- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีมาตรา112, ฐานข้อมูลคดี
เครือข่ายบรรพต
อัปเดตล่าสุด: 14/01/2560
ผู้ต้องหา
“เผ่าพันธุ์”
สถานะคดี
ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด
คดีเริ่มในปี
2558
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
ไม่มีข้อมูล
หัสดินถูกจับกุมจากการทำคลิปเสียงโดยใช้ชื่อ "บรรพต" วิจารณ์การเมืองโดยที่เนื้อหาบางส่วนเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากหัสดิน มีคนที่ถูกจับเพราะแชร์คลิปเสียงดังกล่าวบนเฟซบุ๊กและเว็บไซต์อื่นๆ อีก 9 คน และคนที่ถูกจับฐานสนับสนุนการทำและเผยแพร่คลิปอีก 2 คน คดีนี้มีจำเลยรวมทั้งสิ้น 12 คน
ศาลทหารกรุงเทพลงโทษจำคุกเผ่าพันธุ์, พนา, หัสดิน, กรณ์รัฏฐ์, ทิพย์รชยา, นงนุช, วิทยา และกรวรรณ เป็นเวลา 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี
ขณะที่สายชลและสายฝน ศาลลงโทษจำคุกในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เป็นเวลา 6 ปี จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
"เผ่าพันธุ์" จำเลยที่ 1 ขณะถูกจับอายุ 65 ปี ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ Banpodj Thailand Clips
"พนา" จำเลยที่ 2 ขณะถูกจับอายุ 46 ปี อาชีพขายสี
"ทวีสิน" จำเลยที่ 3 ขณะถูกจับอายุ 43 ปี อาชีพหมอดู จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
"ขวัญใจ" จำเลยที่ 4 ขณะถูกจับอายุ 41 ปี อาชีพแม่บ้าน
"สายชล" จำเลยที่ 5 ขณะถูกจับอายุ 48 ปี อาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ในซอยเดียวกับบ้านของหัสดิน ก่อนหน้านี้เคยทำงานประจำเป็นแมสเซ็นเจอร์ของบริษัทแห่งหนึ่งมานานกว่า 10 ปี
สายฝน จำเลยที่ 6 ขณะถูกจับเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่ง คบหาและอยู่อาศัยกับหัสดินมากว่า 10 ปี
หัสดิน จำเลยที่ 7 ขณะถูกจับอายุ 64 ปี เคยทำธุรกิจส่วนตัว แต่ก่อนถูกจับไม่ได้ประกอบอาชีพ
กรณ์รัฏฐ์ จำเลยที่ 8 ขณะถูกจับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทเอกชน จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาตร์เคมี และปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก “ความจริงเข้าใจง่ายเมื่อค้นพบ”
ทิพย์รชยา จำเลยที่ 9 ขณะถูกจับอายุ 44 ปี ทำงานเป็นฝ่ายบัญชีของบริษัทเอกชน จบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญาโทเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก “ความจริงเข้าใจง่ายเมื่อค้นพบ”
นงนุช จำเลยที่ 10 ขณะถูกจับประกอบอาชีพขายเสื้อผ้าที่ห้างเซ็นทรัลพระราม 3 เป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก “ความจริงเข้าใจง่ายเมื่อค้นพบ”
วิทยา จำเลยที่ 11 ขณะถูกจับอายุ 35 ปี ไม่มีครอบครัว ทำงานเป็นลูกจ้างของสถานีขนส่ง จ.ลำพูน
กรวรรณ จำเลยที่ 12 ขณะถูกจับอายุ 46 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
รู้จัก 'บรรพต' ให้มากขึ้น อ่าน ปากคำและความฝันของ 'บรรพต': "ผมไม่เคยคิดล้มเจ้าเลย ระบบกษัตริย์มีความงดงาม" [112 The Series]
ข้อหา / คำสั่ง
มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
คำฟ้องของอัยการทหาร ระบุว่า ระหว่างปี 2553 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2558 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด หัสดิน จำเลยที่ 7 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอื่นๆ เป็นขบวนการ จัดทำคลิปเสียงโดยใช้นามแฝงว่าบรรพต และนำเข้าสู่เว็บไซต์ Mediafire.com เนื้อหาในคลิปเสียงมีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
หลังจากนั้น "เผ่าพันธุ์", "พนา", "ทวีสิน","ขวัญใจ", กรณ์รัฏฐ์, ทิพย์รชยา, นงนุช, วิทยา และกรวรรณ จำเลยที่ 1-4 และ 8-12 เมื่อทราบถึงการกระทำของหัสดินโดยที่รู้อยู่แล้วว่าคลิปเสียงดังกล่าวมีเนื้อหาที่เป็นความผิด ก็ดาวน์โหลดคลิปเสียงและนำเข้าสู่เว็บไซต์ Mediafire.com, Facebook และ OKTHAI.COM ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ คลิปเสียงดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในอินเทอร์เน็ตจนกระทั่งวันที่ 28 มกราคม 2558 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจพบ
"สายชล" จำเลยที่ 5 มีหน้าที่นำแผ่นบันทึกคลิปเสียงของหัสดิน จำเลยที่ 7 ไปส่งให้เครือข่ายเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ ส่วนสายฝน จำเลยที่ 6 เป็นผู้ช่วยเหลือให้หลานสาวเปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพ รับฝากเงินจากผู้สนับสนุนและเบิกจ่ายเงินให้แก่หัสดิน จำเลยที่ 7 สำหรับนำมาเป็นเงินทุนในการจัดทำคลิปเสียงต่อไป
คดีนี้จำเลยถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 สำหรับ"สายชล" จำเลยที่ 5 และสายฝน จำเลยที่ 6 ถูกฟ้องในฐานเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งต้องรับโทษสองในสามของผู้กระทำความผิด
พฤติการณ์การจับกุม
วันที่ 25 มกราคม 2558 เวลาประมาณ 14.00 น. "ขวัญใจ" จำเลยที่ 4 ถูกจับกุมตัวที่บ้านพัก ย่านบางเสาธง โดยทหารพร้อมอาวุธปืน 6-7 นาย พร้อมด้วยทหารหญิง 2 คันรถ และเจ้าหน้าที่ ปอท. อีก 1 คันรถ
เจ้าหน้าที่ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปรวม 14 รายการ หลังจากนั้นจึงนำตัว "ขวัญใจ" ขึ้นรถไปสอบสวน ระหว่างทางถูกปิดตาและคลุมศีรษะด้วยถุงสีขาว "ขวัญใจ" ถูกควบคุมตัวไว้ในห้องมืด 5 วัน เพื่อทำการสอบสวน
ในวันเดียวกัน "เผ่าพันธุ์" จำเลยที่ 1 ก็ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวอยู่กับเจ้าหน้าที่ทหารจนครบ 7 วัน
ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม 2558 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ กว่า 10 นายมาที่บ้านของ "พนา" จำเลยที่ 2 เจ้าหน้าที่ยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือไปด้วย ก่อนพาตัวไปที่ มณฑลทหารบกที่ 11
วันที่ 29 มกราคม 2558 "ทวีสิน" จำเลยที่ 3 ถูกจับที่บ้าน หลังจากนั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เวลากลางดึกก่อนเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจดักรอ"สายชล" จำเลยที่ 5 ที่ห้องเช่าของเขา เมื่อนที กลับมาจากการขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เจ้าหน้าที่ก็แสดงตัวจับกุม นทีถูกคลุมหน้าและปิดตาพาขึ้นรถตู้ไปขังไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อรอการสอบสวน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ทหารนอกเครื่องแบบสี่นายจับกุมตัวสายฝน จำเลยที่ 6 ที่ที่ทำงาน และนำตัวขึ้นรถฟอร์จูนเนอร์ไปควบคุมไว้ยังสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นเวลา 3 คืนเพื่อสอบสวน โดยตลอดเวลาที่เดินทาง สายฝนถูกเอาผ้าคลุมศีรษะไม่ให้เห็นว่าไปที่ไหน
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันเข้าค้นบ้านพักซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นบ้านพักของหัสดิน จำเลยที่ 7 ในซอยสุขุมวิท 101 ขณะตรวจค้นไม่มีใครอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่พบอุปกรณ์การผลิตสื่อ/คอมพิวเตอร์ เอกสารทางการเงิน/เอกสารของเครือข่าย และแผ่นซีดีจำนวนมาก
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำภาพถ่ายและหมายจับของหัสดินมาเปิดเผยและประกาศให้รางวัลนำจับ 200,000 บาทสำหรับผู้ที่ให้ข้อมูลที่สามารถนำไปสู่การจับกุมตัวได้
โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ รายงานในเวลาต่อมาว่า ในเวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ปอท.และเจ้าหน้าที่ทหาร สนธิกำลังทำการจับกุมหัสดิน ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นบรรพตได้ที่ โรงแรมแห่งหนึ่งย่านมักกะสัน
ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาประมาณ 8.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธ และตำรวจ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก ปอท. รวมกว่า 40 คน ควบคุมตัวทิพย์รชยา จำเลยที่ 9 ที่ที่ทำงานย่านลำลูกกา พร้อมทั้งยึดคอมพิวเตอร์ของบริษัทไปด้วย
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ควบคุมตัวเธอไปตรวจค้นที่พักย่านลำลูกกา โดยได้ทำการยึดโทรศัพท์โซนี่ 1 เครื่อง ซัมซุง แกแลกซี่ โน้ต 2 1 เครื่อง และ ไอแพด 1 เครื่อง
จากนั้นจึงนำตัวทิพย์รชยาไปสอบสวน และควบคุมตัวไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 คืน ขณะถูกควบคุมตัว ทิพย์รชยาถูกขังไว้ในห้องที่มีลูกกรงคนเดียว โดยมีทหารเฝ้าหน้าห้องประมาณ 4 คน
ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 11.00 น. นงนุช จำเลยที่ 10 ไปทำงานตามปกติที่ห้างสรรพสินค้า ผู้จัดการฝ่ายบุคคลโทรศัพท์ตามตัวเธอพร้อมกำชับให้นำโทรศัพท์ไปด้วย นงนุชไปพบผู้จัดการตามที่ถูกเรียกและพบว่ามีทหารตำรวจพร้อมอาวุธประมาณ 10 นายรออยู่
เจ้าหน้าที่นำตัวนงนุชไปที่บ้านเพื่อทำการตรวจค้น และทำการยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของที่บ้านกับใบเสร็จค่าอินเทอร์เน็ตไป และยึดโทรศัพท์มือถือนงนุชไปด้วย หลังทำการตรวจค้นนงนุชถูกนำตัวไปที่มทบ. 11 เพื่อสอบสวนและถูกนำตัวไปควบคุมต่อยังสถานที่อื่น
ในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกชุดหนึ่งซึ่งสวมแจ๊กเก็ตสีดำ ทำการจับกุมกรณรัฏฐ์ จำเลยที่ 8 ที่ที่ทำงาน พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์ไปรวม 6 เครื่องและ ซีพียู 1 เครื่องจากนั้นจึงนำตัวกรณรัฏฐ์ขึ้นรถฟอร์จูนเนอร์ไปที่ค่ายทหารเพื่อสอบสวน และควบคุมตัวไว้ 2 คืน
ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากปอท ทำการจับกุม วิทยา จำเลยที่ 11 ที่หอพักในจังหวัดลำพูน วิทยาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และแทบเล็ต เขาให้พาสเวอร์ดทั้งอีเมล์และเฟซบุ๊กกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัววิทยาไปที่ศาลากลาง จังหวัดลำพูน แล้วย้ายไปที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ 1 คืน ก่อนส่งมาที่ ร.พัน1 มทบ.3 ที่กรุงเทพมหานคร
วันที่ 23 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 2-3 คันรถมาที่บ้านของกรวรรณ จำเลยที่ 12 เพื่อทำการจับกุม และยึดเอา ไอแพด 1 เครื่อง พร้อมกับ โทรศัพท์มือถือ ซัมซุง 1 เครื่อง จากนั้นจึงนำตัวขึ้นรถ GMC ไปที่ค่ายทหารเพื่อสอบสวนและควบคุมตัว
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
ไม่มีข้อมูล
หมายเลขคดีดำ
125 ก./2558
ศาล
ศาลทหารกรุงเทพ
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล
แหล่งอ้างอิง
ไม่มีข้อมูล
25 มกราคม 2558
"ขวัญใจ" จำเลยที่ 4 และ "เผ่าพันธุ์" จำเลยที่ 1 ถูกจับกุม
28 มกราคม 2558
"พนา" จำเลยที่ 2 ถูกจับกุม
29 มกราคม 2558
"ทวีสิน" จำเลยที่ 3 ถูกจับกุม
2 กุมภาพันธ์ 2558
"เผ่าพันธุ์" จำเลยที่1, "พนา" จำเลยที่2, "ทวีสิน" จำเลยที่3, และ "ขวัญใจ" จำเลยที่ 4 ถูกพาตัวมาที่ศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดแรก ขณะที่ นที จำเลยที่ 5 ถูกจับกุมตัวในวันเดียวกัน
4 กุมภาพันธ์ 2558
สายฝน จำเลยที่ 6 ถูกจับกุม
7 กุมภาพันธ์ 2558
นที จำเลยที่ 5 และสายฝน จำเลยที่ 6 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพามาส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจปอท. ก่อนถูกสอบสวน และส่งตัวไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ
10 กุมภาพันธ์ 2558
หัสดิน จำเลยที่ 7 ถูกจับกุมที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านพระราม 9
11 กุมภาพันธ์ 2558
ทหารนำตัวหัสดิน จำเลยที่ 7 มาส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปอท. เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนต่อ ในชั้นสอบสวนหัสดินให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา หัสดินจึงถูกพาไปขออำนาจฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ และถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน
18 กุมภาพันธ์ 2558
กรณ์รัฏฐ์ จำเลยที่ 8, ทิพย์รชยา จำเลยที่ 9 และนงนุช จำเลยที่ 10 ถูกจับกุม
20 กุมภาพันธ์ 2558
กรณ์รัฏฐ์ จำเลยที่ 8, ทิพย์รชยา จำเลยที่ 9 และนงนุช จำเลยที่ 10 ถูกควบคุมตัวไปที่ ปอท. ในช่วงเที่ยง เพื่อสอบปากคำ และพิมพ์คำให้การ หลังจากนั้นทั้งสามคนถูกพามายื่นคำร้องขอฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ
ญาติของกรณรัฏฐ์ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 1,000,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาต กรณ์รัฏฐ์และจำเลยอีก 2 คน จึงถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำ
23 กุมภาพันธ์ 2558
ญาติของทิพย์รชยา จำเลยที่ 9 ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินสด 400,000บาท เป็นหลักทรัพย์ แต่ศาลไม่อนุญาตเนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี
17 มีนาคม 2558
วิทยา จำเลยที่ 11 ถูกจับกุม
21 มีนาคม 2558
พนักงานสอบสวนนำตัว วิทยา จำเลยที่ 11 มาฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยอ้างว่าต้องสอบปากคำพยานอีก 2 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของกลาง และรอผลตรวจประวัติอาชญากรของวิทยา นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังขอคัดค้านการประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษกำหนดสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
23 มีนาคม 2558
กรวรรณ จำเลยที่ 12 ถูกจับกุม
28 มีนาคม 2558
กรวรรณ จำเลยที่ 12 ถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ
1 เมษายน 2558
ญาติของกรวรรณจำเลยที่ 12 ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน ๑,๐๘๐,๐๐๐บาท แต่ศาลไม่อนุญาต
24 เมษายน 2558
อัยการทหารยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 12 คนต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกัน
9 กรกฎาคม 2558
นัดสอบคำให้การ
เวลา 8.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การหัสดิน ผู้ถูกกล่าวหาว่าจัดรายการวิทยุบนอินเทอร์เน็ตที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯด้วยชื่อแฝง "บรรพต" และพวกอีก 11 คน ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันนี้ มีญาติของจำเลยประมาณ 20 คน และผู้สังเกตการณ์ 3 คนเข้ามานั่งฟังการพิจารณาคดีด้วย
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 11.45 น. อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้โดยลับ เนื่องจากเป็นคดีที่กระทบความมั่นคง หากมีการเผยแพร่ข้อความออกไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
