18 พฤษภาคม 2558
เฟซบุ๊กเพจ
ศุกร์22 มาฉลองกันมะ? โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ยืนดูนาฬิกาเพื่อทบทวนและแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ตลอดหนึ่งปีหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ภาพเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 บนเฟซบุ๊กเพจ ศุกร์22 มาฉลองกันมะ?
22 พฤษภาคม 2558
ประมาณ 18.00 น.กลุ่มนักกิจกรรมนัดกันไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เนื่องในครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร ด้วยการ “ดูนาฬิกา” ที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ
นักกิจกรรมขณะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ดูนาฬิกาที่หอศิลป์กรุงเทพ
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรึงกำลังรอบพื้นที่จัดงานตั้งแต่ก่อนเวลานัด เมื่อผู้ร่วมกิจกรรมเริ่มแสดงตัว เจ้าหน้าที่ก็เข้าเจรจาให้สลายตัว เมื่อผู้ร่วมกิจกรรมปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ก็เริ่มทยอยจับกุมโดยใช้วิธีจัดขบวนออกมาจากแนวรั้วเหล็ก ยื้อยุดฉุดกระชากกับนักกิจกรรม และอาศัยจังหวะชุลมุน ควบคุมตัวนักกิจกรรม เข้าไปในหอศิลป์กรุงเทพฯ คราวละ 3-4 คน บางคนที่ขัดขืนจะถูกหิ้วปีกหรือถูกฉุดกระชาก
บางช่วงจังหวะเจ้าหน้าที่ก็ส่งตัวแทนออกมาเจรจา เมื่อการเจรจาไม่มีข้อยุติก็มีการจับกุมต่อโดยใช้วิธีการเดิม เวลาประมาณ 19.00 น. นักกิจกรรมอย่างน้อย 38 คน ถูกควบคุมตัวในหอศิลป์กรุงเทพฯ ผู้มาร่วมกิจกรรมบางส่วนที่ไม่ถูกจับ ตัดสินใจตามผู้ถูกจับกุมไปที่หน้าสน.ปทุมวัน กิจกรรมหน้าหอศิลป์ยุติลงในเวลาประมาณ 19.30 น.
ที่สน.ปทุมวัน นายทหารพระธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และอาจารย์ธีระ สุธีวรางกูล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวจากการร่วมกิจกรรม เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับนักกิจกรรมประมาณ 8-9 คน ส่วนที่เหลือจะปล่อยไป แต่กลุ่นนักกิจกรรมไม่ยอม เพราะเห็นว่ามาด้วยกันก็ต้องกลับด้วยกัน ขณะเดียวกัน ที่หน้าสน. มีกลุ่มเพื่อน และประชาชนประมาณกว่า 100 คน มารวมตัวกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
เวลาประมาณ 02.00 น. อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูล แจ้งกับกลุ่มคนที่มาให้กำลังใจว่า เจ้าหน้าที่ยินยอมที่จะไม่ตั้งข้อหากับกลุ่มนักกิจกรรมในวันนี้ จะสอบประวัติและปล่อยตัวทุกคน หากใครที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมายก็จะเรียกตัวมาดำเนินคดีภายหลัง การสอบปากคำดำเนินไปจนถึงประมาณ 6.00 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 นักกิจกรรมทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว
ทั้งนี้ระหว่างที่การทำกิจกรรมและการจับกุมดำเนินไป มีข่าวแพร่สะพัดบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีนักศึกษาที่ถูกจับกุมถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ
จากการตรวจสอบพบว่า ทรงธรรม สมาชิกกลุ่ม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย หรือ ศนปท ได้รับบาดเจ็บในระหว่างถูกจับกุมตัว เขานอนบาดเจ็บอยู่ในหอศิลป์ฯ เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ก่อนจะมีรถพยาบาลพาตัวไปที่โรงพยาบาลหัวเฉียว
อาการเบื้องต้นพบว่ามีบาดแผลที่ดวงตา รอยจ้ำแดงที่คอ หน้าอก และแขนทั้งสองข้าง เขาเจ็บหน้าอกจนไม่สามารถลุกขึ้นเองได้ หายใจไม่ค่อยออก และตาบวมช้ำ ทำให้ลืมตาลำบาก แพทย์ตรวจเบื้องต้นแล้วอาการปลอดภัย แต่ให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลหัวเฉียวเพื่อดูอาการก่อน
นอกจากนี้ ขณะที่นักกิจกรรมทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่สน.ปทุมวัน ก็มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 2 คน ที่มีอาการป่วย
นัชชชา กองอุดม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับบาดเจ็บจากการฉุดกระชาก ขณะถูกจับกุม ที่สน.เธอมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอยู่หลายครั้ง จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แพทย์ตรวจอาการแล้วอนุญาตให้กลับได้ นัชชชาจึงถูกนำกลับมาควบคุมต่อที่สน.ปทุมวัน
