ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาว่า จำเลยคือ ม.ล.กรกสิวัฒน์ มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 326 ประกอบมาตรา 328 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 3,14(1) เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 90 ฐานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ให้ จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนดเวลา 2 ปี ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 56 กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาล(ฉบับเต็ม) ในหนังสือพิมพ์รายวัน หน้าข่าวในไทยโพสต์ แนวหน้า ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด และให้จำเลยลบภาพและข้อมความที่หมิ่นประมาทโจทก์ในระบบคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมเฟซบุ๊ก ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของหน้าเพจ “คุยกับหม่อมกร” ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 29 และ 30
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ได้วินิฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย ประการแรกว่า จำเลยกระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นฟังพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนในจุดต่างๆ จำเลยเชื่อโดยสุจริต ในข้อความที่โพสต์ลงไป ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ว่ารูปเรื่องข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งเอกสารที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามที่จำเลยโพสต์ข้อความ ในขณะที่จำเลยก็ยอมรับเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่นำมาโพสต์ลงไปว่า มาจากนายดุสิต กลางประพันธ์ ซึ่งใช้นามว่าพลทหารมะโหนก ที่ได้ถ่ายรูปการขนส่งน้ำมันไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะนำมาโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์
แม้ว่าจำเลยจะมีข้อมูลจากการศึกษาและประสบการณ์เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ทำให้เกิดข้อสรุปเชื่อว่ากรณีเป็นไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ก็เป็นความเชื่อของจำเลย หากจะทำการประกาศต่อไปให้สาธารณชนรับรู้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ อาจส่อไปในทางทุจริต โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งจำเลยอยู่ในฐานะที่จะกระทำได้ เนื่องจากจำเลยอยู่ในแวดวงด้านพลังงาน สามารถตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการ จึงไม่อาจอ้างความสุจริตใจ ดังที่อ้างในอุทธรณ์ได้
โดยเฉพาะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญและกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งระบุว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่ต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยนั้น เป็นการใช้ดุลนพินิจที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ศาลเห็นว่า ในรายละเอียดของคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้กล่าวถึงพยานหลักฐานต่างๆ ของฝ่ายโจทก์ และสรุปความเกี่ยวกับน้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์ไว้แล้ว จึงมากล่าวว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ข้อความดังกล่าวนั้นก็เป็นการบ่งบอกเป็นนัยอยู่แล้วว่าเป็นการวินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานจำเลยไว้ในตัวอยู่แล้ว หาใช่ว่าไม่มีการวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลยไม่ ซึ่งความไม่ชัดเจนดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อท้วงติงว่าศาลชั้นต้นไม่ได้แยกรายละเอียดให้เห็นเกี่ยวกับพยานหลักฐานจำเลยว่ามีส่วนใดน่าเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ไม่ถึงขนาดที่จะฟังว่าไม่มีการวินิจฉัยพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่าควรลงโทษจำเลยในสถานใด ปัญหานี้ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ โดยโจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยบ่งชี้ให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่มีต่อโจทก์มาตั้งแต่ต้น กระทำต่อเนื่องโดยมุ่งประสงค์ต่อชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณของโจทก์ เป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้พิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบาและไม่ต้องลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อ้างว่าเจตนาที่แท้จริงของการโพสต์ข้อความของจำเลยกระทำไปด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อโจทก์ เห็นว่า ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงพลังงาน ติดตามข่าวสารข้อมูลในด้านพลังงาน และมีการนำเสนอในลักษณะของการโพสต์ข้อความในเว็บไซต์เมื่อจำเลยทราบข่าวการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับด้านพลังงาน และเห็นว่าสาธารณชนควรจะรับรู้ จำเลยจึงมีการโพสต์ข้อความ แต่ในการโพสต์ข้อความในคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้ดีเสียก่อน จึงได้กระทำการตามฟ้องไป
พฤติการณ์ของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏย่อมไม่ถึงขั้นที่มุ่งหมายหรือเจตนาร้ายกระทำต่อโจทก์ในลักษณะที่จะฟังว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ แต่พฤติการแห่งคดีก็ไม่ขนาดที่จะให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือไม่ต้องลงคำโฆษณาในคำพิพากษาดังที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ เนื่องจากเมื่อเป็นการกระทำให้ปรากฏต่อสาธารณะและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ การแก้ไขเยียวยาในลักษณะดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม การรอการลงโทษเป็นการให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี และหลาบจำในการกระทำความผิด หากจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขระหว่างการรอการลงโทษ จำเลยก็มีโอกาสถูกลงโทษได้อยู่แล้ว อุทธรณ์โจทก์และจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน