- คดีอื่นๆ, ฐานข้อมูลคดี
ประชาธิปไตยใหม่แจกใบปลิวโหวตโน ที่ชุมชนเคหะบางพลี
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองและข้อหาตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนถูกควบคุมตัวไว้ที่สน.หนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลทหารในเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2559
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
3.กรกช หรือ ปอ จบการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนตุลาคม 2558 ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระเขียนงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง
4.อนันต์ อายุ 21 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อนันต์เป็นคนที่สนใจประเด็นทางสังคมและการเมือง จึงเข้าทำกิจกรรมในชมรมค่ายอาสาพัฒนารามอีสาน ซึ่งต่อมาอนันต์ได้เป็นประธานชมรม
5.ธีรยุทธ อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
6.ยุทธนา อายุ 27 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
7.สมสกุล อายุ 20 ปี นักศึกษาปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
8.วรวุฒิ อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9.กรชนก สมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์
10.เตือนใจ นักสหภาพแรงงาน
11."สุมนรัตน์" นักสหภาพแรงงาน
12.พรรทิพย์ อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13.รักษ์ชาติ อายุ 25 ปี นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
ผู้ต้องหาทั้ง 13 คน แจกแผ่นพับ และเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่อาจเข้าข่ายเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯและข้อหาชุมนุมเกินห้าคนตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ภาพ cover จากเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ https://scontent.fbkk1-4.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/fr/cp0/e15/q65/13466140_1159536120763430_919332972209739517_n.jpg?efg=eyJpIjoidCJ9&oh=cd0729f5953ba66758b6077c2ddb3b3d&oe=5977C6B3
คดีนี้เบื้องต้นพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ ต่อมาเมื่อหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 9/2562 ให้ย้ายคดีของพลเรือนตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 กลับไปพิจารณาโดยศาลยุติธรรม คดีนี้จึงถูกย้ายไปอยู่ในการพิจารณาของศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดในที่เกิดเหตุ
แหล่งอ้างอิง
เวลาประมาณ 15.45 น.รังสิมันต์ แกนนำขบวนการประชาธิปไตยใหม่โพสต์ภาพการเดินรณรงค์แจกแบบฟอร์มลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกพื้นที่และเอกสารรณรงค์ VOTE NO ที่บริเวณห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลสำโรง พร้อมระบุว่ามีทหารตำรวจมาเจรจาขอให้ยุติการทำกิจกรรมแต่ทางพวกตนยืนยันว่า การณรงค์ประชามติคือสิ่งที่ทำได้เพื่อส่งต่อข้อมูลการตัดสินใจให้กับประชาชนต่อไป
การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบ่อนทำลายผลประโยชน์ของประชาชน จึงขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและ คสช. และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้จัดกิจกรรมทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไข
24 มิถุนายน 2559
เวลาประมาณ 04.57 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเวลา 2.00 น. พ.ต.ท.กัณต์ชวิศ โพธิ์ประสิทธิ์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ สภ.บางเสาธง เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯกับผู้ต้องหาทั้งหมดและทยอยสอบปากคำผู้ต้องหา
เบื้องต้นผู้ต้องหาห้าคนแสดงความประสงค์จะขอประกันตัวส่วนผู้ต้องหาอีกแปดคนแสดงความประสงค์ว่าจะไม่ยื่นประกันตัวเพราะเห็นว่าสิ่งที่ทำไปไม่ผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุต้องขอประกันตัวหรือต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแต่อย่างใด