เวลาประมาณ 1.00 น. ชลธิชา นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีอาการเวียนศีรษะ และเป็นลม สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเธออาจถูกกระแทกระหว่างถูกจับกุม นอกจากนี้เธอก็มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ในการเรียกรถพยาบาลจากศูนย์เอราวัณใหม้มารับตัว ชลธิชาถูกส่งไปที่โรงพยาบาลหัวเฉียว เมื่อแพทย์ฉีดยาให้แล้วก็ถูกส่งกลับมาที่สน.ปทุมวัน
8 มิถุนายน 2558
เจ้าหน้าที่ตำรวจนัดให้นักกิจกรรม 9 คน ได้แก่นักกิจกรรมในคดีนี้ 7 คน และ
ธัชพงศ์ กับ นัชชชา ซึ่งภายหลังถูกแยกดำเนินคดี ไปรายงานตัว เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่ทั้งหมดประกาศต่อสาธารณะว่าจะไปในวันที่ 24 มิถุนายน 2558
22 มิถุนายน 2558
ประชาไท รายงานว่า ธัชพงศ์ หนึ่งใน 9 นักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียก พร้อมด้วย พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ เดินทางเข้ามอบตัวกับ พ.ต.ท.สุริยเมศศ์ ภักดีวิวัตร พงส.ผนพ.สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาสอบสวนนานกว่า 3 ชั่วโมง
พวงทิพย์ เปิดเผยว่า ธัชพงศ์เดินทางมามอบตัวในวันนี้ เพื่อที่จะต่อสู้คดีตามกฎหมาย มีการเตรียมเงินสดมาประกันตัวประมาณ 2-5 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลทหารว่าจะเรียกเงินประกันเท่าไหร่
พวงทิพย์กล่าวต่อไปว่า แม้ธัชพงศ์จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่ก็ต้องการแสดงให้ศาลเห็นว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และมาตามหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
หลังการสอบสวน เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา "มั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป" กับ ธัชพงษ์ จากนั้นจึงสรุปสำนวนส่งให้ศาลทหารดำเนินการต่อในเวลา 13.30 น.
เวลา 16.30 น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยประกันตัวธชพงศ์ ด้วยเงินสด 10,000 บาท พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมืองและห้ามแสดงความเห็นทางการเมือง ธัชพงศ์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงค่ำวันเดียวกัน
24 มิถุนายน 2558
ถึงกำหนดวันที่นักกิจกรรมทั้ง 8 ประกาศจะเดินทางมาแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการจับกุมฐานทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่สน.ปทุมวัน ประมาณ 100 นาย ซ้อมกำลังพลที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯในเวลาประมาณ 9.30 น. เพื่อเตรียมรับสถานการณ์
ขณะที่บริเวณหน้าสน.ปทุมวัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเข้าตรึงกำลังพร้อมกั้นแผงเหล็กที่หน้าสน. นอกจากเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบแล้วก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ทั้งทหารและตำรวจ อยู่ที่หน้าสน.ด้วย
การรักษาความปลอดภัยที่หน้าสน.เป็นไปอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้มาติดต่อราชการรวมทั้งผู้สื่อข่าวเข้าไปในบริเวณที่มีการกั้นรั้ว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีการติดต่อเข้ามาว่านักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน 7 คน ที่ถูกจับจากการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จะเดินทางมาที่ สน.ปทุมวัน เพื่อให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรม
เวลาประมาณ 12.50 น. กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความนักกิจกรรมทั้ง 7 แถลงข่าวว่า
“นักศึกษาไม่ได้จะหลบหนีแต่ถูกจับและถูกปล่อยตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2558 แล้ว ซึ่งถ้านักศึกษาจะหลบหนีก็หนีไปแล้ว แต่นักศึกษาก็กำลังมา สน. ส่วนจะมอบตัวหรือจะแจ้งความกลับเป็นสิทธิของนักศึกษา”
13.00 น. นักศึกษากลุ่มดาวดินและนักกิจกรรม 7 คนที่ถูกออกหมายเรียก ไม่รวมนัชชชา ที่ถูกจับกุมตัวในช่วงเช้าวันเดียวกัน และธัชพงศ์ ที่เข้าพบพนักงานสอบสวนไปก่อนแล้ว เดินทางมาที่สน.ปทุมวัน โดยมีมวลชนมารวมตัวให้กำลังใจเป็นจำนวนมากกลุ่มนักกิจกรรมชี้แจงว่า “วันนี้ไม่ได้มารายงานตัว แต่จะมาแจ้งความว่าถูกทำร้ายร่างกาย” หลังจากนั้น จึงมอบหมายให้ทนายความ เป็นตัวแทนเข้าแจ้งความในสน.
