จ.ส.อ.ประสงค์เพชร เบิกความว่า เขารับราชการในตำแหน่งสารวัตรทหารอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 42 (ค่ายเสนาณรงค์) เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับคำสั่งให้ดูแลความปลอดภัยในวาระที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร
จ.ส.อ.ประสงค์เพชร เบิกความว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาเดินทางไปที่สนามกีฬาติณสูลานนท์เพื่อรายงานตัวและรับฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เมื่อไปถึงพบว่ามีตำรวจและอาสาสมัครพลเรือนอยู่ด้วย ในเวลา 12.00 น.เขาได้รับคำสั่งให้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำรถตู้ มีหน้าที่จัดกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวมาขึ้นรถตู้ ต่อมาเขาขึ้นรถตู้พร้อมกับตำรวจนายอื่นๆ ไม่ระบุจำนวน ไปที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา จากนั้นมีตำรวจในรถได้ลงไปตั้งแถวส่วน จ.ส.อ. ประสงค์เพชร ลงไปรออยู่ด้านหลัง ไม่เห็นเหตุการณ์ว่ามีการประทะกันอย่างไร จนกระทั่งตำรวจได้กลับมาขึ้นรถตู้จ.ส.อ. ประสงค์เพชร จึงได้ขึ้นรถตู้ตามกลับมาด้วย เกี่ยวกับการแต่งกายของผู้ชุมนุม จ.ส.อ. ประสงค์เพชรเบิกความว่ามีใส่กันหลายสี เมื่ออัยการถามคำถามย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ชุมนุมมีการสวมเสื้อสีใดหรือมีสัญลักษณ์อะไร จ.ส.อ.ประสงค์เพชรก็ตอบเช่นเดิม
จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่า หลังจากนั้น เขาได้รับมอบหมายให้เดินทางไปที่สถานีบริการน้ำมันปตท. ถนนเก้าแสน เมื่อไปถึงตำรวจที่โดยสารมากับรถตู้คันเดียวกับเขาลงไปตั้งแถว แต่จำไม่ได้ว่าบริเวณที่ตั้งแถวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกี่คน ศาลถามจ.ส.อ.ประสงค์เพชร ย้ำว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกี่คน หากจำตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ก็ขอให้ลองประมาณเอา จ.ส.อ.ประสงค์เพชรตอบศาลว่าเขาจำไม่ได้
จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่า ในเวลาต่อมาเมื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่คือ พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชามณฑลทหารบกที่ 42 และพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมตัวเขาก็ได้ติดตามไปด้วยและจ.ส.อ.ประสงค์เพชรอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าจริงๆแล้วหน้าที่ที่ตัวเขาได้รับมอบหมายในวันเกิดเหตุคือการคุ้มกันบุคคลสำคัญซึ่งหมายถึงพล.ต.วรพล จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่าระหว่างที่พล.ต.วรพลกำลังเจรจากับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินออกไปจากพื้นที่อย่างกระจัดกระจาย ระหว่างนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมผู้ชุมนุมคนหนึ่งที่ยังอยู่ในพื้นที่ขึ้นรถตู้ไป เมื่ออัยการถามว่าจ.ส.อ.ประสงค์เพชรจำได้หรือไม่ว่าบุคคลใดคือคนที่ถูกจับกุมตัว จ.ส.อ.ประสงค์เพชรหันมาชี้ว่าเป็นเอกชัย
จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่าหลังพล.ต.วรพลเดินออกจากจุดที่ทำการเจรจากับผู้ชุมนุม ตัวเขาก็พยายามเดินตามไปแต่ไม่ทัน เขาจึงไปสมทบกับกำลังส่วนอื่นที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ หลังจากนั้นก็มีการตรวจสอบกำลังพลก่อนที่ปฏิบัติการณ์จะยุติ
ร้อยตรีเหรียญ ชาติดำ พยานผู้เห็นเหตุการณ์
–
20 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
–
24 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พ.ต.ท.วันกิตติ ทินนิมิตร พยานผู้เห็นเหตุการณ์
พ.ต.ท.วันกิตติ เบิกความว่าเขารับราชการตำแหน่งสารวัตรสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา มีหน้าที่สอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดในคดีอาญา เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เขาได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี ผู้บังคับบัญชา ระบุรายละเอียดว่า จะมีผู้ชุมนุมเดินทางจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลามายังอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา ต่อมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เขาได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุมเดินทางมาพักค้างคืนที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08:00 น. เขาได้เดินทางไปพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ได้แก่เอกชัย ดิเรกและปาฏิหาริย์ อัยการถามพ.ต.ท.วันกิตติ ว่าบุคคลทั้งสามคน ถ้าเห็นอีกครั้งจำได้หรือไม่ พ.ต.ท.วันกิตติ ตอบว่า จำได้ หันไปชี้เอกชัยและดิเรกถูกต้อง แต่ชี้ตัวปาฏิหาริย์ไม่ถูกต้อง
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมราว 30 ถึง 40 คนทยอยเดินทางออกจากมัสยิดบ้านบ่ออิฐ ตัวของพ.ต.ท.วันกิตติก็เดินทางกลับสถานี หลังจากกลับไปสถานีแล้ว พ.ต.ท.วันกิตติก็ออกไปที่กองอำนวยการเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการพูดคุยมีข้อตกลงกันว่าจะให้นายอำเภอเมืองสงขลาเป็นคนเข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุม จากนั้นในเวลาประมาณ 11.00 น. พ.ต.ท.วันกิตติและนายอำเภอเดินทางไปยังจุดที่ผู้ชุมนุมกำลังเดินทางผ่านคือ บริเวณกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1 นายอำเภอเข้าไปเจรจากับเอกชัยภายในป้อมยาม สำหรับรายละเอียดหลังจากนั้นพ.ต.ท.วันกิตติยอมรับว่าจำไม่ได้ พ.ต.ท.วันกิตติเบิกความด้วยว่าระหว่างที่การเจรจากำลังดำเนินไปผู้ชุมนุมยังคงเดินต่อไปไม่ได้หยุดรอฟังผลการเจรจา สำหรับผลการเจรจาผู้ชุมนุมยืนยันจะเดินต่อไป
พ.ต.ท.วันกิตติเบิกความต่อว่าหลังการเจรจาจบลงและผู้ชุมนุมยืนยันที่จะเดินต่อ พล.ต.ตประพัตร์ ศรีอนันต์ สั่งให้เขาไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้สั่งยกเลิกการชุมนุมโดย ตัวเขาพร้อมด้วยพ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน จึงได้ไปดำเนินการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ก่อนการไต่สวน พ.ต.ท.วันกิตติได้ขอให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1ติดต่อให้ผู้ชุมนุมมาร่วมการไต่สวน แต่ปรากฏว่าไม่มีตัวแทนผู้ชุมนุมมาร่วมการไต่สวนในเวลา 14.00 น. ระหว่างการไต่สวนกำลังดำเนินไป เขาก็ได้รับรายงานว่ามีการประทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม
พ.ต.ท.วันกิตติเบิกความต่อว่า หลังการไต่สวนเขาเดินทางกลับสถานีตำรวจภูธรสงขลา เมื่อจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ยกเว้นมุสตาร์ซีดีน จำเลยที่ 16 ถูกควบคุมตัวมาที่สถานี ตัวเขาได้ร่วมจัดทำบันทึกการจับกุมและรายงานการสอบสวนด้วย
โดยรายงานการสอบสวนมีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับเหตุที่ต้องเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับเนื่องจากว่ามีผู้ต้องหาเพิ่มเติมคือมุสตาร์ซีดีน ที่พ.ต.ท.วันกิตติทราบจากข่าวสารในตอนกลางคืนว่า เขาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย จากการที่ภรรยาของมุสตาร์ซีดีนได้ประกาศตามหาตัวเขาว่า การหายไปของเขาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมครั้งนี้จึงได้ทำการเพิ่มรายงานการสอบสวนเข้าไป
25 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
–
9 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
–
10 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
ราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
ราชิตเบิกความว่า เขารับราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการสงขลาฝ่ายความมั่นคง โดยเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา โดยคณะดังกล่าวจะเดินทางมาถึงจังหวัดสงขลาในช่วงเย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หลังจากนี้จะมีการประชุมก่อนจะพักค้างคืนที่โรงแรมบีพี สิมิหลาหนึ่งคืน ก่อนที่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 มีกำหนดจะประชุมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาเขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย จัดเตรียมสถานที่และการพบปะประชาชนของคณะรัฐมนตรี ราชิตเบิกความว่า เขาได้รับแจ้งว่าจะมีกลุ่มประชาชนเดินเท้ามายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีประมาณ 15 วันก่อนวันเกิดเหตุ
ราชิตเบิกความว่า ในเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่เขาอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาก็ได้รับแจ้งว่ามีประชาชนชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนสงขลา-นาทวี ใกล้กับมัสยิดบ้านบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาจึงได้มอบหมายนายอำเภอเมืองสงขลาไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1 เพื่อให้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอเมืองแทนและนายอำเภอจะประสานนำหนังสือไปมอบให้นายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ผู้ชุมนุมไม่รับข้อเสนอดังกล่าว ราชิตจึงนัดหมายให้ผู้ชุมนุมไปพบเพื่อพูดคุยอีกครั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง
ราชิตเบิกความต่อว่า เขาเดินทางไปถึงสถานที่ที่นัดพบกับผู้นุมนุมก่อนเวลา 12.00 น. เมื่อไปถึงเขาประสานให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจัดหาห้องประชุมเพื่อพูดคุยกับผู้ชุมนุมโดยห้องประชุมที่โรงพยาบาลจัดให้สามารถรองรับคนได้ประมาณ 20 คน สำหรับตัวแทนผู้ชุมนุมที่เข้ามาพูดคุยราชิตเบิกความว่า มีเอกชัยและปาฏิหาริย์ ซึ่งตัวเขาจำบุคคลทั้งสองได้ เมื่ออัยการขอให้ราชิตหันไปชี้ตัวบุคคลทั้งสองที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้อย่างถูกต้อง เกี่ยวกับการพูดคุย ราชิตเบิกความว่าการพูดคุยใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ราชิตเสนอต่อผู้ชุมนุมว่าให้ยื่นหนังสือกับเขาและเขาจะเป็นผู้นำไปยื่นต่อให้นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเสนอทางเลือกที่สองว่าหากผู้ชุมนุมต้องการไปยื่นหนังสือเองก็ให้ไปยื่นที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ แต่เอกชัยและปาฏิหาริย์แจ้งกับเขาว่าทั้งสองไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
