให้ทนายขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเนื่องผู้ที่มาบางคนไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว
จากนั้นผู้ต้องหาและทนายจึงใช้พื้นที่บริเวณตลาดสามย่านเขียนคำร้องไปยื่นขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561
ผู้มารายงานตัวหารือกับทีมทนายความเรื่องแนวทางการเข้ารายงานตัวที่บริเวณตลาดสามย่าน
หลังยื่นคำร้องผู้ต้องหาและทนายรอฟังคำสั่งจากเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณสองถึงสามชั่วว่าจะให้เลื่อนหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีคำสั่งลงมา ผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมทั้งทนายจึงเดินทางกลับ
ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวและออกหมายเรียกใหม่นัดให้ผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดมารายงานที่สน.ปทุมวันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเมื่อมีการออกหมายเรียกครบสองครั้ง หากผู้ต้องหาคนใดไม่มาในนัดหน้าทางตำรวจก็สามารถขอศาลออกหมายจับได้ทันที
ในวันเดียวกัน
ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.เปิดเผยว่าเตรียมจะแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมกับบุคคลที่อยู่ร่วมในที่ชุมนุมอีกสองคนได้แก่สมบัติและวีระ เพราะมีหลักฐานว่าทั้งสองร่วมการปราศรัยด้วย
8 กุมภาพันธ์ 2561
นัดรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา
ตั้งแต่ช่วงเช้า สน.ปทุมวันมีการเตรียมรับการรายงานตัวของผู้ต้องหา #MBK39 ด้วยการกั้นรั้วบริเวณทางเข้าสน.และติดป้ายเขียนข้อความ "พื้นที่หวงห้าม ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต" ในเวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ต้องหา ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ทยอยเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสน.ปทุมวัน นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง มาเตรียมตัวเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหา พร้อมกับแถลงจุดยืนต่อการดำเนินคดีประชาชนในกรณีนี้
ในวันนี้ผู้ที่มาแสดงตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันมีทั้งหมด 34 คน 29 คนถูกกล่าวหาว่า เป็๋นผู้เข้าร่วมการชุมนุม ถูกแจ้งข้อกล่าวหารวมสองข้อ คือ สนับสนุนการชุมนุมในบริเวณที่ห่างจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ถึง 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 และข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12
อีกห้าคน ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดกิจกรรม ถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสามข้อกล่าวหา ได้แก่ ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ชุมนุมในบริเวณที่ห่างจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ถึง 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 และข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12
นอกจากผู้ต้องหาที่มาศาลในวันนี้ 34 คน คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกห้าคน ได้แก่ นพเก้า ผู้สื่อข่าวข่าวสดซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมการชุมนุมซึ่งมารับทราบข้อกล่าวหาไปตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 และผู้ต้องหาอีกสี่คนได้แก่เอกชัย อานนท์ สิรวิชญ์ และรังสิมันต์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้ ยังไม่มารายงานตัว แต่ได้มอบหมายให้ทนายความมาขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน
ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนผู้ต้องหาที่มารายงานตัวส่วนหนึ่งแสดงสัญลักษณ์และถ่ายภาพร่วมกัน ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งยังสวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความ #MBK39 ด้วย ในเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินเข้าไปในสน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ทางตำรวจได้เตรียมพนักงานสอบสวนไว้ 8 คน และจัดผู้ต้องหาพร้อมทนายความและผู้ได้รับความไว้วางใจให้เข้าสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเป็นชุด ชุดละ 8 คน
ผู้ต้องหาที่มารายงานตัวในวันนี้เกือบทั้งหมดให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และใช้สิทธิที่จะไม่ให้การในรายละเอียดแต่จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน มีเพียงนพพรเท่านั้นที่ให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งหมดว่า จะไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาแต่ขอนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งหมดพบที่ศาลในเวลา 14.00 น.ด้วยตัวเอง
ผู้ต้องหา 29 คนที่ถูกตั้งข้อหาฐานเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม เดินเท้าจากสน.ปทุมวันไปพบพนักงานสอบสวนที่ศาลแขวงปทุมวัน โดยมีตำรวจคอยดูแลการจราจรตลอดเส้นทาง ส่วนผู้ต้องหาห้าคนที่ถูกตั้งข้อหาฐานเป็นผู้จัดกิจกรรมเดินทางไปรอพบพนักงานสอบสวนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
