สืบพยานโจทก์ พ.ต.อ.นิพนธ์ ทองแสวงบุญญา ตํารวจ ปอท. ผู้บังคับบัญชาผู้ตรวจหน้าเฟซบุ๊กแล้วเสร็จ
นัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไป พ.ต.อ.ธวัชชัย สายกระสุน ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 สาเหตุที่นัดช้าเนื่องจากทนายความแถลงต่อศาลว่า จำเลยเป็นพระภิกษุและในช่วงเข้าพรรษาระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมพระผู้ใหญ่ต้องการให้อยู่วัด ไม่สะดวกเดินทางออกนอกวัด จึงนัดพิจารณาต่ออีกครั้งหลังออกพรรษาแล้ว
นัดพร้อม เพื่ออ่านคำสั่งโอนย้ายคดี
แม้คดีนี้จะมีวันนัดสืบพยานไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ศาลทหารกรุงเทพโทรศัพท์ไปยังทนายความของจำเลย นัดให้จำเลยมาฟังคำสั่งในวันนี้ เวลาประมาณ 8.30 น.
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพ แต่ ฐนกร ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ ขณะนี้ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งอยู่ในช่วงเข้าพรรษาทำให้ไม่สามารถเดินทางออกจากวัดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจนสว่างมากพอที่จะเห็นลายมือบนมือได้ และประกอบกับไม่สามารถจำวัดที่อื่นได้นอกจากวัดที่ตนเข้าพรรษา พระฐนกรที่เดินทางจากจังหวัดอ่างทองมาที่ศาลทหารกรุงเทพ จึงมาถึงล่าช้า
เวลาประมาณ 12.00 พระฐนกรเดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพ ศาลได้ออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำสั่งศาลมีใจความว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ตามข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามที่ระบุในบัญชีสองท้ายคำสั่งนี้ กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม ให้จ่าศาลคัดถ่ายสำนวนคดีเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และสัญญาประกันให้มีผลต่อไป
20 มกราคม 2563
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้นัดพร้อมในคดีของ ฐนกร เพื่อนัดวันสำหรับสืบพยานต่อ หลังโอนย้ายคดีมาจากศาลทหารกรุงเทพ โดยเหลือพยานโจทก์ที่ยังไม่ได้สืบทั้งหมด 10 ปาก และพยานจำเลยอีก 6 ปาก ศาลให้วันนัดสืบพยานโจทก์ 2 นัด พยานจำเลย 1 นัด และกำหนดวันนัดสืบพยานในเดือนมิถุนายนระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2563 ทุกนัดเริ่มเวลา 9.00 – 16.00 น.
24 มิถุนายน 2563
สืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
สืบพยานโจทก์ปากที่หก พลโท บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารผู้ร่วมสอบสวนจำเลย
พยานตอบคำถามอัยการถามว่า อายุ 51 ปี ประจำอยู่ที่สำนักงานพระธรรมนูญ กองทัพบก กรณีนี้เกิดขึ้นในปี 2558 ในช่วงนั้นพยานเป็นฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา กองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ช่วงวันที่ 8-14 ธันวาคม 2558 ทหารคุมตัวจำเลยมาไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) วันที่ 14 ธันวาคม เมื่อครบกำหนด 7 วัน ได้มีคำสั่งให้พยานนำตัวจำเลยส่งตำรวจที่กองปราบปราม
พยานทราบเรื่องนี้จากกระบวนการสอบสวนตอนอยู่ที่ มทบ.11 ว่าช่วงนั้นมีกิจรรม Bike for Dad และพอดีกับที่มีการเปิดตัวอุทยานราชภักดิ์ และมีการจับกุมดำเนินคดีมาตรา 112 กับคนหลายคน เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลที่ทำแผนผังอุทยานราชภักดิ์โดยพยายามโยงกับสถาบัน เผยแพร่กันในเฟซบุ๊ก ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ไปควบคุมตัวจำเลย เพราะการแชร์แผนผังดังกล่าว จากการตรวจสอบโทรศัพท์พบว่า มีการโพสต์รูปหมิ่นฯ โดยเอามาจากเพจสถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติซึ่งจำเลยได้กด like ในเพจ ยังมีห้องย่อยที่มีเนื้อหา “หมิ่นทั้งหมด” อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนเรื่องนี้ เพียงแต่ได้ฟังตอนที่มีการสอบสวน
ศาลถามว่า เหตุผลหลักที่จับกุมจำเลยมาเพราะมีการดูหมิ่นกองทัพเรื่องอุทยานฯ และมีการโยงสถาบันด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ และขยายความว่าในเพจจะมีห้องย่อยชื่อ “ยืนหยัดปรัชญา” ซึ่งไม่แน่ใจว่า ผู้ดูแลห้องอยู่ในประเทศไหม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้อธิบายให้พยานฟังว่า การกด like กับ share นั้นคล้ายกัน เพราะเพื่อนของเจ้าของบัญชีจะเห็นว่าเขา like หรือ share สิ่งใด พยานได้ลองทดสอบดูกับบัญชีเฟซบุ๊กตัวเองก็เห็นจริงตามนั้น การกด like จึงเป็นความผิดฐานเผยแพร่ ส่วนผังอุทยานฯ เป็นการดึงรูปมาแล้วโพสต์ในมือถือของจำเลยเอง
อัยการถามเรื่องสุนัขทรงเลี้ยง พยานตอบว่า ไม่ค่อยรู้เรื่องนี้เท่าไร ทราบเพียงว่า มีการโพสต์เรื่องคุณทองแดงด้วย อย่างไรก็ตาม ในสถานการเช่นนี้การโพสต์เรื่องอุทยานฯ รวมไปถึงพูดกันไปเรื่องความตายระหว่างควบคุมตัวของหมอหยองด้วยในช่วงนั้น ทำให้กลุ่มของพวกเขามีความเกลียดชังสถาบัน
พยานตอบคำถามต่อไปว่า จำเลยแจ้งว่าจะรับสารภาพ หลังจากนั้นจะไปบวช
ทนายจำเลยถามค้าน
พยานตอบทนายจำเลยเรื่องชั้นสอบสวนว่า ระหว่างที่จำเลยให้การกับตรวจ จำเลยรับสารภาพ พยานก็เห็นว่า การรับสารภาพเป็นการดี จึงบอกว่าจะบันทึก VDO ให้ เพื่อเอาไว้ในการลดโทษได้ อย่างไรก็ตาม พยานมีหน้าที่แค่ควบคุมตัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเนื้อหาโดยตรง ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ และไม่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เพียงแต่นั่งฟังการสอบสวนเฉยๆ
ทนายถามเรื่องเพจเฟซบุ๊ก พยานตอบว่า เพจสถาบันคนเสื้อแดงฯ เป็นโครงใหญ่ แล้วซอยห้องย่อย มีชื่อ ยืนหยัดปรัชญา ภาพหมิ่นหลายคดีก็ดึงไปจากคนนี้แล้วไปกระจายกัน ทนายถามว่าเป็นห้องย่อยยืนหยัดปรัชญาเป็นส่วนหนึ่งของเพจสาถบันคนเสื้อแดงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทนายถามว่า ได้สาธิตให้พนักงานสอบสวนดูไหมว่าการกดไลค์เพจจะทำให้เพื่อนเห็นเนื้อหานั้นๆ พยานตอบว่าไม่ได้สาธิตให้ใครดู แต่ยืนยันว่า เป็นเช่นนั้นพร้อมยกตัวอย่างว่า หากกดไลค์เพจประชาไท มันจะขึ้นสิ่งที่ประชาไทโพสต์ (ศาลไม่ได้บันทึกการยกตัวอย่าง)
ทนายถามว่า สมัยก่อนไม่มีปุ่ม ติดตาม แต่ใช้ปุ่ม like แทน พยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีปุ่มติดตามเพราะไม่ใช่เพจ ในภาพตามเอกสารไม่ใชเพจหลัก ถ้าเข้าไปดูโพสจะเห็นแค่ปุ่มแชร์กับถูกใจ
(ศาลเอกสารไปดูแล้วบันทึกว่า สาเหตุที่ไม่มีปุ่มติดตาม เพราะเป็นกลุ่มย่อยของเพจหลัก โดยเพจหลักสถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติจะมีปุ่มติดตาม)
ทนายถามว่า ตอนสอบสวนจำเลยที่มทบ.11 เหตุที่ทหารไม่แจ้งสิทธิก่อนเป็นเพราะอะไร พยานตอบว่า เพราะเป็นอำนาจการควบคุมตัวพิเศษ การแจ้งสิทธิกระทำในชั้นพนักงานสอบสวน
ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า มีข่าวการทุจริตทั้งกิจกรรม Bike for Dad และอุทยานราชภักดิ์ พยานตอบว่า ทราบและมีกระแสที่โยงว่าสถาบันอยู่เบื้องหลัง ไม่ทราบว่า แผนผังในคดีนี้จะกล่าวถึงสถาบัหรือไม่ เพราะไม่ได้ดูรายละเอียด นอกจากนี้ยังตอบทนายด้วยว่า คนที่โดนคดี 112 เพราะเอาสถาบันไปแอบอ้างนั้นมีทั้ง ทหาร ตำรวจ พลเรือน ส่วนคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภัพดิ์ จำได้เพียงว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาประชาชนนั่งรถไฟไปตรวจสอบ
อัยการถามติง
อัยการถามติงว่า กองทัพบกได้แถลงข่าวการตรวจสอบแล้วว่า ไม่มีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ใช่หรือไม่ (นำเอกสารข่าวให้ดู) พยานตอบว่า ใช่ และเสริมว่า มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินด้วยที่เข้าไปตรวจสอบและไม่พบการทุจริต ดังนั้น ใครเขียนหรือแชร์ข่าวว่า ทุจริต จึงเป็น ความเท็จ (อัยการอ้างส่งข่าว ศาลบอกว่า เอกสารนี้ไม่ได้มีอยู่ในบัญชีพยานตั้งแต่แรก การส่งเข้ามาภายหลังต้องให้ทนายได้ถามค้าน และศาลจะจดบันทึกเป็น อัยการขออนุญาตถาม อัยการไม่ขัดข้อง)
ทนายจำเลยถามค้านว่า พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผบ.ทบ.ขณะนั้นเคยให้ข่าวว่า มีการหักค่าหัวคิวส่วนต่างจริง แต่ไม่เป็นการทุจริตเพราะมีการคืนไปแล้ว ทราบหรือไม่ พยานบอกว่า ไม่มั่นใจ เพราะเหตุการณ์เกิดนานมากแล้ว ทนายย้ำอีกว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ก็เคยมีคลิปออกมาว่า กรณีนี้มีทุจริตแน่ เคยได้ยินหรือไม่ พยานตอบว่า เคยได้ยิน และอธิบายว่า แม้กองทัพบกถูกกล่าวหา และกองทัพบกเป็นผู้ตรวจสอบเอง ก็ถือว่าน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้นำส่งรายงานของกองทัพบกและรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินต่อศาล
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด พ.ต.ท.ธวัชชัย สายกระสุน ตำรวจผู้สืบสวนกิจกรรมเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์
พยานตอบคำถามอัยการถามว่า อายุ 47 ปี ประจำอยู่ที่กองกำกับการ6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ขณะเกิดเหตุคดีนี้ เป็นสารวัติรับผิดชอบดูการเคลื่อนไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ พบการเปิดประเด็นทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ทำให้กลุ่มนักศึกษาจัดกิจกรรม “โครงการส่องไฟหาการทุจริต” กิจกรรมเริ่ม 7 ธันวาคม 2558 ให้คนรวมตัวกันที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย วันนั้นก็นั่งรถไฟไปด้วยเพื่อสังเกตการณ์ แกนนำ คือ สิรวิชญ์หรือจ่านิว มีประชาชนนั่งรถไฟไปประมาณ 50 คนนั่งไปถึงสถานีบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก็ถูกตัดขบวน เจ้าหน้าที่ทหารให้ลงที่นี่แต่นักศึกษาไม่ยอมเลยถูกควบคุมตัว อย่างไรก็ตาม ตนเองไม่ได้สืบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย
อัยการถามว่า หากมีคนเขียนเรื่องไม่จริงในประเด็นนี้จะทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างไร พยานตอบว่า การปลุกประเด็นทุจริต คนสนใจมาก กระแสจะแรงมาก มีคนร่วมตรวจสอบเยอะ น่าจะลุกลามบานปลายเป็นความวุ่นวายได้
ทนายจำเลยถามค้าน
