- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ฐานข้อมูลคดี
วัฒนา เมืองสุข: คดีพ.ร.บ.คอมฯ วิจารณ์พล.อ.ประวิตร
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
1 มีนาคม 2559 วัฒนาโพสต์เนื้อหาบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ Watana Muangsook วิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตร กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่าไม่ให้เกียรติและเหยียดหยามทางเพศ พร้อมวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองในยุคคสช. เป็นเหตุให้ทหารบุกไปควบคุมตัววัฒนาจากบ้านในเช้าวันรุ่งขึ้น
หลังถูกควบคุมตัว วัฒนาถูกปล่อยตัวในช่วงดึกและถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
การโพสต์ครั้งนี้เป็นเหตุให้วัฒนาถูกจับกุมตัวในวันรุ่งขึ้นและถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
พฤติการณ์การจับกุม
เช้าวันที่ 2 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารบุกไปที่บ้านของวัฒนา เมืองสุข ย่านเขตประเทศ กรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ทหารแบ่งกำลังกันหลายส่วนนั่งรอในบ้าน ขณะที่วัฒนา ยังอยู่ข้างบนบ้านไม่ยอมลงมาพบ ทหารบางส่วนอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้านกั้นไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวด้านใน และให้เจ้าหน้าที่ รปภ.หมู่บ้านตรวจค้นรถทุกคันที่เข้าไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารใช้เวลาในการตรวจค้นและพูดคุยกับวัฒนา นานกว่า 2 ชั่วโมง จึงนำตัววัฒนา ขึ้นรถตู้หมายเลขทะเบียน ฮท-2807 กทม.ออกจากหมู่บ้าน พร้อมด้วยรถติดตามอีก 3 คัน เพื่อจะนำตัวไปสอบ และปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 11
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
16 กันยายน 2559
สืบพยานโจทก์
ปากที่สาม ร.ต.อ. ปรีชา ยาสูงเนิน
ก่อนหน้านี้พยานเคยปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 9.00 น. พบว่า วัฒนา โพสต์ข้อความพิพาทลงในเฟซบุ๊ก ต่อมา 2 มีนาคม 2559 เวลา 13.00 น. ข้อความดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปค้นหาได้ จากข้อความที่วัฒนาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับความเสียหาย
ต่อมา ร.ต.อ. ปรีชาจึงสอบปากคำ พ.อ. ธีระ ยินดี หนึ่งในผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ เขายืนยันว่า ข้อความที่วัฒนาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นความเท็จ ต่อมาจึงตรวจสอบเฟซบุ๊กปรากฏว่าเป็นของ วัฒนา เมืองสุข จำเลยในคดีนี้จริง จึงรวบรวมเอกสารเพื่อใช้ดำเนินคดี
ข้อความที่สร้างความเสียหายต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีรายละเอียดดังนี้
“. . . ยึดอำนาจไปจากประชาชนจนสร้างความเสียหายให้กับประเทศมหาศาล คนพวกนี้ยังไม่เคยละอายอวดอ้างบุญคุณกับประชาชนมาตลอด แถมแสดงความหนาด้วยการจะไม่คืนอำนาจให้อีกต่างหาก. . .ไม่เคารพกฎหมายและเลือกปฏิบัติ คสช ไม่เคยปฏิเสธการล้างผิดและพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ แต่กลับหนีการตรวจสอบทุกวิธี ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมให้ตัวเองและพรรคพวกในสิ่งทำผิดมา ล่าสุดคือการใช้มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยล้างผิดให้ตัวเองและคณะทั้งหมด. . .”
