- คดีสำคัญ
- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีมาตรา112, คดีมาตรา116, ฐานข้อมูลคดี
ชญาภา: โพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือปฏิวัติซ้อน
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
ชญาภา อายุ 48 ปี เป็นพนักงานบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า จะมีการปฏิวัติซ้อนและเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตำรวจและทหารบุกเข้าจับกุมที่บ้านเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ระหว่างการพิจารณาคดีชญาภาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
อัยการฟ้องชญาภา เป็นความผิด 5 กรรม ต่อมาศาลทหารพิพากษาให้จำคุก 14 ปี 60 เดือน ลดเหลือ 7 ปี 30 เดือน ชญาภาถูกพาตัวไปที่ศาลและให้การรับสารภาพโดยไม่แจ้งกำหนดนัดล่วงหน้าและไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ชญาภา อายุ 48 ปี อาชีพเป็นพนักงานบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่งงานมีบุตรชาย 1 คน อายุ 25 ปี สามีปัจจุบันแยกกันอยู่ เป็นโรคความดันโลหิตสูง, ข้อเข่าเสื่อม, และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
– “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาลคสช.
– ทำความเข้าใจ "โทษ 7 ปี 30 เดือน" ของชญาภา
แหล่งอ้างอิง
นัดสอบคำให้การ
เฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า ในชั้นสอบคำให้การวันนี้(15 ธันวาคม 2558) ชญาภาถูกพาตัวมาที่ศาล โดยไม่มีทนายความหรือญาติมาด้วย และชญาภาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุก 14 ปี 60 เดือน รับสารภาพ ลดโทษจำคุก เหลือ 7 ปี 30 เดือน
ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณา ที่มีองค์คณะตุลาการ คือ น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ โดยอ้างว่า กระบวนพิจารณาของศาลวันนี้ต้องมีทนายความร่วมด้วย
และที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีทนายความไม่ชอบด้วยมาตรา 173 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุว่า คดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้
นอกจากนี้ ชญาภายังไม่ได้รับหมายนัดและไม่ได้รับแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพิ่งแจ้งให้ทราบว่าจะต้องเดินทางมาศาลในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 โดยชญาภาถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ จึงไม่สามารถแจ้งญาติหรือทนายความได้ทัน
ขณะเดียวกัน ทนายความยังไม่ได้รับหมายนัด หรือได้รับแจ้งนัดสอบคำให้การจากศาลทหารกรุงเทพ ทั้งที่วันที่ 14 ธันวาคม 2558 ทนายความเดินทางมาศาลทหารกรุงเทพ เพื่อคัดค้านคำร้องขอฝากขังในคดีหมายเลขดำที่ ฝพ.38/2558 และขอรับหมายนัดสอบคำให้การจำเลยในคดีนี้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบแล้ว แจ้งทนายความว่าคดีของชญาภายังไม่กำหนดวันนัด หากมีจะโทรแจ้งทนายความให้ทราบล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทนายความยังไม่ได้รับแจ้งนัดจากศาลแต่อย่างใด แต่กลับทราบจากจำเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อนุญาตให้โทรศัพท์แจ้งทนายความว่าต้องการความช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว
ซึ่งโดยหลักการแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปฏิบัติต่อจำเลยจึงต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน จำเลยมีสิทธิที่จะมีทนายความ มีสิทธิที่จะปรึกษาทนายความ และมีสิทธิที่จะพบญาติ อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง ซึ่งรัฐไทยได้ให้การรับรอง รวมถึงระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
คำพิพากษา
15 ธันวาคม 2558
คำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด 5 กรรม
สองกรรม เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1), (2) และ (5) ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 112 ในฐานะบทกฎหมายที่หนักที่สุด กรรมละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือ จำคุกกรรมละ 2 ปี 6 เดือน รวม 4 ปี 12 เดือน
สามกรรม เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1), (2) และ (5) ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 116 ในฐานะบทกฎหมายที่หนักที่สุด กรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือ จำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 ปี 18 เดือน
รวมแล้วให้จำคุกจำเลย 7 ปี 30 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง