มิถุนายน 2546
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2546 ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ความคิดเห็นของ ทิชา ณ นคร ต่อข่าวข้าราชการระดับสูงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมส่อเจตนาชู้สาวกับนักข่าวหญิงคนหนึ่ง และหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2546 ตีพิมพ์บทความชื่อ "จากองค์กรผู้หญิงถึง…นายกฯ" ซึ่งเขียนโดย ทิชา ณ นคร ซึ่งเป็นบทความที่เป็นความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว
14 ตุลาคม 2546
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มอบอำนาจให้ พล.ต.ต.พจนารถ หวลมานพ แจ้งความดำเนินคดีกับ ทิชา ณ นคร ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร
30 ตุลาคม 2546
ทิชาเข้ามอบตัวกับ สน.ปทุมวัน
30 ธันวาคม 2546
พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการ กองอาญากรุงเทพใต้ 4 และให้ไปพบอัยการวันที่ 15 มกราคม 2547
14 มกราคม 2547
องค์กรผู้หญิงเข้าพบอัยการสูงสุดขอความเป็นธรรม
15 มกราคม 2547
ทิชา พร้อม นคร ชมพูชาติ ทนายความ และ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภาขณะนั้น เข้าพบอัยการกองอาญา 4 เพื่อรับฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ อัยการเลื่อนนัด
16 มกราคม 2547
ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรผู้หญิง เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ คุณหญิงอัมพร มีศุข คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
5 กุมภาพันธ์ 2547-16 กันยายน 2548
ทิชาไปพบอัยการ 14 ครั้ง เพื่อรับฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่มีการเลื่อนรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง
10 พฤศจิกายน 2548
ทิชาเข้าพบอัยการเป็นครั้งที่ 15 อธิบดีอัยการอาญาใต้ส่งฟ้อง
19 ธันาวาคม 2548
นัดพร้อม
1,5,6,7,8 และ 12 กันยายน 2549
นัดสืบพยานโจทก์
13-15 กันยายน 2549
นัดสืบพยานจำเลย
19 ตุลาคม 2549
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษา
ศาลพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การจำเลย จำต้องพิจารณาเสียก่อนว่าที่พล.ต.อ.สันต์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมนั้นเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่าจากบทความดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดกล่าวพาดพิงถึงตัวโจทก์ร่วมโดยตรง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมดและสภาพแวดล้อมว่าจำเลยเขียนพาดพิงถึงใคร เมื่ออ่านจากข้อความทั้งหมดแล้ว ก็ยังไม่อาจเข้าใจว่าหมายถึงใคร ส่วนข้อความที่ระบุว่ามีนายตำรวจใหญ่ทำตัวเสื่อมเสีย ก็ไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ร่วม คำว่า ตำรวจใหญ่ นั้น ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีหลายคน
ส่วนคำว่า ผู้นำองค์กรตำรวจ เมื่ออ่านรวมๆ แล้ว ก็ไม่ได้มุ่งหมายไปที่ตัวโจทก์ร่วมโดยตรง แม้ตัวโจทก์ร่วมก็เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเป็นผู้นำองค์กรด้วยคนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่ผู้เสียหายตามฟ้อง ดังนั้น จึงไม่จำต้องพิจารณาต่อไปว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่ พิพากษายกฟ้อง
ต่อมาโจทก์อุทธรณ์
10 กันยายน 2551
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ เวลา 9.30 น.
คดีนี้พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ และ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 6 – 20 มิถุนายน 2546 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยให้สัมภาษณ์และลงบทความ เรื่อง จดหมายจากองค์กรผู้หญิงถึงนายกรัฐมนตรี อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมให้ได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมหารือแล้วเห็นว่า โจทก์ร่วมไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ารักษาความปลอดภัยในการประชุม ครม.ที่ จ.ภูเก็ต และ จ.อุบลราชธานี ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2546 หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงข่าวกรณีที่โจทก์ร่วมมีพฤติการณ์ส่อไปในทางชู้สาวกับนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดย หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงบทสัมภาษณ์ของจำเลยในวันที่ 6 มิถุนายน 2546 และลงบทความของจำเลยในวันที่ 20 มิถุนายน 2546
เห็นว่าทั้งบทสัมภาษณ์และบทความของจำเลย ระบุพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่ส่อเจตนาในทางชู้สาวกับนักข่าวผู้หญิง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาระหน้าที่แม้แต่น้อย แม้ในบทความจะไม่ได้ระบุชื่อตัวโจทก์ร่วมโดยตรง แต่ช่วงเวลานั้น ประชาชนต่างทราบว่า หมายถึงโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาสังคม จึงพยายามชี้ให้เห็นปัญหา เพื่อร่วมกันแก้ไข โดยแสดงความเห็นในมุมของสตรี โดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
24 กรกฎาคม 2556
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดโจทก์ (ทนายความ) และจำเลย (ทิชา) ไกล่เกลี่ย แต่ทิชาปฏิเสธการไกล่เกลี่ย โดยขอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ และให้จบลงที่การอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา และไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยินดีรับ
22 เมษายน 2557
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ห้อง 405 ศาลอาญากรุงเทพใต้
คำพิพากษาศาลฎีกาสรุปได้ว่า ก่อนที่จำเลยจะให้สัมภาษณ์และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ มีข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เริ่มจากบทสัมภาษณ์และบทความของจำเลยเป็นคนแรก อีกทั้งจำเลยก็ทำงานในองค์กรที่เกี่ยวกับสตรี ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อปกป้องสิทธิของสตรีไม่ให้ถูกคุกคามทางเพศ และเนื้อหาในบทสัมภาษณ์และบทความก็เป็นเรื่องที่มุ่งนำเสนอปัญหาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่าพฤติกรรมตามข่าวที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นทางสังคมที่คุกคามต่อความปลอดภัยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง แม้จะมีการอ้างพฤติกรรมในทำนองชู้สาว แต่ก็เป็นการอ้างจากข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์มาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยอ้างขึ้นมาเอง การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์