- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีหมิ่นประมาท, ฐานข้อมูลคดี
สุรพันธุ์: คดีหมิ่นประมาท+พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ศาลแม่สอด
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
สุรพันธุ์ หรือ ‘พ่อไม้’ เลขาธิการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยมานานหลายปี ถูกฟ้องโดยโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หลังเฟซบุ๊กเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ โพสต์ข้อความว่า บริษัทฯ ได้ประทานบัตร 6 แปลงเพื่อการทำเหมืองแร่โดยมิชอบ บริษัทฯ เห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจทำให้ลูกค้าไม่แน่ใจในกิจกรรมและสินค้าของบริษัท ทั้งทำให้ประชาชนอาจเข้าใจไปว่าบริษัทขาดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและดำเนินกิจการผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ สุรพันธุ์ถูกฟ้องโดยบริษัทฯ มาแล้วกว่า 5 คดี และคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดแม่สอด
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
สุรพันธุ์ หรือ ‘พ่อไม้’ เลขาธิการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยมานานหลายปี ถูกฟ้องโดยโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จากเหตุที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ มีการโพสต์ข้อความซึ่งมีใจความว่า บริษัทฯ ได้ประทานบัตร 6 แปลงเพื่อการทำเหมืองแร่โดยมิชอบ บริษัทฯ เห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจทำให้ลูกค้าไม่แน่ใจในกิจกรรมและสินค้าของบริษัท ทั้งทำให้ประชาชนอาจเข้าใจไปว่าบริษัทขาดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและดำเนินกิจการผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ สุรพันธุ์ถูกฟ้องโดยบริษัทฯ มาแล้วกว่า 5 คดี และในคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดแม่สอด
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
18 ธันวาคม 2557 สุรพันธุ์ถูกกล่าวหาว่า โพสต์หนังสือร้องเรียนของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อให้ตรวจสอบสินแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘เหมืองแร่เมืองเลย’ หมิ่นประมาทบริษัททุ่งคำ มีใจความว่า บริษัทได้ประทานบัตร 6 แปลงเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและแร่พลอย บนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนโดยมิชอบ ทำให้ให้สินแร่ที่ได้จากการทำเหมืองแร่นั้นมิชอบด้วย ทำให้ลูกค้าของบริษัทไม่แน่ใจทั้งในกิจการและสินค้าของบริษัท และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจ ว่าบริษัทขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและดำเนินกิจการอย่างผิดกฎหมาย
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
ปี 2538
บริษัททุ่งคำได้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ มีการระเบิดภูเขาเพื่อขุดแร่ในแปลงประทานบัตรไปแล้ว 6 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 1,300 ไร่ รวมถึงโรงแต่งแร่และโรงประกอบโลหกรรมซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 และยังมีที่อีก 106 แปลง รวมพื้นที่นับหมื่นไร่ในจังหวัดเลย ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่ทองคำแล้ว และมีการทยอยยื่นขอประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่บริษัททุ่งคำเริ่มดำเนินกิจการในพื้นที่ตำบลวังสะพุง มีรายงานว่าสารเคมีที่เป็นพิษ ไซยาไนด์ และโลหะหนักหลายชนิด ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมือง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนรอบเหมืองมาโดยตลอด
8 กุมภาพันธ์ 2554
คณะรัฐมนตรีมีมติ “ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA” แต่มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติแต่อย่างใด
ตุลาคม ปี 2555
คันเขื่อนของบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจำนวนมากและเป็นส่วนหนึ่งของโรงประกอบโลหกรรมได้พังทลายลง ซึ่งหากมีการขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่หมายความว่าจะมีการนำแร่จำนวนมากขึ้นเข้าไปยังโรงประกอบโลหกรรมและมีน้ำเสียปนเปื้อนจำนวนมากขึ้นในบ่อที่มีปัญหาดังกล่าว
23 ธันวาคม 2555 และ 8 กันยายน 2556
บริษัททุ่งคำได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือเวที Public Scoping แต่มีการใช้กองกำลังทหารและตำรวจปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวทีดังกล่าว
ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองจึง ออกประกาศระเบียบชุมชน ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่ใช้ถนนของชุมชนไม่ให้เกิน 15 ตัน และห้ามนำสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากผลกระทบจากกิจการของเหมือง และนำไปสู่การก่อสร้างกำแพงขึ้นครอบถนนสายบ้านนาหนองบงเพื่อขวางรถบรรทุกที่จะผ่านหมู่บ้านเพื่อไปยังเหมืองแร่ทองคำ หรือที่เรียกว่า “กำแพงใจ”
15 พฤษภาคม 2557
เวลากลางดึก ชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้าประมาณ 300 คน เข้าไปยังพื้นที่บ้านนาหนองบง จ.เลย ปิดล้อมจุดตรวจของชาวบ้าน และจับชาวบ้านเป็นตัวประกันระหว่างทำลายแนวกั้นและขนแร่ออกจากเหมืองโดยใช้ทางสาธารณะของชุมชน จากเหตุตะลุมบอนที่เกิดขึ้นมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีองค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อหาข้อเท็จจริงจำนวนมาก
27 ตุลาคม 2557
สุรพันธุ์ทำหนังสือร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยให้ตรวจสอบบริษัททุ่งคำ โดยลงนามในฐานะเลขาธิการกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด
18 ธันวาคม 2557
เฟซบุ๊ก ‘เหมืองแร่เลย’ โพสต์ข้อความว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ประทานบัตรทั้ง 6 แปลง เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและแร่พลอยได้อื่นบนเขตเหมืองแร่ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนจนนำมาซึ่งการได้สินแร่มีกระบวนการประทานบัตรที่มิชอบ
26 ธันวาคม 2557
ตัวแทนบริษัททุ่งคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่สอด
10 มิถุนายน 2558
บริษัท ทุ่งคำ ยื่นฟ้องสุรพันธุ์ในข้อหาหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด
10 สิงหาคม 2558
ศาลจังหวัดแม่สอดนัดไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์ สมชายไกรสุทธิวงศ์ และจิตภู นุ่มน้อย เข้าเบิกความ และส่งเอกสารประกอบการไต่สวนจำนวน 16 ฉบับ
20 สิงหาคม 2558
ศาลจังหวัดแม่สอดพิจารณารับฟ้อง ด้วยเห็นว่าคดีของโจทก์มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ม.14(1)
25 พฤศจิกายน 2558
ศาลจังหวัดแม่สอด นัดตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันสืบพยาน จากเดิมกำหนดเป็นวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ซี่งในวันดังกล่าวมีการสืบพยานในคดีอื่นที่ศาลจังหวัดเลย
เวลาประมาณ 10.30 น.ศาลขึ้นบังลังก์และอ่านคำฟ้องให้คู่ความฟัง จากนั้นศาลถามสุรพันธุ์ว่าจะให้การอย่างไร สุรพันธุ์ให้การ “ปฏิเสธ” โดยจำเลยจะต่อสู้ใน 3 ประเด็น คือ 1.ไม่ได้โพสต์ข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง 2.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่สามารถนำมาใช้ในการฟ้องคดีลักษณะนี้ และ 3.ความเสียหายที่โจทก์อ้างว่าตนได้รับนั้น ไม่มีอยู่จริง
ศาลนัดสืบพยานวันที่ 10-11 มีนาคม 2559 ที่ศาลจังหวัดแม่สอด โดยจะสืบพยานโจทก์ 2 ปาก คือ สมชาย ไกรสุทธิวงศ์ เกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทย์ และจิตภู นุ่มน้อย พนักงานของโจทก์ที่พบข้อความ ด้านพยานของสุรพันธุ์มี 5 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลยเอง, พรทิพย์ซึงเป็นชาวบ้านในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด, สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักวิชาการด้านการใช้กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้คอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ทนายของสุรพันธุ์ได้ขอให้ศาลส่งประเด็นไปสืบพยานที่ภูมิลำเนาของตัวพยาน เพราะพยานไม่สะดวกเดินทางมาให้การที่ศาลจังหวัดแม่สอด อีกทั้งสุรพันธุ์เป็นเพียงเกษตรกรแต่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของพยานทั้งหมด แต่ศาลเห็นว่าเป็นหน้าที่ของสุรพันธุ์และพยานที่จะต้องมาให้การตามที่ศาลนัดหมายอยู่แล้ว ส่วนการออกค่าใช้จ่ายให้นั้น ศาลจะจ่ายให้เฉพาะกรณีสำคัญเท่านั้น หากพยานไม่สะดวกเดินทางมาที่ศาลจังหวัดแม่สอด ศาลอาจจะใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์แทน
สำหรับบรรยากาศการนัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ มีตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ เข้าร่วมสังเกตการณ์ มีประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลยจำนวน 7 คนมาให้กำลังใจสุรพันธุ์ ขณะเดียวกันชาวบ้านกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นประมาณ 10 คน ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการใช้มาตรา 44 เวนคืนที่ดินก็เดินทางมาให้กำลังใจและมอบพวงมาลัยให้สุรพันธุ์ด้วยเช่นกัน
9 มีนาคม 2559
สุรพันธ์และภัทราภรณ์รับทราบคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการจังหวัดแม่สอด
ก่อนหน้านี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เนินการทางคดีจากการโพสต์ข้อความเดียวกันนี้ 2 ทาง คือการฟ้องศาลจังหวัดแม่สอด และแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรแม่สอด โดยกรณีที่แจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรแม่สอดนั้น บริษัทฯ ฟ้อง สุรพันธุ์กับภัทราภรณ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาโดยประการทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องลงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 และวันนี้สุรพันธุ์กับสุภาภรณ์ได้เดินทางมาเซ็นรับทราบคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ที่สถานีตำรวจภูธรแม่สอด
ในคำสั่งดังกล่าว มีคำวินิจฉัยว่า หนังสือร้องเรียนของสุรพันธ์โดยมีภัทราภรณ์เป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย มีข้อความประมาณว่าบริษัทฯ ได้ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและแร่พลอยมาโดยมิชอบ ให้ตรวจสอบคณะทำงานสำรวจและกำหนดสินแร่ว่า มีส่วนพัวพันมัวหมองต่อสินแร่ที่ได้มาโดยมิชอบหรือไม่ เป็นหนังสือแสดงความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ตามวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้งานและ IP Address ได้ ประกอบกับผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง
10 มีนาคม 2559
นัดสืบพยาน แต่โจทก์ขอถอนฟ้อง
ที่ศาลจังหวัดแม่สอด วันนี้ศาลนัดสืบพยาน ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.40 น. ก่อนการสืบพยาน ศาลถามทนายโจทก์และจำเลยว่าต้องการไกล่เกลี่ยกันหรือไม่ เพราะการสู้คดีนี้ไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใด และศาลอยากให้แยกคดีนี้ออกจากเรื่องอื่นๆ ที่โจทก์กับจำเลยมีคดีความกัน เพื่อไม่ให้ความบาดหมางเพิ่มขึ้น
หลังการไกล่เกลี่ย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์แถลงว่า ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีนี้กับจำเลยอีก โดยประสงค์จะให้จำเลยลงข้อความในโซเชียลมีเดียระบุว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ลงภาพเอกสารที่ปรากฏข้อความตามฟ้องในคดีนี้ แต่หากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ โจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวเอง จึงขอถอนฟ้องคดีนี้ ขอให้ศาลโปรดอนุญาต
ด้านจำเลยและทนายจำเลยแถลงว่า ไม่คัดค้านที่โจทก์ขอถอนฟ้อง และไม่ประสงค์จะโพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียตามที่โจทก์แถลง แต่หากโจทก์ประสงค์จะเผยแพร่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงการดำเนินคดีนี้ก็สามารถดำเนินการได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลย ประกอบกับจำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้านการถอนฟ้อง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบความ
ทั้งนี้ ในวันนี้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยได้เตรียมพยานมาสืบพยานหลายปาก เช่น พรทิพย์ ซึงเป็นชาวบ้านในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ส่วนบรรยากาศภายในศาล มีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินทางจากจังหวัดเลย มาให้กำลังใจสุรพันธุ์ 8 คน รวมถึงภรรยาและลูกสาวของสุรพันธุ์ด้วย