พยานตอบทนายว่า ทราบว่าโครงการอุทยานราชภักดิ์ มีพล.อ.อุดมเดช เป็นประธาน ส่วนที่พล.อ.อุดมเดชออกมาให้ข่าวยอมรับว่า มีการหักค่าหัวคิว ได้ตามอ่านข่าวอยู่ ส่วนเรื่องต้นปาล์มที่ได้รับบริจาคมาแต่มาเขียนเบิกต้นละแสนนั้น ไม่ทราบมาก่อน และที่นายกฯ ให้ข่าวว่า จะดำเนินคนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งหมดนั้น จำไม่ได้
1 ตุลาคม 2563
สืบพยานจำเลย
ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดสืบพยานจำเลย โดยจำเลยที่ยังมีสถานะเป็นพระภิกษุ มาศาลพร้อมกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความสามปาก ได้แก่ ตัวจำเลยเอง ดร.อิสระ ชูศรี นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มาเบิกความเรื่องการตีความข้อความที่ถูกฟ้องในคดีนี้ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw มาเบิกความเรื่องกระบวนการยุติธรรมในยุคของ คสช. และความหมายของการกดไลค์บนเฟซบุ๊เพจ
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 ฐนกร จำเลย
ฐนกร ซึ่งเป็นพระภิกษุจึงไม่ต้องสาบานตัว เบิกความว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 8 ธันวาคม 2558 ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบพาตัวจากที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ไปที่สภ.บางปู จากนั้นไปที่สภ.เมืองสมุทรปราการ มีทหารสั่งให้เข้ารหัสโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจสอบเรื่องผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ พยานเปิดโทรศัพท์ให้ทหารคนดังกล่าวดูและรับว่าเป็นคนโพสเอง โดยนำมาจากในเฟซบุ๊ก
หลังจากนั้นทหารพาตัวไปค่ายทหารบริเวณถนนร่มเกล้า โดยทหารไม่ให้พบทนายความหรือครอบครัว สี่วันแรกถูกกักขังอย่างเดียว ไม่ได้ถูกกระทำรุนแรง วันที่ห้าถูกพาตัวไปที่ มทบ.11 เพื่อซักถามเกี่ยวกับแผนผังอุทยานราชภักดิ์ ทหารถามว่า เป็นคนทำแผนผังใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ก๊อปปี้มาอีกที
ฐนกรเล่าว่า ขณะอยู่ที่ มทบ.11 คืนแรก ทหารนำขวดแก้วใส่น้ำเกลือแร่ทุบที่ท้ายทอยของพยาน แต่ขวดไม่แตก พยานรู้สึกเจ็บ และในค่ายทหารไม่มีโอกาสติดต่อญาติหรือทนายความ ขณะนั้นรู้สึกเป็นห่วงคนในครอบครัว หลังครบระยะเวลาควบคุมตัว 7 วัน ถูกนำตัวส่งกองบังคับการปราบปราม ในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้สิทธิในการพบญาติแต่ตำรวจตั้งทนายความมาร่วมฟังการสอบสวนให้ ในชั้นสอบสวนให้การไปด้วยความไม่เต็มในเพราะกลัวถูกนำกลับไปคุมขังที่ค่ายทหาร
ฐนกรเล่าวว่า ขณะเกิดเหตุมีข่าวการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการต่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ทหารเป็นผู้จัดสร้าง สาเหตุที่พยานโพสเพื่อให้มีการตรวจสอบว่า โครงการดำเนินการโดยถูกต้องหรือไม่ ไม่มีเจตนาให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องหรือทำผิดกฎหมาย
ขณะอยู่ที่ มทบ.11 มีคนนำภาพเพจ “ยืนหยัดปรัชญา” มาให้ดู พยานก็ยืนยันว่ากดไลค์เพจนี้ เพื่อติดตามข่าวสารในเพจ แต่ไม่ได้ถูกใจภาพปก พยานกดไลค์เพจเดือนกันยายนปี 2558 ขณะนั้นภาพปกไม่ใช่ภาพที่ทหารนำมาให้ดู ภาพปกถูกโพสเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ส่วนรูปประจำตัวของเพจเปลี่ยนเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เหตุที่ติดตามเพจนี้ไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ส่วนภาพสุนัข พยานเป็นคนโพสเองแต่แคปภาพมาจากทวิตเตอร์และนำมาโพสบนเฟซบุ๊กพร้อมพิมพ์ข้อความประกอบว่า “อ่านคอมเม้นต์แล้วซาบซึ้งจัง” พยานเลือกคอมเม้นต์ที่สุภาพที่สุดมาใส่ ความจริงมีคอมเม้นต์อื่นที่หยาบคาย พยานไม่ได้นำมาใส่ด้วย พยานไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน ในขณะที่โพสรู้สึกซาบซึ้งจริงๆ
