5 กุมภาพันธ์ 2558
เฟซบุ๊กเพจพลเมืองโต้กลับ เผยแพร่ คลิปวิดีโอโปรโมทกิจกรรม เลือกตั้งที่(รัก)ลัก
14 กุมภาพันธ์ 2558
กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ ในเวลา 4 โมงเย็น โดยมีการประชาสัมพันธ์และอัพเดทความเคลื่อนไหวกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มเป็นระยะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็เริ่มเข้ามาตรึงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่าย
เวลาประมาณ 4 โมงเศษ หลังกิจกรรมเริ่มไปได้ครู่หนึ่ง สิรวิชญ์ ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวเข้าไปด้านในหอศิลป์กรุงเทพ ก่อนที่จะควบคุมตัวขึ้นรถตุ๊กๆ เพื่อนำไปส่งที่ สน.ปทุมวัน
เบื้องต้น สิรวิชญ์ถูกแจ้งข้อหา “ก่อความเดือดร้อนรำคาญ” ต้องจ่ายค่าปรับ 100 บาท อย่างไรก็ตาม สิรวิชญ์ก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว
ประมาณ 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกกิจกรรม อานนท์ และ พันธ์ศักดิ์ ผู้จัดกิจกรรม รวมทั้ง วรรณเกียรติ อาสาสมัครในกิจกรรมถูกนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน
อานนท์ พันธ์ศักดิ์ และ วรรณเกียรติ ถูกควบคุมตัวไปไว้ในห้องสอบสวนรวมกับสิรวิชญ์ ซึ่งถูกควบคุมตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงค่ำ พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญเดินทางมาถึง สน.ปทุมวัน และเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในห้องสารวัตรสืบสวน
ภายหลังการพูดคุย ตำรวจเป็นผู้แจ้งนักกิจกรรมทั้ง 4 ว่า นายทหารพระธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษทั้ง 4 คนในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
ในระหว่างที่อานนท์ พันธ์ศักดิ์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ ถูกควบคุมตัวอยู่ ก็มีนักศึกษา ประชาชน จำนวนหนึ่ง มารวมตัวกันที่หน้าสน.ปทุมวัน เพื่อให้กำลังใจพวกเขา ขณะที่อานนท์ และพันธ์ศักดิ์ ก็อัพเดทเหตุการณ์ในห้องสอบสวน บนเฟซบุ๊กส่วนตัวตลอดเวลา
ผู้ต้องหาทั้ง 4 ถูกควบคุมตัวข้ามคืน จนกระทั่งเวลาเกือบตี 3 ตำรวจอนุมัติการประกันตัวให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน อานนท์ ใช้ตำแหน่งทนายความค้ำประกันตัวเอง พันธ์ศักดิ์ และ วรรณเกียรติ ใช้หลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ทั้ง 3 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนสิรวิชญ์ใช้หลักทรัพย์ 40,000 บาท เพราะถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่ม โดยทั้งหมดต้องไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวันในวันที่ 16 มีนาคม 2558
4 มีนาคม 2558
ที่ สน.ปทุมวัน อานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้เข้า
รับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) เนื่องจากโพสต์ข้อความกล่าวหาทหารว่าแทรกแซงการทำงานของตำรวจบนเฟซบุ๊กของตนเองจำนวน 5 ข้อความ ระหว่างที่เจ้าตัวถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องสอบสวนเมื่อคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยมี พ.อ. บุรินทร์ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
12 มีนาคม 2558
อานนท์ พันธ์ศักดิ์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ ยื่นหนังสือเปิดผนึก ต่อประธานศาลฎีกา ผ่านทางศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ประมุขฝ่ายตุลาการและข้าราชการฝ่ายตุลาการ ยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ที่จะเป็นผู้พิจารณาคดีพลเรือน และปฏิเสธอำนาจศาลทหารเหนือคดีพลเรือน
ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนยังเปิดเผยแผนการจัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ภายใต้แนวคิด "เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินหน้าไปหามัน" โดยจะมีการเดินเท้าไปรายงานตัวที่ สน. ปทุมวัน ตามกำหนดในวันที่ 16 มีนาคม
14 มีนาคม 2558
ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เวลาประมาณ 7.00 น. พันธ์ศักดิ์เริ่มเดินเท้าออกจากบ้านพักที่บางบัวทองไปยังสดมภ์นวมทอง ไพรวัลย์ แท๊กซี่ที่เสียชีวิตจากการพลีชีพเนื่องจากไม่พอใจการทำรัฐประหารในปี 2549 ที่บริเวณสะพานลอยใกล้สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เวลาประมาณ 8.30 น. หลังเดินได้ประมาณ 5 กิโลเมตร พันธ์ศักดิ์ ถูกตำรวจ สภ.บางบัวทอง ประมาณ 5 นาย นำรถตู้เข้าประกบเพื่อควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน
เวลา 09.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวพันธ์ศักดิ์มาถึง สน.ปทุมวัน โดยมี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 เดินทางมาพบพันธ์ศักดิ์ด้วย
พล.ต.ท.อำนวย เปิดเผยว่า การเดินครั้งนี้มีนัยยะทางการเมือง เพราะมีการนัดหมายล่วงหน้า โดยประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานไทยรัฐก็ยังไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. จึงเกรงว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง จึงต้องยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว
เวลา 12.00 น. ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เริ่มเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเยี่ยมพันธ์ศักดิ์ที่ สน.ปทุมวัน และทวงถามความยุติธรรม
เวลาประมาณ 16.00 น. พันธ์ศักดิ์ได้รับการปล่อยตัว ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชนกล่าวว่า เหตุที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง จับตัวนายพันธ์ศักดิ์มาที่สน.ปทุมวัน เพราะเข้าใจว่าติดเงื่อนไขในการประกันตัว จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ความจริงพันธ์ศักดิ์ไม่ได้ติดเงื่อนไขและไม่ได้หลบหนี ดังนั้นทาง สน.ปทุมวัน จึงปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อหาแต่อย่างใด
15 มีนาคม 2558
ประชาไท รายงานว่า เวลา 9.00 น. พันธ์ศักดิ์เริ่มต้นกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ด้วยการอ่านบทกวีและวางดอกไม้รำลึกถึงน้องเฌอตรงจุดที่ถูกยิงเสียชีวิต ก่อนจะเดินเท้าต่อวางดอกไม้ที่หมุดคณะราษฎร และเดินต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยแวะวางดอกไม้ที่อนุสรณ์หกตุลา และอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์
16 มีนาคม 2558
เวลา 7.00 น. พันธ์ศักดิ์ อานนท์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ เริ่มเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ท่าเรือผ่านฟ้า เพื่อขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบไปที่วัดปทุมวนาราม สถานที่ที่ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาและเหยื่ออีก 5 คน ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2553 โดยมีการวางดอกไม้รำลึกถึงผู้เสียชีวิต
ในเวลาต่อมา ทั้ง 4 เดินไปแถลงข่าวที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เกี่ยวกับกิจกรรมที่พวกเขาจัดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 และเป็นเหตุให้ถูกจับกุมดำเนินคดี และเดินเท้ามาถึง สน.ปทุมวัน เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นเรื่องส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ต่ออัยการศาลทหารฯ เพื่อพิจารณาส่งฟ้องต่อตุลาการศาลทหารฯ เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากกรณีจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์
ต่อมา เวลาประมาณ 17.30 น. กลุ่มนักศึกษาซึ่งจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้าน “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร” อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เดินเท้ามาที่ศาลทหาร เพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้ง 4 คน และใช้โทรโข่งกล่าวโจมตีการทำงานของศาลทหาร โดยระบุว่า ไม่เป็นไปตามหลักของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเรียกร้องให้พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร
นักกิจกรรมรวมตัวคัดค้านการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารที่หน้าอาคารศาลทหารกรุงเทพ
เจ้าหน้าที่ทหารประจำศาลปิดประตูรั้วทางเข้า-ออกศาลทหารทันที ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวศาลทหารยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