ปากที่สี่ พ.ต.อ. ภูมิยศ เหล็กกล้า
ตำแหน่งปัจจุบันผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการนครบาล 1 เดิมเป็นพนักงานสอบสวนที่ สน. นางเลิ้ง เบิกความว่า วันที่ 2 มีนาคม 2559 พ.อ. ธีระ ยินดี นายทหารพระธรรมนูญเดินทางมาร้องขอให้ดำเนินคดีกับวัฒนา เมืองสุข ตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมฯ จากกรณีโพสต์ข้อความพิพาทลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 พ.อ. ธีระ กล่าวหาว่า ข้อความที่วัฒนาโพสต์เป็นเท็จ ทำให้ได้รับความเสียหาย
พ.ต.อ. ภูมิยศ เบิกความต่อว่า ช่วงกลางดึกของวันที่ 2 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัววัฒนาไปพบพนักงานสอบสวน ซึ่งเขาเป็นผู้รับตัวจำวัฒนา ขณะที่ปฏิเสธไม่แสดงความคิดเห็นต่อการยึดอำนาจและความคิดเห็นว่า ข้อความในคดีนี้เป็นเท็จหรือไม่ แต่ พ.ต.อ. ภูมิยศ ก็ทราบว่า สื่อมวลชนมีการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้
ปากที่ห้า ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ชัยเดช
ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ชัยเดช รับราชการในตำแหน่ง รองสารวัตรจราจร สน. นางเลิ้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจจับกุมสอบสวนผู้กระทำความผิดในคดีอาญา ร.ต.อ. จีระศักดิ์ เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในคดีนี้ วันที่ 2 มีนาคม 2559 เวลา 14.00 น. ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ พ.ต.ท. อนุรักษ์ พิมพา สารวัตรสืบสวน สน. นางเลิ้ง แจ้งความว่า เฟซบุ๊กของวัฒนา เมืองสุขโพสต์ข้อความพิพาท เฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะ
พยานกล่าวว่า พ.ต.ท. อนุรักษ์ แจ้งว่า โพสต์เฟซบุ๊กนี้ ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับความเสียหาย 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 ข้อความว่า “. . . ยึดอำนาจไปจากประชาชนจนสร้างความเสียหายให้กับประเทศมหาศาล คนพวกนี้ยังไม่เคยละอายอวดอ้างบุญคุณกับประชาชนมาตลอด แถมแสดงความหนาด้วยการจะไม่คืนอำนาจให้อีกต่างหาก. . .” ซึ่งตามจริงแล้ว ในเวลานั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญและมีการวางแผนที่จะทำตามโรดแมปที่วางไว้ ร.ต.อ. จีระศักดิ์ จึงรวบรวมเอกสารทั้งหมดไว้ในสำนวน
ส่วนที่ 2 คือข้อความว่า “. . . ไม่เคารพกฎหมายและเลือกปฏิบัติ คสช. ไม่เคยปฏิเสธการล้างผิดและพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ แต่กลับหนีการตรวจสอบทุกวิธี ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมให้ตัวเองและพรรคพวกในสิ่งทำผิดมา ล่าสุดคือการใช้มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยล้างผิดให้ตัวเองและคณะทั้งหมด. . .” ซึ่งตามจริงแล้วในมาตรา 44 ไม่ได้กล่าวถึงการนิรโทษกรรม โดยการบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบการทำงาน
ร.ต.อ. จีระศักดิ์ บันทึกลงในรายงานประจำวัน ลงลายมือชื่อไว้และสอบปากคำ พ.ต.ท. อนุรักษ์ ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ก่อนจะเชิญตัว วัฒนา มารับทราบข้อกล่าวหา นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ วัฒนาปฏิเสธข้อกล่าวหา ต่อมาในชั้นสอบสวน ร.ต.อ. จีระศักดิ์ แจ้งข้อกล่าวหาเดิมต่อวัฒนา เจ้าตัวยังคงให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่า เป็นผู้โพสต์ ร.ต.อ. จีระศักดิ์ จึงรวบรวมและสรุปสำนวนสั่งฟ้อง นอกจากนี้เขายังเห็นว่า ข้อความพิพาทในคดีนี้เป็นความเท็จเพราะขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้จะไม่คืนอำนาจ ขณะเดียวกัน ไม่ปรากฏการนิรโทษกรรมในมาตรา 44
ทนายจำเลยถามค้าน
เมื่อทนายถามค้าน ร.ต.อ. จีระศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 2 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 22.00 น. มีทหารควบคุมตัววัฒนามาดำเนินคดีที่ สน. นางเลิ้ง โดยแจ้งข้อกล่าวหาและลงบันทึกประจำวัน และวัฒนาไปที่ สน. นางเลิ้งเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ไม่ทราบว่า วัฒนา เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กมาก่อนหน้านี้เรื่อยมาจนเกิดเหตุในคดี ทราบเพียงว่า หลังการยึดอำนาจมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นักศึกษา อาจารย์และนักวิชาการ โดยเฉพาะประเด็นที่พูดกันบ่อยครั้งคือ ทำท่าจะอยู่ยาวและสืบทอดอำนาจ