เมื่อตัวแทนผู้ชุมนุมไม่สามารถรับข้อเสนอของเขาได้ เขาจึงได้โทรศัพท์ไปประสานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นกำลังปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทางเลขาฯบอกกับเขาว่า ให้นัดหมายผู้ชุมนุมมาพูดคุยกัน เวลา 17.00 น. ราชิตเบิกความด้วยว่า เขาได้ให้เบอร์ติดต่อไว้กับเอกชัยแต่เอกชัยก็ไม่ได้ติดต่อกลับมา ราชิตเบิกความต่อว่า หลังการเจรจาเขาเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระหว่างทางผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาก็พบกับผู้ชุมนุมตั้งแถวอยู่บริเวณบนด้านซ้าย แต่รถยนต์สามารถสัญจรผ่านไปได้โดยใช้ช่องทางด้านขวาของถนน ราชิตสั่งให้คนขับรถชะลอดูก่อนจะขับผ่านไปซึ่งระหว่างที่เขาเห็นเหตุการณ์ยังไม่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ ระดมสุข ผู้ร่วมจับกุม
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ เบิกความว่า ขณะเบิกความต่อศาลเขารับราชการอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรสทิงพระ จังหวัดสงขลา แต่ก่อนหน้านี้ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559-เดือนพฤษภาคม 2561 เขาดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมือง จังหวัดสงขลา ฝ่ายป้องกันและปราบปราม
เกี่ยวกับคดีนี้พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 8.00 น. เขาได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังไปที่สนามกีฬาติณสูลานนท์เพื่อร่วมกับชุดปราบจราจลจากกองกำลังหน่วยอื่นๆ จึงนำกำลังเคลื่อนที่เร็วจำนวนสิบนายและกำลังที่วางเพื่อรักษาความปลอดภัยตามแผนของผู้บังคับการอยู่แล้วอีกจำนวนสิบนายไปร่วมปฏิบัติตามจุดนัดพบดังกล่าว เมื่อไปถึงจุดนัดหมายก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ปราบจราจลมาประจำการแล้วโดยมีประมาณหกนายเป็นผู้หญิงทั้งหมด
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่า ระหว่างที่เขาอยู่ที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ก็ได้รับคำสั่งให้ไปที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อไปถึงได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับผู้ชุมนุมพร้อมกับนายอำเภอเมืองสงขลา เขาจึงเดินทางไปศาลากลางด้วยรถของราชการพร้อมกับพนักงานขับรถ เมื่อไปถึงพบกับเอกชัยและปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ชุมนุม นายอำเภอเจรจากับเอกชัยและปาฏิหารย์ทำนองว่าให้ยื่นหนังสือกับนายอำเภอและนายอำเภอจะนำหนังสือไปยื่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและนายกรัฐมนตรีตามลำดับ แต่ทั้งสองปฏิเสธ นายอำเภอจึงขอให้เอกชัยและปาฏิหาริย์ไปพูดคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความด้วยว่าเขาได้ขับรถตามไปด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าเอกชัยเดินทางไปจริง
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่าเมื่อไปถึงสถานที่นัดหมาย รองผู้ว่าฯ เอกชัย นายอำเภอเมืองสงขลาและตัวพ.ต.ท.เกียรติพงษ์กับพวกได้เจรจากันภายในห้อง ทางเจ้าหน้าที่พยายามเจรจา ให้ผู้ชุมนุมกินข้าวที่กศน. สงขลา แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมและทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่าเมื่อการเจรจาใกล้ยุติในเวลา 12.00 น. พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ประจันตะเสนได้ติดต่อเขาทางโทรศัพท์และสั่งให้เขาไปบอกต่อเอกชัยว่า ขณะนี้มีการไต่สวนการชุมนุมที่ศาลจังหวัดสงขลาขอให้เอกชัยไปเข้าร่วม เอกชัยจึงเดินทางไปที่ศาลจังหวัดสงขลาบนรถคันเดียวกับเขาโดยเอกชัยนั่งด้านหลัง
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่า ระหว่างทางมีโทรศัพท์เข้ามาหาเอกชัย หลังคุยโทรศัพท์เสร็จ รถยนต์แล่นผ่าน บริเวณถนนด้านหน้ามีแนวเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลและขบวนของผู้ชุมนุม เอกชัยขอลงจากรถเพื่อไปพุดคุยกับผู้ชุมนุม รถของพ.ต.ท.เกียรติพงษ์จึงหยุดก่อนถึงแนวเจ้าหน้าที่ปราบจลประมาณ 200-300 เมตร เอกชัยจึงบอกพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ว่า ไม่เดินทางไปที่ศาลด้วยแล้ว และขอลงตรงนี้ พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ยังได้ยินด้วยว่า เอกชัยบอกผู้ชุมนุมตั้งแถวตอนลึกสองแถวที่บริเวณถนนเลนซ้ายสุด หลังเอกชัยบอกให้ผู้ชุมนุมตั้งแถวแล้วผู้บังคับบัญชาของเขาได้เข้ามาเจรจากับเอกชัยแต่ตัวเขาไม่ทราบว่าเนื้อหาการเจรจาเป็นอย่างไร จากนั้นก็มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความยืนยันว่าเขาเห็นผู้ชุมนุมใช้ไม้ตีไปที่เจ้าหน้าที่แต่เขาจำไม่ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำการดังกล่าว หลังการปะทะผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปได้
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่าหลังมีการปะทะและผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไป เขาได้ไปที่สนามยิงปืนกองทัพเรือเพื่อพบกับผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ปราบจราจล ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้เขาแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่เป็นห้าหมู่ ในแต่ละหมู่จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดนและเจ้าหน้าที่ทหาร กำลังทั้งห้าหมู่มีภารกิจในการจับกุมบุคคลเป้าหมายรวมห้าคน พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่า เขาทราบว่าเอกชัยเป็นหนึ่งในบุคคลเป้าหมาย แต่บุคคลเป้าหมายอีกสี่คนที่เหลือจะเป็นใครตัวเขาไม่ทราบ พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความว่า หลังจากนั้นเขาไปที่กำแพงโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาก็เห็นพล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บังคัญชามณฑลทหารบกที่ 42 พูดคุยกับเอกชัย และได้ยินพล.อ.วรพลพูดว่า คุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว! พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความว่าเขาได้ทำการจับกุมเอกชัยและนำตัวขึ้นรถตู้ไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเมื่อไปถึงที่สถานีจึงพบว่า นอกจากเอกชัยแล้วก็มีบุคคลอื่นถูกควบคุมตัวรวม 16 คน
14 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
–
15 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42
พ.ท.อุทิศ เบิกความว่าเขารับราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 มีหน้าที่รักษาความมั่นคงและป้องกันประเทศในพื้นที่รับผิดชอบสามจังหวัดได้แก่จังหวัดสงขลา พัทลุงและสตูล เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากคณะรัฐมนตรีนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลาระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งหน่วยงานของเขามีหน้าที่รักษาความปลอดภัย พ.ท.อุทิศเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า ระหว่างที่มีหนังสือทางราชการแจ้งเรื่องดังกล่าว พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 อยู่ระหว่างลาราชการเพื่อทำการศึกษา พ.ท.อุทิศ จึงเป็นผู้รับเรื่องแทน
พ.ท.อุทิศ เบิกความว่าโดยปกติหากมีบุคคลสำคัญเช่น เชื้อพระวงศ์หรือผู้นำประเทศเดินทางเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 42 ทางมณฑลก็มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยจะมีการตั้งกองอำนวยการร่วมสามฝ่ายระหว่างทหารตำรวจและฝ่ายปกครอง ในการวางแผนรักษาความปลอดภัยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามชั้นคือชั้นใน ชั้นกลางและชั้นนอก พื้นที่ชั้นในจะอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรจากศูนย์กลางคือบุคคลที่คุ้มครอง ชั้นกลางคือพื้นที่ 50 เมตรแต่ไม่เกิน 400 เมตรจากศูนย์กลาง ส่วนที่เกิน 400 เมตรขึ้นไปถือเป็นพื้นที่ชั้นนอก ตามปกติในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้ผู้นำประเทศ พื้นที่ชั้นในจะเป็นหน้าที่ของผู้ติดตามนายกรัฐมนตรีและกองรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ชั้นกลางจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สห. ตำรวจและอาสารักษาดินแดนส่วนพื้นที่ชั้นนอกเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ทหารและบางครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนมาร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย ในการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยครั้งนี้ผู้บัญชาการมณฑลหารบกที่ 42 เป็นผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งการ ส่วนตัวเขาเป็นรองผู้อำนวยการ
พ.ท.อุทิศเบิกความว่าระหว่างการประชุมของคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ทางมณฑลทหารบกที่ 42 ได้จัดกำลังร่วมปฎิบัติหน้าที่ที่กองบิน 56 มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาและที่โรงแรมบีพี สิมิหลา สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้า พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่มีการติดตามความเคลื่อนไหวยู่ตลอด ซึ่งก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ก็มีรายงานว่าชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวเดินเท้าเข้ามาใกล้จะถึงอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และทราบกลุ่มชาวบ้านต้องการยื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์โดยตรง ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าที่ได้นัดรวมพลกันที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ พ.ท.อุทิศได้นำกองกำลังทหารที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลความสงบเรียบร้อยไปร่วมด้วย โดยในการปฎิบัติหน้าที่ ผู้ปฏิบัติหลักซึ่งมีกำลังมากที่สุดคือเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน มีพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเป็นผู้อำนวยการเหตุการณ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจจะรวมอยู่ในกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยด้วย
พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าในเวลาก่อน 12:00 น. ขณะที่เขาอยู่ที่สนามกีฬาฯก็ทราบว่า ราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ไปพบและเจรจากับกลุ่มชาวบ้านเพื่อให้กลุ่มชาวบ้านส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนนายกรัฐมนตรีเพราะเห็นว่า หากชาวบ้านเข้าไปยื่นหนังสือทั้งหมดอาจว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้น ต่อมาเวลาประมาณ 12:00 น. เขาได้รับแจ้งว่าการเจรจาของราชิตไม่บรรลุผล ส่วนกลุ่มชาวบ้านก็กำลังทยอยเดินเท้าเข้ามาในตัวเมืองสงขลาโดยจะเดินไปตามถนนสายจะนะ-สงขลาและชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เดินใกล้จะถึงด้านข้างของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาแล้ว ผู้บัญชาการเหตุการณ์ซึ่งไม่ต้องการให้กลุ่มชาวบ้านเดินทางเข้ามายื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์โดยตรงจึงได้จัดกองกำลังร่วมสามฝ่ายไปตั้งแนวป้องกันที่บริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มชาวบ้านผ่านเข้ามาในตัวเมือง โดยพื้นที่ที่นำกำลังของเจ้าหน้าที่ไปตั้งแถวนั้นอยู่ในเขตพื้นที่รักษาความปลอดภัยชั้นนอก ตัวเขาได้เดินทางตามกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารพลเรือนที่ไปประจำการด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาไปด้วย โดยไปถึงสถานที่ดังกล่าวในเวลาประมาณ 13:30 น. เมื่อไปถึงเห็นเจ้าหน้าที่ตั้งแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งบริเวณถนนฝั่งที่อยู่ติดกับกำแพงมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเจ้าหน้าที่ยังปิดช่องทางเดินรถหนึ่งช่องฝั่งที่อยู่ติดกับทางเท้าด้วย
เกี่ยวกับการเคลื่อนขบวนของชาวบ้าน พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเมื่อเขาไปถึงข้างมหาวิทยาลัยก็เห็นกลุ่มชาวบ้านเดินมาตามถนนเส้นเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวรอ โดยอยู่ห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวอยู่ประมาณ 200 เมตร จากนั้นชาวบ้านได้ทยอยเดินเข้ามากันได้เรื่อยๆ พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่าผู้ชุมนุมบางส่วนถือธงสัญลักษณ์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาซึ่งด้ามทำด้วยไม้มาด้วย ตัวเขาและพ.ต.อ.ประพัฒน์ได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยแกนนำคนที่พูดคุยด้วยคือเอกชัยจำเลยที่หนึ่ง เมื่ออัยการถามว่าพ.ท.อุทิศจำได้หรือไม่ว่าเอกชัยคือบุคคลใด พ.ท.อุทิศหันไปชี้ตัวเอกชัยได้อย่างถูกต้อง
เกี่ยวกับเนื้อหาการเจรจา พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเอกชัยต่อรองว่าขอเดินไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ด้านพ.ต.อ.ประพัฒน์และเจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่สามารถให้ผ่านไปได้เพราะเป็นพื้นที่ในการรักษาความปลอดภัย เกรงจะมีเหตุวุ่นวาย เอกชัยเจรจาว่า จะขอเข้าไปรับประทานอาหารเที่ยงที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา แต่พ.ต.อ.ประพัตร์ไม่อนุญาต ส่วนจะมีการเจรจาระหว่างตัวแทนของนายกรัฐมนตรีที่จะมารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่นั้นพ.ท.อุทิศ จำไม่ได้ พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าหลังปรากฎว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารตกลงกันได้ เจ้าหน้าที่จึงยังตรึงกำลังตั้งแถวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไป
สำหรับท่าทีของผู้ชุมนุม พ.ท.อุทิศเบิกความว่าระหว่างที่เอกชัยเข้ามาเจรจากับเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่นั่งอยู่ริมทางเท้าและบนพื้นถนน บางส่วนก็นอนลงบนพื้นถนน แต่ยังเปิดช่องทางเดินทางจราจรให้รถที่ผ่านทางใช้ได้หนึ่งช่องทาง ผู้ชุมนุมที่นั่งและนอนจะเป็นผู้หญิงคนชราและเด็ก มีผู้ชุมนุมบางคนตะโกนด่าเจ้าหน้าที่และมีบางคนใช้โทรโข่งพูดในทำนองปลุกขวัญกลุ่มผู้ชุมนุม
พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่า หลังการเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมนำโดยเอกชัยและเจ้าหน้าที่จบลงด้วยความล้มเหลวได้ไม่นาน แกนนำผู้ชุมนุมบางคนก็สั่งให้ผู้ชุมนุมลุกขึ้น ผู้ชุมนุมที่นั่งและนอนอยู่ก่อนหน้านั้นก็ลุกขึ้นยืน ผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและผู้หญิงส่วนหนึ่งเดินเดินมาอยู่หน้าขบวน หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็เริ่มมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่มีการผลักดันกันมีผู้ชุมนุมบางคนใช้ไม้ซึ่งเป็นคันธงตีเจ้าหน้าที่และมีผู้ชุมนุมบางคนใช้ด้ามธงแทงเจ้าหน้าที่ ซึ่งการผลักดันที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะเป็นการชุลมุน หลังผู้ชุมนุมผลักดันกับเจ้าหน้าที่ได้ครู่หนึ่งแถวของเจ้าหน้าที่ก็แตกออก ผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปได้และได้เดินเท้าต่อไปทางโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา ในส่วนของเจ้าหน้าที่ พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนเดินตามผู้ชุมนุมไปแต่บางส่วนก็ขึ้นรถเพื่อไปรวมพลกันใหม่ที่หน้าสนามยิงปืน กองทัพเรือสงขลา
พ.ท.อุทิศเบิกความว่าหลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ได้สำเร็จ ตัวเขาได้เดินตามไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมคนหนึ่งซึ่งก็อยู่ในห้องพิจารณาคดีนี้ด้วย เมื่ออัยการถามว่าผู้ชุมนุมคนดังกล่าวคือบุคคลใด พ.ท.อุทิศ หันไปชี้ตัวปาฏิหาริย์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าหลังจากพูดคุยกับบุคคลดังกล่าวเขาก็เดินทางไปที่สนามยิงปืนของกองทัพเรือซึ่งเจ้าหน้าที่สามฝ่ายมารวมพลกันได้แก่ ทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน
พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่า พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 และ พล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารีผู้ บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ได้เดินทางมาพบกับเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน หลังจากนั้นจึงมีการวางแผนปฏิบัติการว่า จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตั้งด่านสกัดที่ถนนชลาทัศน์บริเวณก่อนถึงทางเลี้ยวไปถนนเก้าแสน พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่าพล.ต.วรพลจะเป็นคนเดินทางไปพบและเจรจากับผู้ชุมนุมที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา สำหรับเหตุที่ให้เจ้าหน้าที่ไปตั้งแนวสกัดที่ถนนชลาทัศน์ พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถผ่านเข้าไปได้เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ไม่ไกลกับที่พักของคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับกำลังพลที่มารวมตัวกันพ.ท.อุทิศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่สามฝ่ายที่มารวมตัวกันที่สนามยิงปืนกองทัพเรือมีประมาณ 100 คน ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งการกันอย่างไรตัวเขาไม่ทราบ หลังวางแผนปฏิบัติการกันเสร็จ พ.ท.อุทิศได้ติดตามพล.ต.วรพลไปที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชศาสตร์ สงขลา ขณะที่ไปถึงผู้ชุมนุมกำลังรับประทานอาหาร บางส่วนเดินกระจัดกระจายไปตามถนนเก้าแสนมุ่งหน้าไปยังทางโค้งเก้าเส้ง พล.ต.วรพลได้พูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมได้แก่เอกชัยและปาฏิหาริย์ว่า ไม่อยากให้เดินทางไปพบพล.อ.ประยุทธ์โดยตรงแต่ให้มอบหนังสือผ่านตัวแทน พล.ต.วรพลสอบถามทั้งสองด้วยว่าพาชาวบ้านมาทำไม เอกชัยและปาฏิหาริย์ตอบว่า ชาวบ้านมากันเอง พล.ต.วรพลแจ้งทั้งสองว่าจะมีตัวแทนของพล.อ.ประยุทธ์มารับหนังสือ แต่เอกชัยและปาฏิหาริย์ไม่ตกลงในข้อเสนอดังกล่าวและเดินเท้าต่อไป
พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่า หลังการเจรจาไม่เป็นผลเขาและพล.ต.วรพลเดินติดตามผู้ชุมนุมไปตามถนนเก้าแสน ผู้ชุมนุมเดินกันไปแบบกระจัดกระจาย ส่วนเจ้าหน้าที่รวมทั้งตัวเขาและพล.ต.วรพลก็เดินไปพร้อมพร้อมกับผู้ชุมนุม เมื่อเดินไปถึงหัวโค้งเข้าสู่ถนนชลาทัศน์ ก็เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมชุลมุนอยู่กับเจ้าหน้าที่ซึ่งตั้งแถวสกัดอยู่ พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีบทบาทในการนำการชุมนุม หลังจับกุมก็นำตัวขึ้นรถไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา สำหรับผู้ชุมนุมที่ไม่ถูกจับก็กระจัดกระจายอยู่ตามถนนชลาทัศน์
พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าหลังเหตุการณ์สงบลง พล.ต.วรพลพูดคุยกับชาวบ้านที่เหลือว่าต้องการให้เจ้าหน้าที่จัดรถไปส่งหรือไม่ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้พูดอะไร พ.ท.อุทิศจึงไปประจำการอยู่ที่กองอำนวยการร่วมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่าเขาทราบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่จมูกจากเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
นอกจากเอกชัยและปาฏิหาริย์แล้ว เขาเห็นหน้าและจำผู้ชุมนุมได้อีกหลายคนโดยชี้ไปที่รุ่งเรือง จำเลยที่สอง, ดิเรก จำเลยที่สี่, ยิ่งยศ จำเลยที่เจ็ด, อามีน จำเลยที่เก้า, สรวิชญ์ จำเลยที่ 12, สมาน จำเลยที่ 13, อัยโยบ จำเลยที่ 14 และ มุสตาร์ซีดีน จำเลยที่ 16 พ.ท.อุทิศยังหันไปชี้ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่มาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีและกล่าวว่าจำได้ว่าผู้หญิงคนดังกล่าวนั้นมีการตะโกนต่อว่าเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้หญิงรายดังกล่าวไม่ใช่จำเลยในคดีนี้
16 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสณาณรงค์
พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขารับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.มีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา พล.ต.วรพลจึงปฏิบัติตามระเบียบของกองทัพเรื่อง การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยบุคคลสำคัญหมายรวมถึงนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆเป็นต้น ซึ่งตามระเบียบกำหนดให้มีกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยร่วมระหว่างสามฝ่ายคือ ทหาร ตำรวจและพลเรือน (เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง)
