15 ตุลาคม 2557
ทหารในเครื่องแบบ 4 นาย ควบคุมตัวโอภาสจากห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ไปสอบสวนที่ พล.ม.2 พร้อมถ่ายรูปและถ่ายเอกสารหลักฐานต่างๆไว้ โดยพยายามให้โอภาสระบุว่า เจ้าตัวมักจะฟังวิทยุชุมชนคลื่นไหน ทั้งนี้ระหว่างการสืบสวน ไม่มีการข่มขู่ ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือพันธนาการใดๆ หลังจากสอบสวน พ.ท.บุรินทร์ นำตัวโอภาสมาส่งที่กองปราบปรามในช่วงเย็น
17 ตุลาคม 2557
ที่กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่แจ้งโอภาสว่า ตำรวจจะเป็นผู้ทำการสอบสวน แต่เมื่อมาถึงกลับมีนักข่าวจำนวนมากมาถ่ายรูป เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่จะจัดการแถลงข่าว พ.ท.บุรินทร์ เปิดเผยข้อความที่โอภาสเขียนกับนักข่าวเพื่อทำข่าว รวมถึงชื่อและนามสกุลจริง ทำให้โอภาสกังวลมาก และยังกล่าวด้วยว่า โอภาสทำความผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะถูกชักจูงโดยวิทยุชุมชน
เวลาประมาณ 11.00 น. หลังผู้สื่อข่าวออกไปแล้ว ทนายความเข้าพบโอภาส ทหารต้องการให้ตำรวจฝากขังโอภาสเลย แต่ตำรวจขอเวลาอีกสองวัน โดยจะนำไปฝากขังในวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม 2557 หลังการสอบสวน
20 ตุลาคม 2557
ประชาไทรายงานว่า ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามแจ้งข้อกล่าวหาโอภาส จากการเขียนข้อความ 1 ข้อความ เจ้าตัวรับว่าได้เขียนข้อความตามข้อกล่าวหาจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นกษัตริย์ฯ เพียงแต่ต้องการวิจารณ์คณะรัฐประหาร
ทั้งนี้ ระหว่างให้ปากคำผู้ต้องหามีทนายความอยู่ในกระบวนการด้วย
ประมาณ 13.00 น. พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. พร้อมด้วย ร.ต.ท.จักรี กุลแก้ว พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. คุมตัวโอภาสไปขออำนาจศาลทหารฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ศาลอนุญาตให้ฝากขัง
ภรรยาของผู้ต้องหายื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่า "หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี ให้ยกคำร้อง" ต่อมาโอภาสถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
31 ตุลาคม 2557
พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามายื่นคำร้องขอฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง ที่ศาลทหาร ทนายความของโอภาสยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยคัดค้านว่า
พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก
ในการไต่สวน พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลว่า พนักงานสอบสวนได้เร่งรัดทำการสอบสวนมาโดยตลอด แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลการพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิดข้อหาร้ายแรงตามคำแถลงของพนักงานสอบสวนและปรากฏว่ายังมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนต่อไป
ในช่วงบ่ายทนายความของโอภาสยื่นคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมพร้อมแถลงเหตุผลประกอบว่า
ผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เส้นเลือดอาจแตกและทำให้ตาบอดได้ โดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน หากพบว่ามีอาการแพทย์จะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา
ประมาณ 16.00 น.ศาลทหารมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า
“พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีนี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง“
12 พฤศจิกายน 2557
ศาลทหารกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ระบุว่าต้องสอบพยานบุคคลอีก 4 ปาก และตรวจสอบลายนิ้วมือของจำเลยไม่เสร็จสิ้น ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ
ทนายของผู้ต้องหายื่นประกันตัวเป็นครั้งที่สอง โดยใช้หลักทรัพย์เดิมคือโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้าน พร้อมเหตุผลเพิ่มเติมว่า จำเลยทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สำนึกผิดและทำจดหมายแสดงเจตนาถึงสำนักราชเลขาธิการแล้ว