พยานเป็นผู้จงรักภักดีและอุปสมบทหลังออกจากเรือนจำในปี 2559 หลังรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตจึงตั้งใจบวชอุทิศให้จนถึงปัจจุบัน
ฐนกรตอบคำถามค้านว่า ในปี 2558 พยานใช้งานทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จำไม่ได้ว่าเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อใด พยานไม่ได้สังเกตว่าในแผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ มีภาพพระมหากษัตริย์ รูปพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร แต่สนใจในเนื้อหาจึงนำมาโพสต่อ ขณะเกิดเหตุพยานติดตามข่าวเนื่องจากเป็นประชาชนจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดว่า เรื่องใดทุจริตจริงหรือไม่
พยานไม่ทราบว่า การกดไลค์เพจแล้วจะทำให้เพื่อนบนเฟซบุ๊กเห็นเนื้อหานั้นๆ แต่กดไลค์เพื่อติดตามข่าวสารเท่านั้น ตามบันทึกคำให้การชั้นตำรวจแม้จะมีถ้อยคำว่า ให้การโดยสมัครใจ แต่พยานยืนยันว่า ให้การไปด้วยความกลัว
สืบพยานจำเลยปากที่สอง ดร.อิสระ ชูศรี พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์
ดร.อิสระ เบิกความว่า จบการศึกษาปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมาแล้ว 9 ปี ข้อความในโพสที่มีภาพคุณทองแดง เป็นประโยคบอกเล่าธรรมดา คอมเม้นต์แรกใต้ภาพเป็นการประชดด้วยความอิจฉาว่า คนมีสถานะเทียบสุนัขไม่ได้ ส่วนคอมเม้นต์ที่สองไม่ได้ประชด แต่เปรียบเทียบว่า คนสู้สุนัขไม่ได้ ส่วนข้อความที่บอกว่า “อ่านคอมเม้นต์แล้วซาบซึ้งจัง” มีความกำกวม อาจตีความได้ทั้งเห็นด้วยกับคอมเม้นต์ หรือประชดคนที่มาคอมเม้นต์ก็ได้ แต่ข้อความทั้งหมดไม่ได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 แต่อย่างใด จึงไม่ทำให้ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง
สืบพยานจำเลยปากที่สาม ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจาก iLaw
ยิ่งชีพ เบิกความว่า จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ทำงานตั้งแต่ปี 2552 หลังการรัฐประหาร 2557 ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทหารมีอำนาจจับกุมประชาชน กฎหมายถูกใช้และตีความอย่างกว้างเพื่อจับกุมบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คดีในหมวดความมั่นคงและคดีฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ คสช. ต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหาร แต่สุดท้ายไม่ค่อยมีคำพิพากษาลงโทษ แม้แต่ศาลทหารเองก็พิพากษายกฟ้อง
ยิ่งชีพเบิกความว่า ทหารมีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่จะควบคุมตัวประชาชนได้ 7 วัน และทหารเป็นคนซักถาม สอบสวน ร่วมกับตำรวจในการทำสำนวน ทหารมักอ้างว่า เวลา 7 วันแรก ผู้ถูกควบคุมตัวยังไม่มีสถานะเป็นผู้ต้องหาจึงไม่ได้รับการแจ้งสิทธิ หรือแจ้งข้อกล่าวหา หรือได้รับสิทธิพบบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ
ยิ่งชีพ เคยเป็นพยานในคดีมาตรา 112 ของสราวุทธิ์ ที่ศาลจังหวัดเชียงราย คนแจ้งความเป็นทหาร เดิมพิจารณาคดีในศาลทหารก่อนโอนย้ายคดีไปที่ศาลจังหวัดเชียงรายคล้ายกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