เวลาประมาณ 18.30 น. อัยการศาลทหาร มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และนัดฟังความเห็นของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 27 มีนาคม
กลุ่มพลเมืองโต้กลับถ่ายภาพที่หน้าอาคารศาลทหารหลังศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน
27 มีนาคม 2558
ที่ศาลทหาร อัยการทหารเลื่อนการฟังคำสั่งคดีไปเป็นวันที่ 22 เมษายน ในเวลา 10.00 น. เพราะผู้ต้องหาทั้งสี่ต้องการให้พนักงานสอบสวน สืบพยานอีก 4 ปาก ได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง
22 เมษายน 2558
นัดฟังคำสั่งอัยการ
มติชน รายงานว่า ศาลเลื่อนนัดอีกครั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 เนื่องจากต้องสอบพยานเพิ่มอีก 4 ปาก ดังนั้น อัยการจึงขอเลื่อนคำสั่งฟ้องออกไปเป็นวันดังกล่าวด้วย
14 พฤษภาคม 2558
นัดฟังคำสั่งอัยการ
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งเป็นวันที่ 4 มิถุนายน 2558 เนื่องจากพนักงานสอบสวน ยังไม่สอบปากคำพยานจำเลยที่เป็นนักวิชาการ
4 มิถุนายน 2558
นัดฟังคำสั่งอัยการ
อัยการทหารนัดฟังคำสั่งคดีเลือกตั้งที่รักที่ศาลทหารในเวลา 10.00 น. วรรณเกียรติและพันธ์ศักดิ์มาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.40 น. ขณะที่สิรวิชญ์มาถึงศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. ส่วนอานนท์ตามมาถึงเป็นคนสุดท้ายในเวลาประมาณ 11.00 น. ทั้งหมดนั่งรออยู่ที่ห้องรับรองของอัยการ
เวลาประมาณ 11.30 น. เจ้าหน้าที่บอกผู้ต้องหาทั้ง 4 ว่า อัยการจะอ่านคำสั่งในช่วงบ่าย ให้ผู้ต้องไปทานอาหารกลางวันก่อน
เวลาประมาณ 14.00 น. อัยการอ่านคำสั่งฟ้องให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 ฟัง ซึ่งสรุปความได้ว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 4 ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จำเลยทั้งสี่จัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ ทั้งที่จำเลยทราบถึงประกาศห้ามชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว
ในส่วนของคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุ ของ พันธ์ศักดิ์ จากการจัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องมาจากคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลักนี้ อัยการยังไม่อ่านฟ้อง โดยนัดให้พันธ์ศักดิ์มาฟังคำสั่งฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน
หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวจำเลยทั้งสี่ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ทนายของจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท
เวลา 15.00 น. ศาลทหารมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสี่ด้วยหลักหลักทรัพย์ 10,000 บาท พร้อมวางเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 4 ชักชวนหรือมีส่วนร่วมในการชุมนุมใดๆ
8 ตุลาคม 2558
นัดสอบคำให้การ
จำเลยทั้ง 4 เดินทางมาถึงศาลทหารประมาณ 10 นาฬิกาเศษ ในห้องพิจารณาคดีนอกจากคู่ความแล้วก็มีจิตรา คชเดช อดีตผู้นำสหภาพแรงงานที่เป็นจำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. ซึ่งพึ่งเสร็จจากการสืบพยานคดีของตนเอง เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีด้วย
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 11 นาฬิกาเศษ จำเลยทั้งสี่แถลงว่ายังไม่พร้อมให้การ และยื่นคำร้องคัดค้านเขตอำนาจศาล ศาลรับคำร้องของจำเลยพร้อมสั่งให้อัยการทำความเห็นส่งศาลภายใน 15 วัน เพื่อที่ศาลจะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีในท้องที่เกิดเหตุต่อไป
หากศาลแขวงปทุมวันและศาลทหารมีความเห็นตรงกันก็สามารถดำเนินการพิจารณาคดีต่อได้ทันที แต่หากคำทั้งสองศาลมีความเห็นต่างกัน ก็จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป โดยในระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องเขตอำนาจศาล การพิจารณาคดีจะถูกระงับไว้ชั่วคราว
30 มีนาคม 2559
ศาลทหารนัดฟังคำสั่ง คัดค้านเขตอำนาจศาล