ทนายจำเลยที่ 2,3,6,12 แถลงต่อศาลว่า การพิจารณานัดนี้เป็นเพียงแค่การสอบคำให้การเท่านั้น ยังไม่มีการนำสืบเรื่องเนื้อหา อีกทั้งมีญาติของจำเลยเข้ามานั่งฟังการพิจารณาจำนวนมาก จึงอยากให้ศาลพิจารณาโดยเปิดเผย นอกจากนี้ ทนายจำเลยและจำเลยก็อ่านฟ้องจนเข้าใจดีแล้ว ศาลสามารถอ่านฟ้องโดยข้ามเนื้อหาส่วนที่เป็นปัญหาได้ หลังทนายจำเลยแถลงเสร็จ ศาลอนุญาตให้พิจารณาโดยเปิดเผย และแจ้งว่าจะอ่านคำฟ้องแบบสรุปย่อ
ศาลถามจำเลยที่ 7 ว่า ตามที่จำเลยได้แต่งตั้งทนาย แต่ต่อมาทนายขอถอนตัว เนื่องจากความคิดเห็นในคดีไม่ตรงกัน ตอนนี้เป็นอย่างไร จำเลยที่ 7 ตอบว่า ตนไม่มีทนายความ และไม่ประสงค์จะให้ศาลตั้งทนายความให้
ศาลอ่านฟ้องให้จำเลยฟังโดยสรุป หลังจากนั้นจึงถามจำเลยว่าจะให้การอย่างไร
จำเลยที่ 1-2 และ 5-12 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 3 และ 4 คือ "ทวีสิน" และ "ขวัญจ" ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ศาลถามว่าวันที่ควบคุมตัวที่ระบุในคำฟ้องถูกต้องหรือไม่ ทนายจำเลยที่ 8-10 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ทนายจำเลยที่ 12 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 27 มีนาคม 2558 เป็นวันที่ 23 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ทนายจำเลยที่ 3 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 31 มกราคม 2558 เป็นวันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ทนายจำเลยที่ 4 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 31 มกราคม 2558 เป็นวันที่ 24 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ทนายจำเลยที่ 2 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 31 มกราคม 2558 เป็นวันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ทนายจำเลยที่ 1 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 31 มกราคม 2558 เป็นวันที่ 25 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ทนายจำเลยที่ 5 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ทนายจำเลยที่ 6 ขอแก้ไขวันที่จับกุมที่ปรากฎในคำฟ้องจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาที่ค่ายทหารโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
อัยการทหารแถลงคัดค้านว่า ขอยืนยันวันที่เริ่มควบคุมตัวตามคำฟ้องเดิม เพราะการจับกุมตัวในวันที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นการจับกุมตัวโดยอาศัยอำนาจตาม กฎอัยการศึก
เมื่ออัยการทหารดูคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ก็แถลงคัดค้านว่า
คำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1-2, 5-6 และ 8-12 ซึ่งระบุว่า กระทำการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เท่ากับเป็นการให้การปฏิเสธ ไม่ถือเป็นการรับสารภาพ
ส่วนคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 5-6 และ 8-12 ซึ่งอ้างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2548 เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจรับรองได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง
ทนายจำเลยที่ 1 และ 2 แถลงต่อศาลขอตัดข้อความว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ออก ส่วนทนายจำเลยที่ 5-6 และ 8-12 ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ซึ่งศาลใช้ดุลยพินิจแล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ถือเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น
เวลาประมาณ 12.15 น. ศาลสั่งพักการพิจารณาคดี ก่อนจะกลับมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อในเวลาประมาณ 14.30 น.