พ.ต.ท. รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ แจ้งว่า ไม่สามารถให้ทนายความเข้าไปแจ้งความแทนได้ เนื่องจากจากเจ้าทุกข์มาถึงสน.ต้องให้เจ้าทุกข์เข้าไปแจ้งความเองโดยเข้าไปทีละคน
นักกิจกรรมปฏิเสธข้อเสนอและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งโต๊ะรับแจ้งความที่หน้าตลาดสามย่าน ซึ่งเป็นจุดที่นักกิจกรรมและมวลชนที่มาให้กำลังใจ รวมตัวกัน ภายในเวลา 15.15 น. มิฉะนั้น นักกิจกรรมและผู้ที่มาให้กำลังใจจะเข้าไปใน สน.
เวลาประมาณ 15.30 น. พ.อ. บุรินทร์ ทองปะไพ เดินทางมาที่ สน.ปทุมวัน พร้อมนำหมายจับของนักศึกษาดาวดินมาด้วย
16.00 น. นักกิจกรรมและผู้มาให้กำลังใจจัดขบวนเพื่อเดินเข้าไปใน สน. แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ ทั้งหมดจึงนั่งรอที่บริเวณหน้า สน.
เกศรินทร์ เตียวสกุล เจ้าหน้าที่ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนนักวิชาการ เช่น พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตัวแทนนักกิจกรรม เช่น รังสิมันต์ โรม เข้าเจรจากับพ.อ. บุรินทร์
18.00 น. การเจรจามีข้อสรุปว่า นักกิจกรรมที่ประสงค์จะแจ้งความ สามารถเข้าไปแจ้งความได้ โดยจะไม่มีการจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา แต่เมื่อแจ้งความแล้วให้แยกย้ายกันทันที ในเวลา
18.50 น. นักกิจกรรมที่อยู่ในกิจกรรมหน้าหอศิลป์แต่ไม่มีชื่อในหมายจับ 5 คน พร้อมทนายความเข้าไปแจ้งความในสน.ปทุมวัน ขณะเดียวกัน จตุภัทร บุญภัทรรักษา หนึ่งในนักศึกษากลุ่มดาวดิน ก็ประกาศว่า “ยินยอมให้จับกุมถ้าเจ้าหน้าที่ยืนยันจะใช้อำนาจเผด็จการ แต่ถ้าไม่จับเรากลับ’เลย”
ในเหตุการณ์ครั้งนี้ นักศึกษากลุ่มดาวดินและนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมที่หน้าหอศิลป์ ได้เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่"
เวลา 20.30 น. นักศึกษากลุ่มดาวดินพยายามจะเข้าไปใน สน. ปทุมวันเพื่อตรวจสอบหมายจับ พร้อมบอกเจ้าหน้าที่ว่า หากไม่ให้เข้าไปในสน.ก็ขอให้นำหมายจับมาแสดงและขอคำตอบภายใน 21.00 น.
นักศึกษากลุ่มดาวดินยังบอกด้วยว่า หากเจ้าหน้าที่ไม่จับกุมพวกตนที่หน้าสน.ปทุมวัน ก็เรียกร้องหลักประกันความปลอดภัย พร้อมทั้งพยายามเจรจาให้พ.อ. บุรินทร์ออกมาพูดคุย แต่เจรจาไม่สำเร็จ
21.30 น. นักกิจกรรมที่เข้าไปแจ้งความทั้ง 5 คนพร้อมทนายความเดินออกมาบอกกับกลุ่มนักกิจกรรมและผู้มาให้กำลังใจที่หน้าสน.ว่า ได้แจ้งความเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 21.50 ผู้ที่มาชุมนุมที่หน้า สน. ก็สลายตัวกันจนหมด
หลังการชุมนุมยุติลง มีรายงานว่า นักศึกษาดาวดิน 7 คน ที่เดินทางด้วยรถแท็กซี่ของพันศักดิ์ ศรีเทพ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ จำนวนมาก
22.50 น. ชลธิดา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ส่วนตัวว่า “ระหว่างทางกลับจากสน.ปทุมวันมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไล่ตาม พร้อมแสดงหมายจับ เพื่อจะควบคุมตัวไป แต่ท้ายที่สุด หลังจากโทรประสานงานกัน เหมือนทางเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่จะให้ปล่อยตัวไปก่อน”
15 สิงหาคม 2558
ทรงธรรม หนึ่งใน 14 นักกิจกรรม ถูกจับกุมที่สนามบินดอนเมือง หลังเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพบว่า เขาถูกออกหมายจับในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558
ทั้งนี้การออกหมายจับ เกิดขึ้นหลังจากทรงธรรมและพวกที่เป็นนักกิจกรรมทำอารยขัดขืน ไม่เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายนัด
หลังถูกจับกุมทรงธรรมถูกควบคุมตัวไปที่สน.ปทุมวันซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ (หอศิลป์กรุงเทพฯ) เนื่องจากถูกจับกุมในช่วงกลางดึก ทรงธรรมจึงต้องนอนในห้องขังของสน. 1 คืน เพื่อรอพนักงานสอบสวนมาสอบปากคำในช่วงเช้าวันที่ 16 สิงหาคม
16 สิงหาคม 2558
ประมาณ 9.00 น. พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำทรงธรรม พร้อมแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับ 3/2558 ด้วยการร่วมชุมนุมทางการเมือง ทรงธรรมให้การปฏิเสธและขอไปให้การในชั้นศาล พนักงานสอบสวนนัดให้ทรงธรรมมาพบอีกครั้งในวันที่ 16 กันยายน 2558 เพื่อส่งตัวให้อัยการ ก่อนจะปล่อยตัวทรงธรรมโดยไม่ต้องวางหลักประกันในเวลาประมาณ 12.00 น.