อย่างไรก็ตาม ศาลทหารยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตโดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยสั่งไม่อนุญาต โดยมีเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีและกรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจเดิม จึงไม่อนุญาต”
นอกจากนี้ญาติผู้ต้องหาได้ขอประวัติการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจากโรงพยาบาลที่ผู้ต้องหารักษาตัวอยู่เพื่อมาประกอบการยื่นประกันตัว ใบประวัติการรักษาระบุว่า ผู้ต้องหาต้องได้รับยาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สามารถวัดความดันโลหิตผู้ต้องหาและให้ญาติไปรับยาแทนเพื่อนำมาให้ผู้ต้องหาที่เรือนจำได้
เพราะผู้ต้องหามาศาลด้วยอาการไข้หวัด และเขายังถูกย้ายจากแดน 1 ไปยังแดน 5 ซึ่งมีสภาพแออัดกว่าเดิมมาก การอาบน้ำต้องอาบจากท่อน้ำที่เจาะรูซึ่งจะเปิดน้ำเพียง 1 นาทีกว่า
24 พฤศจิกายน 2557
ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่นำตัวโอภาสมา เพื่อมายื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ในช่วงเช้า โดยทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งเป็นครั้งที่ 3
โดยคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าพนักงานสอบสวนจะไม่ได้มาที่ศาล แต่เมื่อพิเคราะห์ความหนักเบาของคดี เห็นว่า เป็นคดีร้ายแรงและเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จึงอนุมัติคำร้องฝากขัง
จากนั้นในช่วงบ่ายทนายความผู้ต้องหาจึงยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมเหตุผลประกอบด้านปัญหาสุขภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด ซึ่งโดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือนหากพบว่ามีอาการจะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา
ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดอาการอยู่แล้ว ข้ออ้างจึงฟังไม่ขึ้น และศาลเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อนแล้ว ไม่มีเหตุให้กลับคำสั่ง
9 มกราคม 2558
หลังจากครบฝากขังในผลัดที่ 7 ที่ศาลทหารกรุงเทพ อัยการศาลทหาร มีคำสั่งฟ้องโอภาส ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
คำฟ้องสรุปใจความได้ว่า ข้อความที่โอภาสเขียนบนฝาผนังห้องน้ำ ชั้น 2 ห้างสรรพสินค้าซีคอนแสควร์ นั้นทำให้บุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านเเล้ว สามารถเข้าใจโดยรวมว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทำให้คุณค่าของพระองค์ลดต่ำลง และเป็นการเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์
20 มีนาคม 2558
นัดสอบคำให้การ
เวลาประมาณ 10.15 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้โอภาส
โอภาสให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
ศาลให้เหตุผลประกอบการลงโทษด้วยว่า เนื่องจากจำเลยมีเอกสารประกอบเกี่ยวกับอาการป่วยชัดเจน จึงมีเหตุให้ลงโทษสถานเบา
กระบวนพิจารณาในวันนี้เป็นไปโดยเปิดเผย มีผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้สื่อข่าวบางส่วน มาร่วมสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาด้วย
7 กรกฎาคม 2558
16 ตุลาคม 2558
ศาลทหารสอบคำให้การโอภาสในคดีที่สอง โอภาสรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาจำคุกหนึ่งปีหกเดือนโดยให้เริ่มนับโทษคดีที่สองต่อจากคดีนี้
8 สิงหาคม 2559
ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ซึ่งโอภาสอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการลดหย่อนโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย โดยโอภาสอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับปล่อยตัวก่อนครบกำหนดเดิม
27 สิงหาคม 2559
ทางราชทัณฑ์มีกำหนดปล่อยตัวโอภาส แต่ก็มีหมายอายัดตัวจากสน.ประเวศมารออยู่ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงประสานกับทางสน.ว่าไปหมายของคดีใด เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นหมายจับของคดีที่สองซึ่งศาลมีคำพิพากษาและโอภาสรับโทษแล้ว ทนายจึงประสานทางสน.เพื่อให้ถอนหมาย เจ้าหน้าที่สน.ประเวศจึงแฟกซ์มาแจ้งทางเรือนจำเพื่อถอนหมายอายัดตัว โอภาสจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำโดยไม่ถูกนำตัวไปสน.ประเวศ