ก่อนจะส่งสำนวนฟ้อง ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ไม่ได้สอบสวนเองว่า ข้อความพิพาทเข้าข่ายความเท็จ แต่ พ.อ. ธีระ นายทหารพระธรรมนูญ และ พ.ต.ท. อนุรักษ์ พิมพา สารวัตรสืบสวน สน. นางเลิ้ง สองผู้กล่าวหาในคดีนี้เป็นผู้ระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเท็จ ในการสอบสวนข้อความเท็จคำว่า “ยึดอำนาจ ทำให้บ้านเมืองเสียหาย” ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ไม่ได้สอบสวนเพราะว่าไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมือง อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ระบุว่า คำว่าดังกล่าวเป็นเท็จอย่างไร แต่เห็นว่า ข้อความเท็จคือ "การไม่มีคืนอำนาจ" ในทำนองที่ไม่มีการเลือกตั้ง อีกส่วนคือ การนิรโทษกรรม จะเห็นได้ว่า ยังไม่เคยมีการนิรโทษกรรม ไม่เคยมีการล้างผิดจึงเห็นว่า เข้าข่ายความเท็จ
การชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนเป็นความผิดอาญา และนำข้อความเท็จไปส่งต่อถือว่าผิดทั้งสิ้น แต่เหตุที่ไม่มีการดำเนินคดีต่อพุทธอิสระและพวกที่ไปชุมนุม และหนังสือพิมพ์ที่นำข้อความไปโพสต์บนเว็บไซต์ เพราะไม่มีผู้กล่าวหา เมื่อถามว่า อาญาแผ่นดินไม่จำเป็นต้องมีผู้กล่าวหา ทำไมจึงไม่ดำเนินการ ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ตอบว่า ไม่ทราบ ในส่วนที่ไม่ดำเนินคดีต่อนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากว่า เป็นความทางการเมือง
เมื่อถามว่า เหตุใดคดีนี้จึงสอบสวนผู้กล่าวหาฝ่ายเดียว ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ตอบว่า ในการสอบวัฒนา จำเลย ให้การปฏิเสธและจะนำสืบพยานในชั้นศาล โดยตนไม่ทราบว่า สาเหตุที่วัฒนาไม่สามารถมาศาลในวันนัดฟ้องเพราะถูกทหารควบคุมตัวที่ค่ายทหาร
อัยการถามติง
ร.ต.อ. จีระศักดิ์ เบิกความต่อศาลว่า ในการสั่งฟ้องตนต้องดูเอกสารประกอบข้อกล่าวหาหรือไม่จึงสั่งฟ้อง โดยยังคงยืนยันว่า การนิรโทษกรรมในข้อความพิพาทนั้นเป็นความเท็จ และเหตุที่ไม่มีการสอบสวนผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์เพราะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วพบว่า เป็นความเท็จ ส่วนการดำเนินคดีอาญาแผ่นดิน ในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินคดีได้เอง ต้องมีผู้กล่าวหา พยานหลักฐานมาประกอบ อยู่ๆจะไปทำไม่ได้
นัดสืบพยานจำเลย
ปากที่่หนึ่ง วัฒนา เมืองสุข (จำเลย)
วัฒนาเบิกความต่อศาลว่า ไม่ได้ทำความผิดตามคำฟ้อง สิ่งที่แสดงความคิดเห็นนั้น เขามีสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 และสิทธิที่ปวงชนชาวไทยพึงมีเช่น เสรีภาพในการในการพูดและการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
และเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อเพจ Watana Muangsook ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ข้อความพิพาทเนื่องจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจปกครองประเทศ อ้างว่า ให้ความสงบกลับคืนสู่ประเทศ สร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายตามประกาศ คสช. ที่ 1/2557 แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จึงถอยหลังให้กับคณะทำงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แล้วเมื่อผ่านไปสักระยะ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ ประกาศให้วัน เวลาทวีคูณ ผลตรงนี้ทำให้ใช้เงินเกือบ 1 แสนล้านบาท
รัฐบาลทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ดังนั้นข้ออ้างเรื่องปรองดองจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ขณะที่กระบวนการคืนอำนาจด้วยการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เนื้อหาสาระเป็นการสืบทอดอำนาจ เขาจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์การสืบทอดอำนาจผ่านสื่อ แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งานเฟซบุ๊ก จากนั้นแสดงความคิดเห็นเรื่อยมา กระทั่งต้นปี 2559 จึงเปิดเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ว่า การยึดอำนาจทำให้ประเทศเสียหาย หรือ คสช. จะไม่คืนอำนาจ ซึ่งสื่อมวลชนก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
หลังจากแสดงความคิดเห็น ก็ถูกข่มขู่คุกคามโดยตลอดจาก คสช. และถูกเรียกรายงานตัวครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่กองทัพภาคที่ 1 จากการแสดงความคิดเห็นเรื่องกลุ่มนักศึกษาดาวดิน เจ้าหน้าที่ขอร้องไม่ให้แสดงความคิดเห็น ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีและห้ามไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับปาก หลังจากนั้นได้ยื่นคำร้องขอเดินทางไปต่างประเทศ แต่ถูกระงับการพิจารณา จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องจึงอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด ศาลพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง การฟ้องร้องสร้างความไม่พอใจให้แก่หัวหน้า คสช.
หลังจากนั้นอีกระยะก็มีเหตุการณ์ ถูกทำร้ายร่างกายที่สนามฟุตบอล สืบทราบได้ว่า พาหนะของคนร้ายมีเจ้าของเป็นทหารยศสิบเอก จนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2559 ได้แสดงความเห็นต่อคำกล่าวของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีทีพาดพิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่า เป็นคำพูดที่ไม่ให้เกียรติสุภาพสตรี มีลักษณะเหยียดหยามทางเพศ จึงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พล.อ. ประวิตรใช้คำพูดไม่เหมาะสม ไม่มีวุฒิภาวะ นอกจากนี้ ยังวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อันเป็นข้อความพิพาทในคดีนี้
เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าล้อมบ้านในวันถัดมา อ้างตามประกาศ คสช. ที่ 38/2558 ก่อนจะควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 โดยมี พ.อ. ธีระ ยินดี หนึ่งในผู้กล่าวหาในคดีนี้มาสอบถามว่า "เป็นคนโพสต์ข้อความใช่ไหม จึงตอบว่า ใช่ " หลังจากนั้น พ.อ. ธีระบอกว่า พล.อ.ประวิตร โกรธมาก และบอกว่า รอบนี้อาจจะต้องอยู่ยาว โดยระหว่างควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจิตวิทยาสร้างความหวาดกลัว เช่น เอาผ้าคลุมหัว, ปิดตา ,กระชากขึ้นลำปืน จนกระทั่งเวลา 21.30 น. ทหารนำตัวไปที่ สน. นางเลิ้ง ก่อนจะไปส่งที่บ้าน
หลังถูกดำเนินคดี ยังคงแสดงความคิดเห็นเรื่อยมาและถูกควบคุมตัวอีกครั้ง จากการแสดงความเห็นสอดคล้องกับ วรชัย เหมะ และอีกครั้งในวันที่ 13 เมษายน 2559 จากที่โพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ แต่ขณะนั้นไม่อยู่ที่บ้านจึงขอเลื่อนไปรายงานตัววันที่ 18 เมษายน 2559 แทน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสังเกตการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศ โดยเรื่องนี้ ได้ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัวเพราะประกาศไม่ครอบคลุมมูลฐานความผิด พ.ร.บ.คอมฯ ถ้าจะควบคุมตัวต้องแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการกองพันทหารราบกล่าวกับตนในทำนองว่า ไม่ให้แสดงความเห็นว่าไม่รับ (ร่างรัฐธรรมนูญ)
ต่อมา ทหารนำตัววัฒนาไปที่กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี แต่กลับขับเลยกองพลฯไปทาง อำเภอไทรโยค ราว 200-300 กิโลเมตร ผ่านป่า ประมาณ 21.00 น. พบว่า ระหว่างทางมีทหารด้านนอกรถพรางหน้า ใส่ชุดทหารพร้อมอาวุธครบมือ สร้างความหวาดกลัว สุดท้ายทหารพาไปที่ศูนย์เกษตรกรรมของทหาร คุมขังไว้เป็นเวลา 3 วัน จนกระทั่งกำหนดนัดรายงานตัวที่ศาลวันที่ 20 เมษายน 2559 แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นเรื่องของเขาเอง เดี๋ยวเขาจัดการเอง
หลังจากนั้น วันที่ 21 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่นำตัวกลับมายังกรุงเทพมหานคร และให้นายทหารพระธรรมนูญมาดำเนินคดี ขัดคำสั่ง คสช. เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ศาลทหาร ก่อนจะประกันตัว นอกจากนี้ ตนทราบว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ พล.อ.ประวิตร โกรธและบอกว่า ถ้าพูดร้อยครั้ง ท่านจะจับร้อยครั้ง
ส่วนคดีที่ถูกฟ้องที่ศาลทหาร สิ่งที่แสดงความเห็นไม่ได้เป็นความเท็จ เพราะว่าถ้าจะเป็นความจริงหรือความเท็จต้องเป็นเรื่องของการยืนยันข้อเท็จจริง แต่การแสดงความคิดเห็น อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากทำให้เสียหาย เรื่องนี้ตนไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์เพียงคนเดียว ซึ่งครั้งหนึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์เองเคยออกมาแก้ต่างว่า คสช. ไม่สืบทอดอำนาจ แสดงว่า มีคนพูดจนต้องออกมาแก้ต่าง ในประเด็นการเลือกปฏิบัติและนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ใช้คำสั่งเป็นกฎหมายล้างผิดให้ใครก็ได้ ถือเป็นการหนีการตรวจสอบ
คดีนี้ เจ้าหน้าที่ถามเพียงครั้งเดียวและดำเนินคดี และได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง แต่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยบุคคลที่พาดพิงหรือวิจารณ์เป็นบุคคลที่ทำงานกินภาษีประชาชนจึงน่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เพื่อประโยชน์สูงสุด ประเด็นนี้จึงต้องการข่มขู่ให้ตนหวาดกลัว
วัฒนาตอบอัยการถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุทราบว่ามีโรดแมปการทำงานของคสช. แต่เลื่อนออกไปเรื่อยๆ มาตรา 44 ตนทราบว่า ไม่มีข้อความบัญญัตินิรโทษกรรมโดยตรง แต่โดยผลของอำนาจมาตราดังกล่าว
ปากที่สอง โภคิณ พลกุล
โภคิณ พลกุล เบิกความต่อศาลว่า ได้ติดตามอ่านข้อความที่วัฒนา โพสต์เฟซบุ๊ก เห็นว่า ที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในการบริหารราชการของผู้มีอำนาจหน้าที่ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในยุคกฎหมายสมัยใหม่ และการวิพากษ์วิจารณ์ตามโจทก์ฟ้องเป็นไปตามกฎหมาย 2 ฉบับคือ กฎหมายระหว่างประเทศเช่น กฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่บัญญัติไว้ชัดว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้รับการคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
โภคินเห็นว่า ข้อความพิพาทเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คำกล่าวของบุคคลไม่ได้นำความเท็จมากล่าว และการยึดอำนาจเป็นความเสียหาย ประการแรกคือ ชื่อเสียงของประเทศไทยที่เป็นที่ยอมรับจากประเทศอื่นว่า เป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน ประการที่สองคือ ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศเช่น เขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปถูกเลื่อนออกไปส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
ส่วนเรื่องไม่คืนอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งขาติ ที่บอกว่า จะให้มีเลือกตั้งในปี 2558 หรือปี 2559 ต่อมาเลื่อนออกไปเป็นปี 2560 ขณะเดียวกัน ระหว่างประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มีคำถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร คำตอบไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจำต้องพิจารณาทำกฎหมายลูกอีก 240 วัน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาประกอบรัฐธรรมนูญอีก 60 วัน และจัดให้มีเลือกตั้งภายใน 150 วัน รวม 450 วัน ซึ่งจะเลยปี 2560 ออกไปอีก
การไม่คืนอำนาจให้กับประชาชนอาจสร้างกลไกตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้บริหารประเทศสืบทอดอำนาจต่อ เห็นได้จาก ระบบการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากอีกต่อไป รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม ประเด็นต่อมาคือ คำถามพ่วงให้สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งจำนวน 250 คนมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ในคำอธิบายประเทศไทยมียุทธศาสตร์ 20 ปี จะเดินต่อไปได้นายกรัฐมนตรีต้องบริหารต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เห็นได้ชัดว่า มีความพยายามเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอก การสืบทอดอำนาจคือการไม่คืนอำนาจตามปกติที่ควรจะเป็น
ข้อความที่ว่า คสช. เลือกปฏิบัติ หนีการตรวจสอบ นิรโทษกรรมในมาตรา 44 และมาตรา 270 ของร่างฯบวรศักดิ์ หรือ มาตรา 279 ของร่างฯมีชัย มีความเห็นว่า เลือกปฏิบัติชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา หลังจากที่อุปทูตวิจารณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตย กปปส.ไปชุมนุม แต่ไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่นักศึกษาไปรณรงค์ที่ราชบุรี มีนักข่าวไปสังเกตการณ์กลับถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ส่วนการวิจารณ์มาตรา 270 ว่า นิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้อง เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ และเคยแสดงความเห็นทำนองเดียวกันต่อร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ ในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นอาจจะไปละเมิดเขา แต่การที่ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวถึง คำพูดหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้กลับสู่ประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้ยึดอำนาจของประชาชนโดยมิชอบ เพื่อไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจออกกฎหมายล้างผิด ทั้งบุคคลที่วิจารณ์เป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในการสืบพยานโภคิณ พลกุล อัยการไม่ถามค้าน