ศาลถามอัยการทหาร ในประเด็นที่อัยการแย้งทนายจำเลยว่า วันที่จำเลยถูกจับกุมตัวตามที่ทนายจำเลยขอแก้ไขนั้นเป็นการจับกุมโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ โจทก์มีพยานหลักฐานมายืนยันหรือไม่ โจทก์แถลงว่าไม่มี ศาลจึงให้โจทก์ส่งพยานหลักฐานภายในวันนี้ ส่วนเรื่องการขอให้พิจารณาลับ ศาลให้โจทก์แถลงต่อศาลในครั้งต่อไปหากต้องการให้มีการพิจารณาลับ
การแก้ไขคำฟ้องเรื่องวันที่จำเลยถูกจับกุมตัว ซึ่งทนายจำเลยแถลงไว้ ศาลจะพิจารณาและแจ้งผลไว้ในคำพิพากษา
ศาลนัด จำเลยที่ 1-2 และ 5-12 ฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ซึ่งให้การปฏิเสธ ศาลให้จำหน่ายออกจากคดี และให้โจทก์ส่งฟ้องใหม่ภายใน 15 วัน นับจากวันนี้ แต่ขอให้ควบคุมตัวจำเลยทั้งสองไว้ก่อน
14 กรกฎาคม 2558
นัดฟังคำพิพากษา
ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษา คดี 112 ของ "เครือข่ายบรรพต" ในห้องพิจารณาคดีนอกจากจะมีคู่ความแล้วก็มีญาติของจำเลยกว่า 20 คน รวมถึงสื่อมวลชนนั่งสังเกตการณ์อยู่ด้วย เพราะศาลไม่ได้สั่งพิจารณาลับ
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.10 น. และอ่านคำพิพากษาโดยย่อ ไม่อ่านทวนคำฟ้อง
ศาลทหารลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1-2 และ 7-12 ("เผ่าพันธุ์" , "พนา", หัสดิน, กรณ์รัฏฐ์, ทิพย์รชยา, นงนุช, วิทยา, กรวรรณ) ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นเวลา 10 ปี จำเลยทั้ง 10 ให้การรับสารภาพ ลงโทษลงกึ่งหนึ่งคงจำคุก 5 ปี
ขณะที่จำเลย ที่ 5และ6 ("สายชล" และ สายฝน) ศาลลงโทษจำคุกในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน การกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นเวลา 6 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษจำคุกคนละ 3 ปี
คำพิพากษาระบุด้วยว่า คดีเครือข่ายบรรพตเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ที่กระทบต่อจิตใจประชาชน จึงไม่อาจให้รอลงอาญาได้
สำหรับข้อที่ทนายจำเลยแถลงขอให้แก้วันจับกุมจำเลย ที่ตามคำฟ้องนับจากวันที่จำเลยอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของพนักงานสอบสวน มาเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกในค่ายทหารนั้น ศาลให้เป็นไปตามคำขอของทนาย โดยให้เหตุผลว่า
จำเลยถูกจับเพราะถูกสงสัยว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อถูกจับไปหลังจากนั้นก็ถูกตำรวจสอบสวนและดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะฉะนั้นการควบคุมตัวโดยทหาร จึงเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนคดีนี้ด้วย ต้องเริ่มนับว่าจำเลยทั้งหมดถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ถูกทหารจับกุม
สำหรับ"ทวีสิน" และ "ขวัญใจ" จำเลยคดีเครือข่ายบรรพตที่ให้การปฏิเสธในวันนัดสอบคำให้การ ศาลให้จำหน่ายคดีออก และให้อัยการทหารส่งฟ้องใหม่ภายใน 15 วัน นับจากวันสอบคำให้การ 9 กรกฎาคม 2558 แต่ขอให้ควบคุมตัวจำเลยทั้งสองไว้ก่อน
27 สิงหาคม 2559
สายฝน จำเลยที่ 6 ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง หลังได้ลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเป็นการทั่วไป
18 ธันวาคม 2559
ทิพย์รชยา จำเลยที่ 9, นงนุช จำเลยที่ 10 ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญฺิงกลาง หลังได้ลดโทษตาม พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
20 ธันวาคม 2559