ขณะที่ทนายของผู้ต้องหาก็ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังซึ่งสรุปได้ว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง เป็นคำสั่งที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไทยและตามกติการะหว่างประเทศ จึงไม่อาจถูกจำกัดและไม่อาจถือเป็นความผิด นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้าคสช. ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เพราะตามประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดว่าศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคสช.เท่านั้น ไม่รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. เมื่อศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี จึงไม่มีอำนาจรับฝากขัง
ครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาผลัดแรก ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนมาศาลโดยเจ็ดคนที่ไม่ได้ขอประกันตัวถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่เช้า ขณะที่ทนายของผู้ต้องหาก็ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังต่อศาลตั้งแต่ในช่วงเช้าเช่นกัน เนื่องจากคดีที่อยู่ในความสนใจของนักกิจกรรม นักวิชาการ รวมถึงผู้ติดตามการเมืองส่วนหนึ่ง และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวเป็นระยะ การรักษาความปลอดภัยทางเข้าศาลทหารบริเวณศาลหลักจึงมีการกั้นรั้วและตรวจตราอย่างเข้มงวด เพื่อนๆของนักกิจกรรมไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเข้าไปที่อาคารศาลแต่ญาติๆ อาจารย์และเจ้าหน้าที่สถานทูตสามารถเดินผ่านแนวรั้วเข้าไปได้
สำหรับบรรยากาศที่หน้าศาลตั้งแต่ในช่วงเช้ามีประชาชนราว 50 คนเดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถุกจองจำทั้งเจ็ดคน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สน.ชนะสงครามเข้ามาเจรจากับชลธิชา นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในวันนี้ซึ่งหลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ยินยอมให้จัดกิจกรรมได้โดยมีข้อแม้ว่าทางผู้จัดจะไม่ใช้เครื่องขยายเสียงและไม่ปล่อยลูกโป่ง
ทางผู้จัดจึงนำบอร์ดรู้จักนักกิจกรรมทั้งเจ็ดซึ่งมีภาพและประวัติส่วนตัวของนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังมาตั้งและให้ผู้มาร่วมกิจกรรมเขียนโพสต์อิทติดที่บอร์ดเพื่อให้กำลังใจ นอกจากนี้ก็มีนักกิจกรรมจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ไทยแลนด์มาถือป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้งหมดด้วย
สำหรับบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีก็เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่ช่วง 10.00 น.ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศและสถานทูต เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(ICJ) ตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แคนาดา ฟินแลนด์ เดนมาร์ก รวมทั้งญาติของผู้ต้องหาต่างทยอยเข้าห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลต้องใช้เวลาในการจัดสรรที่นั่งเนื่องจากห้องพิจารณาคดีสามารถรองรับคนได้ประมาณ 40 ถึง 50 คนเท่านั้น
ในเวลาประมาณ 10.40 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับผู้ต้องหาและผู้สังเกตการณ์ว่าจะเลื่อนกระบวนการไปช่วงบ่ายเพราะพนักงานสอบสวนจะมาถึงประมาณ 13.00 น. ผู้สังเกตการณ์บางส่วนจึงทยอยเดินทางกลับ
เวลาประมาณ 13.50 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ ร.ต.อ.วิฑูรย์ เพ็งบุบผา พนักงานสอบสวนสน. บางเสาธง ยื่นคำร้องขอฝากขังผลัดที่สองเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายของผู้ต้องหาที่หนึ่งขออนุญาตถามพนักงานสอบสวน และขอให้พนักงานสอบสวนสาบานตัวก่อนการซักถาม ทนายถามว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานที่เป็นที่ยังหาไม่พบอีกเยอะหรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่าไม่มีแล้ว ทนายถามเพื่อให้ยืนยันเอกสารที่ผู้ต้องหาเอาไปแจก ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่า ของกลางในคดีนี้ยึดไว้ที่สถานีตำรวจหมดแล้ว แต่ไม่สามารถยืนยันว่าเอกสารที่ทนายนำมาให้ดูในศาลวันนี้เหมือนเอกสารที่ยึดไว้หรือไม่