พล.ต.วรพลเบิกความว่าตามระเบียบดังกล่าวจะมีการแบ่งพื้นที่การรักษาความปลอดภัยเป็นสามส่วนคือ พื้นที่ชั้นใน มีจุดศูนย์กลางจากบริเวณที่บุคคลสำคัญอยู่หรือมีกำหนดการจะเดินทางไป มีรัศมีจากจุดศูนย์กลางประมาณ 20 – 50 เมตร หน่วยรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบดูแลบริเวณนี้ ขณะที่พื้นที่ชั้นกลางมีรัศมีจากจุดศูนย์กลางประมาณ 50 – 400 เมตร มีทหารและตำรวจเป็นผู้ดูแล ส่วนพื้นที่ชั้นนอกมีรัศมีจากจุดศูนย์กลางประมาณ 400 เมตรขึ้นไป เกี่ยวกับการประชุมกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยร่วม พล.ต.วรพลเบิกความว่า เขาไม่ได้เข้าร่วมประชุมเนื่องจากติดภารกิจศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จึงมอบหมายให้พ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เข้าร่วมการประชุมแทนโดยการประชุมดังกล่าวเกิดประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ
พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าเช้าวันเกิดเหตุ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 42 เพื่อรอรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีกำหนดเดินทางด้วยเครื่องบินมาถึงกองบิน 56 ในช่วงเย็น อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายเขาได้รับรายงานว่ามีการทำร้ายเจ้าหน้าที่เขาจึงเดินทางไปที่โค้งเก้าเส้งเพื่อพบกับพ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์, พล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี และพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ เมื่อไปถึงพ.ต.อ.ประพัตร์รายงานให้เขาทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังได้รับรายงานเขาและพ.ท.อุทิศจึงเดินทางไปบริเวณข้างโรงพยาบาลจิตเวช เมื่อไปถึงพบชายคนหนึ่งกำลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอยู่ พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าเขาได้พูดกับชายคนดังกล่าวว่าผู้ชุมนุมกำลังกระทำการล้ำเส้นของกฎหมาย จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ชายคนดังกล่าวตอบว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้พาผู้ชุมนุมมา อัยการถามว่าพล.ต.วรพลจำชายคนดังกล่าวๆได้หรือไม่ พล.ต.วรพลเบิกความว่าจำได้และหันไปชี้ตัวปาฏิหาริย์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย
พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่า หลังพูดคุยกับปาฏิหารย์เขาได้ตามหาตัวเอกชัย เมื่อพบกันเขาแจ้งเอกชัยว่า ให้ยุติการเดินเท้าและส่งตัวแทนไปพบกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแต่การพูดคุยไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ระหว่างการพูดคุยปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมวิ่งแตกตื่น พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าหลังเห็นผู้ชุมนุมวิ่งแตกตื่นเขาก็แยกกับเอกชัยทันที สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขาเห็นเหตุการณ์ระหว่างที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุม แต่เป็นการยืนดูจากระยะห่างออกไปประมาณ 70 – 80 เมตร พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าหลังเหตุการณ์จบเขาได้เดินทางไปรับพล.อ.ประยุทธ์ และเคยให้การกับพนักงานสอบสวนไว้แล้ว
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พล.ต.วรพล เบิกความตอบทนายจำเลยว่าเขารับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 หน้าที่ของมณฑลฯคือดูแลพื้นที่จังหวัดสตูล สงขลาและพัทลุง พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขาไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปพบผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ก่อนเดินทางมาที่อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา เมื่อทนายจำเลยถามว่าพล.ต.วรพลทราบถึงหนังสือของกอ.รมน.เรื่องให้นักข่าวไปทำข่าวฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือไม่ พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขาไม่ทราบ
ระหว่างที่เขารับราชการเป็นรองผู้บัญชามณฑลทหารบกที่ 42 อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เคยทำหนังสือไปถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวถึงพฤติการณ์การสนับสนุนการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของนักวิชาการของมหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การประท้วงและยื่นหนังสือที่มทบ. 42 พล.ต.วรพลเบิกความยอมรับว่า ในตอนนั้นเขาเป็นผู้รับหนังสือและพูดคุยกับผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้บอกให้ผู้ยื่นหนังสือคัดค้านหรือสนับสนุน เพียงแต่บอกต่อผู้ชุมนุมว่า ให้คิดว่า สิ่งใดดีหรือไม่ดีต่อประเทศชาติ เขาอยากเห็นประเทศชาติพัฒนาแต่ไม่มีหน้าที่ไปสนับสนุนโครงการหรือนโยบายของรัฐบาล รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน
พล.ต.วรพลเบิกความยืนยันกับทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุตอนที่เขาพูดกับผู้ชุมนุม เขาไม่ได้พูดด้วยอารมณ์โกรธ และจำได้ว่า ไม่ได้พูดว่า "ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง งั้นจับเสื้อเขียวให้หมด"
17 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
อนุสร ตันโชติกุล นายอำเภอเมืองสงขลา
อนุสรเบิกความว่าเขารับราชการในตำแหน่งนายอำเภอเมืองสงขลาตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนในพื้นที่ ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เขาราบว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาและจะพักค้างคืนที่โรงแรมบีพี สิมิหลา บีช รวมทั้งทราบว่าชาวบ้านจากอำเภอเทพาเดินเท้าออกจากอำเภอเทพา เพื่อมายื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์
อนุสรเบิกความต่อว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 9.00 น. เขาได้รับมอบหมายจากราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้เดินทางไปพบและเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมซึ่งเบื้องต้นเขาไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร ในเวลาต่อมาเขาได้รับแจ้งว่าผู้ชุมนุมเดินเท้าออกจากมัสยิดบ้านบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มุ่งหน้าไปยังอำเภอเมืองสงขลาแล้ว ในเวลาต่อมาตัวเขา พ.ต.ท.เกียรติพงศ์ ระดมสุข รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาและปลัดอำเภอเมืองสงขลา เดินทางไปยังป้อมยามหน้ากองร้อยอาสารักษาดินแดน จังหวัดสงขลาที่หนึ่ง โดยไปรออยู่ที่บริเวณดังกล่าวประมาณสิบนาที ผู้ชุมนุมจึงเดินเท้ามาถึง อนุสรเบิกความต่อว่า เขาได้สอบถามว่าจะพูดคุยกับใครได้บ้าง ตัวแทนของผู้ชุมนุมสองคนจึงเดินเข้ามาพูดคุย เมื่ออัยการถามว่า เป็นบุคคลใด อยู่ในห้องพิจารณานี้หรือไม่ อนุสรหันไปชี้เอกชัย จำเลยที่หนึ่ง และปาฏิหาริย์ จำเลยที่สาม
เกี่ยวกับเนื้อหาการพูดคุย อนุสรเบิกความว่าเขาได้สอบถามเอกชัยและปาฏิหาริย์ถึงวัตถุประสงค์ของการเดิน ทั้งสองตอบว่าเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อพล.อ.ประยุทธ์ อนุสรจึงเสนอว่าให้ยื่นหนังสือกับเขาเลยและเขาจะนำไปดำเนินการเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ให้ แต่เอกชัยและปาฏิหาริย์ไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลเขาจึงรายงานต่อราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและปรึกษาว่า เส้นทางการเดินเท้าของผู้ชุมนุมน่าจะผ่านหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง ให้ราชิตไปรอพบผู้ชุมนุมที่บริเวณดังกล่าว
อนุสรเบิกความว่าตัวเขาได้เดินทางไปที่โรงพยาบาล เขาได้พบกับราชิตและพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ และมีตัวแทนผู้ชุมนุมคือ เอกชัยกับปาฏิหาริย์มาร่วมเจรจา ครั้งนี้ราชิตเป็นผู้เจรจากับทั้งสอง โดยเสนอว่าให้ผู้ชุมนุมยื่นหนังสือกับตัวแทน อาจเป็นรองผู้ว่าหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แต่ทั้งสองยืนยันที่จะยื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์โดยตรง การเจรจาใช้เวลาประมาณ 30 นาทีแต่ไม่บรรลุผล เขาจึงเดินทางกลับไปทำงานตามปกติ ก่อนจะมาทราบภายหลังในช่วงบ่ายว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุม
27 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ปะจันตะเสน รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเขาปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เนื่องจากผู้กำกับฯลาราชการ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนเขาได้รับแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 ตัวเขาได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เขาเบิกความต่อว่าหลังทราบกำหนดการดังกล่าวก็มีการประชุมร่วมกับส่วนราชการอื่นๆเช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองคือราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นอกจากนั้นก็มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัย
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ท.วันกิตติ ทินนิมิตร ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งเขาว่า ชาวบ้านกลุ่มเทพาเดินทางมาถึงอำเภอเมืองจังหวัดสงขลาแล้ว โดยพักค้างคืนอยู่ที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หรือวันเกิดเหตุตัวเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ระหว่างนั้นเขาได้รับรายงานว่ามีการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ที่บริเวณกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่หนึ่ง โดยมีอนุสร ตันโชติกุล นายอำเภอเป็นผู้ร่วมเจรจาหลัก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็มีการเจรจาใหม่อีกครั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 11:00 น. เขาได้รับคำสั่งจากพล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลา ขอไต่สวนการชุมนุม เขาจึงรวบรวมเอกสารไปที่ศาลในเวลา 11:30 น. ศาลสั่งให้เขาไปเรียกตัวเอกชัยมาร่วมการไต่สวน เขาจึงโทรศัพท์ไปหาพ.ต.ท.เกียรติพงค์ ระดมสุข ให้แจ้งเอกชัย และทราบว่าเอกชัยรับปากว่าจะมา
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 13:00 น. ศาลเริ่มทำการไต่สวนแต่เอกชัยไม่มาเข้าร่วมการไต่สวน ในการไต่สวนครั้งนั้นศาลอนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าร่วมการไต่สวนได้ด้วย โดยมีการนำเฟซบุ๊กไลฟ์ในแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กและหลักฐานอื่นจากแอพพลิเคชั่นไลน์มาใช้ประกอบการไต่สวน พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 15:30 น. ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม เขาจึงรอคำสั่งศาลให้เลิกการชุมนุมจากศาลและนำไปที่สำนักการบังคับคดีในเวลาประมาณ 16.00 น.
