12 กรกฎาคม 2559
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานไปรษณีย์เชียงใหม่ว่า พบจดหมายที่มีข้อความบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากถูกนำมาหย่อนตามตู้ไปรษณีย์เพื่อรอการส่งไปยังบ้านเรือนประชาชน
จดหมายดังกล่าวไม่มีการระบุชื่อผู้รับที่จ่าหน้าซอง มีเพียงที่อยู่เท่านั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมจดหมายในลักษณะดังกล่าวได้จำนวนกว่า 2,000 ฉบับ
หลังตรวจสอบเนื้อหาพบว่าเข้าข่ายบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการตัดสิทธิต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งมอบจดหมายให้กับทาง กกต.นำไปตรวจสอบ หากพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายก็จะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
16 กรกฎาคม 2559
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ยังคงพบจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกนำไปหย่อนลงตู้ไปรษณีย์หลายจังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องตลอด 4 วันที่ผ่านมา รวมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นฉบับแล้ว จำนวนนี้ไม่รวมที่เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการในแต่ละจังหวัดยึดได้และนำไปตรวจสอบอีกจำนวนหนึ่ง
23 กรกฎาคม 2559
ตำรวจร่วมกับทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เข้าทำการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด รายแรกคือ วิศรุต ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยผลการตรวจค้นสามารถยึดสิ่งของ 9 รายการ ไว้เพื่อทำการตรวจสอบแต่ไม่พบผู้ต้องหาจึงได้ติดตามจับกุมวิศรุต ได้ที่กรุงเทพฯ
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นที่สำนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือกตามคำให้การของวิศรุต นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักส่วนตัวของคเชน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือกที่มีศักดิ์เป็นหลานเขยของบุญเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถตรวจยึดหลักฐานที่เชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญได้จำนวนหนึ่ง
วันเดียวกัน
มติชนออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวพงษ์พันธ์ที่บ้านพักใน จังหวัดลำพูน ตามหมายจับของศาลจังหวัดลำปางว่าด้วยการกระทำความผิดฐานพยายามก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในคดีที่ร่วมกันก่อเหตุหย่อนจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ตามตู้ไปรษณีย์ จำนวน 9 ตู้ ที่อยู่ในเขตตัวเมืองลำปาง จำนวน 4,306 ซอง ต่อมาพงษ์พันธ์สารภาพว่าเป็นผู้พับเอกสารใส่ในซองจดหมายจริง แต่ไม่ใช่เป็นผู้นำมาหย่อนตามตู้ไปรษณีย์ใน จังหวัดลำปาง และไม่ได้เป็นผู้คิดหรือบงการก่อเหตุทั้งหมด
ประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.แม่ปิงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติฯแก่วิศรุต หลังจากนั้นญาติได้นำโฉนดที่ดินวางเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาทจึงมีการปล่อยตัวในเย็นวันดังกล่าว พร้อมทั้งเข้าโครงการคุ้มครองพยาน นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า พ่อและแม่นายวิศรุตซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปในวันเดียวกันก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน
26 กรกฎาคม 2559
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 44/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 5 ความว่า เจ้าหน้าที่ได้รับรายงานและตรวจค้นพบว่าผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีการกระทำซึ่งอาจผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติราชการและหน้าที่ของบุญเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราว
27 กรกฎาคม 2559
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เชิญตัวนักการเมืองท้องถิ่น ญาติ และผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวจำนวน 11 คน ได้แก่ 1.บุญเลิศ 2.ทัศนีย์ 3.คเชน 4.ธารทิพย์ 5.วิศรุต 6.อติพงษ์ 7.กฤตกร 8.เอมอร 9.สุภาวดี 10.เทวรัตน์ และ 11.กอบกาญจน์ เพื่อส่งศาลทหารและไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ
แต่มีเพียง 6 คนที่สามารถมารายงานตัวได้ คือคเชน , ธารทิพย์ ,เอมอร , อติพงษ์ , สุภาวดี และกอบกาญจน์ โดยวิศรุต คนส่งจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์ที่ถูกจับก่อนหน้านี้ถูกส่งตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมควบคุมตัวไปแล้ว 7 คนด้วยกัน
ต่อมา
มติชนออนไลน์รายงานว่า เวลา 12.00 น. ทัศนีย์ พร้อมทนายความ เดินทางมาขอเข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกรณีถูกเชื่อมโยงขบวนการเผยแพร่จดหมายใบปลิวต้านร่างรัฐธรรมนูญ
ระหว่างที่ทัศนีย์และทนายความให้สัมภาษณ์สื่อโดยยังไม่ได้เข้าพบ ผบ.ตร. ทางเจ้าหน้าที่ทหารนำโดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าควบคุมตัวทัศนีย์ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยนำตัวไปสอบปากคำที่ มทบ.11เป็นเวลา 7 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันเดียวกัน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า สภ.เมืองลำปางได้ทำการจับกุมตัวผู้ร่วมก่อเหตุไปแล้ว 4 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน จากการสอบปากคำทุกคนยอมรับสารภาพว่า เป็นเพียงผู้พับเอกสารใส่ในซองจดหมาย และถูกนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดลำปางฝากขัง ต่อมาผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาล โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท
28 กรกฎาคม 2559
มติชนออนไลน์รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการจับกุมคนที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่จดหมายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ จ.เชียงใหม่ว่า โดยความเห็นส่วนตัวตนเห็นว่าข้อความที่ปรากฏในจดหมายเป็นข้อมูลเท็จ โน้มน้าวจูงใจบุคคล ซึ่ง กกต.เชียงใหม่ ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว
วันเดียวกัน
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า บุญเลิศ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญได้เดินทางกลับจากต่างประเทศก่อนกำหนดและไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานตำรวจภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
1 สิงหาคม 2559
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ศาลทหารเห็นชอบให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้ง 11 คน เรียบร้อยแล้วตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น และ มาตรา 210 สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำการเข้าข่ายอั้งยี่ ซ่องโจร
นอกจากนี้
คมชัดลึกออนไลน์ยังรายงานอีกว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ที่มทบ.11 อีก 2 รายคือไพรัช รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และอัครพล ถนอมศิลป์ เจ้าของโรงพิมพ์นพบุรีการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์เอกสารจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงอยู่ในขั้นตอนสอบสวน
2 สิงหาคม 2559
พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำตัวกลุ่มผู้ต้องหา 10 ราย ที่มีความเกี่ยวโยงกระทำความผิดฐานเผยแพร่จดหมายทางไปรษณีย์ในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1. บุญเลิศ 2. ทัศนีย์ 3. คเชน 4. อติพงษ์ 5. เอมอร 6. สุภาวดี 7. เทวรัตน์ 8. กอบกาญจน์ 9. กฤตกร และ 10. ธารทิพย์ มาส่งมอบให้แก่ตำรวจ
การจับกุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการสืบสวนและคำให้การของวิศรุต ผู้ต้องหาอีก 1 รายที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ รวมแล้วคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 11 คน มีความฐานละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น, มาตรา 210 สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำการเข้าข่ายอั้งยี่ ซ่องโจรและพ.ร.บ.ประชามติฯมาตรา 61 วรรค 2
4 สิงหาคม 2559
ฝากขังผัดที่หนึ่ง
คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่คุมตัวผู้ต้องหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คนนำส่งศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จ.เชียงใหม่ เพื่อพิจารณาคดีเผยแพร่จดหมายบิดเบือนประชามติ โดยศาลได้ยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากเกรงว่า จะเกิดความยุ่งเหยิงและอาจไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีจิราภรณ์ ฉายแสง ภรรยาของจาตุรนต์ ฉายแสงในข้อหาช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดโดยซ่อนเร้นหรือช่วยผู้นั้นเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรณีส่งจดหมายบิดเบือนประชามติ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า จิราภรณ์มีส่วนร่วมในการช่วยซ่อนเร้นวิศรุต หนึ่งในผู้ต้องหาคดีดังกล่าว โดยพาไปฝากเจ้าอาวาสวัดสระเกศวรมหาวิหาร กทม.
