4 กุมภาพันธ์ 2559
สะมะแอและชาวประมงอีกประมาณ 20 คน เดินทางมาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ประมาณ 8.00 น. เพื่อยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แก้ไขมาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดว่า "ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง" เพราะเห็นว่ากระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ทำประมงพื้นบ้าน
สะมะแอและกลุ่มชาวประมงติดต่อกับเจ้าหน้าที่กระทรวงตั้งแต่เช้าเพื่อขอยื่นหนังสือ เจ้าหน้าที่ให้ชาวประมงบางส่วนผลัดกันเข้าไปเจรจาด้านในส่วนที่เหลือก็รออยู่ด้านนอกบริเวณเกาะกลางถนนหน้ากระทรวงเกษตรฯ ถ.ราชดำเนินนอก ระหว่างรอพวกเขานำเชือกมาขึงบริเวณต้นไม้เป็นกรอบและนั่งอยู่ด้านในพร้อมวางกะละมังปลาที่จับมาจากเขตนอกชายฝั่งไว้
การเจรจาเพื่อเข้าไปยื่นหนังสือกินเวลาตั้งแต่ช่วงประมาณ10.00 น. ถึง 15.00 น. เพราะเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าให้ชาวประมงเข้าไปยื่นหนังสือได้แต่ห้ามสื่อมวลชนเข้า แต่ชาวประมงไม่ยอมเพราะเห็นว่าหากไม่ให้สื่อเข้าก็จะไม่มีผู้ใดเป็นพยานในการเจรจาและสุดท้ายการเจรจาก็จะสูญเปล่า จนกระทั่ง เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่จึงยอมให้ชาวประมงเข้าไปยื่นหนังสือพร้อมสื่อมวลชนแต่สื่อถูกสั่งห้ามไม่ให้บันทึกภาพ
เมื่อยื่นหนังสือเสร็จ ประมาณ 16.00 น. ชาวประมงก็แยกย้ายกันกลับ
18 กุมภาพันธ์ 2559
มีหมายเรียกจากสน.นางเลิ้งซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรฯ ส่งถึงสะมะแอที่บ้านในจังหวัดปัตตานี แจ้งให้สะมะแอมารับทราบข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยว่า สะมะแอ "เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง (ตำรวจเจ้าของท้องที่) ภายในกำหนด และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับแจ้ง หรือที่ผู้รับแจ้งมีคำสั่งห้ามการชุมนุม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" และให้สะมะแอมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559
เนื่องจากสะมะแอไม่สะดวกเดินทางมารายงานตัวในวันนัดตามหมาย เขาจึงขอเลื่อนมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 แทน
26 กุมภาพันธ์ 2559
นัดรับทราบข้อกล่าวหา
สะมะแอและผู้สนับสนุนเดินทางมาถึงสน.นางเลิ้งก่อน 16.00 น. และได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวครู่หนึ่งก่อนเข้าไปในสน. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา สะมะแอพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. จนถึง 17.00 น. จึงได้รับการปล่อยตัวกลับโดยไม่ต้องวางเงินประกัน
สะมะแอเปิดเผยภายหลังว่า เจ้าหน้าที่แนะนำให้เขารับสารภาพเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เปรียบเทียบปรับแล้วยุติคดี เจ้าหน้าที่โน้มน้าวสะมะแอโดยให้เหตุผลด้วยว่าหากยุติคดีที่สน. สะมะแอก็จะไม่ต้องถูกบันทึกประวัติและไม่ต้องขึ้นศาล เจ้าหน้าที่ระบุด้วยว่าพรบ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองแต่หมายรวมถึงการชุมนุมที่มีคนมารวมตัวกันในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้องหรือคัดค้านประเด็นต่างๆทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกรณีของสะมะแอด้วย
อย่างไรก็ตาม สะมะแอก็ให้การปฏิเสธและขอสู้คดีโดยระบุว่า คดีนี้ นับเป็นคดีแรกๆ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังใหม่กับทั้งเจ้าหน้าที่และกับภาคประชาชน จึงต้องการสู้คดีเพื่อวางบรรทัดฐานให้กับคดีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เจ้าหน้าที่นัดจึงส่งตัวสะมะแอให้พนักงานอัยการในวันที่ 21 มีนาคม
21 มีนาคม 2559
สะมะแอเดินทางไปพบอัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ( ดุสิต) แต่อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งใหม่เป็นวันที่ 25 มีนาคม 2559 โดยนัดให้สะมะแอไปพบที่ศาลแขวงดุสิตในเวลา 09.30 น.
24 มีนาคม 2559
สะมะแอได้รับแจ้งจากอัยการว่าจะเลื่อนนัดฟังคำสั่งซึ่งเดิมนัดไว้วันที่ 25 มีนาคม 2559 ออกไปก่อน อัยการไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลื่อนและยังไม่กำหนดวันนัดใหม่
11 พฤษภาคม 2560
ทนายของสะมะแอให้ข้อมูลว่าพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโดยมีคำสั่งออกมาก่อนหน้านี้แล้วแต่จำไม่ได้ว่าคำสั่งออกมาเมื่อใด