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 เป็นกฎหมายใหม่เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ค่อยเข้าใจกฎหมาย เขาจึงอธิบายเนื้อหาของกฎหมายให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีฟังจนกระทั่งเวลาประมาณ 17:00 น. เขาจึงไปที่บริเวณสนามมวย ถนนชลาทัศน์ แต่ไม่พบผู้ชุมนุมจึงเดินทางต่อไปที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชแต่ไม่พบผู้ชุมนุมเช่นกัน เมื่อสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องจึงทราบว่า การชุมนุมยุติแล้วและมีการเชิญตัวผู้ชุมนุมไปที่สถานีตำรวจแล้ว
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่า เมื่อทราบว่าการชุมนุมยุติไปแล้ว เขาจึงขับรถกลับไปส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจากนั้นจึงเดินทางกลับไปที่สถานีตำรวจ เมื่อไปถึงพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหา 16 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอยู่ที่สถานี พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ในฐานะรักษาการผู้กำกับการฯจึงส่งมอบผู้ต้องหาทั้งหมดให้แก่พนักงานสอบสวน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.จราจรฯ,ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่, พกพากอาวุธเข้ามาในเมือง ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ต่อมาทางตำรวจมีการแต่งตั้งทีมสอบสวน รวบรวมเอกสารและหลักฐานจากสถานีตำรวจต่างๆคือ เทพา,จะนะ,ควนมีด และคำสั่งจากกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 9 ในการสอบสวน หลังจากนั้นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาจึงสั่งการให้มีการแบ่งทีมสอบสวน
ในชั้นสอบสวนมีข้อมูลปรากฏว่า มุสตาร์ซีดีน จำเลยที่ 16 มีส่วนเกี่ยวข้องจึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม นอกจากนี้ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับผู้ต้องหาทั้ง 17 คนด้วย หลังจากนั้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เขาได้นำหมายไปที่ศาลจังหวัดสงขลาเพื่อแจ้งว่าไม่สามารถปิดหมายยกเลิกการชุมนุมได้
11 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
ปาฏิหาริย์ จำเลยที่สาม
–
รุ่งเรือง จำเลยที่สอง เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
รุ่งเรืองเบิกความว่า เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยตัวเขามีบทบาทในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ชายฝั่งสวนกงโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเช่น การทำบ้านปลาเพื่ออนุบาลสัตว์น้ำ และช่วยดูแลปะการังในพื้นที่ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้เขายังเคยร่วมมือกับทางราชการด้วยการเข้ารับการอบรมหลักสูตรกับศูนย์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ดังประกาศนียบัตรที่แนบเป็นหลักฐานต่อศาล
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื่องจากเขาเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันแม้จะอยู่ต่างพื้นที่กันก็ตามหรือที่เรียกว่า อยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขา และชาวบ้านอำเภอเทพาน่าจะมีความเกี่ยวพันกันในเชิงบรรพบุรุษ
เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รุ่งเรืองเบิกความว่า เขาเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกระบวนการจะต้องลงทะเบียนก่อน รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่า ถ้าพูดภาษาชาวบ้านต้องเป็นเด็กเส้นจึงจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็น การประเมินผลกระทบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทำแค่พื้นที่รัศมีห้ากิโลเมตรจากโครงการซึ่งไม่ครอบคลุมเพียงพอ เห็นได้จากปรากฏการณ์หมอกควันจากอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขาเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบที่กว้างกว่ารัศมีห้ากิโลเมตรที่มีการทำการประเมินไว้
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่า เมื่อเขาทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 เขาและพวกจึงเห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีในการเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านให้ทางรัฐบาลรับทราบ จึงนัดกันเดินเท้าไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา รุ่งเรืองเบิกความว่าเขาไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้นัดการชุมนุมครั้งนี้ ทราบแต่เพียงว่าเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นผ่านการพูดคุยบนโลกออนไลน์ รุ่งเรืองเบิกความว่าในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เขาร่วมเดินเท้าตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ตำบลบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาและร่วมเดินเรื่อยมาไม่ได้เว้นช่วงไปที่อื่น ลักษณะการเดินคือ เดินบนไหล่ทางของถนน ไม่ได้รุกล้ำลงไปในพื้นถนน
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขาไม่ทราบว่าการเดินดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯหรือ เพราะปกติเวลาชาวบ้านเลี้ยงวัว ต้อนวัวเดินในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าชาวบ้านต้องแจ้งการชุมนุม รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่า ชาวบ้านเทพาพูดภาษามลายูจึงเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ กลุ่มชาวบ้านจึงมอบหมายให้เอกชัยทำหน้าที่ในการเจรจา
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าในคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เขากับพวกนอนพักที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เบื้องต้นอิหม่ามประจำมัสยิดอนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาพักได้เลย แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจไม่ให้พัก ชาวบ้านจึงต้องพยายามเจรจาจนสุดท้ายจึงสามารถนอนได้ ในวันรุ่งขึ้น (27 พฤศจิกายน 2560) เขาและพวกจึงเดินเท้าต่อจนเวลาประมาณ 12.00 น. ก็เดินมาถึงแถวบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เมื่อเดินมาถึงบริเวณดังกล่าวก็เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวรออยู่ ขบวนของชาวบ้านเดินเท้าไปจนถึงแถวของตำรวจแล้วก็ไม่สามารถเดินผ่านไปได้ ในนั้นเอกชัยยังมาไม่ถึงเนื่องจากหยุดเจรจากับเจ้าหน้าที่อยู่ แต่จะเป็นการเจรจาที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่หนึ่งหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้างตัวเขาไม่แน่ใจ
เกี่ยวกับสภาพอากาศและสภาพของขบวนในขณะนั้น รุ่งเรืองเบิกความว่าช่วงเวลานั้นอากาศร้อนมากและชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน ชาวบ้านบางส่วนนอนลงบนพื้นถนนที่มีกรวยกั้นไว้ก่อนแล้ว เหตุที่ไม่ขึ้นไปนั่งบนทางเท้าเนื่องจากบริเวณนั้นมีนักศึกษาจากมหาลัยราชภัฏสงขลามายืนอยู่เพื่อให้กำลังใจจำนวนมาก ระหว่างนั้นก็มีชาวบ้านผู้หญิงคนหนึ่งเป็นลมก่อนที่ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีชาวบ้านที่เป็นผู้ชายอีกคนหนึ่งเป็นลม คนที่อยู่บริเวณนั้นจึงกรูเข้าไปช่วย การที่มีคนกรูกันเข้าไปให้ความช่วยเหลือดูเหมือนจะมีการปะทะกัน แต่จริงๆไม่ใช่แบบนั้น อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็มีความชุลมุนเกิดขึ้นเนื่องจากมีเด็กๆไปยืนตรงหน้าแถวตำรวจและถือป้ายพูดว่า หนูอยากกินข้าวด้วย บางคนก็เข้าไปดูเด็ก บางคนก็เข้าไปดูคนเป็นลมอีก จนสุดท้ายเหมือนหลุดจากแนวกั้นและเดินต่อไปได้ จากนั้นจึงพักรับประทานอาหารกลางวันที่ข้างโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา รุ่งเรืองเบิกความว่าในขณะนั้นชาวบ้านหิวกันมากกับข้าวจึงไม่พอ ชาวบ้านต้องหาซื้ออาหารกล่องมาเพิ่ม
รุ่งเรืองเบิกความว่าหลังจากที่ชาวบ้านกินข้าวเสร็จมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาพูดคุยกับเอกชัย ระหว่างนั้นชาวบ้านบางส่วนก็เริ่มละหมาด บางส่วนไปละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง บางส่วนก็ละหมาดที่บริเวณนั้นเลย หลังจากนั้นเมื่อชาวบ้านเริ่มเดินต่อก็พบว่าเจ้าหน้าที่มีการปิดถนนไม่ให้ชาวบ้านเดินผ่านไปยังถนนชลาทัศน์ แต่เนื่องจากแนวของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปิดถนน ทั้งเส้นชาวบ้านจึงเดินฝ่าไปได้อีกครั้ง
รุ่งเรืองเบิกความว่าเมื่อเขาเดินไปถึงโค้งเก้าเส้ง เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยที่ตอนนั้นไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ระหว่างนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งเข้ามากอดเขาไว้พร้อมบอกว่าไม่ให้เจ้าหน้าที่จับกุมตัวเขา เจ้าหน้าที่ก็หิ้วตัวผู้หญิงคนดังกล่าวไปโยนกระแทกกับกำแพง รุ่งเรืองเบิกความยืนยันว่าผู้หญิงคนดังกล่าวบาดเจ็บจากการถูกกระแทกเป็นเวลาสามวัน
หลังถูกควบคุมตัวจากโค้งเก้าเส้งไปที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา เจ้าหน้าที่นำตัวเขาขึ้นหลังกระบะรถโดยจัดท่าให้เขาคว่ำตัวแนบพื้นและเอาแขนไขว่หลัง ตลอดการเดินทางเจ้าหน้าที่ใข้เข่ากดหลังเขาไว้ตลอดเวลา รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่าลูกสาววัย 14 ปีของเขาซึ่งมาร่วมเดินเท้าด้วยได้ติดตามขึ้นรถมาด้วยเพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังรุนแรงกับเขา ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ออกรถก็ขับรถด้วยความเร็วสูงเขาจึงต้องขอให้เจ้าหน้าที่ชะลอความเร็วรถเพราะเกรงว่าลูกสาวจะได้รับอันตราย
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเมื่อถึงสถานีตำรวจภูธรสงขลา เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาไว้ที่ห้องขังโดยเขาถูกขังแยกกับฮานาฟีที่ถูกควบคุมตัวมาด้วยกัน แต่ห้องขังของเขากับฮานาฟีก็อยู่ใกล้ๆกัน หลังจากเข้าห้องขังได้ครู่หนึ่งเขาถูกนำตัวไปที่ห้องแถลงข่าวของสถานีตำรวจซึ่งติดเครื่องปรับอากาศและมีที่นั่งอย่างดีเพื่อแถลงข่าวร่วมกับเอกชัย ดิเรกและปาฏิหาริย์ ซึ่งเมื่อเขาเข้ามาในห้องก็มีผู้สื่อข่าวมารออยู่แล้ว หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวเขาถูกนำตัวไปสอบสวน โดยมีทนายความรับฟังและให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการ ในส่วนของคำให้การเขาให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา เสร็จสิ้นการสอบสวนในเวลาประมาณ 4.00 น.ของวันถัดมา
รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่าการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเขาเนื่องจากต้องเดินทางมาศาลไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ขณะที่วันนี้รุ่งเรืองก็ไปออกเรือหาปลาในช่วงกลางคืนและต้องรีบมาที่ศาลทันทีจึงยังไม่ได้พักผ่อน
อัยการไม่ถามค้าน
12 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
อานัส จำเลยที่ 15 เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
อานัสเบิกความว่า เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านสามหมอ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ผ่านมาเขาเคยทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่นเวทีคุณค่าของแผ่นดิน กิจกรรมการเดินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มายังพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นต้น