"สายชล" จำเลยที่ 5 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังได้ลดโทษตาม พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
29 ธันวาคม 2559
หัสดิน จำเลยที่ 7 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังได้ลดโทษตาม พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
คำพิพากษา
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 12 ซึ่งเป็นบุคคลพลเรือนและพวกที่ยังหลบหนีอีกสองคน กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37 และ 38 โดยมีพฤติการณ์คือ
ตั้งแต่ปี 2553 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2558 เกี่ยวโยงกันวันเวลาใดไม่ปรากฎชัด จำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่และที่เจ็ดถึงสิบสองได้กระทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยจำเลยที่เจ็ดทำคลิปเสียงที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยใช้นามแฝงว่า "บรรพต" แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์Mediafire.com ซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้
จากนั้นจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่และที่แปดถึงสิบสองได้ทำการดาวน์โหลดคลิปเสียงดังกล่าวมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กและในเว็บไซต์Okthai.comและsimplesite.com ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึง
จำเลยที่ห้ามีหน้าที่นำแผ่นซีดีบันทึกคลิปที่จำเลยที่เจ็ดจัดทำไปส่งให้อัญชัญ ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในอีกคดีหนึ่ง ส่วนจำเลยที่หกเป็นผู้ช่วยเหลือโดยให้ผู้อื่นไปเปิดบัญชีธนาคารรับโอนเงินบริจาคเพื่อให้จำเลยที่เจ็ดนำมาใช้เป็นทุนในการผลิตคลิปเสียง
คดีนี้จำเลยที่หนึ่ง ที่สอง และที่ห้าถึงที่สิบสองให้การรับสารภาพตามโจทก์ฟ้อง คดีจึงคงได้ความตามโจทก์ฟ้อง
พิพากษาว่าจำเลยทั้งสิบมีความผิด จำเลยที่หนึ่ง ที่สอง และที่เจ็ดถึงที่สิบสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดฐานนำข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงเข้าสู่หรือเผยแพร่บนระบบคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดเป็นเวลาสิบปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกห้าปี
จำเลยที่ห้าและที่หกเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ลงโทษจำคุกหกปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกสามปี
ที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษนั้น จำเลยที่หนึ่ง ที่สองและที่เจ็ดถึงที่สิบสองมีโทษจำคุกห้าปีจึงเกินเกณฑ์ที่ศาลจะรอการลงโทษให้ ส่วนจำเลยที่ห้าและที่หกแม้จะมีโทษจำคุกสามปีแต่พิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีที่กระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรงจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
ที่จำเลยที่หนึ่ง ที่สอง ที่ห้า ที่หก และที่แปดถึงสิบสอง โต้แย้งขอให้เริ่มนับวันควบคุมตัวตั้งแต่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะถูกควบคุมตัวในทางสอบสวนตรวจพบการกระทำของจำเลยมาก่อน เมื่อจำเลยถูกควบคุมตัวและถูกสอบสวนก็ยอมรับว่ามีส่วนกับคดีจริง ทั้งต่อมาจำเลยก็ถูกตั้งข้อหาจากการกระทำนั้น จึงถือว่าจำเลยถูกควบคุมตัวก่อนศาลมีคำพิพากษาด้วยในตัว จึงชอบที่จะนำไปหักวันควบคุมให้จำเลยทั้งเก้า
สำหรับจำเลยที่สามและที่สี่ซึ่งให้การปฏิเสธ ให้จำหน่ายจำเลยทั้งสองออกจากคดีนี้และให้โจทก์ฟ้องคดีใหม่ภายใน 15 วัน