พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ให้จำเลยทราบที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะปิยะ ถูกคุมขังอยู่ในคดีก่อนหน้านี้ ในชั้นสอบสวนปิยะให้การปฏิเสธ
ปิยะถูกพาตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปศาลอาญา เพื่อสอบคำให้การในคดีนี้ หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ปิยะให้การปฏิเสธต่อศาล ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559
29 กุมภาพันธ์ 2559
นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน
จำเลย พ่อของจำเลย และทนายจำเลยมาศาล ศาลสอบถามคำให้การ ปิยะแถลงว่า ขอให้การปฏิเสธเพราะไม่ได้เป็นผู้ส่งอีเมล์ตามฟ้อง และอีเมล์ตามฟ้องไม่ใช่อีเมล์ของตัวเอง
อัยการอ้างส่งพยานเอกสาร 12 รายการและยื่นบัญชีพยานที่ประสงค์จะนำเข้าสืบ 23 ปาก ฝ่ายทนายจำเลยอ้างพยานที่จะต้องสืบ 3 ปาก แต่อัยการที่มาศาลในวันนี้แถลงว่า อัยการเจ้าของสำนวนไม่สามารถมาศาลได้ เนื่องจากมารดาเสียชีวิต จึงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน ฝ่ายจำเลยไม่คัดค้าน
ศาลให้นัดตรวจพยานหลักฐานใหม่ วันที่ 7 มีนาคม 2559
7 มีนาคม 2559
นัดตรวจพยานหลักฐาน
อัยการโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล อัยการโจทก์แถลงขอสืบพยาน 23 ปาก และยื่นเอกสารเป็นหลักฐานอีก 14 รายการ ทนายจำเลยตกลงยอมรับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อของจำเลย ศาลจึงให้ตัดพยานออกได้บางส่วน เหลือพยานของฝ่ายโจทก์ที่ต้องนำสืบจริงๆ 9 ปาก ศาลกำหนดให้สืบพยานในสองวัน ฝ่ายทนายจำเลยยื่นบัญชีพบานขอนำพยานเข้าสืบ 3 ปาก ศาลกำหนดให้สืบพยานในครึ่งวัน
ทนายจำเลยสอบถามอัยการว่า คดีนี้ฟ้องเป็นความผิดกี่กรรม อัยการดูสำนวนคำฟ้องแล้วอธิบายว่า คดีนี้ฟ้องเป็นความผิด 4 กรรม จากการส่งอีเมล์ 2 ฉบับ เนื่องจากเมื่อพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ ก็ถือเป็นการนำเข้าข้อมูลซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้วหนึ่งกรรม และเมื่อกดส่งก็เป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่างหากอีกหนึ่งกรรม
ทนายจำเลยโต้แย้งว่า การพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ยังไม่ใช่ความผิด เพราะยังไม่มีบุคคลที่สามมาเห็นจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ของมาตรา 112 แต่อัยการยืนยันว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้วเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ยังไม่จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามมารับรู้ การแสดงความอาฆาตมาดร้ายแม้เพียงพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ของตัวเองก็เป็นความผิดได้ โดยอัยการยกตัวอย่างแนวคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนมาชึ้แจงประกอบด้วย
ทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานเป็นวันที่ 27-29 กันยายน 2559
27-28 กันยายน 2559
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลอาญานัดสืบพยาน ก่อนเริ่มสืบพยานศาลสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ไม่อนุญาตให้คนนอกรวมทั้งพ่อของจำเลยเข้าฟังการพิจารณา
เมื่อเริ่มสืบพยาน ศาลให้อัยการโจทก์ตัดพยานปากที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีออกหลายปาก ทำให้สุดท้ายพยานที่เหลือต้องสืบมีพยานโจทก์สี่ปาก ได้แก่ ตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของธนาคารกรุงเทพ และพนักงานสอบสวนสองคน ส่วนฝ่ายจำเลยสืบพยานสองปาก ได้แก่ ตัวจำเลยเองและผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์
ตลอดสองวันของการสืบพยานในคดีนี้ ศาลยังสั่งห้ามทนายความจำเลยคัดถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดี รวมทั้งคำเบิกความของพยาน แต่เพื่อใช้ในการต่อสู้คดี ศาลอนุญาตให้ทนายความมาคัดลอกคำเบิกความออกไปนอกห้องพิจารณาได้ด้วยลายมือของทนายความเอง
ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี
การอ่านคำพิพากษาคดีนี้ก็เป็นการอ่านคำพิพากษาโดยลับเช่นกัน และศาลไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยคัดถ่ายคำพิพากษา แต่อนุญาตให้คัดลอกด้วยลายมือไปได้ เพื่อใช้ในการยื่นอุทธรณ์
หลังศาลอาญาพิพากษาคดีนี้ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ แต่หลังรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อยู่ 3-4 เดือน ในช่วงกลางปี 2560 จำเลยตัดสินใจยื่นขอถอนอุทธรณ์เพื่อให้คดีถึงที่สุด และทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป
ปิยะรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และได้โอกาสลดโทษและอภัยโทษตามวาระโอกาสต่างๆ ก่อนได้ปล่อยตัวประมาณเดือนตุลาคม 2563 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำสองคดี ประมาณ 5 ปี 10 เดือน