เกี่ยวกับประวัติส่วนตัว อานัสเบิกความว่าจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อำเภอเทพาอีกด้วย สำหรับเหตุที่เขาทำการศึกษาและทำกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเนื่องจากเห็นว่าเป็นพันธกิจในฐานะผู้ศึกษาที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและให้ข้อมูลว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร
เกี่ยวกับกิจกรรมเทใจให้เทพา อานัสเบิกความว่าเขาทราบข่าวจากเฟซบุ๊กเพจคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ตัวเขามาเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่สะดวกมาร่วมกิจกรรม โดยเขาได้ทำการนัดหมายกับมุสตาร์ซีดีน จำเลยคดีนี้อีกคนหนึ่งซึ่งได้บอกกับเขาว่าให้มาพบกันที่โค้งเก้าเส้ง
อานัสเบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุเขาเดินทางด้วยรถตู้จากจังหวัดปัตตานีมาที่จังหวัดสงขลา เวลาประมาณ 12.00 น. รถตู้ที่เขานั่งมาขับผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เมื่อรถวิ่งผ่านเขาสังเกตเห็นชาวบ้านและเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตั้งจุดสกัด เขาจึงขอลงจากรถตู้หลังรถขับเลยจากจุดที่ชาวบ้านอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 เมตร หลังลงจากรถเขาเห็นชาวบ้านเป็นลม คนที่เป็นลมเป็นคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งเขาไม่ทราบชื่อ หลังจากนั้นชายชื่อหมิด ชาวบ้านอีกคนหนึ่งก็เป็นลมไปอีกคน รวมมีคนเป็นลมสามคน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ชุลมุน อานัสเบิกความว่าตัวเขาอยู่ด้านหลังสุดของกลุ่มชาวบ้าน ห่างจากตำรวจแถวหน้าสุดประมาณห้าเมตร หลังจากชาวบ้านฝ่าแนวกั้นตำรวจไปได้ ตัวเขายังไม่ได้ตามไปด้วย โดยยังอยู่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ระหว่างนั้นเขาเห็นว่ามีรถพยาบาลมารับตัวหมิดไป หลังจากนั้นอานัสก็เก็บข้าวของที่ยังเหลือค้างบริเวณนั้นและไปทานอาหารกลางวันร่วมกับชาวบ้านที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้วที่โรงพยาบาลจิตเวช
เมื่อมีการจับกุมผู้ชุมนุม เขาถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวขึ้นรถกระบะของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพร้อมกับรุ่งเรือง เขาเห็นว่ารุ่งเรืองอยู่ในสภาพหน้าคว่ำอยู่กับกระบะ ขณะที่ตัวเขาถูกเจ้าหน้าที่จับนอนหงายและใส่กุญแจมือ อานัสเบิกความด้วยว่าขณะทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลใดต่อเขาเลย
อานัสเบิกความต่อว่า เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรสงขลา เขาถูกควบคุมตัวไปที่ชั้นสี่ของอาคาร ในชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่นำเอกสารมาให้เขาลงลายมือชื่อ เขาไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวคืออะไรและก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อ ในวันเกิดเหตุเขาสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีครีม ทนายจำเลยให้อานัสดูภาพถ่ายของบุคคลร่างสันทัดและผมยาวระต้นคอและเขียนรายละเอียดประกอบภาพว่าเป็นภาพถ่ายของอานัสสซึ่งอัยการนำส่งต่อศาลให้อานัสดูแล้วถามว่าภาพถ่ายดังกล่าวคือเขาใช่หรือไม่ อานัสตอบว่า ไม่ใช่ พร้อมทั้งเบิกความว่าขณะเกิดเหตุเขาตัดผมสั้นเกรียน บุคคลในภาพเป็นผู้หญิงชื่อว่า ตั๊ก เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
อานัสเบิกความว่าหลังถูกดำเนินคดีเขาได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ เนื่องจากต้องเดินทางมาที่ศาล
อิสดาเรส จำเลยที่ห้า เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
อิสดาเรสเบิกความว่า เขาทำงานในตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลปากบาง จังหวัดสงขลาขณะเกิดเหตุเขาได้รับมอบหมายจากนายกเทศมนตรีให้ดูแลงานด้านสุภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน เขามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาโดยตลอด
อิสดาเรสเบิกความต่อว่าก่อนหน้าที่จะมีการรับฟังความคิดเห็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้จัดให้พนักงานเทศบาลตำบลปากบางไปดูงานที่โรงงานไฟฟ้าในเมืองอิโป (Ipoh) รัฐเปรัคของประเทศมาเลเซีย ผู้ให้ข้อมูลชาวมาเลเซียระบุว่า การมีโรงไฟฟ้าจะทำให้มีปลาเยอะขึ้นเพราะน้ำจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น อิสดาเรสเบิกความว่าเมื่อเขาได้ฟังก็รู้สึกกังขาจึงกลับมาทำการศึกษาว่า ข้อเท็จจริงตรงข้ามกับที่ได้รับรู้จากการดูงาน จึงแสดงความคิดเห็นคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมาโดยตลอด
เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อิสดาเรสเบิกความว่าเขาไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นยังให้ข้อมูลกับชาวบ้านไม่เพียงพอ การออกความเห็นจึงไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบ ต่อมาในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สองเขาไม่ได้เข้าร่วมเพราะไม่ทราบว่าจัดขึ้นที่ใด จนกระทั่งปรากฏการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สาม ครั้งนั้นมีทหารวางกำลังในพื้นที่และมีการแจกสิ่งของอีกด้วย
อิสดาเรสเบิกความต่อว่าที่ผ่านมาเขาเผชิญกับการคุกคาม เช่น ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพาโทรศัพท์มาหาเขาและกล่าวว่า การเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสุ่มเสี่ยง ต่อมาตรา 44 อิสดาเรสยืนยันว่า มาตรา 44 ไม่ได้บังคับใช้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
อิสดาเรสเบิกความต่อว่านอกจากที่เบิกความไปข้างต้นเขาก็เคยถูกคุกคามในลักษณะอื่นอีก เคยมีทหารนอกเครื่องแบบสามนายจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(ฉก.สันติสุข) พูดกับเขาในทำนองว่า การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเขาถามทหารกลุ่มนั้นกลับไปว่าที่พูดมาหมายถึง การคัดค้านโรงไฟฟ้าเป็นการทำลายชาติใช่หรือไม่ ครั้งนั้นอิสดาเรสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีเลขานุการของเขาจดรายละเอียดการพูดคุยไว้ด้วย
เกี่ยวกับการเดินเทใจให้เทพา อิสดาเรสเบิกความว่าเขาร่วมเดินเท้ากับชาวบ้านตั้งแต่เริ่มเรื่อยมาจนกระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 จึงเข้าพักที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ในช่วงเช้าของวันถัดมา เขากลับไปที่อำเภอเทพาเพื่อพาชาวบ้านมาร่วมเดินเท้าด้วยจำนวน 18 คน ที่โรงพยาบาลจิตเวชอิสดาเรสได้พักทานข้าวกลางวันและไปละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง ก่อนย้อนกลับมาที่โรงพยาบาลจิตเวชและเดินฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ไปที่โค้งเก้าเส้ง จากนั้นมีการจับกุมตัวเขาที่บริเวณดังกล่าว อิสดาเรสเบิกความต่อว่าภรรยาของเขาพยายามถามเจ้าหน้าที่ว่า จับกุมเขาทำไม แต่ไม่ได้รับคำตอบ เจ้าหน้าที่นำตัวเขาขึ้นรถมารวมกับชาวบ้านคนอื่นๆที่ถูกจับกุมที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา
อิสดาเรสเบิกความต่อว่าหลังเหตุการณ์ ในเดือนธันวาคม 2560 เขาเข้าร่วมการประชุมระดับอำเภอ นายอำเภอเทพาได้แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีเดินทางมาที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาในวันเกิดเหตุด้วย ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ชาวบ้านเทพาเดินทางไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและด้านข้างองค์การสหประชาชาติ การชุมนุมครั้งนั้นยุติลง หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามในหนังสือชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกันกับที่ชาวบ้านเทพาจะยื่นให้แก่พล.อ.ประยุทธ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 หรือเหตุการณ์ในคดีนี้
อิสดาเรสเบิกความด้วยว่าการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเพราะต้องลางานมาศาลและรู้สึกหวั่นใจว่า จะถูกถอดถอนหรือเรียกเงินเดือนคืน
ฮานาฟี จำเลยที่ 17 เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
ศาลเริ่มการสืบพยานช่วงบ่ายต่อในเวลาประมาณ 14.20 น. เนื่องจากพยานปากนี้เป็นพยานเยาวชนจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในห้องสืบพยานเด็ก โดยฮานาฟีจะอยู่กับนักจิตวิทยาในห้องสืบพยานเด็ก ทนายจำเลยจะถามในห้องพิจารณาคดีปกติผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่ห้องสืบพยานเด็ก จากนั้นให้นักจิตวิทยาฟังและถามฮานาฟีในห้องสืบพยานเด็ก และตอบผ่านกล้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังห้องสืบพยานปกติ
ฮานาฟีเบิกความว่าเขาเกิดที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยขณะที่เบิกความต่อศาลเขามีอายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้า ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เขาเคยเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหลายที่เช่น บ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดยะลา เกี่ยวกับกิจกรรมเดินเทใจให้เทพา ฮานาฟีเบิกความว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เขาไปเรียนหนังสือและกลับมาบ้านในช่วงเย็น จากนั้นจึงทราบข่าวเรื่องการเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี
เกี่ยวกับวันเกิดเหตุ ฮานาฟีเบิกความว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาร่วมเดินจากบ้านปากบางไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ขณะที่เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ เขาอยู่ด้านหน้าสุด ตอนนั้นตัวเขาไม่ได้ถือไม้พลองหรืออุปกรณ์ใดในมือเลย ระหว่างปะทะเจ้าหน้าที่ลากตัวเขาไปที่หลังกระบะและทำร้ายเขา ฮานาฟีเบิกความต่อว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมตัวเขา เขาได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่พูดว่า จะจับเขาขึ้นรถตู้ ฮานาฟีเบิกความต่อว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมตัวเขา เขาได้ตะโกนเรียกให้ชาวบ้านมาช่วยจึงสามารถหลุดออกจากความควบคุมของเจ้าหน้าที่มาได้ หลังจากนั้นเขาร่วมเดินกับขบวนต่อจนถึงที่โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาและพักกินข้าว หลังจากนั้นก็เดินต่อจนกระทั่งมาถูกจับกุมที่โค้งเก้าเส้ง
ฮานาฟีเบิกความด้วยว่า ระหว่างที่เขากูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เขาได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่พูดว่า เสื้อเขียวจับให้หมด เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เขาถูกนำตัวไปขังรวมกับจำเลยรายอื่นๆ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
ตอบอัยการถามค้าน
อัยการถามว่า ฮานาฟีมีความสัมพันธ์อะไรกับดิเรก จำเลยที่สอง ฮานาฟีตอบว่า เขาเป็นหลานของดิเรก อัยการถามว่า ดิเรกเคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อฮานาฟีหรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า เคย อัยการถามว่า ดิเรกเป็นคนชักชวนฮานาฟีเข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ไม่ใช่ พร้อมขยายความว่าเขาเข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากคนในหมู่บ้านเข้าร่วมกัน อัยการถามว่า ตอนที่มีการผลักดันที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ฮานาฟีร่วมผลักดันด้วยใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า เขาไม่ได้ผลักดันแต่เจ้าหน้าที่เป็นคนผลัก อัยการถามว่า ในขณะที่มีการผลักดันกันตัวฮานาฟีเองก็ผลักดันเจ้าหน้าที่กลับไปด้วยใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า ฮานาฟีไม่ได้แจ้งต่อตำรวจว่า ตัวฮานาฟีเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปีใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่
ตอบทนายจำเลยถามติง
ทนายจำเลยถามว่า เหตุใดฮานาฟีถึงเข้าไปอยู่ในวงผลักดันดังกล่าว ฮานาฟีตอบว่า เพราะมีคนเป็นลม เขาเลยต้องเข้าไปช่วย ทนายจำเลยถามว่า ตอนเจ้าหน้าที่ทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่ ใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ในตอนที่ถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวฮานาฟีไปขังรวมกับจำเลยคนอื่นๆทันทีใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่
ทนายจำเลยถามต่อว่า สถานการณ์ตอนนั้นฮานาฟีหวาดกลัว จนทำให้ไม่กล้าจะบอกเจ้าหน้าที่ว่าตัวเองอายุ 16 ปี ใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ในตอนแรกที่มีการบันทึกการจับกุม เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่ ใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า เจ้าหน้าที่ทราบว่า ฮานาฟีอายุ 16 ปี ตอนที่แยกทำการสอบสวนรายคนใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามติง
13 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
ดิเรก จำเลยที่สี่ เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
ดิเรกเบิกความว่า เขาเกิดที่บ้านปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และระดับชั้นปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดยะลา ตั้งแต่ปี 2550-2559 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนรักษ์อิสลาม
ดิเรกเบิกความว่าขณะที่ศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี เขาได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ทำให้ทราบถึงผลกระทบของถ่านหิน ประกอบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลกที่ต้องการยกเลิกหรือลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวคัดค้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของเขา ต่อมาเขาทราบถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในเดือนพฤศจิกายน 2557 หรือหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่จะเริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ดิเรกเบิกความต่อว่าหลังทราบเรื่องก็มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการเชิญให้นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในขณะนั้นมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชน
ดิเรกเบิกความว่าในความเห็นของเขา กระบวนการรับฟังความคิดเห็นมีความไม่ชอบ การเสนอความคิดเห็นจะต้องมีการลงทะเบียนก่อน ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนได้ส่วนใหญ่มีลักษณะถูกจัดตั้งจากบริษัทที่ปรึกษา ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สามารถเข้าเสนอความคิดเห็นมีเพียงส่วนน้อย และการเสนอความเห็นยังทำได้เพียงครั้งละ 5 นาที ซึ่งไม่สามารถสื่อความได้อย่างครบถ้วน
ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง (ค.1) เป็นการพูดถึงขอบเขตคร่าวๆของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ระบุว่า จะใช้พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นร้อยละ 90 มุ่งความสนใจไปที่การแจกของฟรีเช่น ข้าวสาร ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สอง (ค.2) เป็นการรับฟังความเห็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่ม แต่ปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเช่น ชาวนา ชาวประมง นั้นไม่ได้เข้าร่วมด้วย ต่อมาในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ค.3) มีการใช้ตำรวจ ทหารมาวางกำลังที่บริเวณจุดรับฟังความคิดเห็นและมีการพูดทำนองว่า ผู้ที่คัดค้านก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่
ดิเรกสรุปว่า การรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจึงไม่ถูกต้องตามหลักการ ทั้งในบางครั้งยังปรากฏว่า ชาวบ้านใช้เวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นเวทีร้องขอโครงการอื่นๆเช่น สนามกอล์ฟ, สนามแข่งนกหรือสนามวัวชน เป็นต้น นอกจากนี้ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังเป็นข้อมูลชั้นทุติยภูมิ(ชั้นรอง) ผู้ทำรายงานไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจเอง และปรากฏข้อมูลเท็จว่า พื้นที่ชายฝั่งเทพามีแหน และมีป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ ต่างกับระบบนิเวศน์จริงในพื้นที่
เกี่ยวกับการรวมตัวของชาวบ้านผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ดิเรกเบิกความว่าชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายชื่อว่า คนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับคนในชุมชน มีการศึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินบนหลักวิชาการ ระหว่างปี 2557-ช่วงเวลาเกิดเหตุในปี 2560 เครือข่ายมีการรวมตัวยื่นหนังสือเรียกร้องไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง
ดิเรกเบิกความว่าก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายเคยจัดกิจกรรมที่คล้ายคลึงกับการเดินเท้าในคดีนี้คือ ในปี 2558 หลังมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชาวบ้านทำกิจกรรมการเดินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมาถึงบ้านปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ครั้งนั้นไม่มีการ
แจ้งการชุมนุม แต่ก็ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดใด
ในเดือนพฤศจิกายน 2560 รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ-ของโครงการผ่านแล้ว รัฐบาลกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชาวเทพา เมื่อทราบว่า ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสงขลา ดิเรกจึงร่วมพูดคุยกับเครือข่ายฯว่า จะเดินมายื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์
เกี่ยวกับการทำกิจกรรม ดิเรกเบิกความว่าเขาและชาวบ้านเทพาเริ่มออกเดินในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 จากบ้านบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยการเดินจะเดินอยู่บนไหล่ทางของทางหลวงมาโดยตลอดและมีการตักเตือนกันไม่ให้กระทำการออกนอกกรอบ ในช่วงเย็นวันเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงว่า การเดินเท้าเข้าข่ายการชุมนุมและจะต้องแจ้งการชุมนุม เอกชัยและปาฏิหาริย์จึงทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรื่องแจ้งการชุมนุมและขอผ่อนผันการแจ้งการชุมนุม หลังจากนั้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาทราบว่า มีนายอำเภอมาพูดคุยกับเอกชัยที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1แต่เขาไม่ได้เข้าร่วมด้วยแต่ได้เดินร่วมกับขบวนต่อไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงเห็นว่ามีตำรวจตั้งแถวปิดกั้น มีการวางกรวยที่ถนนช่องทางซ้ายสุด เมื่อไม่สามารถเดินต่อไปได้ ชาวบ้านบางคนจึงล้มตัวลงนอนบนพื้นผิวถนนช่องทางด้านในสุด
ดิเรกเบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 13.00-14.00 น. มีชาวบ้านเป็นลมและเกิดเหตุชุลมุนขึ้น เขาเห็นว่า ชาวบ้านมีการเบี่ยงหลบแนวกั้นไปทางด้านถนนช่องทางที่สองจากซ้ายและเดินต่อไป ซึ่งระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมบุคคลใด ตัวเขาเองก็เดินไปกับขบวนด้วยก่อนจะไปพักรับประทานอาหารกลางวันที่โรงพยาบาลจิตเวช สงขลา ขณะนั้นก็มีชาวบ้านบางส่วนแยกตัวไปละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง ระหว่างนั้นเองมีนายทหารคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมพวกและถามด้วยเสียงดังว่า เอกชัยอยู่ไหน เขาจึงคิดว่าน่าจะมีเรื่องแล้ว
ดิเรกเบิกความต่อว่าเขาและขบวนเดินต่อไปที่โค้งเก้าเส้ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มุ่งไปสู่ถนนชลาทัศน์และมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา เมื่อไปถึงบริเวณโค้งเห็นเจ้าหน้าที่ตั้งแถวรออยู่ รุ่งเรือง จำเลยที่สองจึงเดินเข้าไปพูดคุยกับตำรวจเพื่อเจรจา แต่ปรากฏว่าตำรวจได้ทำการจับกุมดิเรกรุ่งเรืองเดินไปหาแต่ดิเรกถูกจับ? ดิเรกเบิกความต่อว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ทำท่าจะจับกุมเขาก็วิ่งหนี แต่วิ่งไปได้พักเดียวก็หยุดวิ่ง พอเขาหยุดวิ่งเจ้าหน้าที่ที่ตามมาทันก็จะทำการจับกุมดิเรก เมื่อเจ้าหน้าที่จะทำการจับกุมเขาแสดงท่าทีไม่ยินยอมและถามเจ้าหน้าที่ว่าจับกุมเขาด้วยเหตุใด เจ้าหน้าที่ไม่ตอบดิเรกและยังคงพยายามที่จะจับกุมตัวเขา ตัวเขาจึงนอนลงกับพื้น ดิเรกเบิกความต่อว่าเมื่อญาติของเขาเห็นเขานอนลงกับพื้นก็มาล้มตัวทับเขาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาได้สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ควบคุมตัวเขาได้สำเร็จและนำตัวเขาไปที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา
ที่สถานีตำรวจ เขาและผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวมาทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่ชั้นสี่ของอาคาร แต่ต่อมาตัวเขา เอกชัย รุ่งเรืองและปาฏิหาริย์ ก็ถูกแยกตัวลงมาที่ชั้นล่างของอาคาร เมื่อลงไปถึงพบนายตำรวจนายหนึ่งที่ทราบในภายหลังว่า เป็นพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ดิเรกเบิกความว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์พูดว่า “ไหนใครทำร้ายเจ้าหน้าที่” และได้ยินเอกชัยตอบว่า “ไม่มีใครทำร้ายเจ้าหน้าที่ มีแต่เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน” พล.ต.อ.ศรีวราห์ตอบทำนองว่า ให้ชาวบ้านไปฟ้องคดีเข้ามา หลังจากนั้นเขาก็ถูกพาตัวขึ้นไปที่ชั้นสี่ของอาคารอีกครั้ง จากนั้นในเวลา 20.00 น. ตำรวจได้พาเขาไปซักถาม แต่เป็นลักษณะคร่าวๆ จากนั้นในเวลาประมาณ 00.01 น. ขณะที่เขากำลังจะหลับ เจ้าหน้าที่ก็กลับมาอีกครั้งบอกว่าจะมาแจ้งข้อกล่าวหา แต่เจ้าหน้าที่ก็กลับออกไปโดยที่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหายังไม่แล้วเสร็จ ต่อมาเวลาประมาณ 03.00 น. เจ้าหน้าที่จึงนำผู้ต้องหาไปแยกสอบเป็นรายคน
ในบรรดาจำเลยทั้ง 17 คน เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์ มุสตาร์ซีดีนและอานัส ไม่ใช่ชาวบ้านอำเภอเทพา แต่เคยรู้จักกันมาก่อน ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาล เขาเดินทางมาที่กรุงเทพเพื่อยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง โดยครั้งนั้นเขากับพวกได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุม เนื่องจากหลังยื่นหนังสือเสร็จเขากับพวกจะต้องปักหลักรอคำตอบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หลังแจ้งการชุมนุมเขาและผู้ชุมนุมได้รับหนังสืบตอบกลับจากตำรวจ แจ้งให้แก้ไขการชุมนุมเพราะบริเวณที่ชุมนุมอยู่ในรัศมีไม่ถึง 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อกำหนดห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หลังเจ้าหน้าที่แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม เขาและพวกจึงย้ายไปปักหลักที่บริเวณด้านข้างองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอกแทน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่สั่งให้แก้ไขการชุมนุมให้ไปชุมนุมที่ทางเท้าใกล้วัดโสมนัสวรวิหาร และทราบว่าเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม ดิเรกเบิกความด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหนังสือแจ้งให้แก้ไขการชุมนุมและคำร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการชุมนุมนำมาติดไว้บริเวณที่ชุมนุม นอกจากนี้เขาก็ทราบว่ามีตัวแทนชาวบ้านไปร่วมการไต่สวน ซึ่งศาลสั่งให้ชาวบ้านชุมนุมได้ต่อไป
ดิเรกเบิกความต่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามในบันทึกข้อตกลงถอนรายงานประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชาวบ้านจึงยุติการชุมนุมในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวเลย
เกี่ยวกับฮานาฟี จำเลยที่ 17 ดิเรกเบิกความว่าฮานาฟีเล่าให้เขาฟังว่าถูกเจ้าหน้าที่กระทืบที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แต่เขาไม่ได้ขอดูบาดแผล เขาได้แต่บอกฮานาฟีว่าให้ไปพบแพทย์ ดิเรกเบิกความด้วยว่าหลังถูกทำร้ายร่างกายฮานาฟีมีลักษณะซึมลง
ตอบอัยการถามค้าน
อัยการถามว่า ในวันที่ถูกจับกุมตำรวจไม่ได้สวมเครื่องพันธนาการดิเรกใช่หรือไม่ ดิเรกตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า ดิเรกเป็นผู้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาใช่หรือไม่ ดิเรกตอบว่า มีเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีเป็นผู้จัดกิจกรรม เขาเพียงแต่เข้าร่วมกิจกรรม อัยการถามว่า ดิเรกเป็นผู้จัดทำหนังสือที่ใช้ยื่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ ดิเรกตอบว่า ไม่ทราบว่าใครจัดทำ แต่เขาเป็นเพียงผู้เก็บรักษา
ทนายจำเลยไม่ติง
สมบูรณ์ จำเลยที่หก เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
สมบูรณ์เบิกความว่าเขาเป็นชาวจังหวัดสตูล เคยร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านเทพามาก่อนหน้าเกิดเหตุ เช่น การเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมบูรณ์เบิกความว่าเขาทราบว่า วันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านเทพาจะรวมตัวกันเดินเท้าไปยื่นหนังสือแก่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีจากเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า คนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
สมบูรณ์เบิกความว่าในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เขาเดินทางไปที่บ้านบางหลิง อำเภอ เทพา จังหวัด สงขลา เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรม โดยตำรวจได้มาสอบถามชาวบ้านว่า จะทำกิจกรรมอะไร เดินไปไหน ตำรวจจึงทราบดีว่า ชาวบ้านจะเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ แต่ครั้งนั้นไม่เจ้าหน้าที่ไม่มีการห้ามปรามหรือบอกว่าจะต้องแจ้งการชุมนุม จากนั้นเย็นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 มีตำรวจมาแจ้งกับชาวบ้านว่า การเดินเท้าจะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะเสียก่อน สมบูรณ์และชาวบ้านเทพาจึงหยุดพักและพูดคุยกันว่า การเดินไปยื่นหนังสือถือเป็นการชุมนุมจริงหรือไม่ ตัวเขาเห็นว่าการยื่นหนังสือไม่ถือเป็นการชุมนุม แต่จากการพูดคุยได้ข้อสรุปว่า เพื่อความสบายใจให้ไปแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจ
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า ชาวบ้านเห็นว่าควรจะให้เอกชัยและปาฏิหาริย์เป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้งการชุมนุม เพราะทั้งสองคนมีวาทศิลป์ แต่สมบูรณ์ไม่ทราบว่า ทั้งสองจะมีความรู้เรื่องกฎหมายการชุมนุมหรือไม่อย่างไร ทนายจำเลยให้สมบูรณ์ดูภาพที่เป็นภาพของชาวบ้านใส่เสื้อกันฝนเดินริมถนน และมีรายละเอียดว่า เป็นการเดินเท้าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 แล้วถามว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร สมบูรณ์ตอบว่า ไม่ใช่เหตุการณ์วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากวันดังกล่าวฝนไม่ตก ต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านหยุดพักที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ แต่ปรากฏว่า เกิดปัญหาขัดข้อง อิหม่ามประจำมัสยิดไม่อยากให้เข้าพัก ชาวบ้านจึงเข้าเจรจาว่า มีสิทธิหรือไม่ในการเข้าพัก ในเวลาต่อมาคณะกรรมการมัสยิดมีการประชุมและอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าพักได้
สมบูรณ์เบิกความต่อว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 12.00 น. สมบูรณ์ทราบว่า เอกชัยและปาฏิหาริย์ได้เจรจากับนายอำเภอจังหวัดสงขลา เขาทราบในภายหลังว่า นายอำเภอต้องการให้ยื่นหนังสือไว้กับนายอำเภอแล้วทางนายอำเภอจะไปดำเนินการยื่นหนังสือต่อให้นายก
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า เมื่อขบวนของชาวบ้านเดินถึงบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา พบว่า มีเจ้าหน้าที่วางแนวกั้นอยู่ เมื่อเดินต่อไม่ได้ชาวบ้านก็ล้มตัวลงนอนที่พื้นผิวถนนช่องซ้ายสุด ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามต่อรองให้เจ้าหน้าที่ปล่อยชาวบ้านไปรับประทานอาหารก่อน มีเด็กที่ร่วมเดินเท้า มีเด็กที่ร่วมเดินเท้าบางคนเอากระดาษเขียนป้ายไปยืนพูดที่ด้านหน้าขบวนว่า หนูหิวข้าว หนูอยากกินข้าว
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า ในเวลาประมาณ 13.00 น. มีชาวบ้านเป็นลมคนแรก จากนั้นคนก็กรูกันเข้าไปช่วยคนเป็นลม จากนั้นเหตุการณ์ก็ชุลมุนขึ้น มีเสียงตะโกนมาว่า มีชาวบ้านถูกทำร้าย สมบูรณ์จึงวิ่งเข้าไปดู พบว่า เป็นฮานาฟี จำเลยที่ 17 กำลังถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้าย สมบูรณ์และพวกจึงเข้าไปช่วยลากฮานาฟีออกมา มีการยื้อหยุดจนกระทั่งเสื้อของตัวเขาเองขาด ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็เดินเท้าเบี่ยงออกจากแนวของเจ้าหน้าที่ไปทางถนนด้านขวาและมุ่งหน้าไปต่อที่โรงพยาบาลจิตเวช เมื่อไปถึงโรงพยาบาลจิตเวช เขาได้พักรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับชาวบ้าน หลังรับประทานอาหารชาวบ้านบางคนแยกตัวไปทำละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง ระหว่างนั้นมีทหารนายหนึ่งซึ่งทราบในภายหลังว่า คือพล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 มาถามหาเอกชัย จำเลยที่หนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เริ่มวางแนวกั้น ระหว่างนั้นชาวบ้านเริ่มวิ่งและเดินไปยังโค้งเก้าเส้ง ก่อนจะมีการจับกุมชาวบ้านที่นั่น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำการจับกุมเขา อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชาวบ้านด้วยวิธีการรุนแรงด้วยการกดคอคว่ำหน้าลงกับพื้น เขาจึงเข้าไปช่วยชาวบ้าน ทำให้ถูกจับกุมไปด้วย
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรสงขลา เขาถูกคุมตัวไปที่ชั้นสี่ซึ่งเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ รวมกับจำเลยคนอื่นๆในคดีนี้ ต่อมามีการนำตัวเอกชัย, รุ่งเรือง, ปาฏิหาริย์และดิเรกไปชั้นล่าง เขาทราบว่าเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับจำเลยสี่คนข้างต้นเท่านั้น แต่หลังจากที่เจ้าหน้าที่โต้เถียงกับเอกชัยก็เปลี่ยนแนวทางเป็นดำเนินคดีกับจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ ในเวลาประมาณ 23.00 น. ตำรวจได้มาอ่านข้อกล่าวหาให้เขาและพวกฟัง แต่อ่านไม่จบเนื่องจากเพิ่งทราบว่า หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชน จากนั้นในเวลา 03.00 น.ของวันถัดมา ตำรวจแยกสอบปากคำเขากับพวก ตัวเขาให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
เกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัว สมบูรณ์เบิกความว่าเจ้าหน้าทึ่นำเขากับพวกรวม 16 คนขังรวมกันในห้องขังห้องเล็กๆสองห้องซึ่งอยู่ติดกัน ฮานาฟี จำเลยที่ 17 ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ก็ถูกขังรวมอยู่ในนั้นด้วย สมบูรณ์เบิกความด้วยว่า เขาเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง เกี่ยวกับผลกระทบของการถูกดำเนินคดีที่มีต่อวิถีชีวิต สมบูรณ์เบิกความว่าเขาต้องเสียเวลาในการมาตามนัดที่ศาล
อัยการไม่ถามค้าน
รอกีเยาะ ชาวบ้านเทพาที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
รอกีเยาะเบิกความว่า เธอเป็นชาวบ้านเทพาที่จะต้องอพยพออกจากพื้นที่หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เธอประกอบอาชีพประมงและทำนา เธอมาเริ่มทราบว่า จะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก่อนที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งดังกล่าวเธอได้ไปร่วมด้วยแต่บรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นไม่ค่อยดี เนื่องจากมีการพูดคุยที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า ชาวบ้านบางคนขอให้สร้างสนามกอล์ฟ ขณะที่ก่อนหน้าวันรับฟังความคิดเห็นก็มีประกาศว่า จะแจกสิ่งของ ซึ่งปรากฏว่า ในวันนั้นมีการแจกสิ่งของจริงคือ ข้าวสาร
รอกีเยาะเบิกความต่อว่าหลังจากไปร่วมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง เธอและชาวบ้านเทพาคนอื่นๆได้รวมตัวกันสร้างเครือข่ายชื่อว่า คนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีนักพัฒนาสังคม อาจารย์ มาให้ความรู้กับชาวบ้าน เธอไม่ทราบว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สอง จัดขึ้นที่ไหนเมื่อใด ต่อมาในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สาม ปรากฏว่า มีประกาศจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไม่ให้ผู้ไม่ให้เห็นด้วยเข้าร่วมเวที เนื่องจากเกรงว่า จะก่อความวุ่นวาย
เกี่ยวกับการเดินเทใจให้เทพา รอกีเยาะเบิกความว่าเธอเริ่มเดินเท้าตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ก่อนที่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนเธอต้องเดินทางขึ้นมาที่กรุงเทพเพื่อเข้าร่วมงานเปิดตัวไดอารี่ 20 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง จึงไม่ทราบความเคลื่อนไหวของขบวนอีก รอกีเยาะเบิกความต่อว่า ที่ผ่านมาเธอเคยร่วมเดินเท้าในลักษณะเดียวกันกับเหตุในคดีนี้ เดินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาที่บ้านบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และมีการร่วมศึกษาพื้นที่เทพา และมีการพิมพ์เรื่องที่ศึกษาออกมาเป็นเอกสารด้วย
อัยการไม่ถามค้าน
วันที่ 18 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
–
วันที่ 9 ตุลาคม 2561
นัดสืบพยานจำเลย
–
วันที่ 10 ตุลาคม 2561
นัดสืบพยานจำเลย
–