ทนายถามต่อว่าขณะนี้สอบสวนพยานเสร็จทุกปากแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่า การสอบสวนตอนนี้เสร็จสิ้นแล้วและได้สรุปสำนวนการสอบสวนทำความเห็นแล้ว ขณะนี้สำนวนอยู่ระหว่างเสนอผู้บังคับบัญชาทำความเห็น
ทนายถามว่า ตอนนี้ไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ตอบคำถามนี้ไม่ได้เพราะผู้บังคับบัญชาอาจจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ ทนายความจึงถามว่าในส่วนที่เป็นหน้าที่ของร.ต.อ.วิฑูรย์ ไม่จำเป็นต้องสอบสวนอะไรแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่าใช่
ทนายถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ต้องหาก็ไม่มีโอกาสยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่าใช่ ทนายถามต่อว่า ไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่า ถ้าสำนวนยังไม่ถึงอัยการก็ต้องขอควบคุมตัวไว้ก่อน เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนต้องเอาตัวผู้ต้องหามาส่งให้อัยการด้วย กรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวไว้เลยก็จะให้มาตามคำสั่งได้ยาก
ทนายถามว่า การจะให้ผู้ต้องหามาก็สามารถออกหมายเรียกและหมายจับได้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ทำได้แต่ไม่สะดวกต่อการดำเนินการ
ทนายถามว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่เคยมีประวัติมีคำพิพากษาให้จำคุกใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า คนที่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือได้ตรวจประวัติแล้วไม่พบแต่คนที่ไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือตรวจประวัติไม่ได้
รังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาที่หนึ่งขอถามพนักงานสอบสวนว่า "อิสรภาพของพวกผมเป็นปัญหาต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมหรือไม่" ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ในเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐานไม่สามารถยึดโยงได้ว่าเป็นอุปสรรคหรือไม่ แต่มีความจำเป็นบางเรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ปกติเรามีกระบวนการบังคับด้วยสัญญาประกันตัวแต่ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดไม่มีอะไรเป็นเครื่องบังคับ
ร.ต.อ.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า "ผมกับทุกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เราทุกคนต่างอยู่ในหน้าที่ของแต่ละคน ก่อนจะทำอะไรทุกคนต้องมองไปข้างหน้าและยอมเห็นผลลัพธ์ของการกระทำและต้องรับผิดชอบในกระบวนการของตัวเอง ผมเป็นพนักงานสอบสวนก็ต้องทำตามกฏหมาย" รังสิมันต์ ถามต่อว่า ผู้ต้องหาหกคนที่ได้ประกันตัวได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ไม่ได้มาติดต่อหรือเกี่ยวข้องอะไรกับตน
รังสิมันต์ พยายามถามว่า การที่ผู้ต้องหามีอิสรภาพจะกระทบกับกระบวนการอย่างไร แต่ศาลบอกว่าประเด็นนี้ได้ถามไปแล้วไม่จำเป็นต้องถามอีก ร.ต.อ.วิฑูรย์ กล่าวกับทุกคนว่า ที่ผ่านมาได้เร่งดำเนินการเต็มที่แล้วให้เสร็จภายในผัดเดียว คดีนี้เข้าใจดีอยู่แล้ว ทุกคนก็รุ่นๆลูกของตนทั้งนั้น
รังสิมันต์ ขอแถลงต่อศาลซึ่งสรุปเป็นห้าประเด็นคือ
1.ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนยืนยันว่าทุกคนเป็นพลเรือน ศาลทหารไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีของพลเรือน ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ออกโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้เพื่อให้พลเรือนขึ้นศาลทหารอีก
2. การจับกุมผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนเกิดขึ้นทั้งที่ในชั้นต้นเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมได้ สิ่งที่พวกตนทำจึงไม่เป็นความผิด ตอนที่ถูกจับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงจับ แต่บอกว่าเชิญไปคุย เมื่อพวกตนปฏิเสธก็โดนอุ้มไป โดยไม่มีการแจ้งสิทธิ์และแจ้งข้อกล่าวหา
3. ประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกยกเลิกแล้วโดยการออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับทั่วไปเหมือนกัน ตามหลักนิติศาสตร์ กฎหมายใหม่ย่อมยกเลิกกฎหมายเก่า จึงนำประกาศฉบับดังกล่าวมาใช้ตั้งข้อหากับพวกตนไม่ได้
4. มีการทำกิจกรรมรณรงค์ Vote No มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนก็ไม่มีใครแจ้งความดำเนินคดี กกต.ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงก็ไม่ดำเนินคดี การที่พนักงานสอบสวนอ้างบทบัญญัติตามพ.ร.บ.ประชามติฯ โดยที่กกต.ไม่ได้เป็นผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
5. "การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่มีหน้าที่เพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าท่านไม่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องคือท่านไม่ได้ทำตามหน้าที่ มองตาพวกเราสิครับ พวกเราเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้พวกเราจะมีวาระสุดท้ายในเรือนจำก็ยืนยันว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ แม้ปืนจะจ่อหัวอยู่ก็ตาม"
ถาวร ปิยะวงศ์รุ่งเรือง ทนายของผู้ต้องหาที่สาม หก และสิบ ขออนุญาตศาลถามพนักงานสอบสวนสองคำถาม ศาลอนุญาตแต่มีผู้ต้องหาขอแถลงก่อน
นันทพงศ์ ปานมาศ ผู้ต้องหาที่ 13 แถลงว่า "สิ่งที่ปวดใจที่สุดคือในวันที่พวกผมถูกจับมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าปลัดอำเภอและทหารยศเรือโทอนุญาตให้แจกใบปลิวได้ ขณะที่พูดผ่านโทรโข่งก็มีคนมาบอกว่าต้องพูดแบบไหน แต่วันนี้กลับถูกพามาศาลทหารและถูกพันธนาการด้วยโซตรวน ซึ่งในวันนี้ก็จะไม่ยื่นประกันตัวเพราะเชื่อในความบริสุทธิ์"
ระหว่างการแถลง นันทพงศ์ยังเล่าถึงความลำบากในเรือนจำด้วยว่า พวกเขาหลายคนป่วยและเป็นโรคผิวหนัง นอกจากนี้ กรกช แสงเย็นพันธุ์ ก็ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยและต้องหาเงินส่งที่บ้าน แต่ศาลบอกว่าประเด็นเหล่านี้ปรากฏอยู่ในคำร้องคัดค้านการฝากขังแล้ว จึงไม่อนุญาตให้แถลงซ้ำ
นันทพงศ์พยายามแถลงว่าพรุ่งนี้เป็นวันเปิดเรียนของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและผู้ต้องหาส่วนหนึ่งก็เรียนอยู่ที่รามคำแหง นอกจากนี้ตนเองก็มีภารกิจต้องสอบเนติบัณฑิตและทำเรื่องให้จบปริญญาโท ศาลก็กล่าวว่าอ่านประเด็นเหล่านี้ในคำร้องแล้วไม่ต้องแถลงอีก
นันทพงศ์กล่าวปิดท้ายว่า การเรียนมหาลัยของรัฐใช้เงินภาษีประชาชน ที่เรียนมาก็ตั้งใจตอบแทนภาษีประชาชน การออกมาเรียกร้องครั้งนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้แก่พลเมือง เป็นสิ่งที่พลเมืองควรได้ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน นันทพงศ์ยังกล่าวด้วยว่า หากศาลให้ฝากขังต่อก็จะอดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม หลังนันทพงศ์แถลงเสร็จทนายถาวรก็เริ่มถามพนักงานสอบสวน
ทนายถามร.ต.อ.วิฑูรย์ว่า คดีนี้ได้ทำความเห็นทางคดีแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า หลังเกิดเรื่องนี้มีคำสั่งแต่งตั้งงานสอบสวนเป็นคณะและได้เร่งรัดทำคดีให้เสร็จภายในฝากที่หนึ่งแล้ว ยังเหลือขั้นตอนอีกเล็กน้อย
ทนายความถามต่อว่า ผู้บังคับบัญชามีความเห็นในคดีนี้แล้วหรือยัง ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ยัง ทนายถามต่อว่า การทำความเห็นของผู้บังคับบัญชาต้องใช้เวลากี่วัน ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ตอบไม่ได้เพราะไม่สามารถก้าวล่วงได้
หลังจากนั้นศาลถามพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามเอกสารใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ใช่ ศาลกล่าวว่าตอนนี้ได้รับข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว และสั่งพักการพิจารณาเพื่อทำคำสั่งในเวลาประมาณ 14.30 น.
