ธันวาคม 2558
พรเพ็ญ, สมชาย และอัญชนาในนามของการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดส่งรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557-2558 ฉบับเต็มให้แก่พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่สี่
8 มกราคม 2559
เว็บไซต์วอยซ์ ฟอร์ม ไทย(Voice from Thais) ออกใบแจ้งข่าวเรื่องขอให้หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขและแม่ทัพภาคสี่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานปี 2557-2558 และเปลี่ยนโต๊ะซักถามในค่ายทหารเป็นโต๊ะเจรจาระบุว่า ในวันนี้อัญชนาในฐานะตัวแทนคณะจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557-2558
เข้าพบและมอบรายงานให้กับพล.ท.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขและพล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคสี่ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวน 54 รายซึ่งถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีพ.ศ. 2558 จำนวน 15 รายและในปี 2557 จำนวน 17 ราย และเหตุการณ์ระหว่างปี 2547-2556 จำนวน 22 ราย รวม 54 ราย
ในวันเดียวกัน
เว็บไซต์วอยซ์ ฟอร์ม ไทย ก็เผยแพร่ภาพถ่ายหน้าจอซึ่งคัดลอกมาจากเฟซบุ๊กบีบีซีไทยซึ่งระบุว่า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน. 4 สน.) ระบุว่า จะขอศึกษารายละเอียดของรายงานที่ได้รับ แต่เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน
10 กุมภาพันธ์ 2559
เว็บไซต์วอยซ์ ฟอร์ม ไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557-2558 ฉบับเต็มจำนวน 129 หน้าระบุชื่อกองบรรณาธิการของรายงานคือ พรเพ็ญ, สมชายและอัญชนา ระบุว่า
วัตถุประสงค์ของการเผยแพร่รายงานคือการย้ำให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจว่าการทรมานหรือการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในชายแดนใต้นั้นมีอยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไข
รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557-2558
17 พฤษภาคม 2559
กองทัพบกมอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า(กอ.รมน. 4 สน.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อพรเพ็ญ, สมชาย และอัญชนา ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา ในข้อกล่าวหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสาร ตามมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา และการนำเข้าข้อมูลเท็จอันเป็นภัยต่อความมั่นคงจากการนำเข้ารายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557-2558 ลงบนเว็บไซต์วอยซ์ ฟอร์ม ไทย
8 มิถุนายน 2559
พ.ต.ท. วิญญู เทียมราช พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีสืบพยานที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้วหกปาก และเตรียมหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรที่เกี่ยวข้องเมื่อได้รับแจ้งข้อมูลการแจ้งข้อกล่าวหาก็โทรศัพท์ไปสอบถามพนักงานสอบสวนก็ได้รับการยืนยันว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีจริง
9 มิถุนายน 2559
คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Comission of Jurist) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพถอนฟ้องกรณีนี้ให้เร็วที่สุดและเร่งตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะมีการตรวจสอบกรณีการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายที่อยู่ในรายงานอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพตามแนวทางสากล
ด้านฮิวแมน ไรท์ วอทช์ (Human rights watch) ออกแถลงการณ์เช่นกันโดยระบุว่า การกระทำของทหารเป็นการคุกคามต่อการเฝ้าระวังและการรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในห้วงเวลาที่การละเมิดสิทธิเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยทหารไทยกำลังมุ่งเป้าไปที่บรรดานักสิทธิมนุษยชนจากการที่รายงานการทารุณกรรมและออกมาปกป้องเหยื่อ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งเพิกถอนการดำเนินคดีและดำเนินการสืบสวนสอบสวนรายงานการกล่าวหาว่าถูกซ้อมทรมานอย่างจริงจัง
12 มิถุนายน 2559
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า (กอ.รมน. 4 สน.) ชี้แจงการแจ้งความดำเนินคดีว่า ที่ผ่านมามีประสานขอข้อมูลบุคคลที่กล่าวอ้าง(ผู้ให้ข้อมูล)กับผู้จัดทำรายงานหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจึงถือเป็นเจตนาปกปิดข้อมูล นอกจากนี้การเผยแพร่รายงานทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจทำให้สังคมเข้าใจผิด กองทัพจึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาล
ด้าน
อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นบทเรียนด้านกระบวนการยุติธรรมและการปกป้องผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีกองทุนเพื่อการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้ง
14 มิถุนายน 2559
เวลา 06.12 น.
