- คดีมาตรา116, ฐานข้อมูลคดี
ออด: ติดป้ายแยกประเทศที่อำเภอเมืองพะเยา
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
ในเวลาต่อมาอัยการอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนยกฟ้องจำเลยทั้งสามในวันที่ 21 กันยายน 2561
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
พ.ต.ท.หญิงจุฑารัตน์เบิกความว่าแผ่นป้ายไวนิลทั้งหมดถูกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ชนิดเดียวกันคือเครื่องบินแบบหมึกพ่น ตัวอักษรมีลักษณะคล้ายกันแต่ลักษณะไม่เด่นชัดพอจะระบุได้ว่าแผ่นป้ายทั้งหมดพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์เดียวกันหรือไม่ ขณะที่การตรวจสอบแผ่นป้ายไวนิลที่ตรวจยึดมาทั้งหมดพบว่า แผ่นป้ายบางแผ่นมีรอยตัดที่เข้ากันได้เมื่อนำมาต่อกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าแผ่นป้ายทุกแผ่นที่ตรวจยึดมาผลิตจากไวนิลผืนเดียวกันทั้งหมดหรือไม่
พยานโจทก์ปากนี้เป็นปากสุดท้ายที่ศาลจะสืบผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังสืบพยานปากนี้เสร็จศาลนัดสืบพยานอีกครั้งวันที่ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560
ออด ถนอมศรีและสุขสยามเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 2 ศาลจังหวัดพะเยาในเวลาประมาณ 8.30 น. ต่อมาในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มพิจารณาคดีอื่นก่อนจะเริ่มพิจารณาคดีนี้ในเวลาประมาณ 9.45 น.
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พ.ต.ท.สรัญรัฐ ชยนนท์ ผู้ตรวจยึดของกลาง
พ.ต.ท.สรัญรัฐ เบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจอยู่ที่สภ.เมืองพะเยาในตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปราม มีอำนาจหน้าที่ติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด
เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 6.30 น. ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุพะเยา ว่ามีป้ายผ้าเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดที่บริเวณสะพาน
เมื่อได้รับแจ้งตัวเขากับพวกจึงเดฺินไปตรวจสอบ พบว่ามีป้ายพื้นสีแดงตัวหนังเสือสีดำเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ขนาดกว้าง 98 เซนติเมตร ยาวสิบเมตร
พ.ต.ท.สรัญรัฐ เบิกความว่ามื่อเห็นป้ายดังกล่าวตนได้บันกภาพไว้และสั่งให้ผู้ใตั้บังคับบัญชาคืิอด.ต.จำนงค์ มั่งมูล ปลดและยึดป้ายดังกล่าว จากจุดที่ถูกแขวนไว้ได้แก่สะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินบริเวณโรงเรียนบ้านร่องห้า ฝั่งขาล่องจากจังหวัดเชียงรายมุ่งสู่จังหวัดพะเยา
พ.ต.ท.สรัญรัฐเบิกความต่อว่าหลังทำการตรวจยึดป้ายผ้าดังกล่าวได้แจ้งผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับเหตุดังกล่าวและได้มอบป้ายผ้าที่ถูกยึดไว้ให้กับชุดสืบสวนเพื่อติดตามหาคนกระทำความผิดมาดำเนิน
พ.ต.ท.สรัญรัฐเบิกความรับรองกับอัยการว่าตัวเองเป็นผู้ถ่ายภาพป้ายผ้าบนสะพานลอยที่อยู่ในสำนวนคดีนี้และได้เคยให้การกับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่ไม่ทราบเรื่องการจับกุมตัวจำเลยทั้งสามในคดีนี้และไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยจึงถาม พ.ต.ท.สรัญรัฐว่าได้ติดตามต่อหรือไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด พ.ต.ท.สรัญรัฐตอบว่าไม่ได้ติดตาม ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า ไกรสร พยานผู้อยู่อาศัยละแวกนั้น
ไกรสรเบิกความว่าตัวเองประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากอยู่อาศัยใกล้ที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์บางส่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชิญมาเป็นพยาน
ไกรสรเบิกความว่าช่วงคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2557 ตนเองไปสังสรรค์กับเพื่อนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง และขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านในเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของวันที่ 1 มีนาคม โดยขี่รถไปตามถนนพหลโยธินจากตัวเมืองพะเยามุ่งหน้าสู่บ้านร่องห้า โดยถนนพหลโยธินในขณะนั้นมีไฟทางเปิดให้แสงสว่างตลอดแนว
ไกรสรเบิกความต่อว่าเมื่อมาถึงบริเวณสะพานลอยโรงเรียนบ้านร่องห้าซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ เห็นคนประมาณสี่ถึงห้าคนอยู่บนสะพานลอยและมีรถกระบะหนึ่งคันจอดอยู่ที่ตีนสะพาน เท่าที่เห็นมีคนบนสะพานหนึ่งถึงสองคนที่ใส่เสื้อสีแดง และบุคคลเหล่านั้นเอาป้ายผ้ามาคลี่อยู่บนสะพาน ตนเองเข้าใจว่าเป็นคนของเทศบาลมาติดป้ายจึงไม่ให้ความสนใจ โดยในขณะตัวเองขี่รถผ่านและมองเห็นคนบนสะพานกำลังคลี่แผ่นป้ายแต่ยังไม่ได้ติด
ไกรสรเบิกความว่าหลังวันเกิดเหตุประมาณหนึ่งสัปดาห์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามบริเวณละแวกบ้านว่าเห็นคนมาติดป้ายหรือไม่ จึงได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ดังที่เบิกความต่อศาล
ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่พาตนเองไปสอบปากคำที่สภ.เมืองพะเยาโดยให้ดูภาพป้ายผ้าที่มีข้อความเขียนแต่ในวันเกิดเหตุตัวไกรสรไม่ได้สังเกตว่าป้ายดังกล่าวเขียนข้อความอะไร ต่อมาเจ้าหน้าที่เชิญไปให้ปากคำอีกครั้ง
ครั้งนี้มีภาพบุคคลซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามและภาพรถกระบะมาให้ดูแต่ตนไม่ได้ยืนยันภาพดังกล่าวเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นบุคคลหรือรถคันที่เห็นในวันเกิดเหตุหรือไม่ อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามไกรสรว่าสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่ามีจำเลยทั้งสามอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่ ไกรสรตอบว่ายืนยันไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้สังเกต ตอนแรกที่มองไปบนสะพานเห็นคนอยู่ก็กลัวว่าจะเป็นลูกของตัวเองที่ไปเที่ยวแล้วมีเรื่องมีราวกับคนอื่นบนสะพาน แต่พอเห็นว่าคนบนสะพานไม่ได้กำลังมีเรื่องแต่มีการคลี่ป้ายจึงไม่ได้สนใจ
ทนายจำเลยถามว่าไกรสรเห็นข้อความของป้ายในวันเกิดเหตุหรือไม่ ไกรสรตอบว่าเห็นแค่คนกำลังจะติดป้ายแต่ไม่รู้เป็นป้ายอะไร ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง
สืบพยานโจทก์ปากที่หก ด.ต.จำนงค์ มั่งมูล ผู้ตรวจยึดหลักฐาน
ด.ต.จำนงค์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจที่สภ.เมืองพะเยา โดยปฏิบัติหน้าที่สายตรวจรถยนต์ร่วมกับพ.ต.ท.สรัญรัฐ ในเวลาประมาณ 6.30 น.ของวันที่ 1 มีนาคม 2557 ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุงำเมืองว่ามีแผ่นป้ายเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดที่สะพานลอยโรงเรียนบ้านร่องห้า จึงเดินทางไปทำการตรวจสอบ
ด.ต.จำนงค์เบิกความต่อว่าสะพานลอยดังกล่าวตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินซึ่งเป็นถนนสี่เลน ขึ้นสองเลนล่องสองเลนมีไฟส่องสว่างตลอดทาง สะพานลอยที่เกิดเหตุยาวประมาณ 16 เมตร แผ่นป้ายซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้ติดอยู่ตรงกลางสะพานลอยฝั่งหากขับรถไปตามถนนพหลโยธินป้ายจะติดอยู่ฝั่งขาล่องจากจังหวัดเชียงรายมุ่งหน้าลงจังหวัดพะเยา
ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าแผ่นป้ายดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายสีแดง ตัวหนังสือสีดำ เป็นอันเดียวกับภาพถ่ายหลักฐานที่อัยการให้ดู พ.ต.ท.สรัญรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้ตัวเขาทำการปลดแผ่นป้ายดังกล่าว โดยแผ่นป้ายถูกขึงด้วยเชือกสีเขียวด้านหัวท้าย ส่วนตรงกลางใช้ลวดมัดกับตัวสะพาน
เมื่ออัยการถามว่าหากอ่านข้อความบนป้ายด.ต.จำนงค์รู้สึกอย่างไรและเหตุใดจึงเห็นว่าสมควรเอาแผ่นป้ายดังกล่าวออก ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าข้อความบนป้ายดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง เนื่องจากคำถามอัยการข้อนี้มีลักษระเป็นการถามความคิดเห็นศาลจึงไม่ได้บันทึกให้
ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าเคยให้การกับพนักงานสอบสวนสองครั้งโดยในครั้งที่สองพนักงานสอบสวนนำภาพลวดซึ่งตรวจยึดจากแผ่นป้ายที่ติดในจังหวัดเชียงรายมาให้เปรียบเทียบกับลวดที่เก็บได้จากแผ่นป้ายในพื้นที่จังหวัดพะเยา ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าลักษณะลวดและลักษณะการมัดลวดทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน แต่ตัวด.ต.จำนงค์ไม่ทราบว่าแผ่นป้ายที่ลวดซึ่งเก็บมาจากจังหวัดเชียงรายใช้มัดเขียนข้อความว่าอะไร
ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่าด.ต.จำนงค์ เป็นคนจังหวัดใดและรับราชการที่สภ.เมืองพะเยามากี่ปีแล้ว ด.ต.จำนงค์ตอบว่าตัวเองเป็นคนพะเยา รับราชการที่สภ.เมืองพะเยามา 18 ปีแล้ว ทนายจำเลยถามว่าด.ต.จำนงค์ทราบหรือไม่ว่าในจังหวัดพะเยามีกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน ด.ต.จำนงค์ตอบว่าทราบว่ามี
ทนายจำเลยถามต่อว่าช่วงที่มีการติดป้ายดังกล่าวมีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆในพื้นที่จังหวัดพะเยาหรือไม่ ด.ต.จำนงค์ตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่าด.ต.จำนงค์ทราบหรือไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้นำป้ายดังกล่าวมาติด ด.ต.จำนงค์ตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการแถลงไม่ถามติง
หลังสืบพยานปากนี้จบอัยการแถลงว่าพยานที่ผู้กล่าวหาซึ่งมีสองปากติดราชการเดินทางมาศาลวันนี้ไม่ได้ ขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในวันถัดไป
23 พฤศจิกายน 2560
นัดสืบพยานโจทก์
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด ขวัญชัย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้างเซ็นทรัลเชียงราย