คดีตามมาตรา 116 ที่พยานติดตามส่วนใหญ่ยกฟ้อง เช่น คดีของธเนตร ถูกฟ้องข้อหามาตรา 116 ในศาลทหารก่อนโอนมาศาลอาญา และมีคำพิพากษายกฟ้อง
ยิ่งชีพเบิกความว่า ใช้เฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2552 เป็นผู้ดูแลเพจ 8 เพจ การกดไลค์มีความหมายที่เป็นไปได้หลายประการ เช่น การติดตามข้อมูลข่าวสาร การสนับสนุนเพจดังกล่าว หรือเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อหวังผลรางวัลหรือส่วนลด เมื่อปี 2558 ยังไม่มีปุ่มให้กดติดตามแยกออกมาโดยเฉพาะ เฟซบุ๊กเพิ่งเปลี่ยนให้มีปุ่มติดตามได้ประมาณสองปี
ไม่เคยรู้จักเพจ “ยืนหยัดปรัชญา” มาก่อน ส่วนข้อความประกอบภาพคุณทองแดง เป็นข้อความที่ผู้โพสใช้ชื่อว่า ฐนกร ส่วนคอมเม้นต์อื่นๆ เป็นภาพที่ถูกถ่ายภาพมา เมื่ออ่านข้อความแล้วตีความได้สองทาง คือ ซาบซึ้งจริงๆ หรือการเสียดสีข้อความในคอมเม้นต์ แต่ไม่ได้ดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
โครงการอุทยานราชภักดิ์สร้างโดยกองทัพบก ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีข้อสงสัยเรื่องทุจริตในการใช้งบประมาณก่อสร้างในปี 2558 เมื่อดูภาพผังแล้วไม่ได้ทำให้คนกระด้างกระเดื่องหรือทำผิดกฎหมาย ถ้าส่วนใดไม่จริงก็เป็นความเสียหายต่อบุคคลในภาพซึ่งต้องมาดำเนินคดีด้วยตัวเอง
ยิ่งชีพ ตอบคำถามค้านของอัยการว่า ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก ไม่ได้ศึกษาเฉพาะทางด้านอินเทอร์เน็ต เป็นเพียงประชาชนที่สนใจและใช้งานมานาน เพจเฟซบุ๊กใครจะตั้งขึ้นก็ได้และใครจะเป็นแอดมินก็ได้
ยิ่งชีพ ตอบคำถามติงจากทนายความว่า เคยทำงานวิจัยเรื่องการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างปี 2554-2556 และเป็นวิทยากรสอนเรื่องดังกล่าวในมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง ส่วนเพจ iLaw ก็เป็นผู้ดูแลที่มีผู้ติดตามประมาณ 350,000 คน
การสืบพยานทั้งสามปากใช้เวลาไม่นาน และเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 11.30 ก่อนที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการจะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 มกราคม 2564 โดยศาลอธิบายด้วยว่า ต้องนัดเป็นเวลานานเนื่องจากคดีนี้ต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจก่อนด้วย
13 มกราคม 2564
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดอ่านคำพิพากษา จำเลยซึ่งบวชเป็นพระมากว่า 4 พรรษาแล้ว เดินทางมาจากวัดในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อมาถึงศาลได้ให้จัดการเรื่องเอกสารกับนายประกันก่อน เพราะคดีนี้รับโอนมาจากศาลทหารกรุงเทพ และตั้งแต่โอนคดีมายังศาลปกติยังไม่ได้จัดการเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย จึงใช้เวลาสักพักหนึ่ง ก่อนศาลจะเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.50 น.
ศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา สรุปได้ว่า จำเลยกดไลค์เพจเพื่อติดตามเนื้อหา ไม่ใช่ไลค์ภาพปก แม้จะทำให้เพื่อนเห็นได้แต่ไม่ใช่ผลโดยตรตง คอมเม้นต์ต่อสุนัขไม่ใช่ข้อความดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาชื่นชมหรือประชด เรื่องอุทยานราชภักดิ์จำเลยใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีหลักฐานว่าเป็นการปลุกระดม ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง