สืบเนื่องจากบริษัท กัลฟ์เจพี เอ็น เอส จำกัด เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ในพื้นที่ ต.หนองกบ อำเภอหนองแซง จ.สระบุรี และในพื้นที่ ต.หนองน้ำใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2550 โดยชุมชนในพื้นที่ไม่ได้รับทราบข้อมูลมาก่อน
เมื่อชุมชนรอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าทราบว่าจะมีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนก็คัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างหนักมาตั้งแต่รับทราบข้อมูลในปี 2551 โดยประชาชนเห็นว่า ที่ตั้งโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์อยู่ในเขตชลประทาน อยู่ใกล้แหล่งชุมชน และพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมตามกฎหมายผังเมืองซึ่งจะห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ หากมีการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสภาพแวดล้อม อาชีพ สุขภาพและขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งการดำเนินโครงการของบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น
ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา รวมตัวกันในนาม เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เพื่อรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2551 จวบจนปัจจุบัน โดยดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชนเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าและให้ประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ฯลฯ
อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสการคัดค้านดังกล่าว บริษัทฯ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงพิจารณาอนุมัติอนุญาตโรงไฟฟ้าต่อไปจนกระทั่งมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเมื่อ 17 มิถุนายน 2553 และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าใน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยบริษัทฯ เริ่มเข้าดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2553
ทั้งนี้ แม้จะมีการฟ้องร้องในศาลปกครอง และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่เมื่อศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษาชี้ขาด ประกอบกับข้อกล่าวอ้างที่ว่า หน่วยงานรัฐได้พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอนุญาตก่อนที่ร่างกฎกระทรวงเรื่องผังเมือง จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ร่างดังกล่าวจึงยังไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ใบอนุญาตออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่งผลให้บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป
24-25 กันยายน 2552
ชาวบ้านประมาณ 200 คนรวมตัวกันชุมนุมปิดถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณกิโลเมตรที่ 98-99 เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาจากบ่อขยะ ผู้ชุมนุมประกอบด้วย กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากบ่อขยะใน 3 ตำบล คือ หนองปลาไหล ห้วยแห้ง และกุดนกเป้า และกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง โดยชาวบ้านเรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นของบ่อขยะ และให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ในการชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้ชาวบ้านต้องการเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้า แต่สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ลงมาเจรจาด้วย
กลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 กันยายน 2552 ต่อมาชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำในการชุมนุม 6 คน ถูกออกหมายจับ ทั้งนี้หมายจับลงวันที่ 24 กันยายน 2552
5 ตุลาคม 2554
ศาลจังหวัดสระบุรี มีคำพิพากษา ใจความสรุปได้ว่า
เนื่องจากเหตุคดีนี้เกิดเวลากลางวันและลักษณะการชุมนุมครั้งนี้มีลักษณะต่อเนื่องยาวนาน ทั้งก่อนเกิดเหตุยังเคยมีการชุมนุมและเรียกร้องต่อหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า พยานโจทก์จดจำจำเลยทั้ง 5 ได้ พยานโจทก์เบิกความเป็นลำดับสอดคล้องกัน และเป็นเจ้าพนักงานรัฐซึ่งไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้ง 5 มาก่อน จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 5 พูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงตามที่พยานโจทก์เบิกความจริง
การปิดถนนไม่อาจกระทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีอุดมการณ์หรือจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งก่อนการชุมนุม จำเลยทั้ง 5 กับพวกเคยทำหนังสือร้องเรียน ชุมนุมหน้าศาลากลาง ประกอบกับสถานที่เกิดเหตุเป็นถนนสาธารณะ ห่างจากบ่อขยะ โรงไฟฟ้า และหน่วยงานราชการที่อ้างว่าต้องการพบเพื่อแจ้งความเดือดร้อน จึงเชื่อว่ามีการนัดหมายกันมาก่อน โดยมีเจตนาชุมนุมร่วมกันมาแต่ต้นที่จะชุมนุมปิดถนนเพื่อสร้างความเดือดร้อนโดยหวังเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น แม้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 เป็นผู้นำรถยนต์มาจอด นำเต็นท์มากาง หรือนำยางมาวาง แต่เมื่อพวกของจำเลยเป็นคนกระทำ ถือว่าจำเลยทั้ง 5 เป็นตัวการร่วมในการกระทำดังกล่าว
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229 มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะโดยไม่ต้องการผลว่าจะเกิดอันตรายหรือไม่ ดังนั้น เมื่อสถานที่เกิดเหตุเป็นถนนสายหลัก มีรถวิ่งเร็วเป็นจำนวนมาก และเมื่อชุมนุม ตำรวจก็ต้องเอากรวยมากั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ชุมนุมและผู้ใช้ทาง ทำให้เชื่อว่าการชุมนุมน่าจะเป็นอันตราย
ส่วนความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียง ปรากฏว่าไม่ได้ขออนุญาต การชุมนุมและการใช้เครื่องขยายเสียงจึงเป็นความผิด
การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นการผิดกฎหมายอื่น แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติทางหลวง จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229, 83 พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 39,71 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคสอง และมาตรา 148 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
เนื่องจากเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร กับฐานกระทำการปิดกั้นทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะ และฐานจอดรถกีดขวางทางจราจร เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,000 บาท และลงโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 200 บาท
รวมลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ กำหนดคนละ 2 ปี คุมประพฤติคนละ 1 ปี ทำงานบริการสังคมคนละ 48 ชั่วโมง
หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยยื่นฎีกา
24 ตุลาคม 2556
เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลจังหวัดสระบุรีนัดอ่านคำพิพากษา วันนี้จำเลยที่ 3, 4 และ 5 มาศาล พร้อมทนายความจำเลยที่ 5 และชาวบ้านที่มาให้กำลังใจประมาณ 20 คน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งพอใจผลคำพิพากษาไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จึงไม่ได้มาศาล
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปใจความได้ว่า คดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า การชุมนุมของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 63 หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากที่ยุติแล้วในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่ง ข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปิดถนน เอารถยนต์มาจอดกีดขวาง ในลักษณะน่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 และพ.ร.บ.ทางหลวง จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ กำหนดคนละ 2 ปี คุมประพฤติคนละ 1 ปี ทำงานบริการสังคมคนละ 48 ชั่วโมง