เกี่ยวกับเหตุการณ์ติดป้ายแยกประเทศล้านนาที่จังหวัดเชียงรายวัญชัยเบิกความว่าในเวลาประมาณ 17.00 น, ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เขาได้รับแจ้งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ประจำอยู่หน้าห้างเซ็นทรัลเชียงรายว่า มีป้ายเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดอยู่ที่สะพานลอยของห้าง
ขวัญชัยเบิกความต่อว่าเมื่อได้รับรับรายงานก็ออกไปดู จึงเห็นป้ายดังกล่่าวแขวนอยู่โดยลักษณะของป้ายเป็นป้ายไวนิลพื้นสีแดงเขียนข้อความด้วยตัวหนังสือสีดำ
อัยการนำภาพถ่ายบนสะพานลอยซึ่งมีภาพของขวัญชัยปรากฎในภาพขณะที่เจ้าหน้าที่รักษษความปลอดภัยของห้างเซ็นทรัลเชียงรายกำลังปลดป้ายมาให้ขวัญชัยยืนยัน ขวัญชัยยืนยันว่ามีตนเองปรากฎอยู่ในภาพจริง
หลังจากนั้นขวัญชัยย้อนกลับไปเบิกความต่อว่าเมื่อออกไปดูป้ายด้วยตนเองแล้วก็ได้ประสานไปที่ฝ่ายศิลป์ของทางห้างเพื่อสอบถามว่า ป้ายดังกล่าวเป็นของทางห้างหรือไม่ซึ่งทางฝ่ายศิลป์ปฏิเสธว่าไม่ใช่จึงดำเนินการปลดป้าย
อัยการถามว่าสะพานลายที่มีคนนำป้ายมาติดอยู่ในความดูแลของผู้ใด ขวัญชัยเบิกความว่าสะพานลอยดังกล่าวห้างเซ็นทรัลเชียงรายสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอยู่ในความดูแลของห้าง
ขวัญชัยเบิกความว่าป้ายดังกล่าวถูกยึดไว้กับตัวสะพานลอยด้วยลวดจึงทำการตัดออก จากนั้นจึงนำป้ายไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานของฝ่ายรักษาความปลอดภัย
อัยการถามขวัญชัยต่อว่าหลังปลดป้ายมาเก็บรักษษมีหน่วยงานใดติดต่อเข้ามาขอตรวจสอบป้ายผ้าดังกล่าวหรือไม่ ขวัญชัยตอบว่าในวันที่ 2 มีนาคม 2557 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองเชียงรายเข้ามาขอรับป้ายไปตรวจสอบ หลังจากนั้นในวันที่ 3 มีนาคม ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอภาพจากกล้องวงจรปิด รวมทั้งขอให้ตัวเขากับพวกพาเจ้าหน้าที่ไปเก็บลวดที่ใช้ผูกป้ายกับสะพานลอยซึ่งเขากับพวกตัดทิ้งไว้ที่พงหญ้าก่อนหน้านี้มาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในคดีด้วย
ขวัญชัยยืนยันกับอัยการว่าตัวเขาเคยให้การกับพนักงานสอบสวนสภ.เชียงรายไว้แล้วในคดีที่จำเลยทั้งสามในคดีนี้ถูกฟ้องด้วยข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัดเชียงรายจากการติดป้ายแยกประเทศที่สะพานลอยห้างเซ็นทรัลเชียงราย อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่าตามภาพถ่ายในกล้องวงจรปิดนอกจากจะปรากฎภาพจำเลยทั้งสามคนในคดีนี้ยังมีภาพบุคคลอื่นร่วมกันติดป้ายด้วยใช่หรือไม่ ขวัญชัยรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าในคดีที่จังหวัดเชียงรายขวัญชัยได้เป็นผู้ยืนยันตัวบุคคลว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ขวัญชัยตอบว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ยืนยัน
ทนายจำเลยถามว่าเกี่ยวกับคดีที่จังหวัดพะเยาขวัญชัยไม่ทราบเรื่องอะไรเลยใช่หรือไม่ ขวัญชัยรับว่าตัวเองไม่ทราบเรื่อง ทนายจำเลยถามต่อว่าตอนที่มีการติดป้ายที่จังหวัดเชียงรายตอนนั้นมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ ขวัญชัยตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการไม่ถามติง
สืบพยานจำเลยปากที่แปด ร.ต.อ.เสกสรร พรหมชัย ชุดสืบสวนสภ.เชียงราย
ร.ต.อ.เสกสรรเบิกความว่าหลังมีบุคคลนำป้ายเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่ความความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ไปติดที่สะพานลอยคนข้ามบริเวณห้างเซ็นทรัลเชียงราย ตัวเขาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กระทำความผิด โดยไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดจากห้างเซ็นทรัลเชียงรายมาทำภาพนิ่ง
จากนั้นได้ลงพื้นที่พูดคุยกับกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จนได้เบาะแสว่าเป็นจำเลยสามคนในคดีนี้ อย่างไรก็ตามในการสืบสวนเบื้องต้นก็ไม่มีข้อมูลว่าจำเลยทั้งสามมีบทบาทใดในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
ร.ต.อ.เสกสรรเบิกความต่อว่าเมื่อนำภาพจำเลยทั้งสามไปสอบถามกับผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลพื้นที่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสามในอำเภอแม่สรวยก็ได้รับการยืนยันว่าบุคคลตามภาพทั้งสามเป็นจำเลยทั้งสามจริง ศาลขอให้อัยการถามคำถามพยานปากนี้โดยประชับเนื่องจากพยานเป็นเพียงผู้รับผิดชอบคดีที่จังหวัดเชียงรายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรง
อัยการถามว่าร.ต.อ.เสกสรรได้เกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีที่จังหวัดพะเยาคดีนี้หรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรตอบว่าตนเองไม่เกี่ยวข้อง อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่าตามภาพที่อัดมาจากภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิด ปรากฎภาพบุคคลร่วมกันติดป้ายมากกว่าจำเลยทั้งสามใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรรับว่าใช่ สำหรับคดีที่จังหวัดเชียงรายซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยทั้งสามรับว่าพวกเขาเพียงแต่ร่วมติดแต่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำป้ายไวนิลดังกล่าวใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรรับว่าใช่
ทนายจำเลยถามว่าในช่วงที่มีการติดป้ายที่จังหวัดเชียงรายมีเหตุการณืวุ่นวายเกิดขึ้นหรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรตอบว่าจำไม่ได้ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า ร.ต.ต.สำราญ อินเทพ เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.แม่ลาวผู้ยืนยันความคล้ายคลึงของลวดที่ใช้ผูกป้ายผ้า
ร.ต.ต.สำราญเบิกความว่าในช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีผู้พบป้ายผ้าไวนิลเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดที่สะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินขาล่องจากเชียงรายมุ่งหน้าจังหวัดพะเยา จึงไปทำการตรวจสอบ พบว่าป้ายดังกล่าวเป็นป้ายไวนิลพื้นสีแดง ตัวหนังสือสีดำ จึงได้แจ้งผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นให้มาตรวจสอบป้ายเนื่องจากน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
ร.ต.ต.สำราญเบิกความต่อว่าตนเองเป็นผู้ที่ร่วมปลดป้ายดังกล่าวออกจากสะพานลอยด้วย โดยลวดที่ใช้ผูกป้ายกับตัวสะพานมีลักษณะเป็นเส้นลวดอ่อนสีเงิน ร.ต.ต.สำราญเบิกความด้วยว่าบนสะพานลอยที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้แต่ตัวกล้องหันไปทางอื่นจึงไม่สามารถบันทึกภาพผู้กระทำผิดไว้ได้
ร.ต.ต.สำราญเบิกความต่อว่าในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่มีการขยายผลการสืบสวน พบว่านอกจากพื้นที่อำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายแล้วยังมีการขึ้นป้ายลักษณะคล้ายๆกันในพื้นที่อื่นๆด้วย ได้แก่พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย พะเยา พิษณุโลก นอกจากนี้ก็พบว่าลวดที่ใช้ทำการผูกป้ายในพื้นที่ต่างๆก็มีความคล้ายคลึงกัน
ร.ต.ต.สำราญระบุว่าพนักงานสอบสวนจากสภ.เมืองพะเยาเคยเดินทางไปพบกับตัวเขาที่สภ.แม่ลาวด้วย โดยนำลวดที่ผูกกับป้ายที่พบในอำเภอเมืองจังหวัดพะเยาไปให้เปรียบเทียบกับลวดที่เก็บได้จากป้ายในพื้นที่อำเภอแม่ลาวซึ่งตัวเขาได้ยืนยันว่าลวดที่เก็บได้จากทั้งสองพื้นที่มีความคล้ายคลึงกัน ร.ต.ต.สำราญเบิกความด้วยว่าตัวเขาไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ติดป้ายที่อำเภอแม่ลาว อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามร.ต.ต.สำราญว่าตามที่เบิกความไปกับอัยการเกี่ยวกับสะพานลอยที่เกิดเหตุผูกป้ายผ้าในอำเภอแม่ลาว กล้องวงจรปิดซึ่งติดอยู่ที่นั่นไม่สามารถบันทึกภาพผู้ก่อเหตุได้เนื่องจากตัวกล้องหันไปอีกทางใช่หรือไม่ ร.ต.ต.สำราญรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าเกี่ยวกับคดีนี้ซึ่งเหตุเกิดในอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา ร.ต.ต.สำราญทราบหรือไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้นำป้ายไวนิลตามฟ้องไปติดตั้ง ร.ต.ต.สำราญตอบว่าไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามว่าร.ต.ต.สำราญทราบหรือไม่ว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่หลายกลุ่ม รวมทั้งอำเภอแม่ลาวก็มีกลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่ ร.ต.ต.สำราญรับว่าทราบว่ามี ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ อดีตพนักงานสอบสวนสภ.แม่ลาว
พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความว่าปัจจุบันตัวเขารับราชการตำรวจอยู่ที่จังหวัดเชีบงใหม่แล้ว แต่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะในช่วงที่มีการติดป้ายผ้าในพื้นที่ภาคเหนือ ตัวเขารับราชการอยู่ที่สภ.แม่ลาวซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการแขวนป้ายผ้า
พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความว่าช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ได้รับแจ้งว่ามีการติดป้ายผ้าเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ซึ่งทางสภ.แม่ลาวรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีในวันที่ 2 มีนาคม 2557
พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความต่อว่าเท่าที่ทราบมีป้ายผ้าเขียนข้อความเดียวกันถูกนำไปแขวนในพื้นที่อื่นๆของภาคเหนือด้วย ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองจังหวัดพะเยา อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก อำเภอท่าพลจังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากป้ายผ้าที่พบในพื้นที่ต่างๆมีลักษณะเดียวกันและน่าจะเชื่อมโยงกันจึงมีการส่งป้ายผ้าไวนิลทั้งหมดไปตรวจสอบที่กรุงเทพ
พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความต่อว่าจากการตรวจพิสูจน์จากส่วนกลางพบว่าผ้าไวนิลทั้งหมดเป็นชนิดเดียวกัน สีที่ใช้พ่นมีลักษระเดียวกันจึงเชื่อว่าน่าจะผลิตจากแหล่งเดียวกัน ในเวลาต่อมาจึงมีการประสานขอภาพจากกล้องวงจรปิดไปที่สภ.เมืองเชียงรายซึ่งมีเหตุลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น
สำหรับเหตุที่อำเภอแม่ลาวมีพยานยืนยันว่าในช่วงเย็นถึงค่ำของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีกลุ่มบุคคลประมาณห้าถึงหกคนมีทั้งชายหญิงมาติดป้ายที่สะพานลอยในพื้นที่อำเภอแม่ลาวซึ่งมีพฤติการณ์คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายจึงเชื่อว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
ในเวลาต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่สภ.เมืองเชียงรายมีการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่ก่อเหตุในพื้นที่อำเภอเมืองทางสภ.แม่สรวยจึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาร่วมไปด้วยโดยในส่วนที่ตัวเขาเกี่ยวข้องกับคดีที่อำเภอแม่สรวยมีการแจ้งข้อกล่าวหากับถนอมศรีเพียงคนเดียวซึ่งถนอมศรีให้การปฏิเสธในคดีที่อำเภอแม่ลาว อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.อ.พิเชษฐ์รับราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่เมื่อใด พ.ต.อ.พิเชษฐ์ตอบว่าตั้งแต่ปี 2540 โยรับราชการที่สภ.แม่ลาวช่วงปี 2550 – 2558 ทนายจำเลยถามว่าเท่าที่ทราบคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีอยู่หลายกลุ่มใช่หรือไม่ พ.ต.อ.พิเชษฐ์รับว่าใช่
ทนายจำเลยถามว่าถนอมศรีให้การปฏิเสธในคดีที่อำเภอแม่ลาวใช่หรือไม่ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ตอบว่าใช่ ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาหรือคำให้การของผู้ต้องหาคนอื่นตัวเขาไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง
สืบพยานโจทก์ปากที่ 11 พ.ต.ท.เฉลิมชาติ ยาวิชัย เจ้าหน้าที่สืบสวน
พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความว่าปัจจุบันตัวเขารับราชการอยู่ที่สภ.ภูซาง แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสภ.พะเยา เกี่ยวกับเหตุการณ์ในคดีนี้ พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความว่าในวันที่ 1 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 6.30 น. มีประชาชนมาแจ้งเหตุว่าพบแผ่นป้าย "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดอยู่ที่สะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินตรงบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จึงมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบ
เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบแผ่นป้ายไวนิลพื้นสีแดงเขียนข้อความด้วยตัวหนังสือสีดำว่า "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" แขวนอยู่
อัยการถามพ.ต.ท.เฉลิมชาติว่าช่วงที่พบแผ่นป้ายดังกล่าวเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าช่วงนั้นมีการประท้วงทั้งของกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มกปปส สำหรับเหตุที่ปลดและยึดป้ายดังกล่าวเป็นเพราะเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความแตกแยกได้
อัยการถามว่าพอจะทราบหรือไม่ว่าป้ายที่ตรวจยึดเป็นของขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มใด พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าน่าจะเป็นของกลุ่มคนเสื้อแดงเพราะแผ่นป้ายดังกล่าวมีสีแดง อัยการถามว่าพอจะทราบหรือไม่ว่าเหตุใดจึงมีการติดป้ายดังกล่าว พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าน่าจะเป็นการแสดงความไม่พอใจที่การตัดสินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนคดีการชุมนุมของกลุ่มกปปสกลับไม่มีความคืบหน้า
พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความต่อว่าหลังทำการตรวจยึดป้ายดังกล่าวแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ขยายผลการสืบสวน ไม่การไปสอบถามตามร้านผลิตแผ่นป้ายไวนิลในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาเพื่อหาแหล่งผลิตแผ่นป้ายของกลางแต่ไม่พบจึงเชื่อว่าแผ่นป้ายดังกล่าวน่าจะผลิตและนำมาจากพื้นที่อื่น
จากการตรวจสอบยังพบว่ามีการติดป้ายลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่น ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพิษณุโลกด้วย และพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เชียงรายสามารถระบุตัวตนของผู้นำแผ่นป้ายมาติดที่บริเวณสะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินหน้าห้างเซ็นทรัลเชียงรายได้ จึงได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายเพื่อตรวจสอบประวัติบุคคลทั้งสาม
พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความถึงผลการตรวจสอบประวัติจำเลยทั้งสามคนในคดีนี้ว่า ผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลท้องที่ให้ข้อมูลว่า จำเลยทั้งสามเป็นคนที่มีพฤติกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงและเคยไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ครั้งนั้นตัวเขาไม่พบจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด
อัยการถามพ.ต.ท.เฉลิมชาติว่าภายหลังทางสภ.เมืองพะเยามีการตั้งข้อกล่าวหาใดกับจำเลยทั้งสามและเพราะเหตุใด พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.เฉลิมชาติทราบหรือไม่ว่าตอนที่เกิดเหตุในจังหวัดพะเยาบุคคลใดเป็นผู้นำแผ่นป้ายมาติด พ.ต.ท.เฉลิมชัยตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าจากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลภูมิลำเนาของได้ข้อมูลว่าจำเลยทั้งสามเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง เคยลงไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ ทนายจำเลยถามว่าในบันทึกถ้อยคำที่ตำรวจพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านเพียงแต่บอกว่าทั้งสามเป็นคนเสื้อแดง เคยไปร่วมชุมนุม แต่ไม่ได้บอกว่าทั้งสามเป็นแกนนำรวมทั้งไม่ได้พูดเรื่องป้ายผ้าใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เฉลิมชาติรับว่าใช่
ทนายจำเลยถามว่าในแต่ละจังหวัดต่างก็มีขบวนคนเสื้อแดงในพื้นที่ของตัวเองและจังหวัดพะเยาก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าจังหวัดอื่นไม่ทราบแต่ที่พะเยาทราบว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ ทนายจำเลยถามว่าในตอนที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเหตุติดป้ายที่สะพานลอยโรงเรียนบ้านร่องห้ายังไม่มีการระบุชื่อผู้ต้องหา แต่พึ่งจะมาเติมทีหลังใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เฉลิมชาติรับว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
สืบพยานโจทก์ปากที่ 12 พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ อุ่นแก้ว พนักงานสอบสวนสภ.เมืองพะเยา
พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าในขณะที่เบิกความเป็นพยานต่อศาลในคดีนี้ตัวเขารับราชการอยู่ที่สภ.ลำพูน แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนที่สภ.เมืองพะเยา
เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าในวันที่ 2 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 11.30 น. ระหว่างที่ตัวเขาปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร มีพ.ต.ท.เฉลิมชาติกับพวกนำแผ่นป้ายไวนิลเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" มามอบให้ตนพร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
อัยการขอให้พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับรองเอกสารต่างๆ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับรองว่าเขาเป็นผู้จัดทำบัญชีของกลาง แผนที่สังเขปของสถานที่เกิดเหตุ ส่วนบันทึกการตรวจยึดของกลางชุดสืบสวนนำโดยพ.ต.ท.เฉลิมชาติเป็นผู้นำมาส่งมอบ
เกี่ยวกับขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าได้ทำการส่งป้ายไวนิลที่พนักงานสืบสวนตรวจยึดมาให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5 จังหวัดลำปางเพื่อทำการตรวจสอบ หาดีเอ็นเอของผู้กระทำผิด ผลการตรวจสอบพบว่ามีดีเอ็นเอจำนวนมากอยู่บนป้ายไวนิลแต่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้
ในภายหลังเมื่อมีการตรวจยึดป้ายไวนิลลักษณะเดียวกันที่พบในพื้นที่อื่นได้แก่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอท่าพลจังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าหน้าที่แต่ละท้องที่รวมทั้งสภ.เมืองพะเยาจึงส่งป้ายไวนิลทั้งหมดไปตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐานกรุงเทพ
เกี่ยวกับผลการตรวจพิสูจน์ป้ายไวนิลของกลางทั้งหมด พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าแผ่นป้ายทั้งหมดผลิตด้วยวัสดุชนิดเดียวกัน เส้นใยยึดแผ่นป้ายเป็นรูปแบบเดียวกัน สีที่ใช้พิมพ์ข้อความเป็นสีชนิดเดียวกัน ส่วนตัวอักษรของป้ายทั้งหมดพิมพ์ผ่านเครื่องพ่นหมึก รอยตัดของแผ่นป้ายไวนิลที่ยึดจากจังหวัดพะเยาตรงกับแผ่นป้ายที่ยึดจากจังหวัดพิษณุโลก ส่วนรอยตัดของแผ่นป้ายที่ยึดจากอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายตรงกับแผ่นป้ายที่ยึดจากอำเภอท่าพล จังหวัดเพชรบูรณ์
พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความด้วยว่าเส้นลวดที่ใช้ยึดแผ่นป้ายไวนิลกับตัวสะพานลอยที่เก็บได้ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย กับเส้นลวดที่เก็บได้ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาเป็นเส้นลวดชนิดเดียวกัน
พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความตอบอัยการถึงการระบุตัวผู้กระทำความผิดว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ แต่ต่อมาชุดสืบสวนได้ขยายผลการสืบสวน พบว่าแผ่นป้ายที่ติดในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายกับแผ่นป้ายที่พบในอำเภอเมืองจังหวัดพะเยาเป็นแผ่นป้ายชนิดเดียวกัน ระยะเวลาที่นำไปติดตั้งสอดคล้องกันคือ พบที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายในที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และพบที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาในวันที่ 1 มีนาคม 2557
สถานที่ติดแผ่นป้ายทั้งสามก็มีความคล้ายคลึงกันคือติดบนสะพานลอย ทั้งพยานผู้เห็นเหตุการณ์ต่างก็ยืนยันในลักษณะคล้ายกันว่า พบกลุ่มชายหญิงประมาณหกคนเป็นผู้นำแผ่นป้ายไปติดในบริเวณที่เกิดเหตุทั้งในท้องที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาและท้องที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
และในทั้งสองท้องที่พยานผู้เห็นเหตุการณ์ยังให้การด้วยว่าขณะที่เกิดเหตุจะมีรถกระบะจอดอยู่บริเวณทางขึ้นสะพานลอยด้านหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามพยานผู้เห็นเหตุการณ์ในทั้งสองท้องที่ต่างก็ไม่สามารถระบุใบหน้าหรือยืนยันตัวบุคคลผู้ก่อเหตุได้ รวมทั้งไม่สามารถระบุยี่ห้อ รุ่น หรือป้ายทะเบียนของรถกระบะที่จอดอยู่ได้
พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความต่อว่าเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เชียงรายสามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้แล้ว และมีหลักฐานตามสมควรว่าเหตุการณ์ที่เกิดในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายและเหตุการณ์ในท้องที่จังหวัดพะเยา น่าจะเชื่อมโยงกัน เชื่อว่าจำเลยทั้งสามน่าจะร่วมกับพวกมาก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดพะเยา จึงได้ออกหมายเรียกให้จำเลยทั้งสามมารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธและไม่ประสงค์จะมีทนายเข้าร่วมฟังการสอบสวน พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง จึงได้มีการรายงานไปยังฝ่ายทหารและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่าเบื้องต้นทางตำรวจสภเมืองพะเยาไม่สามารถระบุตัวผู้กล่าวหาได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าพยานที่ทระบุว่ามีผู้ก่อเหตุหกคนก็ระบุตัวตนของคนเหล่านั้นไม่ได้
ในส่วนของหลักฐานก็ตรวจไม่พบลายนิ้วเมือและยืนยันดีเอ็นเอที่อยู่บนแผ่นป้ายไม่ได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับว่าใช่
ทนายจำเลยถามว่าเจ้าหน้าที่สามารถระบุได้หรือไม่ว่าแหล่งผลิตแผ่นป้ายทั้งหมดอยู่ที่ใด พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ตอบว่าไม่สามารถระบุได้
ทนายจำเลยถามว่าพยานโจทก์ปากไกรสรซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยใกล้สะพานลอยบ้านร่องห้าที่เกิดเหตุเคยให้การว่าเห็นรถกระบะมีแคปสีเทาไม่ทราบยี่ห้อ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ตอบว่าจำรายละเอียดคำให้การไม่ได้แต่เป็นไปตามเอกสาร
ทนายจำเลยถามว่าในพื้นที่จังหวัดพะเยามีคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวหรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ตอบว่าจากการสืบสวนในขณะนั้นไม่พบว่ามีความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในพื้นที่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง
ป้ายที่ตรวจพบมีลักษณะเดียวกับป้ายที่ตรวจพบในพื้นที่อื่นๆในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตรวจพบหนึ่งแผ่น, อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายตรวจพบหนึ่งแผ่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ตรวจพบสองแผ่น ที่อำเภอท่าพล จังหวัดเพชรบูรณ์หนึ่งแผ่น และที่อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกสองแผ่น
ผลการตรวจตามรายงานพบว่า ป้ายทุกแผ่นพ่นจากหมึกพ่น Ink jet ขนาดตัวอักษรเหมือนกันหมด สีชนิดเดียวกัน แผ่นป้ายที่พบว่ารอยตัดแบ่งเข้ากันได้และน่าจะมาจากวัสดุผืนเดียวกันคือ
ผืนที่พบในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายกับอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ผืนที่พบในจังหวัดพะเยากับจังหวัดพิษณุโลก และผืนที่พบในอำเภอท่าพลกับอำเภอแม่ลาว ส่วนผืนที่เหลือรอยตัดไม่ตรงกัน
นอกจากนี้จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพการติดป้ายในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายก็พบว่ามีกลุ่มคนประมาณหกคนที่บางคนสวมเสื้อสีแดงเป็นผู้นำป้ายไปติด
แผ่นป้ายที่พบที่สะพานลอยบ้านป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายพบในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 18.00 น. และผืนที่พบที่สะพานลอยบ้านร่องห้าอันเป็นเหตุแห่งคดีนี้พบในวันที่ 1 มีนาคม เวลาประมาณ 1.00 น.