ศาลขึ้นพิจารณาคดีประมาณ 10.30 น. โดยศาลเลื่อนฟังคำสั่ง เนื่องจาก อานนท์ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ศาลเห็นว่าการฟังคำสั่งควรฟังพร้อมกันทีเดียว ทั้งจำเลย 4 คน จากนั้นศาลนัดวันมาฟังคำสั่งกันอีกครั้ง 10 มิถุนายน 2559
10 มิถุนายน 2559
นัดสอบคำให้การ
ศาลเริ่มพิจารณาคดีราว 11.20 น. มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารอ่าน ที่เป็นนายประกัน และแม่ของสิรวิชญ์ ศาลอ่านคำวินิจฉัยของศาลแขวงปทุมวันเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ แต่ไม่ได้อ่านรายละเอียดความเห็นของศาลแขวงปทุมวันให้จำเลยทั้งสี่ฟัง ระหว่างการพิจารณา
ศาลติงเรื่องการมาไม่ตรงเวลาของจำเลยบางคน และติงว่าการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้กระบวนพิจารณาต้องล่าช้าออกไป นอกจากนี้ก็ติเตียนด้วยว่า การใส่เสื้อยืดมาศาลเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่
ทั้งนี้ คำร้องที่ฝ่ายพลเมืองโต้กลับ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นคือ ประกาศ คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ยัง ยื่นคำร้องให้ศาลทหารส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 คน เห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ด้านอัยการศาลทหารกรุงเทพแถลงต่อศาล ขอทำคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายใน 30 วัน ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนเพื่อวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวด้วย แล้วจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งต่อไป
10 ตุลาคม 2559
นัดฟังคำสั่งศาลทหาร
ศาลทหารกรุงเทพนัดจำเลยทั้งสี่ฟังคำสั่งศาลทหารจากกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศคสช.เรื่องให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ โดยศาลทหารมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
19 เมษายน 2560
นัดตรวจพยานหลักฐาน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในนัดตรวจพยานหลักฐาน อัยการทหารแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ผู้กล่าวหาหนึ่งปาก พยานผู้เห็นเหตุการณ์สี่ปาก และพนักงานสอบสวนอีกหนึ่งปาก
ทนายจำเลยแถลงนำพยานเข้าสืบรวมเก้าปาก ได้แก่ตัวจำเลยเป็นพยานให้ตัวเองสี่ปาก พยานผู้เชี่ยวชาญสี่ปากและพยานผู้เห็นเหตุการณ์หนึ่งปาก
ศาลนัดสืบพยานโจทก์รวมสามนัดวันที่ 21, 25 และ 30 สิงหาคม 2560 ทั้งช่วงเช้าและบ่าย โดยพยานโจทก์ปากที่หนึ่งคือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา
24 พฤษภาคม 2560
มีรายงานว่าศาลทหารกรุงเทพ ควบรวมคดีนี้กับคดี ฝ่าฝืนเงื่อนไข คสช.ของ สิรวิชญ์เข้าด้วยกัน
ภาพประชาสัมพันธ์ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเชิญชวนประชาชนร่วมฟังการสืบพยานโจทก์ปากพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ที่มา เพจพลเมืองโต้กลับ
21 สิงหาคม 2560
นัดสืบพยานโจทก์
นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พอ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญผู้เข้าแจ้งความ พยานไม่มาศาลโดยอ้างว่าติดราชการด่วน ศาลเลยให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อน
20 กันยายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์
ที่ศาลทหารกรุงเทพ นอกจากทีมทนายและจำเลยแล้ว มีประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังคดีร่วม 10 คน พยานวันนี้คือ พอ.บุรินทร์ ทองประไพ มาศาล แต่เนื่องจากวรรณเกียรติ หนึ่งใน 4 ของจำเลย ติดขัดเร่งด่วน มาศาลล่าช้า ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 24 กันยายน 2561 ที่นัดไว้ตามเดิม
24 กันยายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
วันนี้ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.30 น. สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคดีในวันนี้เป็นการถามค้านพยานโจทก์โดยทนายจำเลย
พ.อ.บุรินทร์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่หนึ่งว่า เขาจบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาโทสาขานิติศาสตร์ สำหรับความเกี่ยวข้องกับคดีนี้เขาได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่คนในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน
พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่าระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนหน้าวันเกิดเหตุ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เขาได้รับรายงานจากสายข่าวว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ในวันเกิดเหตุพ.อ.บุรินทร์ รับว่าไม่ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ได้แต่ไปติดตามต่อที่สน.ปทุมวัน ในส่วนของการจับกุมตัวจำเลย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้กฎหมายพิเศษภายใต้กฎอัยการศึกเป็นฐานอำนาจในการจับกุมโดยเป็นการจับกุมขณะกระทำผิดซึ่งหน้า หลังการจับกุมจำเลยทั้งสี่ถูกนำตัวไปที่สน.ปทุมวัน ตัวเขาจึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวน
เมื่อทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในคืนวันนั้นระหว่างควบคุมตัวจำเลย พ.อ.บุรินทร์ได้แจ้งกับผู้กำกับ สน.ปทุมวันเรื่องจะไม่ปล่อยตัวจำเลยทั้งสี่หากไม่ยอมเซ็นรับเงื่อนไขว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกใช่หรือไม่ และหากจำเลยทั้งสี่ยอมเซ็นรับเงื่อนไข(MOU) ดังกล่าว ก็จะปล่อยตัวไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาใช่หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าจำไม่ได้
พ.อ.บุรินทร์เบิกความเพิ่มเติมว่า จำไม่ได้ในวันดังกล่าวได้พูดคุยกับจำเลยทั้งสี่หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว
พ.อ.บุรินทร์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยที่หนึ่งต่อว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2558 มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ประกาศนี้ (ประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ยังไม่สิ้นผล) และมีการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 แทน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีอัตราโทษที่ต่างจากประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 แต่ยังคงห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ซึ่งตัวเขาเองก็ได้ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เวลาต้องการเอาผิดกับผู้ชุมนุมทางการเมือง
พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่า หลังจากกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก 14 กุมภาพันธ์ 2558 นอกจากจำเลยทั้งสี่คนแล้ว ยังมีผู้ชุมนุมอีกกว่า 30 คนจากเหตุการณ์เดียวกันที่ยังไม่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด อย่างไรก็ตามตัวเขาไม่ได้มีหน้าที่ไปตรวจสอบเรื่องนี้ต่อ
ส่วนที่ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าสามารถแยกแยะออกหรือไม่ ว่าในบรรดาประชาชนทั้งหลายที่มาชุมนุมวันนั้น ใครบ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวนนอกเครื่องแบบ ใครเป็นนักข่าว ใครมาในฐานะผู้สังเกตการณ์หรือใครมาชุมนุม พ.อ.บุรินทร์ ตอบว่า เจ้าหน้าที่แยกแยะออก
พ.อ.บุรินทร์ เบิกความต่อว่าเขาไม่ได้มีหน้าที่จับตาการเคลื่อนไหวการทำกิจกรรมของจำเลยที่หนึ่ง (อานนท์) และการทำกิจกรรมของจำเลยคือการเรียกคนออกมาก่อความวุ่นวาย เมื่อทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าวันนั้นมีการจับยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำผิดของผู้ชุมนุมหรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าไม่มี
พ.อ.บุรินทร์เบิกความด้วยว่าตัวเขาไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่คนมาก่อนเลย มีเพียงความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันบ้างในบางส่วน และยอมรับว่ามาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ในขณะนั้น มีบทบัญญัติรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยแต่ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
สำหรับการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสี่เข้าใจกันไปเองว่าเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ตัวเขาไม่ทราบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นอะไร สำหรับการทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆสามารถทำได้ เช่นการชุมนุมครบรอบวันที่ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19, พฤษภา 35 สามารถทำได้หากไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายเช่น หากจัดเป็นการทำบุญเลี้ยงพระก็จะไม่ถูกห้าม สำหรับข้อกังวลต่อเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ พ.อ.บุรินทร์มีความกังวลว่าอาจมีกลุ่มทางการเมืองเช่นกลุ่มนปช.เข้ามาแทรกแซงการทำกิจกรรม
ทนายจำเลยที่หนึ่งแถลงหมดคำถามค้าน ทนายจำเลยที่สองแถลงต่อศาลว่ามีคำถามที่ต้องถามพ.อ.บุรินทร์อยู่หลายคำถาม จึงขอให้เลื่อนไปถามความต่อในนัดหน้า อัยการทหารแถลงไม่คัดค้าน ศาลนัดสืบพยานนัดต่อไปในวันที่ 4 ธันวาคม 2561
21 มกราคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.40 น. นอกจากตัวจำเลยทั้งสี่และทนายความแล้วในวันนี้มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีอีกห้าคน
อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า พยานที่นัดไว้วันนี้คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสี่ ติดภารกิจจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถมาเบิกความที่ศาลได้ จึงขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากนี้ออกไปเป็นนัดหน้าที่เคยนัดล่วงหน้าไว้ วันที่ 3 เมษายน 2562
หลังอัยการทหารแถลงต่อศาล ศาลกล่าวว่าจากนั้นศาลกล่าวในห้องพิจารณาคดีว่า ตามที่หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 เรื่องให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกคำประกาศคสช.ฉบับที่ 40 /2557 ที่กำหนดให้บุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสอง ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และถูกระงับธุรกรรมทางการเงินนั้น
เห็นว่า สิรวิชญ์จำเลยคดีนี้ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่เขาทำไว้กับ คสช.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 เพิ่มเติมจากข้อหาชุมนุมเกินห้าคนในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
และเป็นกรณีที่มีกฎหมายออกมาใช้ในภายหลังยกเลิกความผิดที่โจทก์ฟ้อง สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงย่อมระงับไป ให้จำหน่ายของสิรวิชญ์ในส่วนของการฝาฝืนข้อตกลงกับคสช.ออกไป
หลังศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของข้อหาละเมิดข้อตกลงของสิรวิชญ์ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้ด้วย
เนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวถูกออกมาระหว่างมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ต่อมามีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.บับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งกำหนดความผิดลักษณะเดียวกับประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เมื่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกจึงขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับสถานะของประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557
หลังทนายจำเลยแถลงต่อศาล ศาลสั่งให้งดการสืบพยานคดีไว้ก่อนและนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับข้อกฎหมายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562
15 กุมภาพันธ์ 2562
นัดฟังคำสั่ง
ศาลทหารนัดจำเลยทั้งสี่ฟังคำสั่งคดี ตามที่ในนัดพิจารณาก่อนหน้านี้ทนายจำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นข้อกฎหมายที่ใช้กล่าวหาจำเลยเพียงข้อหาเดียวถูกยกเลิกไปแล้ว สถานะของคดีจะเป็นเช่นไร เนื่องจากคดีจำเลยนี้ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งเป็นประกาศห้ามชุมนุมที่มีเนื้อหาคล้ายกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งถูกยกเลิกไป
ในเวลา 13.45 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งว่า ตามที่ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน จึงเป็นกรณีกฎหมายฉบับใหม่ออกมายกเลิกความผิดตามกฎหมายฉบับเก่า การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือเป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 ให้จำหน่ายคดี