เวลาประมาณ 15.20 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาว่าจะทำความเห็นสั่งฟ้อง หรือไม่ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ต่อไป
หลังศาลอ่านคำสั่งผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนต่างดีใจกอดกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจงกับญาติว่า ตามหมายฝากขังผลัดแรก ทางราชทัณฑ์จะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาถึงเวลาเที่ยงคืน แต่ตามระเบียบจะไม่มีการปล่อยตัวในช่วงดึก ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงจะถูกควบคุมตัวต่ออีกหนึ่งคืนและจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 8.00 น.ของวันที่ 6 กรกฎาคม
6 กรกฎาคม 2559
ตามที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมีกำหนดปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดในเวลาประมาณ 8.00 น. ปรากฎว่าตั้งแต่เวลาประมาณ 5.00 น. สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวพลเมืองที่ไปสังเกตการณืปล่อยตัวโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กว่า มีการนำรถฉีดน้ำและรั้วเหล็กมาขวางบริเวณป้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อป้องกันการใช้เป็นฉากหลังในการแถลงข่าว
ประมาณ 8.30 น. ผู้ต้องหาหกคนถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพแต่กรกชถูกอายัดตัวไว้ก่อนเพราะเขาเป็นผู้ต้องหาคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ (ดูรายละเอียดในฐานข้อมูลคดีของเรา ที่นี่) หลังผู้ต้องหาหกคนได้รับการปล่อยตัวพวกเขาก็เดินทางไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อไปรอพบกรกชทันที
ทนายจำเลยแถลงว่าเนื่องจากคดีนี้มีจำเลยถูกฟ้องแล้วสี่คนคือสามคนที่มาศาลในวันนี้และอีกหนึ่งคนที่ถูกฟ้องแยกเป็นอีกหนึ่งคดีที่ศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ซึ่งทางทีมทนายจะขอรวมคดีต่อไป จึงขอให้ศาลนัดวันตรวจพยานหลักฐานเสียหนึ่งนัดเพื่อให้ทีมทนายได้ซักถามถึงแนวทางการสู้คดีของโจทก์ ศาลจึงให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30 น. และให้ทนายจำเลยแจ้งกับองค์คณะที่พิจารณาคดีจำเลยอีกคนหนึ่งว่าหากมีการรวมคดีศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว
ภาพจำเลยในคดีสามคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งศาลนัดสอบคำให้การแล้วในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 จาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานสักหนึ่งครั้ง โดยขอให้ศาลนัดเป็นวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลอีกองค์คณะหนึ่งนัดจำเลยอีกสามคนที่ถูกจับจากการกระทำเดียวกันแต่ถูกฟ้องแยกเป็นอีกคดีหนึ่งตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงสั่งให้คู่ความส่งบัญชีพยานหลักฐานต่อศาลก่อนวันนัดตรวจพยานอย่างน้อยเจ็ดวันเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายได้ตรวจและนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ตามที่ทนายจำเลยร้องขอ
รังสิมันต์เชื่อว่าการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเขาประกาศต่อสาธารณะว่า ในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ตัวเขาในนามกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงรถไฟไทย-จีนทั้งหมด
รังสิมันต์ถูกนำตัวไปขังรอคำสั่งประกันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อนจะถูกปล่อยตัวในช่วงค่ำ
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า อัยกาทหารมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติเพิ่มเติมอีกหกคน ได้แก่ ยุทธนา สมสกุล อนันต์ นันทพงศ์ ธีรยุทธและกรกชร
จำเลยทั้งหกถูกนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน
เมื่อรังสิมันต์และจำเลยที่ถูกฟ้องในสำนวนคดีที่สี่ทั้งหกคนมาถึงที่ห้องพิจารณษคดี 4 ศษลแจ้งกับจำเลยหกคนที่ถูกแยกฟ้องเป็นสำนวนคดีที่สี่ว่าให้ไปรอที่ห้องพิจารณาคดี 3 ซึ่งอยู่ติดกันส่วนที่ห้องพิจารณษคดี 4 ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสำนวนคดีที่รังสิมันต์ถูกฟ้องเพียงคนเดียว
ศาลอ่านและบรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งหกฟัง หลังจากนั้นจำเลยทั้งหกแถลงให้การปฏิเสธและแจ้งศาลว่าจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน อัยการทหารแถลงว่าติดใจจะสืบพยานและขอให้รวมสำนวนคดีนี้กับสำนวนคดีของ กรชนก เตือนใจ และ "สุมนรัตน์" ซึ่งเป็นสำนวนคดีหลัก ฝ่ายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลสั่งให้อัยการทหารไปดำเนินการเรื่องการรวมคดีเช่นเดียวกับสำนวนคดีของรังสิมันต์ โดยยังไม่กำหนดวันนัดต่อไป
ในวันนี้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รวมคดีก่อนจะนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลยังสั่งให้ทนายจำเลยยื่นบัญชีพยานหลักฐานภายในระยะเวลาเจ็ดวันก่อนถึงวันนัดตรวจพยานหลักฐานด้วย
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยเนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีนี้ใช้เวลายาวนานเป็นการสร้างภาระในการต่อสู้คดีกับจำเลย อย่างไรก็ตามศาลยังไม่มีคำสั่งในคำขอของทนายจำเลยส่วนนี้
จำเลยทยอยเดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ก่อนจะมาครบในเวลาประมาณ 9.40 น. หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลจึงขึ้นบัลลังก์ ในวันนี้นอกจากจำเลยทั้ง 13 คน และคณะทนายจำเลยแล้วยังมีนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทนายความจากสหรัฐอเมริกามาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีด้วย
ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งจำเลยเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพให้คู่ความทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งศาลภายในศาลทหารกรุงเทพภายใน 30 วันจากนั้นศาลทหารกรุงเทพจึงจะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งไปยังศาลจังหวัดสมุทรปราการต่อไป และเมื่อมีความเห็นจากศาลจังหวัดสมุทรปราการกลับมาศาลทหารกรุงเทพจึงจะนัดให้จำเลยทั้ง 13 มาฟังคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับจำเลยในคดีนี้คนอื่นๆ ที่มีการส่งตัวฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพไปแล้ว ศาลทหารกรุงเทพจะมีหมายไปเรียกให้จำเลยที่ถูกฟ้องคดีแล้วมาฟังคำสั่งเรื่องการโอนย้ายคดี จากนั้นจะเป็นเรื่องระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือนที่จะโอนย้ายสำนวนกัน จากนั้นศาลพลเรือนก็จะออกหมายเรียกให้จำเลยมารายงานตัวเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
ในเวลาต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนูษยชนให้ข้อมูลว่าศาลจังหวัดสมุทรปราการกำหนดวันนัดพร้อมคดีนี้แล้วเป็นวันที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.
นัดพร้อม
จำเลยทั้ง 12 คนมาศาล ในวันนี้จำเลยมาศาลครบทุกคน แล้ว ยังมีประชาชนอีกสี่คนมาร่วมฟังการพิจารณาคดีและให้กำลังใจจำเลยทั้ง 12 คนด้วย
คดีของวรวุฒิเป็นเหตุการณ์เดียวกับสำนวนคดีหลัก มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน การรวมสำนวนคดีน่าจะทำให้การพิจารณาเป็นไปโดยกระชับ ทนายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงให้รวมสำนวนคดีเข้าด้วยกัน
ทนายจำเลยแถลงนำพยานเข้าสืบรวม 16 ปาก ได้แก่จำเลยทั้ง 12 คน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ศาลให้เวลาสืบพยานจำเลยรวมสี่นัด จากนั้นคู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดวันสืบพยาน พยานโจทก์จะสืบระหว่างวันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2563 ส่วนพยานจำเลยจะสืบระหว่างวันที่ 15 – 18 กันยายน 2563