11 มกราคม 2559
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การและฟังคำสั่งศาลเรื่องขออนุญาตออกนอกประเทศของพรชัย
ก่อนหน้านี้พรชัยเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศตั้งแต่ 11 กรกฎาคม 2558 และกลับมาเยี่ยมครอบครัวเมื่อ 8 ธันวาคม 2558 ต่อมาเขาได้รับจดหมายคำสั่งฟ้องให้ไปพบอัยการศาลทหาร จึงไปพบอัยการและทำเรื่องขอประกันตัวเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 20,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่า 1.ห้ามชุมนุมทางการเมือง 2.ห้ามยุยงปลุกปั่น และ 3.ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นเหตุให้เขาทำหนังสือขออนุญาตออกนอกประเทศมายื่นต่อศาลในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 และศาลมีนัดฟังคำสั่งในวันนี้
ประมาณ 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 1 นอกจากพรชัยเเล้ว มีภรรยาของพรชัย ผู้สังเกตการณ์คดี 1 คนและทนายความ ร่วมเข้าฟัง ศาลขึ้นบัลลังก์ อ่านฟ้องและถามคำให้การ พรชัยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นอัยการโจทก์แถลงขอสืบพยาน และขอรวมคดีกับคดีของ
นัชชชาและธัชพงษ์ เนื่องจากทั้งสาม กับพวกอีก 6 คนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำผิดตามข้อกล่าวหา และมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน โดยคดีของนัชชชาและธัชพงษ์อยู่ระหว่างรอวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลให้ได้ข้อยุติว่า คดีดังกล่าวจะพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพหรือศาลแขวงปทุมวัน
ทั้งนี้ พรชัยแถลงไม่คัดค้านเรื่องขอรวมคดี ศาลจึงให้อัยการโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลในคดีของนัชชชา-ธัชพงษ์ เพื่อขอให้สั่งรวมคดี และยังไม่นัดสืบพยานโจทก์ในชั้นนี้ ส่วนที่พรชัยยื่นหนังสือขออนุญาตออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ศาลอนุญาตเพราะเห็นว่ามีเหตุสมควร แต่พรชัยต้องเดินทางมาตามนัดพิจารณาคดีทุกครั้ง
27 เมษายน 2559
อภิสิทธิ์และปกรณ์ร่วมชุมนุมในกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อกดดันให้ทหารปล่อยตัวประชาชน 8 คนที่ถูกควบคุมตัวเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 เมษายน 2559 หลังจากทั้งสองคนทำกิจกรรมยืนเฉยๆ เมื่อเวลาประมาณ 18.10 น. ตำรวจได้นำตัวทั้งสองและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ไปที่ สน.พญาไท รวม 16 คน
จากนั้นเวลาประมาณ 22.30 น. ทั้งสองถูกถูกอายัดตัวไป สน.ปทุมวัน เพราะมีหมายจับในคดีชุมนุมครบรอบ 1 ปี ที่หอศิลป์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โดยมีสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่มีหมายจับในคดีเดียวกันจำนวน 3 คน ได้แก่ รังสิมันต์ รัฐพล และชลธิชา เข้าไปใน สน.ปทุมวันด้วย เพื่อฟังว่าตำรวจจะดำเนินการอย่างไร โดยทั้ง 5 คน ยืนยันว่าไม่ขอประกันตัวและยังไม่ให้การใดๆ หลังการพูดคุย ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาและปล่อยตัวทั้ง 5 คนโดยไม่ต้องประกันตัว พร้อมนัดเรียกตัวเข้าพบอัยการอีกครั้งวันที่ 11 พฤษภาคม 2559