5 สิงหาคม 2559
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ นำตัวเนติธัช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ เทศบาลตำบลช้างเผือก ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ส่งมอบให้ตำรวจรับตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย
ด้าน
เชียงใหม่นิวส์รายงานว่า เนติธัช ถูกคุมตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังคงสอบสวนอยู่ที่ มทบ.11 เพื่อรอการสอบสวนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
8 สิงหาคม 2559
จำนงค์ ไชยมงคล ทนายความ พร้อมทีมกฎหมาย เข้ายื่นทำเรื่องต่อศาลมณฑลทหารที่ 33 เพื่อขอประกันตัวบุญเลิศ พร้อมพวกรวม 10 คนอีกครั้งเนื่องจากการยื่นขอประกันตัวในครั้งแรกศาลพิจารณาไม่อนุญาตให้ประกันตัว อย่างไรก็ดีศาลยกคำร้องขอประกันตัวทำให้ต้องยื่นคำร้องใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคม 2559
ด้านเทวรัตน์ คนขับรถของทัศนีย์ กองบังคับการปราบปรามได้ประสานกับทางตำรวจภูธร ภาค 5 เชียงใหม่ ให้ไปรับตัวกลับมาดำเนินคดีในวันที่ 9 สิงหาคม 2559 รวมแล้วมีผู้ที่ถูกออกหมายและตกเป็นผู้ต้องหาคดีบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 13 ราย ขณะที่อัครพล เจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ที่เคยเป็นผู้ต้องสงสัยนั้น ขณะนี้ได้ถูกปล่อยออกมาแล้วเนื่องจากสอบสวนแล้วไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ
15 สิงหาคม 2559
ฝากขังผัดที่สอง
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 11 คน และให้ถูกฝากขังผลัดที่ 2 ต่อไป เนื่องจากไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
เนชั่นออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวรังสรรค์ อดีต สส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย , สมโภช อดีต สส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย , ปริญญา รองนายกเทศมนตรี อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน และสุปกิจ อดีตผู้สมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมหาชนผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , มาตรา 210 และมาตรา 61 (2) , (4) ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ส่งมอบต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินคดี ก่อนส่งฟ้องยังศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 32 จังหวัดลำปาง สำหรับพฤติการณ์ความผิดพบว่า มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของกลุ่มผู้ต้องหา 11 รายที่ถูกควบคุมตัวไว้ดำเนินคดีก่อนหน้านี้
26 สิงหาคม 2559
ฝากขังผัดที่สาม
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของคดีนี้เปิดเผยผ่าน
เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว 11 ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน (ฝากขังผลัดที่สาม) โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 100,000 บาท มีเงื่อนไขคือห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล,ห้ามกระทำการใดๆอันมีลักษณะยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
คำสั่งตุลาการศาลทหารเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ที่มีอาชีพและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หลักประกันเพียงพอและเชื่อถือได้ ประกอบกับผู้ต้องหาถูกขังระหว่างการสอบสวนมาแล้วระยะหนึ่ง และผู้ต้องหาน่าจะไม่มีโอกาสไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือจะไปก่อเหตุอันตรายจึงมีคำสั่งอนุญาตประกันตัว
โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เทวรัตน์ ซึ่งถูกควบคุมตัวคนล่าสุดไม่ได้รับการประกันเนื่องจากไม่มีนายประกัน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวอัครพล เจ้าของโรงพิมพ์นพบุรีการพิมพ์ที่ก่อนหน้านี้เคยเรียกไปสอบสวนและปล่อยตัวไปไปฝากขัง เนื่องจากพบว่าคำให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเท่ากับเป็นการปกปิดข้อมูลที่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ รวมแล้วตอนนี้ผู้ต้องหาในคดีนี้มีทั้งหมด 16 คน
27 สิงหาคม 2559