พ.ต.อ.บวร ได้จัดทำสำนวนเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ว่าควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เนื่องจากการขึ้นป้ายดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนมีขัดแย้งและมีการประท้วง ข้อความที่ปรากฎบนป้ายผ้าจะทำให้ความแตกแยกขยายตัว
จากการตรวจสอบไม่พบข้อมูลใดๆเนื่องจากเวลาผ่านมานานแล้วและไม่พบหลักฐานที่ยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างจำเลยทั้งสามกับกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดพะเยาเนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่ใช่แกนนำ หลังมีการขยายผลการสอบสวนและนำสำนวนเสนอสตช.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ก็มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามต่ออัยการ
ทนายจำเลยถามว่าในพื้นที่จังหวัดพะเยาก็มีความเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงใช่หรือไม่ พ.ต.อ.บวร ตอบว่ามี ทนายจำเลยถามว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่เกิดเหตุคดีนี้มีการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดพะเยาหรือไม่ พ.ต.อ.บวรตอบว่าไม่มี
ทนายจำเลยถามว่า ในแต่ละจังหวัดก็จะมีกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเองใช่หรือไม่ พ.ต.อ.บวรตอบว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการไม่ถามติง
พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์เบิกความว่าตัวเขาเข้ามาเกี่ยวกับคดีนี้เพราะเคยมาให้การที่สภ.พะเยา เนื่องจากเคยมีการพบแผ่นป้ายไวนิลลักษณะเดียวกับของกลางในคดีนี้จำนวนสองผืนในพื้นที่ที่ตัวเขารับผิดชอบในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ที่สะพานลอยแยกดอนจั่น ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557
สำหรับคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์เบิกความต่อว่าได้มีนายทหารในพื้นที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับเพชรวัตร ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่
จากการสืบสวนไม่สามารถระบุได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด ต่อมาเขาทราบว่ามีการติดป้ายในพื้นที่สภ.แม่ลาว จังหวัดเชียงราย สภ.แม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ สภ.เมืองเชียงราย และสภ.พิษณุโลก จึงประสานไปยังหน่วยสืบสวนในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดแต่ก็ยังไม่พบตัว
ทนายจำเลยถามต่อว่าผู้นำชุมชนบอกพ.ต.ต.เสถียรว่าจำเลยทั้งสามเป็นแกนนำคนเสื้อแดงหรือเป็นคนเสื้อแดงเฉยๆ พ.ต.ต.เสถียรตอบว่าเป็นคนเสื้อแดงเฉยๆไม่ใช่แกนนำ ทนายจำเลยถามต่อว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านของจำเลยทั้งสาม พบลวด สี หรือวัสดุที่ใช้ในการก่อเหตุคดีนี้หรือไม่ พ.ต.ต.เสถียรตอบว่าไม่พบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการไม่ถามติง
กำนันคนดังกล่าวระบุว่าทราบว่าสุขสยามเป็นคนเสื้อแดงแต่ไม่ทราบว่าสุขสยามเอาป้ายไปติดที่สะพานลอย จากนั้นได้สอบปากคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่11 แม่สรวย ภูมิลำเนาของถนอมศรีซึ่งให้ข้อมูลว่าถนอมศรีเคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงบางครั้ง แต่ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือยุยงปลุกปั่น ส่วนเรื่องป้ายผ้ากำนัดคนดังกล่าวไม่ทราบเรื่อง
คนสุดท้ายได้สอบถามผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 อำเภอแม่สรวยซึ่งดูแลภูมิลำเนาของออดซึ่งระบุว่า ทราบว่าออดเป็นสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงและไปร่วมการชุมนุมในบางครั้ง แต่ไม่ใช่แกนนำ ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือปลุกปั่น
อัยการให้ออดดูภาพป้ายไวนิลที่เก็บจากที่ต่างๆ แล้วถามว่าตามภาพถ่ายตัวหนังสือในภาพถ่ายทั้งหมดมีลักษณะคล้ายกันใช่หรือไม่ ออดรับว่าใช่
ทนายจำเลยถามต่อว่า ตามภาพถ่ายที่อัยการนำมาแสดงปรากฎภาพของสุขสยามเดินอยู่บนสะพานลอยโดยไม่ได้ถือป้ายหรือสิ่งของอื่นติดตัวใช่หรือไม่ สุขสยามตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าสุขสยามได้ไปร่วมติดป้ายในที่อื่นๆนอกจากที่จังหวัดเชียงรายหรือไม่ สุขสยามตอบว่าไม่เคย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
อัยการถามว่าหลังจากติดป้ายที่หน้าห้างเซ็นทรัล สุขสยามได้นั่งรถคันเดียวกับออดไปติดป้ายที่อำเภอแม่ลาวใช่หรือไม่ สุขสยามตอบว่าเขาไม่ได้ไปติดป้ายตามที่อัยการกล่าว
อัยการถามว่าเหตุใดสุขสยามติดป้ายที่สะพานลอยห้างบิ้กซีเชียงรายไปเพื่ออะไร สุขสยามตอบว่ามีคนชวนติดก็เลยติด อัยการแถลงหมดคำถามค้าน ทนายจำเลยไม่ถามติง
ทนายจำเลยถามว่าถนอมศรีได้ไปร่วมต้อนรับยิ่งลักษณ์เมื่อครั้งที่มาจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าวันนั้นได้มาร่วมต้อนรับยิ่งลักษณ์ด้วย และยืนยันว่ามีภาพของเธอปรากฎอยู่ในภาพถ่ายหน้ากองกำกับการตำรวจเชียงรายด้วย พร้อมกับเบิกความว่าในวันนั้นมีคนมาเป็นจำนวนมากจากหลากหลายกลุ่ม
อัยการถามถนอมศรีว่าในวันที่เกิดเหตุแขวนป้ายผ้าที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ถนอมศรีได้นั่งรถไปที่ไหนต่อหรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าเธอโดยสารรถเที่ยวสุดท้ายจากอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายเพื่อกลับบ้านที่อำเภอแม่สรวย
อัยการถามต่อว่าในวันเกิดเหตุคดีที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย เหตุใดถนอมศรีจึงไปร่วมติดป้าย ถนอมศรีตอบว่าเป็นเพราะมีคนชวน อัยการแถลงหมดคำถาม
นัดฟังคำพิพากษา
ประชาไทรายงานโดยอ้างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ยกฟ้องจำเลยทั้งสาม เพราะพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ขึ้นว่าจำเลยทั้งสามทำความผิดจริง
คำพิพากษา
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีนี้พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจระบุตัวได้ว่าจำเลยทั้งสามคนเป็นผู้ติดป้ายดังกล่าวจริง ส่วนป้ายผ้าไวนิลของกลางในคดีนี้ เป็นป้ายที่คล้ายคลึงกับป้ายในคดีที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเคยใช้ในการกระทำความผิดมาก่อน จึงให้ริบ
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิด แม้โจทก์จะมีพยานที่เห็นเหตุการณ์ว่ามีกลุ่มคน ห้าถึงหกคนทำการติดป้าย แต่พยานโจทก์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นจำเลยทั้งสาม