ที่ศาลแขวงปทุมวัน เมื่อทุกคนเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่ศาลได้ให้ผู้ต้องหาทุกคนขึ้นไปรอที่ห้องพิจารณาคดี และให้ทนายความเข้าไปได้เพียง 3-4 คนเท่านั้น เนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก ส่วนคนอื่นที่มาให้กำลังใจต้องรออยู่ด้านหลัง
พนักงานสอบสวนที่มาถึงยื่นคำร้องขอผัดฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอฝากขัง เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็ได้เพียงอธิบายให้กับผู้ต้องหาฟังว่า คดีนี้ตำรวจไม่ได้ขอให้ควบคุมตัว ทุกคนจึงกลับบ้านได้และต้องมารายงานตัวต่อศาลตามวันเวลาที่นัดหมาย ซึ่งจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
สำหรับนพพรผู้ต้องหาที่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาลอีกครั้งหนึ่ง และศาลนัดให้มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มีนาคม 2561 พร้อมกับนพเก้า ผู้ต้องหาที่มารับทราบข้อกล่าวหาและให้การรับสารภาพไปก่อนหน้านี้แล้ว
7 มีนาคม 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในเวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน นัดผู้ต้องหาทั้ง 28 ที่ให้การปฏิเสธส่งตัวให้อัยการศาลแขวงปทุมวัน ในวันนี้มีผู้ต้องหามารายงานตัวทั้งหมด 24 คน ส่วนอีกสี่คนขอเลื่อนการรายงานตัวเพราะติดภารกิจ ในวันนี้ทางฝ่ายผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการและขอให้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม โดยเฉพาะพยานผู้เชี่ยวชาญได้แก่ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม ตามกรอบรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทั้งหมด
หลังรับหนังสือขอความเป็นธรรม อัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนไปทำการสอบสวนเพิ่มเติม และนัดให้ผู้ต้องหามาพบอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น
8 มีนาคม 2561
นัดฟังคำพิพากษา
เวลา 9.00 น. นพเก้าและนพพร สองจำเลยที่ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลเดินทางมาที่ศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษา บรรยากาศโดยทั่วไปที่หน้าศาลวันนี้ไม่มีประชาชนมาให้กำลังใจจำเลยทั้งสอง แต่ในช่วงเวลาประมาณ 9.10 น. พบว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลคนหนึ่งมานั่งอยู่บริเวณป้ายหน้ารั้วศาล และที่หน้าอาคารศาลก็มีเก้าอี้สีขาวประมาณ 10 – 20 ตัวมาตั้งไว้
ในเวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยทั้งสองแยกกันเข้าห้องพิจารณาคดีคนละห้องเนื่องจากอัยการฟ้องคดีแยกกัน นพเก้าเข้าห้องพิจารณาคดีที่ 4 ส่วนนพพรเข้าห้องพิจารณาคดีที่ 6 โดยที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งกับนพเก้าซึ่งนั่งรอที่หน้าห้องว่าศาลขอให้เขาเข้าไปฟังคำพิพากษาคนเดียว ส่วนห้องพิจารณาคดีที่ 6 ทนายและผู้ช่วยทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าไปร่วมฟังคำพิพากษากับนพพรได้
ศาลใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษาประมาณห้าถึงสิบนาทีก็แล้วเสร็จ นพพรซึ่่งออกจากห้องพิจารณาคดีมาก่อนแจ้งกับไอลอว์ว่าศาลแขวงปทุมวันพิพากษาว่าเขามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 2 รื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และความผิดตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชุมนุมในระยะห่างไม่ถึง 50 เมตรจากเขตพระราชฐาน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นบทหนัก ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 วัน และปรับเป็นเงิน 6000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 วัน ปรับ 3000 บาท เนื่องจากนพพรไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดหนึ่งปี
หลังนพพรออกจากห้องพิจารณาคดีได้ประมาณห้านาทีนพเก้าก็เดินออกมาจากห้องพิจารณาคดีที่ 4 และแจ้งว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีของเขาเหมือนกับคดีของนพพร หลังฟังคำพิพากษาเสร็จนพเก้าและนพพรก็ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาก่อนจะเดินทางกลับ โดยเมื่อออกมาที่หน้าประตูศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เคยนั่งอยู่บริเวณป้ายหน้ารั้วศาลก็ไม่ได้นั่งอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว.
นพเก้าและนพพรแสดงใบเสร็จค่าปรับ 3000 บาทของศาลแขวงปทุมวัน
9 มีนาคม 2561
นัดฟังคำสั่งอัยการ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตามที่อัยการศาลแขวงปทุมวันนัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวันในวันนี้ ปรากฎว่ามีผู้ต้องหาเดินทางมารายงานตัวรวม 23 คน ส่วนผู้ต้องหาอีกห้าคนให้ทนายมาขอเลื่อนการรายงานตัวเนื่องจากติดภาระกิจไม่สามารถเดินทางมาได้
สำหรับคำสั่งคดี อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าการฟ้องคดีนี้จะไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการเจ้าของสำนวนยังไม่ถือเป็นที่สุด แต่จะต้องส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งเป็นที่สุด โดยอัยการเจ้าของสำนวนนัดให้ผู้ต้องหามาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 19 เมษายน 2561 เวลา 10.00 น.
19 เมษายน 2561
นัดฟังคำสั่งอัยการสูงสุด
ประชาไทรายงานว่า อัยการศาลแขวงปทุมแจ้งกับผู้ต้องหาที่มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งคดีจากอัยการสูงสุดว่าจะขอเลื่อนการอ่านคำสั่งคดีออกไปก่อนเป็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2561
23 พฤษภาคม 2561
นัดฟังคำสั่งอัยการ
อัยการศาลแขวงปทุมวันแจ้งกับผู้ต้องหาว่าจะขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการสูงสุดออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 26 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 น. โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่มีการเลื่อนนัดอ่านคำสั่งคดีของอัยการสูงสุด
26 มิถุนายน 2561
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าอัยการศาลแขวงปทุมวันเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 โดยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดนัดนี้นับเป็นการเลื่อนครั้งที่สามแล้ว
31 กรกฎาคม 2561
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ให้ข้อมูลว่าอัยการศาลแขวงปทุมวันเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 25 กันยายน 2561 โดยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดนัดนี้นับเป็นการเลื่อนครั้งที่สี่แล้ว
5 กันยายน 2561
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เวลา 9.00 น. นพเก้าและทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยในวันนี้ไม่มีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจแต่อย่างใด
ศาลอ่านคำพิพากษาให้นพเก้าฟังโดยสรุปความได้ว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ว่านพเก้ามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และความผิดตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชุมนุมในระยะห่างไม่ถึง 50 เมตรจากเขตพระราชฐาน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นบทหนัก
ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 วัน และปรับเป็นเงิน 6000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 วัน ปรับ 3000 บาท เนื่องจากนพเก้าไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดหนึ่งปี
25 กันยายน 2561
นัดฟังคำสั่งอัยการสูงสุด
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561
27 พฤศจิกายน 2561
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562
7 สิงหาคม 2562
สงวน หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลว่าอัยการสูงสุดนัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 โดยในชั้นอัยการมีการเลื่อนการสั่งคดีมาแล้ว 13 ครั้ง
28 สิงหาคม 2562
สงวนโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า อัยการสูงสุดเลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เพราะยังทำสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ โดยสงวนระบุว่าคดีนี้มีการเลื่อนการสั่งคดีมาแล้ว 16 ครั้ง
30 ตุลาคม 2562
สงวน หนึ่งในผู้ต้องหา
โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่านัดฟังคำสั่งอัยการถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 24 ธันวาคม 2562 โดยสงวนระบุด้วยว่าเป็นเวลากว่า 20 เดือนแล้วที่การสั่งคดีนี้ถูกเลื่อนออกไป
19 พฤศจิกายน 2562
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ได้รับแจ้งจากอัยการว่า ตามที่อัยการเคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้และได้ส่งความเห็นกลับไปให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณานั้น บัดนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นความเห็นเดียวกับอัยการ คดีจึงเป็นอันยุติ
22 พฤศจิกายน 2562
ผู้ต้องหา 15 คน ที่มีวันว่างตรงกันนัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันในเวลา 10.00 น. เพื่อรับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีจากพนักงานสอบสวน ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือจะมารับหนังสือในภายหลังตามที่แต่ละคนสะดวก
สำหรับบรรยากาศที่หน้าสน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่ไม่ได้เตรียมการวางกำลังใดๆไว้เป็นพิเศษ มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายครึ่งท่อนสวมเสื้อคลุมหนึ่งนายที่มาสังเกตการณ์และถ่ายภาพผู้ต้องหาที่มารายงานตัว
ผู้ต้องหา 15 คน ทยอยมาถึงหน้าสน.ปทุมวันตั้งแต่เวลา 9.00 น. พร้อมกับมีการทำป้ายไวนิลเขียนข้อความ"หยุดนิติสงคราม " "หยุดปิดปากประชาชน" "หยุดลิรอนสิทธิขั้นพื้นฐานปชช(ประชาชน)" "หยุดยัดเยียดข้อกล่าวหาปชช" มาถือถ่ายภาพร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีผู้ต้องหาบางส่วนที่สวมเสื้อสกรีนข้อความ #MBK39 มาเพื่อถ่ายภาพร่วมกัน
ในเวลาประมาณ 10.30 น. ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน พร้อมทนายความเดินเท้าเข้าไปที่สน.ปทุมวันพร้อมกันเพื่อรับหนังสือแจ้งความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ซึ่งให้เหตุผลประกอบคำสั่งไม่ฟ้องคดีโดยสรุปได้ว่า
ในส่วนของข้อกล่าวหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ออกมายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังกำหนดให้การกระทำไม่เป็นความผิด และให้ผู้กระทำการพ้นจากความผิดผู้ต้องหาทั้ง 28 คน จึงพ้นจากความผิดในข้อกล่าวหานี้
ในส่วนของข้อกล่าวหาสนับสนุนการจัดการชุมนุมสาธารณะในระยะไม่เกิน 150 จากเขตพระราชฐานหรือที่ประทับของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า เห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 28 คน เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ได้ทำการปราศรัย เข้าช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวกต่อผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด พยานหลักฐานยังไม่พอฟังได้ว่าทั้งหมดเป็นผู้สนับสนุนการจัดการชุมนุมสาธารณะ ทั้งการชุมนุมก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อกล่าวหานี้ จึงไม่คำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 28 คน
หลังรับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ต้องหาคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นอัยการเจ้าของสำนวนคดีนี้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งตามระเบียบอัยการมีอิสระที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้ อย่างไรก็ตามหลังมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องก็จะต้องมีการกลั่นกรองความเห็นของอัยการโดยอัยการสูงสุดจะต้องเป็นผู้พิจารณาความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม อัยการเจ้าของสำนวนจึงแจ้งให้ทางตำรวจไปดำเนินการสอบสวนต่อแต่สุดท้าย ทางตำรวจก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องซึ่งพ้องกับความเห็นของอัยการ คดีจึงเป็นอันยุติ
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังระบุด้วยว่า จริงๆกลไกในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการจนถึงศาล ควรจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ซึ่งในคดีนี้อัยการก็กลั่นกรองสำนวนของพนักงานสอบสวนว่ามีน้ำหนักพอฟ้องผู้ต้องหาได้หรือไม่ ซึ่งในคดีอื่นๆบางคดีโดยเฉพาะคดีที่เป็นคดีนโยบายหรือคดีที่ผู้ต้องหาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจกลไกในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจและอัยการก็มักรับลูกฟ้องคดีสู่ศาลแล้วให้ศาลไปยกฟ้องซึ่งเป็นการสร้างภาระให้ผู้ต้องหา
สุวรรณา หนึ่งในผู้ต้องหาระบุว่า หลังอัยการและตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เธอก็ยังเหลือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอยู่อีกสองคดีได้แก่คดีการชุมนุมที่หน้ากองทัพบกที่จะพิพากษาในเดือนธันวาคมปีนี้กับคดีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่พัทยาซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้ที่อัยการและตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง สุวรรณาเห็นว่าคดีนี้จริงๆไม่ควรแจ้งข้อหาแต่แรกอยู่แล้วเพราะพวกเธอแค่อยากเลือกตั้งและแม้จะมีการสั่งไม่ฟ้องคดีแต่ที่ผ่านมาเธอและเพื่อนๆก็ต้องมาพบอัยการเพื่อฟังคำสั่งหลายต่อหลายครั้งเพราะอัยการเลื่อนนัดไปประมาณเกือบๆ 20 ครั้งทำให้เสียเวลา สุวรรณาระบุด้วย มันเป็นเรื่องตลกที่การเรียกร้องให้คสช.และรัฐบาลทำตามโรดแมปในการจัดเลือกตั้งกลับกลายเป็นเหตุให้พวกเธอถูกดำเนินคดี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่รู้จะมีโรดแมปไปทำไม
ขณะที่พัฒน์นรี หรือแม่ของสิรวิชญ์หรือ "จ่านิว" นักกิจกรรมก็ระบุว่า เธอรู้สึกโล่งที่ในที่สุดคดีนี้ก็ยุติเสียที ในฐานะคนทำมาหากินเธอรู้สึกว่าคดีนี้ทำให้เสียโอกาสและรายได้ เนื่องจากบ้านเธออยู่มีนบุรีทุกครั้งที่ต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อฟังคำสั่งอัยการเธอจะเสียเวลาเดินทางไปกลับหลายชั่วโมงทำให้ไม่สามารถรับจ้างทำงานในวันนัดได้ แต่ปลายกฎว่าพอมาที่สำนักงานอัยการก็ได้แต่เซ็นรับทราบคำสั่งเลื่อนนัดซึ่งใช้เวลาไม่เกินสองสามนาที แต่ก็เป็นสองสามนาทีที่ทำให้เธอเสียโอกาสหารายได้ไปทั้งวัน พัฒน์นรีระบุด้วยว่าในวันเกิดเหตุเธอไม่ได้ยืนอยู่กับผู้ชุมนุมหรือมีส่วนร่วมใดๆในการชุมนุม เธอแค่มาดูแลลูก เผื่อว่าลูกถูกจับจะได้ตามไปที่สน.ได้ทั้นท่วงทีแต่ปรากฎว่าสุดท้ายก็มีหมายมาว่าโดนด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรหรือจะเพราะ "หน้ามันฟ้อง" ก็ไม่อาจทราบได้