พรเพ็ญ โพสต์ภาพถ่ายหมายเรียกผู้ต้องหาลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยข้อกล่าวหาที่ระบุในหมายเรียกคือ ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยระบุพฤติการณ์ว่า นำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายฯปี 2557-2558 อันเป็นความเท็จ เข้าสู่เว็บไซต์วอยซ์ ฟอร์ม ไทย (Voice from Thais) และจัดพิมพ์แจกจ่ายให้คนทั่วไปทราบ
21 กุมภาพันธ์ 2560
พนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหาทั้งสามเข้าพบเพื่อส่งตัวฟ้องต่ออัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ต้องหาทั้งสามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับอัยการจังหวัดปัตตานี อัยการนัดผู้ต้องหาทั้งสามเข้าพบอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม 2560
ขอให้อัยการสั่งตามที่เห็นสมควรให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลสำคัญเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่า คดีนี้เป็นการฟ้องข้อหาที่นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป จึงเป็นหน่วยงานที่สามารถถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน และความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาก็มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิดแต่ไม่ได้มุ่งคุ้มครองนิติบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐจากการถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ กอ.รมน.ซึ่งเป็นผู้ฟ้องจึงมิใช่ผู้เสียหาย
(สมชาย หอมลออเป็นตัวแทนผู้ต้องหาทั้งสามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดปัตตานีที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี 21 กุมภาพันธ์ 2560)
7 มีนาคม 2560
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า(กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ร่วมประชุมที่โรงแรมสุโกศล พญาไทเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการซ้อมทรมานบุคคลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นที่สื่อมวลชนสนใจคือการที่กอ.รมน. ภาค 4 สน. แถลงถอนฟ้องนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามภายหลังในการแถลงข่าว ทั้งกอ.รมน. ภาค 4 สน.และนักสิทธิฯทั้งสามเห็นร่วมกันในสามประเด็นได้แก่
1. จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันในกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิฯ
2. จะต้องมีการจัดทำมาตรการร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการซ้อมทรมานหรือให้มีการเยียวยากรณีที่มีเหตุเกิดขึ้น
3. การทำรายงานสิทธิมนุษยชนในอนาคตจะต้องมีการนำเสนอเรื่องผ่านกลไกต่างๆที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อทำการร่วมกันในอนาคต เพื่อให้รายงานที่ออกมามีความถูกต้องและไม่กระทบบุคคลอื่น
และเพื่อความสมานฉันท์กอ.รมน. ภาค 4 สน. และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะถอนฟ้องคดีที่เคยยื่นฟ้องนักสิทธิฯทั้งสามคน
สมชาย หอมลออหนึ่งในผู้ต้องหาในคดีนี้กล่าวขอบคุณกอ.รมน. ภาค 4 สน.ที่จัดการพูดคุยครั้งนี้ เพื่อจะได้ประสานการทำงานในอนาคต สำหรับรายงานที่เผยแพร่ออกไป ทางผู้จัดทำย้ำว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้ที่มาร้องเรียนเท่านั้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและรายงานดังกล่าวไม่ได้มุ่งหวังให้กลุ่มบุคคลใดนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินการทางการเมืองใดๆ
ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากข่าวสดอิงลิชถามตัวแทนกอ.รมน. ภาค 4 สน.ว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นในวันนี้และการถอนฟ้องเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับที่ตัวแทนรัฐบาลไทยจะต้องไปเสนอรายงานในกลไกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีคำถามว่าทั้งสองเหตุการณ์มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ตัวแทนของกอ.รมน.ภาค 4 สน.ตอบว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อยุติการดำเนินคดีดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้วจึงไม่เกี่ยวข้องกัน
2 พฤศจิกายน 2560
มีรายงานว่า สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งอย่างเป็นทางการ ไม่ฟ้องคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯของสามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ กรณีที่เผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557-2558 ลงบนเว็บไซต์วอยซ์ ฟอร์ม ไทย ซึ่งในรายงานมีการระบุชื่อของทั้งสามเป็นกองบรรณาธิการ