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของคดีนี้เปิดเผยว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวเทวรัตน์ ในชั้นสอบสวน (ฝากขังผัดที่สาม) โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 100,000 บาท
1 กันยายน 2559
โลกวันนี้รายงานว่า ทัศนีย์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองนายก อบจ. เชียงใหม่แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 โดยให้เหตุผลว่า สุขภาพไม่ดี ต้องพบแพทย์เป็นประจำและทำการรักษาตัวจึงขอลาออกเพื่อวางมือทางการเมืองชั่วคราวและต่อสู้คดีดังกล่าวเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์
19 ธันวาคม 2559
ศาลทหารนัดถามคำให้การ จำเลย 14 ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ถูกจับกุมในคดีนี้เป็นรายแรก และเป็นจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา แต่ศาลทหารพิจารณาว่าจะทำการพิพากษาพร้อมกับจำเลยที่ขอต่อสู้คดี
ทางอัยการทหารได้อ้างพยานโจทก์ในการเข้าสืบจำนวนกว่า 110 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็มีการอ้างพยานอีกกว่า 30 ปาก ทำให้รวมแล้วมีพยานมากกว่า 140 ปาก ที่คู่ความจะนำเข้าสืบ
ข้อมูลจาก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังจากนั้น ได้มีการนัดสืบพยานในศาลทหารจำนวน 8 นัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 โดยเฉลี่ย 2-3 เดือน นัดสืบพยานหนึ่งครั้ง นัดหนึ่งทำการสืบพยานได้จำนวน 1-2 ปาก แต่ในจำนวนนี้ก็มีการเลื่อนสืบพยานไปอีก 4 นัด สาเหตุเนื่องจากทั้งพยานโจทก์ไม่มาศาล และทนายจำเลยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงขอเลื่อนการนัดหมาย รวมแล้วมีนัดที่ได้ทำการสืบพยานจริงๆ ทั้งหมด 4 นัด สืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมดจำนวน 7 ปาก
อีกทั้ง ในคดีนี้เนื่องจากมีจำเลยหลายราย ทนายจำเลยซึ่งฝ่ายจำเลยว่าจ้างมา และผู้ติดตามจำนวนมาก ยังไม่นับฝ่ายโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่ห้องพิจารณาในศาลทหารมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้สังเกตการณ์ภายนอกไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีระหว่างการสืบพยานได้โดยปริยาย
ต่อมา ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ทางฝ่ายจำเลยบางส่วนได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหาร ขอให้มีการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยมีภารกิจหลายอย่าง ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาศาลทุกนัด และศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตตามที่จำเลยส่วนนั้นร้องขอ
9 กรกฎาคม 2562
ก่อนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังการเลือกตั้ง หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 78 ฉบับ รวมทั้งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และสั่งให้โอนคดีที่ยังพิจารณาอยู่กลับไปพิจารณากันที่ศาลพลเรือน
25 มีนาคม 2563
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ โดยเจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีและญาติของจำเลยเข้าร่วมฟังการพิจารณา เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างในห้องพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจำเลยมีจำนวนมาก ทำให้ที่นั่งเต็มในห้องพิจารณาคดีที่มีขนาดเล็ก
ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องคดีจำเลยทั้ง 15 คน ในทุกข้อกล่าวหา โดยศาลได้พิเคราะห์เนื้อหาในจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว วินิจฉัยว่า ข้อความในจดหมายเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เนื้อหาไม่ได้เป็นการปลุกระดม ข่มขู่ ก้าวร้าวหรือหยาบคาย และไม่ได้ถึงขนาดทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเพียงการแสดงความเห็นให้ผู้อ่านเนื้อหาดังกล่าวได้คิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง
ศาลยังเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งหมดไม่ได้มีการประชุมวางแผนร่วมกันเป็นการลับ พฤติการณ์ในคดีเป็นเพียงการไหว้วานให้จัดทำเอกสารและส่งจดหมาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 210 จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 15 คน และให้คืนของกลางในคดีให้แก่จำเลย